โค้ด: เลือกทั้งหมด
สัปดาห์ที่แล้วดิฉันเขียนถึงกฎของการลงทุนข้อที่หนึ่งว่าไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจแล้ว สัปดาห์นี้ขอต่อด้วยกฎการลงทุนข้อที่สอง คือ การจัดพอร์ตลงทุน ค่ะ
ตามปกติเรามักจะไม่นำของมีค่าทุกสิ่งทุกอย่างไปเก็บไว้ในที่เดียวกันใช่ไหมคะ เวลาเราไปเที่ยว เรายังต้องเอาเงินสดเก็บไว้หลายๆที่ เผื่อถูกล้วงกระเป๋าไป ก็ยังจะเหลือบางส่วนไว้ให้ใช้
ยิ่งเป็นการลงทุน เงินยิ่งก้อนใหญ่กว่า เราจึงต้องยิ่งใช้หลักการเดียวกัน คือ การจัดพอร์ตลงทุน เพื่อการกระจายความเสี่ยง
แต่ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ความเสี่ยง” คืออะไร
ความเสี่ยงคือการเบี่ยงเบนของผลลัพธ์จากเป้าหมาย เช่น คาดว่าผลตอบแทนจะเป็น 5% แต่ออกมา 4% หรือ 6% ก็ถือว่าเสี่ยง แต่ถ้าคาดว่าผลตอบแทนจะเป็น 12% แต่ออกมาได้ 20% หรือ ออกมาขาดทุน 10% (-10%) อย่างนี้ก็ถือเป็นความเสี่ยง และเสี่ยงมากกว่าตัวอย่างแรกด้วยค่ะ
โดยทั่วไปความเสี่ยงที่เรากังวล คือความเสี่ยงทางด้านลบ หากเป็นด้านบวก เราจะไม่ค่อยกังวล
การจัดการกับความเสี่ยงเราทำได้หลายวิธี เช่น หลีกเลี่ยงไม่ยุ่งเกี่ยว การโอนย้าย เช่น โอนไปให้บริษัทประกันรับแทน หรือการกระจายความเสี่ยง
สำหรับการจัดการกับความเสี่ยงในการลงทุนนั้น เราใช้วิธีกระจายความเสี่ยงเป็นหลัก ส่วนวิธีอื่นๆอาจจะใช้บ้าง แต่หลักการกระจายความเสี่ยงจะเป็นหลักการที่ทำได้ง่ายที่สุด มีต้นทุนน้อยที่สุด และที่สำคัญคือ เข้าใจง่ายที่สุดค่ะ
วิธีการกระจายความเสี่ยงคือ ลงทุนในหลักทรัพย์ หลายๆตัว หลายๆอุตสาหกรรม หลายๆประเทศ และหลายๆภูมิภาค และที่สำคัญคือ ลงทุนในหลายๆกลุ่มสินทรัพย์ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันเสมอ และบางตัวหรือบางกลุ่มก็ผันผวนมากกว่าตัวอื่นๆ
ทั้งนี้ การจัดกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนนี้ เราเรียกในภาษาลงทุนว่า เป็นการจัด “พอร์ตโฟลิโอ” เพราะฉะนั้น หากเราจัดการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอ เหตุการณ์แบบ เกษียณแล้วเอาเงินไปลงทุนในหุ้นทั้งหมด หรือทุ่มหมดตัวไปลงแชร์น้ำมัน แชร์ลูกโซ่ต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น
การจัดพอร์ตการลงทุนที่ดี ถือเป็นการเตียมตัวเองให้พร้อมรับกับสถานการณ์การลงทุนในทุกรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยง หรือลดความผันผวนโดยรวมแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว และช่วยลดความอยากเข้าไปจับจังหวะตลาดด้วย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะจับจังหวะตลาดผิด การจับจังหวะตลาด ควรยกให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการลงทุน กับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์สูงจะดีกว่าค่ะ เพราะหากท่านจับจังหวะตลาดผิดแล้ว จะเกิดโศกนาฏกรรมเช่นกัน
ยกตัวอย่าง การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆในช่วงปี 2551 ถึง 2560 หากผู้ลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงที่สุดของปี แล้วโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงสุดในปีถัดๆไป ได้ทุกปี เงินลงทุน 1 ล้านบาทเมื่อเริ่มในปี 2551 จะกลายเป็น 19.55 ล้านบาทในปี 2560 แต่หากลงทุนผิด ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนแย่ที่สุดทุกๆปี เงินลงทุน 1 ล้านบาทในปี 2551 จะเหลือเพียง 89,600 บาทในสิ้นปี 2560 เรียกได้ว่าแทบไม่เหลืออะไรค่ะ
วิธีการจัดพอร์ตลงทุน ถือว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ค่ะ คือจะจัดแบบตามทฤษฎีทุกประการเลยก็คงไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศก็มีเครื่องมือในการลงทุนที่แตกต่างกัน และไม่สามารถจัดพอร์ตแบบเดียวใช้กับทุกคนได้ แต่ต้องจัดให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยง และเป้าหมายผลตอบแทนของผู้ลงทุนแต่ละคนด้วย
ดิฉันขอยกตัวอย่างข้อมูลที่มาจาก Guide to Asset Allocation ของ Franklin Templeton Investments แสดงตัวอย่างเปรียบเทียบเอาไว้ว่า หากเก็บข้อมูลการลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกาย้อนหลัง 20 ปี คือตั้งแต่ 1 มกราคม 2541 ถึง 31 ธันวาคม 2560 และเปรียบเทียบพอร์ตต่างๆจะเป็นดังนี้
พอร์ตลงทุนในหุ้น 100% ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20 ปี เท่ากับ 7.10% ต่อปี โดยปีที่ดีที่สุด ได้ 37.37% และปีที่แย่ที่สุด ขาดทุน 37.95%
พอร์ตที่ลงทุนในหุ้น 80% และตราสารหนี้ 20% ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.03% ต่อปี โดยในปีที่ดีที่สุด ได้ 31.51% และปีที่แย่ที่สุด ขาดทุน 29.31%
พอร์ตที่ลงทุนในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.77% ต่อปี โดยในปีที่ดีที่สุด ได้ 24.66% และปีที่แย่ที่สุด ขาดทุน 20.67%
พอร์ตที่ลงทุนในหุ้น 40% ตราสารหนี้ 40% และเงินฝากหรือตลาดเงิน 20% ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.71% ต่อปี โดยในปีที่ดีที่สุด ได้ 17.21% และปีที่แย่ที่สุด ขาดทุน 12.66%
พอร์ตที่ลงทุนในหุ้น 20% ตราสารหนี้ 60% และเงินฝากหรือตลาดเงิน 20% ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.13% ต่อปี โดยในปีที่ดีที่สุด ได้ 10.70% และปีที่แย่ที่สุด ขาดทุน 4.02%
เห็นตัวเลขด้านบน หลายๆท่านก็พอจะตอบได้คร่าวๆว่า ท่านชอบพอร์ตแบบไหน แต่ความชอบอย่างเดียวไม่พอค่ะ ต้องดูว่าท่านสามารถรับความเสี่ยงระดับนั้นได้หรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของท่าน ระยะเวลาการลงทุน ความมั่งคั่งโดยรวม ความมั่นคงของอาชีพ ภาระทางการเงินที่มี และท้ายที่สุดคือความกังวลหรือ“วิตกจริต”ของท่าน หากท่านมีความกังวลสูง ท่านก็ไม่สามารถจะลงทุนในพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงได้ มิฉะนั้น การลงทุนอาจจะเป็นการทรมานจิตใจของท่านอย่างยิ่ง
คงต้องถามแล้วค่ะว่า “วันนี้ท่านจัดพอร์ตลงทุนแล้วหรือยังคะ” หากจัดแล้ว ก็ต้องแถมด้วยว่า “ท่านได้ทบทวนพอร์ตการลงทุนของท่านเป็นระยะๆแล้วหรือไม่”
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ