โค้ด: เลือกทั้งหมด
นวัตกรรมการเงินล่าสุดเกี่ยวกับการระดมเงินผ่าน “เหรียญ” ที่บริษัทหรือเจ้าของโครงการ “เขียน” ขึ้นมา หรือที่เรียกเป็นทางการว่า Initial Coin Offering หรือ ICO นั้น ทำให้ผม “ทึ่ง” และ “งง” แต่ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับมันเหมือนกันแม้จะคิดว่าตนเองคงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เหตุผลก็คือ มันคงอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เช่น บิทคอย เป็นต้น
ICO ที่ออกมานั้น ส่วนใหญ่น่าจะออกมาเพื่อระดมเงินให้บริษัทหรือโครงการสตาร์ทอัพเพื่อทำโครงการใหม่ ๆ ในเรื่องของไฮเท็คและดิจิตอล กระบวนการก็คือ บริษัทจะออก “เหรียญ” โดยอาศัยระบบบล็อกเชนที่จะทำให้สามารถควบคุมไม่ให้มีใครรวมถึงคนผลิตครั้งแรกทำเหรียญปลอมหรือเพิ่มเหรียญใหม่ขึ้นมาโดยไม่มีกฎเกณฑ์ เหรียญที่ว่านี้จะถูกขายให้กับคนที่สนใจจะซื้อลงทุนเป็นครั้งแรก โดยที่เหรียญนี้จะมีสิทธิบางอย่าง เช่น การมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของโปรเจ็คบางส่วนหรือได้ลิขสิทธิหรือสิทธิพิเศษบางอย่างในโครงการนั้นถ้ามันประสบความสำเร็จและทำเงิน ถ้าไม่สำเร็จ เหรียญก็มักจะไม่มีค่าอะไรแม้แต่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะเหรียญนี้ที่จริงก็เป็นแค่ตัวเลข “ในจินตนาการ” คนที่ถือเหรียญนี้ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิควบคุมหรือรับปันผลจากบริษัทเหมือนอย่างการทำ IPO ที่คนจ่ายเงินซื้อจะได้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออก
ดูจากโครงสร้างและสิทธิของเหรียญแล้วก็อาจจะมองว่ามันไม่ค่อยยุติธรรมเสียเลยกับคนที่ซื้อ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยต่างก็แห่กันซื้อเหรียญจากคนที่ออก เหตุผลสำคัญก็คือ เหรียญที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น บิทคอยและอีเธอเรียมที่เป็น Cryptocurrency หรือ “เงินดิจิตอล” ที่เป็น “เงินรุ่นใหม่”ของโลกและเป็นเหรียญที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันนั้น มีราคาวิ่งขึ้นไปเป็นหมื่นเป็นแสนเท่าในเวลาไม่กี่ปีและทำให้คนโดยเฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไร “คลั่งเหรียญ” ไปทั้งโลก
มองในแง่ของหลักการแล้ว ICO นั้นจะคล้าย ๆ กับ Venture Capital ที่เป็นการระดมเงินเพื่อใช้ในการพัฒนาหรือก่อตั้งธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจไฮเท็คหรือดิจิตอลที่มีความเสี่ยงสูงมากเช่นเดียวกับผลตอบแทนที่สูงมากเช่นกันถ้าธุรกิจประสบความสำเร็จ ดังนั้น ธุรกิจเวนเจอร์แค็ปปิตอลจึงเน้นไปที่นักลงทุนที่มีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจเหล่านั้นและบ่อยครั้งผู้บริหารของเวนเจอร์แค็ปต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปช่วยบริษัทที่เข้าไปลงทุน นั่นเป็นข้อแรก ข้อสอง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มหรือยังไม่ได้เริ่มเลยจะล้มละลาย นักลงทุนที่เป็นเวนเจอร์แค็ปจึงต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถรับความเสี่ยงแบบนั้นได้ และสาม เขาจะต้องกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในกิจการหลาย ๆ อย่างเพื่อที่ว่าจะมีบางกิจการประสบความสำเร็จและสามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลชดเชยกับบริษัทส่วนใหญ่ที่เจ๊งได้ และข้อสุดท้ายก็คือ การลงทุนในเวนเจอร์แค็ปจะต้องใช้เวลากว่าที่จะได้ผลตอบแทน โดยทั่วไปน่าจะยาวนานเป็น 10 ปีขึ้นไปเนื่องจากกว่าธุรกิจจะสำเร็จและเติบโตมักจะต้องใช้เวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 5 ปีขึ้นไป และผลตอบแทนที่ได้ส่วนใหญ่ก็มาจากการนำบริษัทนั้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยการทำ IPO
ในกรณีของ ICO นั้น ดูเหมือนว่ากระบวนการทั้งหมดที่กล่าวถึง นั่นคือการระดมเงิน การใช้เงินเพื่อพัฒนาธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ และการนำบริษัทเข้าไปซื้อขายใน “ตลาด” เพื่อที่จะทำกำไรหรือผลตอบแทนนั้น ถูกย่นย่อเวลาลงมาเหลือระยะเวลาที่สั้นมาก อาจจะเป็นแค่เดือนสองเดือนไม่ใช่ 10 ปี บ่อยครั้งมันไม่ต้องการเวลาที่จะพิสูจน์ด้วยซ้ำว่าธุรกิจหรือโครงการนั้นประสบความสำเร็จแล้ว ขอให้มีสตอรี่และคนเชื่อว่ามันจะสำเร็จประกอบกับความร้อนแรงของ “ตลาดเหรียญ” ราคาของเหรียญก็อาจจะวิ่งขึ้นไปได้หลาย ๆ เท่าแล้ว หรือไม่ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราวอะไรเลยก็ได้ ขอให้มีคนมาเล่นหรือมาปั่นและรายย่อยเข้ามาเล่นตาม ราคาก็อาจจะ “ทะลุฟ้า” ไปได้เช่นกัน และที่อาจจะเป็นอย่างนั้นได้ก็เพราะว่าในตลาดหรือธุรกิจของ ICO นั้น ยังไม่มีหน่วยงานรัฐมาควบคุม มันยังไม่มีกฎหมายมารองรับ มันไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มันไม่ใช่หลักทรัพย์ที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ กลต. ว่าที่จริงผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันเป็น “ทรัพย์สิน” ตามกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น ถ้ามีกรณีของการ “ปั่นเหรียญ” มีคนได้กำไรด้วยการปั่นและคนขาดทุนเพราะหลงคิดว่าราคามันจะขึ้น กฎหมายก็อาจจะทำอะไรไม่ได้
เวนเจอร์แค็ปนั้น ถ้าจะขาดทุนก็คงไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะพวกเขาเป็นคนที่มีเงินมากและเป็นคนที่ “รอบรู้” ว่าอะไรคือความเสี่ยง แต่ในกรณีของ ICO นั้น ไม่มีกฎหมายที่จะห้ามไม่ให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อขายเหรียญ ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการฉ้อฉลหรือการปั่นราคาของรายใหญ่นั้น ใครจะรับผิดชอบ?
มองจากมุมของผู้ประกอบการเองนั้น การใช้เครื่องมือของ ICO ดูเหมือนว่าจะสะดวกและได้เปรียบกว่าการหาเวนเจอร์แค็ปมาร่วมลงทุนในโครงการที่เสี่ยงและไม่แน่นอนอยู่มากและถ้าไม่ดีจริงก็อาจจะหาคนมาร่วมลงทุนไม่ได้ แต่การออกเป็นเหรียญมาแลกเงินโดยการทำ ICO นั้น สะดวกรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำเพราะเขาไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือปันผลหรือต้องคืนเงินต้น นอกจากนั้น เขาไม่ต้องถูกควบคุมด้วยคนที่เอาเงินมาให้ และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เขามีโอกาสรวยอย่างรวดเร็วแม้ว่าโครงการอาจจะล้มเหลวในภายหลัง เหตุก็เพราะเขาสามารถขายเหรียญในส่วนของตัวเองได้ตั้งแต่วันแรกที่ระบบการซื้อขายเหรียญเริ่มทำงาน ราคาของเหรียญเองนั้นก็มักจะไม่ได้สะท้อนถึง “พื้นฐาน” ทางเศรษฐกิจของเหรียญเพราะเหรียญเองก็ไม่ได้สร้างกระแสเงินสดเป็นรายปี ราคาเหรียญจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความต้องการของคนที่เข้ามา “เก็งกำไร” รายวัน ดังนั้น สำหรับคนออกเหรียญแล้ว ทุกอย่างมีแต่จะได้ ขอให้มีคนซื้อก็พอ
ในด้านของคนที่จองซื้อเหรียญในวันทำ ICO เองนั้น ผมเชื่อว่าด้วยภาวะของตลาด ทั้งในด้านของตลาดหลักทรัพย์และตลาดของเหรียญที่คึกคัก ก็น่าจะมีคนจองจนล้น เพราะขนาดและคุณสมบัติของเหรียญนั้นเอื้ออำนวยต่อการเก็งกำไรมาก มีโอกาสที่ขาใหญ่ทั้งหลายอาจจะเข้ามาเล่นกันมาก และถ้าคนทั่วไปเชื่ออย่างนั้น พวกเขาก็จะต้องเข้ามาจองจนล้น และเมื่อจองจนล้นคนก็เชื่อว่าวันแรกที่มีการซื้อขายราคาก็จะต้องวิ่งขึ้นไป และดังนั้นคนจำนวนมากก็จะเข้ามาซื้อเหรียญตั้งแต่นาทีแรกที่เปิดการซื้อขาย ราคาก็วิ่งขึ้นไปมากมายและก็ไม่มีใครบอกได้ว่าแพงหรือถูก มันก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรสมบูรณ์แบบ และในที่สุดก็จะต้องมีคนที่กำไรสูงมากและคนที่ขาดทุนสูงและจำนวนมากเช่นกัน ในกรณีที่เลวร้าย เรื่องก็จะกระจายออกไปในวงกว้าง และวันนั้นความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับเครื่องมือที่เรียกว่า ICO ในประเทศไทย ภาพทั้งหมดนั้นผมเองไม่อยากจะให้เกิด เพราะ ICO นั้นแม้ว่าผมจะไม่ได้สนใจลงทุนด้วยตัวเองแต่มันก็น่าจะมีประโยชน์โดยเฉพาะต่อการพัฒนาของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องการการสนับสนุนทางการเงินที่ “กล้าเสี่ยง” มากกว่าปกติ
ผมคิดว่าเราไม่สามารถปฏิเสธเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ในยุคดิจิตอลได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องรีบมีทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อม ในหลาย ๆ ประเทศเช่นเกาหลีมีการออกกฎห้ามทำ ICO อย่างสิ้นเชิงและมีโทษรุนแรงสำหรับผู้ฝ่าฝืน ในจีนเองนั้นรัฐบาลออกกฎห้ามออก ICO และให้ผู้ที่ออกไปแล้วคืนเงินให้กับนักลงทุนนับแสนคนคิดเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท แต่นี่เป็นการห้ามชั่วคราวจนกว่าจะมีนโยบายและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ผมเองคิดว่าประเทศไทยเองก็ควรจะรอให้พร้อม นั่นคือมีกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะในกรณีที่มีการ “ฉ้อฉล” และการป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนรายย่อยที่อาจจะไม่รู้ว่าเหรียญที่ออกมาขายนั้นจริง ๆ มันจะให้ผลตอบแทนอย่างไรถ้าไม่มีคนมาซื้อต่อ ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นมากถ้าไม่มีกฎหมายบังคับและลงโทษ ว่าที่จริง ผมเองก็ยังงง ๆ ว่าตกลงคนที่ถือเหรียญที่ขายผ่าน ICO นั้น มีสิทธิอะไรถ้าไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้? สิทธินั้น ถ้ามี ใครเป็นคนรับรอง? และถ้ามีคนรับรองแล้วเขา “เบี้ยว” เราฟ้องเขาได้ไหม? ผมคงต้องจบแค่นี้ เพราะยิ่งถามมากก็คงจะยิ่งสับสน และนี่ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผมไม่สนใจที่จะลงทุนเลย ลึก ๆ แล้วผมคิดว่ามีโอกาสที่เรื่องจะ “จบลงแบบไม่สวย” อย่างที่บัฟเฟตต์เคยพูดถึงบิทคอยเมื่อปลายปีที่แล้วตอนราคา 20,000 เหรียญ ซึ่งวันนี้ภายในเวลาไม่กี่เดือนมันตกลงมาเหลือเพียง 8,000 เหรียญ