โค้ด: เลือกทั้งหมด
ในปีที่มองว่าเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวกันอย่างพร้อมหน้า (ยกเว้นบางประเทศที่มีปัญหาเฉพาะตัว เช่น เวเนซูเอลา) เราไม่ควรละเลยเรื่องความเสี่ยงค่ะ
ในสัปดาห์นี้ อยากจะนำเสนอว่า ผู้บริหารองค์กรในโลก คิดและมองอย่างไรเกี่ยวกับความเสี่ยงในปีนี้
World Economic Forum ได้นำเสนองานวิจัย Global Risk 2018 โดยการสอบถามผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก พบว่าปัจจัยเสี่ยงของโลกที่ผู้บริหารมองเห็นเป็นภัยคุกคามในปี 2561 นี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว คือ ในห้าอันดับแรกที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุด เป็นปัจจัยทางธรรมชาติถึงสามปัจจัย และปัจจัยของโลกไซเบอร์สองปัจจัย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบรุนแรง เป็นปัจจัยทางธรรมชาติถึงสามปัจจัย ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์หนึ่งปัจจัย และปัจจัยทางสังคมหนึ่งปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยเดิมทั้งห้าปัจจัย เพียงแต่สลับตำแหน่งกันเท่านั้น
ห้าปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงที่คาดว่ามีโอกาสเกิดสูงสุดเรียงตามลำดับคือ สภาวะดินฟ้าอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การโจมตีทางไซเบอร์ การโจรกรรมทางข้อมูล และความล้มเหลวในการจัดการและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะดินฟ้าอากาศ
วิเคราะห์ได้ว่า เรากำลังเป็นห่วงความเสี่ยงที่เป็นผลจากน้ำมือของเราในอดีต ถ้าเราดูแลธรรมชาติให้ดี สภาวะดินฟ้าอากาศสุดขั้วก็คงไม่รุนแรงขนาดนี้ หากเรามีกฎเกณฑ์กำกับและลงโทษผู้ทำผิดทางไซเบอร์ที่เข้มขัน โจรทางไซเบอร์ก็อาจจะกลัว ไม่กล้าทำอะไรที่ท้าทายกฎหมายของทุกประเทศในโลกมากเท่าในปัจจุบัน
สำหรับห้าปัจจัยเสี่ยงที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบรุนแรงเรียงลำดับจากรุนแรงที่สุดคือ อาวุธทำลายล้างที่มีผลร้ายแรง สภาวะดินฟ้าอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความล้มเหลวในการจัดการและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะดินฟ้าอากาศ และวิกฤตการณ์(ขาดแคลน)น้ำ
จะเห็นว่า ภัยธรรมชาติทั้งสามปัจจัย คือ สภาวะดินฟ้าอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความล้มเหลวในการจัดการและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะดินฟ้าอากาศ เป็นความเสี่ยงที่เราต้องให้ความสนใจมากที่สุด เพราะโอกาสเกิดสูง และเมื่อเกิดขึ้นก็มีความเสียหายมาก
ส่วนวิกฤตการณ์ (ขาดแคลน)น้ำ แม้ทางคณะผู้วิจัยจะจัดเป็นความเสี่ยงทางสังคม แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและเป็นผลจากการกระทำในอีตและปัจจุบันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ในรายงานก็มีการเสนอวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยงเหล่านั้น เช่น การร่วมมือกันดูแลสภาวะแวดล้อมให้ดี สำหรับโลกไซเบอร์ อุปกรณ์ที่สื่อสารกันด้วยอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีเกินจำนวนประชากรของโลกแล้ว โดยมีอุปกรณ์ถึง 8,400 ล้านชิ้น ใช้โดยประชากรของโลก 7,600 ล้านคน ทำให้เกิดเหตุการณ์ “ไฟป่าทางดิจิตอล” คือมีการสื่อข้อมูลผิดๆออนไลน์เพิ่มมากขึ้นและแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ทางผู้วิจัยเสนอแนะว่าต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมากำกับ รวมถึงการช่วยกันคัดกรองข้อมูลผิดๆที่ถูกสื่อทางออนไลน์ด้วย
สำหรับความเสี่ยงอื่นๆที่ถูกหยิบยกขึ้นมา รวมถึงการเสนอแนวทางป้องกัน เช่น ป้องกันและลดความรุนแรงของวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของพืชที่ปลูก และลดความสูญเสียในห่วงโซ่อุปทาน
ประเด็นการค้าโลกนั้น ความเสี่ยงคือ การที่ประเทศต่างๆหันไปทำความตกลงกันเองมากขึ้น ผู้วิจัยเรียกร้องให้หันกลับมาใช้กรอบการค้าในปัจจุบันที่ทำร่วมกันระหว่างกลุ่มหลายๆประเทศ เพราะง่ายกว่า
ความเสี่ยงทางการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ เรื่องของความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจที่เพิ่มขึ้น และเรื่องประชาธิปไตย ในงานวิจัยนี้กล่าวไว้ว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของโลกกำลังถูกท้าทาย และแนวทางประชาธิปไตยแบบผู้ชนะได้ทั้งหมด หรือ Winner takes all นั้น ก่อให้เกิดการแบ่งขั้วมากขึ้น และระเบียบทางสังคมและการเมือง อาจล่มสลาย แนวทางป้องกันคือ ต้องพยายามเข้าใจความคิดที่หลากหลาย และนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายด้วย
สำหรับความเสี่ยงทางสังคม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้การนำเอาปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์เพิ่มมากขึ้น จะก่อให้เกิดการเลิกจ้าง ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งดิฉันเคยแสดงความวิตกไปบ่อยครั้งแล้วในคอลัมน์นี้ และดิฉันคิดว่ารัฐบาลของหลายๆประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็พยายามทำอยู่ คือการดูแลอบรมให้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มทักษะ เพื่อให้ไปทำงานอื่นที่ต้องอาศัยการตัดสินใจและความประณีต
สำหรับดิฉัน ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ การไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยงอยู่ ดังนั้น การมองแนวโน้มอนาคต จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยแนวโน้มใหญ่ๆในโลกปัจจุบันที่ทาง ผู้วิจัยสรุปไว้คือ สังคมที่มีประชากรสูงวัย การเปลี่ยนแปลงเวทีการดูแลเรื่องระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมที่แย่ลง การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง คนมีความรักชาติเพิ่มขึ้น การแบ่งขั้วในสังคมชัดเจนขึ้น (ค่านิยมและทัศนคติทางการเมืองและศาสนา) โรคเรื้อรัง(ที่ไม่ติดต่อ) การพึ่งพาโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้น พลวัตทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้น (การโยกย้ายถิ่น และการเดินทางสะดวกขึ้น) ช่องว่างของรายได้และความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น อำนาจเปลี่ยน จากรัฐไปสู่องค์กรที่ไม่ใช่รัฐและสู่เอกชน จากโลก เป็น ภูมิภาค จากตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ไปสู่ตลาดที่กำลังพัฒนา มีความเป็นสังคมเมืองเพิ่มขึ้น จำนวนคนที่อยู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้น
วันนี้ท่านเตรียมรับมือกับความเสี่ยงแล้วหรือยัง