โค้ด: เลือกทั้งหมด
สองสามปีที่ผ่านมาเราได้เห็นหุ้นขนาดเล็กและกลางหลายตัวที่ทำธุรกิจขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคซึ่งควรเป็นหุ้นที่มีเสถียรภาพกลับมีราคาผันผวนอย่างหนัก พูดให้ชัดก็คือ หุ้นเหล่านั้น “อยู่ ๆ” ก็มีราคาปรับตัวขึ้นไปต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีแบบ “หลุดโลก” คือขึ้นไปหลายเท่าหรือบางตัวเป็นสิบ ๆ เท่า แต่แล้ว “อยู่ ๆ” ก็ตกลงมาอย่างแรงและเร็วมาก บางทีเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือนก็ตกลงมาหลายสิบเปอร์เซ็นต์ หลายตัวลงไปอยู่ที่ราคาเดิมหรือต่ำกว่า หุ้นที่เคยเป็น “ดารา” และเป็นหุ้นที่ “เซียน” และนักเล่นหุ้นรายย่อยถือกันมากมายกลายเป็น “นางฟ้าตกสวรรค์” หุ้นที่เคย “สร้างเซียน” กลับกลายเป็น “หุ้นปราบเซียน” คนที่ได้กำไรจากหุ้นนั้น บางคนโดยเฉพาะเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นดั้งเดิมหรือคนที่เข้าไปเล่นก่อนและ “ออกทัน” อาจจะกำไรมหาศาล แต่คนที่ขาดทุนซึ่งอาจจะรวมถึงเซียนด้วยนั้นกลับเสียหายมากกว่า ประวัติศาสตร์ของ “หุ้นปราบเซียน” ตัวหนึ่งในตลาดหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจและอาจจะมีอะไรที่คล้าย ๆ กับกรณีของหุ้นไทยที่กล่าวถึงก็คือหุ้นของบริษัท Valeant Pharmaceuticals ที่เคยปราบ “เซียนหุ้น VI” ในระดับตำนานและระดับโลกในช่วงเร็ว ๆ นี้
เรื่องราวของหุ้น Valeant นั้น เริ่มต้นจริง ๆ น่าจะเป็นช่วงที่มีการควบรวมระหว่างบริษัท Biovail กับ Valeant ในปี 2010 ในเวลานั้นราคาหุ้นของ Valeant อยู่ที่ประมาณสิบเหรียญต้น ๆ หลังจากนั้น หุ้น Valeant ที่เคยนิ่งมานานเป็นสิบปีก็เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงปีเดียวก็ขึ้นไปหลายเท่าตัวที่ราคาประมาณ 50 เหรียญแล้วก็แกว่งตัวอยู่ประมาณปีเศษ ๆ ก่อนที่จะเริ่มวิ่งติดจรวดขึ้นไปอีกสองเท่าเป็นเกือบ 150 เหรียญในเวลาไม่ถึงสองปี รวมแล้วใช้เวลาไม่ถึง 4 ปี หุ้น Valeant ปรับตัวขึ้นไปกว่า 10 เท่าตัวเมื่อต้นปี 2014 หลังจากนั้นมันก็ “พักตัวเล็กน้อย” หุ้นตกลงมาประมาณ 25% ในเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นใหม่อย่างแรงใช้เวลาไม่ถึงปีจากราคาประมาณ 110 ขึ้นไปถึงจุดสุดยอดเป็นกว่า 250 เหรียญในกลางปี 2015 ทำให้หุ้น Valeant เป็นหุ้นที่มี Market Cap. ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่งในตลาดหุ้นของแคนาดาและเป็นหุ้นที่ร้อนแรงสุด ๆ ตัวหนึ่งในตลาดหุ้นนิวยอร์ค และกลายเป็นหุ้น 20 เด้งในเวลาเพียง 5 ปี
สิ่งที่ทำให้หุ้นแวเลี้ยนท์โตขึ้นอย่างมโหฬารนั้นประกอบไปด้วยเรื่องราวหรือสตอรี่ต่าง ๆ ที่ขายได้ดีโดยเฉพาะกับ “เซียนหุ้น” ที่เน้นเรื่องของอุตสาหกรรมและการเติบโตของบริษัท มันเป็นบริษัทขายยาที่ต้องซื้อตามใบสั่งแพทย์ ดังนั้นจึงเป็นหุ้นใน “เมกาเทรนด์” กลยุทธ์การเติบโตของบริษัทนั้นเน้นที่การซื้อผลิตภัณฑ์เข้ามาอยู่ในพอร์ตของบริษัท และสินค้าตัวแรกที่ “จุดชนวน” ความสนใจก็คือการซื้อบริษัทBausch & Lomb ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ดูแลสายตาชั้นนำระดับโลกในราคา 8.7 พันล้านเหรียญหรือ 3 แสนล้านบาทในปี 2013 ซึ่งทำให้ราคาหุ้นของบริษัทดีดตัวขึ้นทันทีกว่า 10%
กลยุทธ์การเติบโตของรายได้นั้นยังไม่พอ สิ่งที่ทำให้บริษัทโดดเด่นมาก ๆ ก็คือการทำกำไรที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการลดต้นทุนโดยการตัดงบค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาซึ่งมักเป็นต้นทุนใหญ่ของบริษัทยาทั้งหลายและทำให้หุ้นบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลายไม่ไปไหนมานาน แต่สิ่งที่ทำให้แวเลี้ยนท์กำไรโตก้าวกระโดดจริง ๆ ก็คือการที่บริษัทเพิ่มราคาค่ายาขึ้นมโหฬารหลังจากที่ซื้อผลิตภัณฑ์จากคนอื่นมาแล้ว ตัวอย่างเช่น ยารักษาคนที่ร่างกายได้รับสารพิษตะกั่วที่เคยขายอยู่ที่ประมาณ 1,000 เหรียญก็ถูกปรับขึ้นไปเป็น 27,000 หรือ 27 เท่า เพราะบริษัทคิดว่ายังไงคนก็ต้องซื้อเนื่องจากไม่มียาอื่นที่จะแข่งขันได้เป็นต้น
ในสายตาของ “เซียนหุ้นระดับพระกาฬ” บางคน แวเลี้ยนท์คงเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่โตเร็ว บริษัทมี Business Model ที่ไม่เหมือนคนอื่นและจะสามารถทำเงินและโตเร็วสุดยอด ผู้บริหารมีกลยุทธ์ที่เฉียบคมและ “เป็นมิตร” กับนักลงทุนมาก และ “เซียนในตำนาน” คนแรกที่เข้าไปซื้อหุ้นก็คือ Sequoia Fund ที่ก่อตั้งโดยบิล รูแอน คนที่บัฟเฟตต์ยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งและเขายังได้แนะนำให้ผู้ลงทุนของกองทุนบัฟเฟตต์เข้าไปลงทุนหลังจากที่เขาปิดกองทุนของตนเองในช่วงก่อนเบิร์กไชร์จะถือกำเนิดในฐานะบริษัทโฮลดิ้ง กองทุนซีโควย่าเข้าไปถือหุ้นของแวเลี้ยนท์จำนวนมากตั้งแต่ปี 2010 ในราคาเพียงหุ้นละ 16 เหรียญและภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนจนถึงสิ้นปีก็ทำกำไรได้ถึง 70% ซึ่งทำให้มันกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากหุ้นเบิร์กไชร์ที่ซีโควย่าถือมานาน และเพียง 3 เดือนของปี 2011 หุ้นแวเลี้ยนท์ก็ปรับตัวขึ้นไปอีก 76% ซึ่งทำให้มันกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในพอร์ตของซีโควย่าแทนที่เบิร์กไชร์ ซีอีโอของแวเลี้ยนท์คือ Mike Pearson กลายเป็นบุคคลที่ “สุดยอด” ในสายตาของซีโควย่าเช่นเดียวกับกรณีของบัฟเฟตต์ที่เป็นบุคคลที่ “สุดยอด” ที่ช่วยนำพาให้กองทุนซีโควย่ากลายเป็นสุดยอดกองทุนที่มีผลงานโดดเด่นเป็นเวลากว่า 40 ปี
เซียนหุ้นคนที่สองที่น่าจะใกล้เป็น “ตำนานนักลงทุน” ก็คือ William หรือ Bill Ackman ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Pershing Square Capital Management ได้ประกาศว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้น Valeant 5% ในวันที่ 9 มีนาคม 2015 ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ราคาหุ้นแวเลี้ยนท์ในขณะนั้นคือประมาณ 200 เหรียญต่อหุ้น เขาเข้าไปซื้อในช่วงที่หุ้นกำลังร้อนแรงสุดขีด แต่การเข้าไปซื้อของเซียนหุ้นที่ยิ่งใหญ่ระดับนั้นด้วยเม็ดเงินระดับนั้นก็ทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นต่ออย่างรวดเร็ว หุ้นขึ้นไปถึง 250 เหรียญในอีก 3-4 เดือนต่อมาซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรมาหยุดยั้งหุ้นแวเลี้ยนท์ได้แล้ว
แต่แล้วอยู่ ๆ ในช่วงเดือนตุลาถึงพฤจิกายน บริษัท Citron Research ซึ่งน่าจะเป็นบริษัทแนวขุดคุ้ยหาความไม่ชอบมาพากลของบริษัทจดทะเบียนแล้วเปิดเผยให้สาธารณะชนรู้เพื่อที่จะทุบหุ้นและทำกำไรจากการชอร์ตเซลก็ออกมาเปิดเผยว่ามีการ “โกง” เพราะแวเลี้ยนท์ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับบริษัทขายยาทางไปรษณีย์ชื่อ Philidor ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยผู้บริหารบริษัทบางคนทำการ “ตัดหัวคิว” ยาของบริษัท นอกจากนั้นบริษัทก็กำลังถูกตรวจสอบจากอัยการเกี่ยวกับเรื่องของการตั้งราคายาและการจัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม บิล แอ็คแมน ก็ยังประกาศสนับสนุนบริษัทและให้ความมั่นใจว่าบริษัทยังดีอยู่โดยการซื้อหุ้นเพิ่มอีก 2 ล้านหุ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าหุ้นกำลังเริ่ม “ไหล” ลงอย่างแรง ราคาลดลงมาเหลือ 70 กว่าเหรียญในช่วงปลายปี 2015
มีนาคมปี 2016 ซีอีโอ Mike Pearson ประกาศลาออกหลังจากบอกว่างบไตรมาศ 1 ประกาศไม่ได้เพราะมีข้อผิดพลาดทางบัญชี บิล แอคแมนต้องเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อปรับโครงสร้างบริษัท หุ้นขณะนั้นตกลงมาเหลือเพียง 30 เหรียญเศษ ๆ ขณะนี้นักการเมืองรวมถึงฮิลลารีคลินตันซึ่งกำลังหาเสียงเป็นประธานาธิบดีต่างก็ออกมา “รุมยำ” เรื่องของยาราคาแพงหลุดโลกของบริษัททำให้บริษัทต้องประกาศคืนเงินกว่า 40% ให้กับยารักษาโรคหัวใจสองตัวซึ่งบริษัทเคยปรับขึ้นไป 300-700% หลังจากซื้อผลิตภัณฑ์มา ถึงปลายปี 2016 ดูเหมือนว่าบริษัทและผู้บริหารจะถูกสอบสวนและถูกคดีที่เกี่ยวข้องกับการโกงและความไม่โปร่งใสหลายคดี หุ้นตกลงมาเหลือเพียง 15 เหรียญ
มีนาคมปี 2017 บิล แอคแมน ประกาศขายหุ้นทิ้งทั้งหมดขาดทุนไป 3 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 100,000 ล้านบาท ทำให้หุ้นราคาตกลงไปเหลือประมาณ 11 เหรียญ เท่า ๆ กับหลายปีก่อนก่อนที่หุ้นจะเริ่มขึ้น
ซีโควย่าเองนั้น ตลอดเวลาที่เกิดเรื่องก็ทำคล้าย ๆ กับบิล แอคแมน ประกาศสนับสนุนแวเลี้ยนท์ตลอดเวลาและให้ความมั่นใจโดยการซื้อหุ้นเพิ่มจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท และหุ้นที่ถือมีมูลค่าถึง 32% ของพอร์ตซึ่งสูงจนไม่น่าเชื่อสำหรับกองทุน ซีอีโอของซีโควย่าคือ David Poppe ประกาศคำพูดคลาสสิกของบัฟเฟตต์ว่า “จงกล้าเมื่อคนอื่นกลัวและกลัวเมื่อคนอื่นกล้า” เขายังอ้างว่าหุ้นเบิร์กไชร์ก็เคยตกลงมา 50% และเขาก็ยังถืออยู่และหลังจากนั้นมันก็ปรับขึ้นมา
แต่แวเลี้ยนท์ไม่เหมือนเบิร์กไชร์ แปดเดือนต่อมาซีโควย่าขายหุ้นแวเลี้ยนท์ทั้งหมดทิ้งหลังจากที่ราคาตกลงมา 90% ในเวลาไม่กี่เดือน ทรัพย์สินของกองทุนตกลงมาจาก 9 พันล้านเหลือเพียงไม่เกิน 5 พันล้านเหรียญ หุ้นเพียงตัวเดียวทำลายกองทุนที่เป็นหนึ่งในกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดตลอดกาลที่บัฟเฟตต์ชื่นชม นี่คือ “หุ้นปราบเซียน” ที่แท้จริง ผมเองไม่แน่ใจว่าในตลาดหุ้นไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ หุ้นตัวไหนคือ “หุ้นปราบเซียน” น่าเสียดายที่เราไม่มีข้อมูลหรือยังไม่มีข้อมูลสาธารณะว่าใครคือคนที่เจ็บที่สุด เวลาอาจจะเป็นตัวบอก