roynet ไว้อาลัย ความห่วยแตก ของเมืองไทย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
ล็อคหัวข้อ
บุคคลทั่วไป

roynet ไว้อาลัย ความห่วยแตก ของเมืองไทย

โพสต์ โดย บุคคลทั่วไป » อังคาร ต.ค. 12, 2004 8:26 pm

ลาก่อน ROYNET รอยด่างของตลาดทุนไทย

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอน บมจ.รอยเนท (ROYNET)
จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป

ข้อความข้างบนถูกเผยแพร่ให้กับนักลงทุนรับทราบเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นรอยด่างของ ROYNET และพวกเขาจะต้องจดจำเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เนื่องเพราะมีความผิดที่ขั้นร้ายแรง

ROYNET ฝ่าฝืนไม่นำส่งงบการเงินและรายงานตามมาตรา 56 เป็นระยะเวลานาน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนละเลย ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ตลาด MAI จะอนุญาตให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในวันที่ 14 ตุลาคม ถึง 15 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ก่อนสิ้นสภาพจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

ปัญหาของ ROYNET ที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับตลาดได้ คือ ความโปร่งใสตัวเลข โดยวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศให้ ROYNET เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน เนื่องมาจากไม่นำส่งงบการเงินประจำปี 2545 ซึ่งล่าช้าเกินกว่า 180 วัน

อีกทั้งไม่นำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 และ 2 ปีที่ผ่านมา โดยกำหนดให้บริษัทนำส่งงบการเงินที่ล่าช้าทั้งหมดภายในวันที่ 1 มีนาคม 2547 แต่บริษัทไม่สามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ จึงผ่อนผันระยะเวลาให้ 2 ครั้ง คือ ให้นำส่งภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และครั้งสุดท้ายผ่อนผันให้นำส่งงบการเงินประจำปี 2545 งบการเงินรายไตรมาสและประจำปี 2546 รวมทั้งงบการเงินไตรมาสที่ 1 ปี 2547 ตามที่บริษัทขอมาภายในวันที่ 15 กันยายน 2547

ทว่า ROYNET ไม่สามารถนำส่งงบการเงินได้ครบถ้วนตามข้อกำหนดคือ นำส่งงบการเงินประจำปี 2545 และ 2546 ฉบับผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแบบไม่มีเงื่อนไข แต่มีข้อสังเกตที่อาจมีผลกระทบอย่างมากต่องบการเงิน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่รับงบการเงิน

อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ก.ล.ต.ว่าได้สั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินดังกล่าว เนื่องจากงบการเงินของ ROYNET ไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี อีกทั้งยังมิได้นำส่งงบรายไตรมาส 1 และ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าช้ามากว่า 360 วัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งเพิกถอน ROYNET จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

สถานการณ์ดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่า ROYNET ประสบความล้มเหลวทางด้านตลาดทุนอย่าง และเป็นการปิดฉากอย่างไม่น่าจดจำ ทั้งๆ ที่ธุรกิจที่พวกเขาดำเนินการกำลังอยู่ในช่วงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ROYNET ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 โดยกิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ เพื่อทำธุรกิจให้คำปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร และจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และต่อมาในปี 2543 ทำการเพิ่มทุนจาก 8 ล้านบาท เป็น 26 ล้านบาท และ 41 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุน

ต่อมาบริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2544 และเข้าซื้อขายวันแรกบนกระดานตลาด MAI ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน โดยมีทุนจดทะเบียน 111 ล้านบาท ถือเป็นบริษัทที่สองที่เป็นสมาชิกของตลาด MAI

ในช่วงนั้นบรรยากาศการเข้าจดทะเบียนของ ROYNET เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากเป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกที่หันมาระดมทุนผ่านตลาดทุน เพระขณะนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของอินเทอร์เน็ต พวกเขาจึงไม่ปล่อยให้โอกาสผ่านพ้นไป

กระนั้นก็ดี แม้ว่าก่อนเข้าตลาด ROYNET จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่กลับขาดทุนสุทธิมาโดยตลอด สะท้อนถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายยังอยู่ในระดับสูงอย่างมาก และหลังจากนั้นรายได้ปรับลดลงอย่างน่าตกใจ ที่สำคัญยังขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง

ในปี 2542-2546 มีรายได้รวม 1.94 ล้านบาท, 13.27 ล้านบาท, 22.77 ล้านบาท, 23.15 ล้านบาท และ 11.35 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งหากพิจารณากันแล้วพบว่ารายได้ของ ROYNET ไม่ค่อยสม่ำเสมอ ที่สำคัญ บริษัทแห่งนี้มีผลขาดทุนสุทธิอย่างน่าตกใจ เริ่มจาก 4 ล้านบาท, 10 ล้านบาท, 21 ล้านบาท, 38 ล้านบาท และ 21 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากไม่สามารถควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ และแต่ละปีมีตัวเลขสูงกว่ารายได้สะท้อนถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง

จากความล้มเหลวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้ ROYNET ต้องดำเนินการเพื่อปกปิดความเสียหาย จึงเป็นที่มาของคำว่า ตกแต่งบัญชี ด้วยการอาศัยช่องโหว่ในการบันทึกบัญชีรับรู้รายได้จากการขายชั่วโมงอินเทอร์เน็ตที่ฝากไว้กับร้านค้า ซึ่งถือเป็นการให้เครดิตที่รับชั่วโมงอินเทอร์เน็ตไปขาย

ทว่า ROYNET กลับบันทึกบัญชีดังกล่าวเป็น การขายสินค้าเงินสด ทั้งๆ ที่ยังไม่รับเงินเข้ามา ส่งผลให้มีผลดำเนินงานสวยหรูขึ้นมาทันทีและสูงเกินความเป็นจริง

นอกเหนือจากนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ ตระกูลเยาวพฤกษ์ ที่ถือสัดส่วน 60% ทำการขายหุ้นออกอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งลดลงเหลือเพียง 18.03% ที่สำคัญเป็นการขายหุ้นออกอย่างเงียบๆ และผิดกฎเกณฑ์ คือ หากซื้อขายหุ้นทุก 5% จะต้องรายงานให้ ก.ล.ต. รับทราบ

ถึงแม้ว่าผู้บริหาร ROYNET จะรู้ว่าทั้งสองกรณีเป็นการกระทำที่ผิดและเอาเปรียบผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แต่พวกเขาไม่สนใจเพราะนี่เป็นกลยุทธ์การ ไซฟ่อนเงิน ให้กับตัวเอง ซึ่งถือว่าคุ้มค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับการที่ ก.ล.ต. สั่งปรับ เพราะค่าปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับไม่เกิน 1 แสนบาท

พฤติกรรมการดังกล่าว หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7 ตุลาคม) สรุปเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า ROYNET เป็นหุ้นฉาว และแต่งบัญชีลวงโลก หากตานักลงทุน และผู้บริหารถือเป็น โจรใส่เสื้อสูท ที่ต้องการนำหุ้นเน่าเข้ามาจดทะเบียนในตลาดและไซฟ่อนเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเพียงเท่านั้น

แน่นอนหากพูดถึงคำว่าธรรมภิบาลแล้ว ROYNET สอบตก และถือเป็นการโกหกผู้ถือหุ้นและนักลงทุนอย่างสิ้นเชิง เพราะก่อนเข้าตลาด MAI กิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ ประธานกรรมการ ROYNET เปิดเผยเหตุผลที่ตัดสินใจนำบริษัทเข้าระดมทุนว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

แม้ว่าการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นภาระ แต่ในฐานะผู้บริหารผมมองว่าหากบริษัทฯ มีระบบการจัดการภายในที่ดี มีความโปร่งใส

โดยเฉพาะการมีผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงินที่จะมาช่วยให้ระบบบัญชีของบริษัทฯ ได้มาตรฐาน ยิ่งจะช่วยให้ผู้บริหารอย่างผมซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญด้านบัญชีเท่าไรนัก เกิดความมั่นใจต่อระบบบัญชีและข้อมูลทางการเงินของบริษัทฯ มากขึ้น ภาพลักษณ์ของบริษัทฯ จะยิ่งดีขึ้น ลูกค้าก็จะเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อความข้างบนเป็นคำพูดของ กิตติพัฒน์ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI ซึ่งตรงกันข้ามกับการดำเนินการในระยะเวลาต่อมาอย่างสิ้นเชิง



ล็อคหัวข้อ