โค้ด: เลือกทั้งหมด
ในปี พ.ศ. 2550 กองทุน APF Group ที่มีคุณมิทซึจิ โคโนชิตะ อดีตนักกีฬาเทนนิสอาชีพ เป็นประธานกรรมการ เข้าทำการเทคโอเวอร์บริษัทกรุ๊ปลีสด้วยการซื้อหุ้น 37% ของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิม 10 ปีหลังจากนั้น GL ภายใต้ผู้บริหารคนใหม่ก็เร่งขยายพอร์ตเช่าซื้อและแตกแขนงไปสู่ธุรกิจใหม่ๆทั้งในไทยและต่างประเทศ กลยุทธ์ “First Fast Forward” ทำให้ GL กลายเป็นเจ้าแรกที่ได้รับสิทธิ์ในการให้สินเชื่อมอเตอร์ไซต์ Honda ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดในกัมพูชาถึง 95% นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปยังประเทศอินโดนีเซีย ลาว พม่า รวมถึงเข้าซื้อกิจการทั้งในไทยและศรีลังกา ทำให้พอร์ตลูกหนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากพอร์ตเช่าซื้อ 1,476 ล้านบาทในปี 2550 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและเงินกู้ยืม ทำให้มีพอร์ตสุทธิ 10,336 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตจาก 107 ล้านบาทเป็น 1,062 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน
การเติบโตในอดีตที่น่าประทับใจ และ แผนการขยายธุรกิจในอนาคตชัดเจน ทำให้หุ้น GL ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อย ราคาหุ้น GL เพิ่มขึ้นจนทำราคาปิดสูงสุดที่ 69 บาทช่วงปลายปี 2559 คิดเป็นผลตอบแทนมากกกว่า 8,000% เมื่อเทียบกับราคาปิดตอนต้นปี 2550 โดยที่ราคาสูงสุดคิดเป็น PE Ratio 98 เท่า (คิดจากกำไรในปี 2559) ค่า PE Ratio ที่สูงกว่าตลาดและบริษัทคู่แข่งสะท้อนถึงความคาดหวังการเติบโตในอนาคตที่สูงกว่า แต่ถ้าผลประกอบการออกมาน้อยกว่าคาด PE ที่สูงลิ่วก็อาจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้
และแล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น ในงบการเงินปี 2559 ผู้สอบบัญชีได้ตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทได้มีการให้กู้ยืมผ่านบริษัท Group Lease Holdings ให้กับบริษัท 2 กลุ่มในไซปรัสและสิงคโปร์ เป็นจำนวนเงิน 3,477 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 17% ต่อปี โดยผู้กู้ได้นำหุ้น GL และสินทรัพย์ในต่างประเทศมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นักลงทุนในวงกว้างเริ่มมีสงสัยเกี่ยวกับดีลให้กู้นี้ โดยเฉพาะเมื่อผู้กู้เงินทั้งสองรายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อัตราดอกเบี้ยก็ดูสูงเกินจริง อีกทั้งหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ
ประเด็นดังกล่าวทำให้ราคาหุ้น GL ปรับตัวลดลงมากถึง 70% ตั้งแต่วันที่งบออก จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องออกจดหมายให้บริษัทชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี ผู้บริหารได้ออกมาให้รายละเอียดของการให้กู้ และแจ้งว่าจะเรียกสินทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมวงเงินกู้ แต่ก็ยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้ออกไปอีก 2-3 ปี แถมยังไม่มีนโยบายที่จะตั้งค่าเผื่อสงสัยหนี้จะสูญสำหรับเงินกู้ก้อนนี้
ถึงแม้ผู้บริหารจะออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน วิกฤตศรัทธาในตัวผู้บริหารก็ยังเป็นเสมือนแผลใหญ่ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ภายในชั่วข้ามคืน ราคาหุ้นยังคงผันผวนมีปริมาณการซื้อขายสูงมากจนทำให้ GL ติดอันดับหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดในแทบทุกวัน นอกจากนั้นราคาของหุ้นอีกหลายตัว โดยเฉพาะหุ้นที่ PE สูงๆก็ปรับตัวลดลงอย่างมากเช่นกัน เรียกได้ว่า GL ลงตัวเดียวสะเทือนกันทั้งตลาด
ถ้าเราวิเคราะห์เหตุการณ์ครั้งนี้ให้ลึกขึ้น เจาะไปถึงโมเดลของธุรกิจ เราจะมองเห็นว่าธุรกิจเช่าซื้อเป็นธุรกิจที่เติบโตได้รวดเร็วติดจรวด แค่บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ก็สามารถปล่อยกู้เพิ่มขึ้นได้แบบไม่เหนื่อยมาก ธุรกิจเช่าซื้อของบริษัทมีดอกเบี้ยรับที่สูงอยู่แล้ว มากกว่า 30% ต่อปี จึงสามารถสร้างผลต่างของดอกเบี้ยได้เยอะมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนทางการเงินต่ำเหมือนธนาคาร อย่างไรก็ตามถ้าบริษัทปล่อยกู้โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของลูกหนี้ สุดท้ายแล้วก็จะมีปัญหาในการชำระหนี้ ทำให้เกิด NPL และต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้จะสูญเป็นจำนวนมาก ถ้าเรามองแค่ว่ากำไรเติบโตเยอะๆแล้วให้ PE สูงๆกับหุ้นเหล่านี้ โดยไม่ได้ดูคุณภาพของลูกหนี้ การบริหารความเสี่ยง รวมถึงนโยบายในการตั้งค่าเผื่อหนี้จะสูญ ก็อาจจะทำให้เราเจ็บตัวหนักๆจากการลงทุนได้
คงไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่าบทสุดท้ายของมหากาพย์ Group Lease นี้จะจบลงอย่างไร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้มอบบทเรียนสำคัญให้กับเรา ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุน เราต้องเข้าใจโมเดลธุรกิจให้ได้อย่างถ่องแท้ มองให้ออกว่า “จุดตาย” ของธุรกิจอยู่ตรงไหน แล้วประเมินความน่าจะเป็นและความรุนแรงของเหตุการณ์นั้นๆให้ออก และถึงแม้ว่าเราจะวิเคราะห์อย่างรอบคอบถี่ถ้วนแล้ว เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันแบบนี้ก็อาจจะขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวรับมือ บริหารความเสี่ยงผ่านการจัดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม ไม่สุดโต่งเกินไป เพื่อที่จะสามารถเอาตัวรอดในตลาดหุ้นและสร้างผลตอบแทนที่เอาชนะตลาดได้ในระยะยาว