นักวิเคราะห์ VS นักลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

นักวิเคราะห์ VS นักลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » จันทร์ ก.ย. 04, 2017 9:29 am

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    สิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุนแบบ VI ก็คือ การวิเคราะห์ธุรกิจหรือบริษัทและความคุ้มค่าของราคาหุ้นที่จะซื้อ เพราะถ้าวิเคราะห์ได้ถูกต้องแล้ว การขายหุ้นก็จะง่ายและโอกาสทำกำไรและสร้างผลตอบแทนที่ดีก็จะสูงในระยะยาวอย่างน้อย 3-5 ปี

    คำถามก็คือ เราจะอาศัยบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์มาเป็นเครื่องมือในการลงทุนแบบ VI ได้ไหม เพราะสิ่งที่เราพูดถึงนั้น นักวิเคราะห์ต่างก็สรุปไว้อย่างละเอียดแล้ว เขาแนะนำไว้ทุกครั้งว่าหุ้นตัวนั้นควรจะซื้อหรือถือหรือขาย ว่าที่จริงนักวิเคราะห์ก็มักจะเป็นคนที่ศึกษาและติดตามบริษัทและตัวหุ้นมานาน นอกจากนั้นพวกเขาก็มักจะสามารถเข้าถึงตัวผู้บริหารและได้รับข้อมูลลึก ๆ เกี่ยวกับบริษัทที่ VI ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์หลาย ๆ คนก็เป็นคนที่มีประวัติการเรียนที่ดีและตรงสายงาน ถ้าเทียบกับ VI ส่วนใหญ่รวมถึง “เซียน VI” ที่มีชื่อเสียงแล้ว พวกเขาน่าจะเหนือกว่า เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นักวิเคราะห์นั้น ทำงานเต็มเวลาในขณะที่นักลงทุนรวมถึง VI นั้น น่าจะทำงานด้านการวิเคราะห์หุ้นน้อยกว่า

    คำตอบของผมก็คือ ผมเชื่อว่านักวิเคราะห์หุ้นส่วนใหญ่นั้นน่าจะวิเคราะห์หุ้นได้ดีกว่า VI ส่วนใหญ่ จะไม่ดีกว่าได้อย่างไรเพราะพวกเขานั้นทำเป็น “อาชีพ” และใช้เวลากับมันตลอดทุกวัน ข้อมูลที่พวกเขาได้รับก็เหนือกว่า VI มาก เขาจะรู้ถึงรายละเอียดลึก ๆ ของบริษัทและมักจะสามารถประมาณการรายได้และผลกำไรของบริษัทที่จะประกาศในเร็ว ๆ นี้ได้อย่างถูกต้อง พวกเขาสามารถอธิบายถึงโครงการและกลยุทธ์ที่บริษัทกำลังจะทำในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าและประมาณการของรายได้และผลกำไรที่จะได้รับถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ถูกต้องแต่ก็น่าจะดีกว่า VI ที่บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีโครงการอะไรและผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไร

    แต่ผมเองในฐานะที่เป็น “VI พันธุ์แท้ผู้มุ่งมั่น” กลับแทบจะไม่ได้ใช้บทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์มาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุนเลย เพราะผมคิดว่ากรอบหรือแนวความคิดของนักวิเคราะห์กับ VI อย่างผมนั้นแตกต่างกันมากโดยเฉพาะในด้านของระยะเวลาและการมองความเสี่ยงของการลงทุน ถ้าจะให้สรุปความแตกต่างเป็นข้อ ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ

    หนึ่ง นักวิเคราะห์นั้น วิเคราะห์โดยมีเป้าหมายหลักก็คือ ให้นักลงทุนมีการซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ เพราะนี่คือสิ่งที่จะก่อให้เกิดรายได้จากค่าคอมมิชชั่น จริงอยู่ เขาก็อยากจะให้นักลงทุนได้กำไรด้วยแม้ว่าการทำกำไรจะไม่ได้ทำให้โบรกเกอร์ได้เงินแต่ก็ทำให้พวกเขามีเงินมาซื้อขายหุ้นต่อไปเรื่อย ๆ แต่นั่นน่าจะเป็นเป้าหมายรอง เพราะถ้านักลงทุนซื้อหุ้นแล้วถือไว้นานเป็นปี ๆ ไม่ขาย รายได้คงไม่พอมาจ่ายเงินเดือนให้กับนักวิเคราะห์ แต่สำหรับ VI แล้ว สิ่งเดียวที่เราต้องการก็คือการวิเคราะห์ที่ถูกต้องซึ่งจะทำกำไรได้ในระยะยาว เราเชื่อว่าในระยะสั้นหุ้นอาจจะขึ้นหรือลงได้โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของกิจการมากนัก

    ผลที่ตามมาจากข้อหนึ่งก็คือ นักวิเคราะห์นั้นเวลาวิเคราะห์หุ้นเขาจะมองไปข้างหน้าแค่ 2-3 ปีเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วก็อาจจะมองไม่เกิน 1 ปี โดยที่เขาจะดูว่ารายได้และกำไรในช่วงนั้นจะโตขึ้นหรือแย่ลงแล้วก็มักจะมีคำแนะนำให้ซื้อหรือขายโดยที่บ่อยครั้งแทบไม่ได้ดูว่าราคาหุ้นในขณะนั้นแพงหรือถูกกว่าพื้นฐานในระยะยาวของบริษัท ยิ่งถ้ากำไร “โตมาก” พวกเขาจะแนะนำให้ซื้อแม้ว่าบางทีค่า PE จะสูงเกินกว่า 40-50 เท่าไปแล้ว ในขณะที่ VI “พันธุ์แท้” อาจจะมองว่ากำไรที่โตขึ้นนั้นอาจจะไม่ยั่งยืนเพราะเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์และเป็นเรื่องชั่วคราวมากกว่าเรื่อง “ความสามารถในการทำกำไร” หรือ Competitive Advantage ที่จะมีความยั่งยืนกว่า ถ้าจะพูดโดยสรุปก็คือ นักวิเคราะห์มักจะมองสั้นในขณะที่ VI จะมองยาว

    ประเด็นที่สามที่ผมคิดว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญก็คือการวิเคราะห์ในด้านของความเสี่ยงของการลงทุนซึ่งก็คือความเสี่ยงที่ผลประกอบการของบริษัทจะแย่กว่าที่คาดมาก โดยที่นักวิเคราะห์มักจะมองในแง่ที่ดีและมักประมาณการผลประกอบการในด้านที่จะเติบโตสูงและใช้ตัวเลขนั้นราวกับว่ามันจะเกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันเขาก็มักจะไม่พูดถึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรื่องราวไม่เป็นไปดังที่คาด ในทางตรงกันข้าม VI ที่ Conservative หรือระมัดระวังนั้น เรามักมองในทางตรงกันข้าม เราจะดูด้านลบก่อนว่าถ้าบริษัทไม่สามารถทำอย่างที่คิดไว้หรือเกิดสถานการณ์ไม่ดีผลประกอบการของบริษัทจะเลวร้ายแค่ไหน เพราะว่าเรา “กลัวขาดทุนหนัก” มากกว่าที่จะ “กล้ากำไรมาก” บ่อยครั้งเราจะมองดู “ความน่าจะเป็น” หรือ Probability ว่าอะไรจะมีโอกาสเกิดมากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะดูว่าความเสี่ยงจะมีมากน้อยแค่ไหน

    นักวิเคราะห์กับผู้บริหารนั้นมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องยาวนานกันโดยธรรมชาติรวมถึงมีผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันในด้านของงาน ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็มักจะ “ไว้ใจ” กันพอสมควร และนี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้นักวิเคราะห์มักจะ “เชื่อผู้บริหาร” โดยที่มักจะไม่ได้มี “คำถาม” ที่อาจจะทำให้ผู้บริหารรู้สึกอึดอัดใจ บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ออกมาก็จะไม่มีอะไรที่ขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้บริหารพูด ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องที่ “ปลอดภัย” และ “สร้างความสัมพันธ์ที่ดี” ที่จะสรุปรายงานตามสิ่งที่บริษัทหรือผู้บริหารบอก การเอาความคิดเห็นที่ขัดแย้งหรือดูไม่ไว้ใจในความซื่อสัตย์ของผู้บริหารมาออกในรายงานนั้นมีความเสี่ยงสูงต่ออาชีพของตนเอง

    ในทางตรงกันข้าม VI นั้นมักจะไม่เริ่มต้นด้วยการ “เชื่อผู้บริหาร” ยิ่งอะไรที่ฟังดู “Too good to be true” เราก็ยิ่งต้องวิเคราะห์ว่ามันจะเป็นจริงไหม บางครั้งแม้แต่ความซื่อสัตย์ของผู้บริหารหรือความถูกต้องของงบการเงินก็จะต้องถูกตั้งคำถามว่ามันเป็นรายงานที่ตรงกับความเป็นจริงทางธุรกิจไหม แม้แต่งบบัญชีที่ตรวจสอบโดยบริษัทใหญ่มาตรฐานสูงแบบ “Big Four” ในบางครั้งเราก็อาจจะไม่เชื่อ เพราะในหลาย ๆ กรณีนั้นประวัติศาสตร์ก็สอนเราว่าผู้สอบบัญชีก็ “ถูกหลอก” ได้เหมือนกัน

    นักวิเคราะห์นั้น บ่อยครั้งแนะนำการลงทุนโดยดู “Momentum” หรือ “กระแสของหุ้น” เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ถ้าขณะนั้นหุ้นกำลังวิ่งขึ้นพร้อม ๆ กับเรื่องราวที่ดีเช่นกำไรเติบโตหรือมีโครงการใหม่ที่กำลังร้อนแรง พวกเขาก็มักจะแนะนำให้ซื้อโดยไม่ได้ดูว่าราคาหุ้นอาจจะสูงเกินไปเมื่อเทียบกับพื้นฐานของกิจการหรือเทียบกับหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่ใหญ่และแข็งแกร่งกว่ามาก บ่อยครั้งพวกเขามักจะใช้เหตุผลว่าหุ้นมีการเติบโตสูงแต่ก็ไม่เคยบอกว่าในที่สุดแล้วมันจะโตไปกว่าคู่แข่งที่ใหญ่กว่ามากได้อย่างไร สำหรับประเด็นนี้ผมคิดว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่อาจจะไม่กล้าที่จะ “สวนกระแส” เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่า “ผิดทันที” ถ้าไปแนะนำให้ขายในเวลาที่ทุกคนกำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวนั้น

    ประเด็นสุดท้ายที่ผมเห็นว่าเป็นความแตกต่างและเป็นข้อจำกัดของนักวิเคราะห์ก็คือ พวกเขาต้องมีความเห็นหรือมีคำแนะนำว่าจะซื้อหรือขายหุ้นทุกตัวและทุกช่วงเวลาในหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงหรือมีคนเล่นกันมากทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงมักจะมีหุ้นบางตัวที่ “คาดการณ์ไม่ได้” หรือประเมินราคายากมากแต่พวกเขาก็ต้องทำ ซึ่งนั่นนำมาซึ่งความผิดพลาดที่ค่อนข้างสูง VI มักจะไม่ต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราคิดว่าโอกาสที่เราจะคาดได้ถูกต้องมีน้อยเราก็แค่หลีกเลี่ยงไม่ลงทุนหุ้นตัวนั้น หรือถ้าเราดูแล้วว่าราคาหุ้นไม่ถูกกว่าพื้นฐานที่เราคาดไว้มาก เราก็ไม่ซื้อ เรามีหุ้นให้เลือกมากมายและไม่มีแรงกดดันว่าจะต้องตัดสินใจทำอะไรในยามที่เราไม่มีความมั่นใจสูงว่าถูกต้อง
[/size]



ตอบกลับโพส