โบรกเชียร์หุ้นการท่าฯ พื้นฐานเยี่ยมกำไรงาม
Friday, February 13, 2004
โดยMGR ONLINE
นักวิเคราะห์มองหุ้นการท่าอากาศฯ IPO ราคา 32-42 บาท ปัจจัยพื้นฐานดี กระแสเงิน สดสม่ำเสมอ จ่ายปันผลทันที "โลว์คอสต์แอร์ไลน์" หนุนรายได้เพิ่ม แถมจ่อคิวปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสนามบิน
การแปรรูปและเข้าระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ของบริษัทท่าอากาศยานไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกที่แปรรูปในปีนี้ ด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนช่วงราคาระหว่าง 37-42 บาท จำนวน 358.8 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นที่เสนอขายให้ประชาชน 215.28 ล้านหุ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนสถาบันในประเทศ 52 ล้านหุ้น ข้าราชการ 16 ล้านหุ้น ผู้จองซื้อรายย่อย 40 ล้านหุ้น บุคคลทั่วไป 85.28 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการะคุณ 22 ล้านหุ้น และนักลงทุนต่างประเทศ 143.52 ล้านหุ้น กำหนดเปิดจองซื้อหุ้นวันที่ 26-27 ก.พ. และ 1 มี.ค. 47 ณ ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่่ง ประกอบด้วย ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.กรุงไทย และธ.ทหารไทย ผ่านสาขาทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง โดยหุ้นจะเข้าเทรดในหมวดขนส่งวันที่ 11 มี.ค. 47
บัญชา ปัตตนาภรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำก้ด(มหาชน) (AOT) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน AOT มีสนามบินภายใต้การบริหารงานจำนวน 6 แห่ง รวมสนามบินสุวรรณภูมิที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและจะโอนสินทรัพย์ทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การบริหารของ AOT ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ
โดยสนามบินทั้ง 5 แห่ง จาก 31 แห่งทั่วประเทศนั้น ที่ AOT บริหารงานอยู่นั้นมีสัดส่วนการใช้ของผู้โดยสารสูง 90% เนื่องจากเป็นสนามบินมีจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ และเป็นสนามบินนานาชาติ
ขณะที่ผลประกอบการมีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนตลอด 25 ปีที่ผ่านมา แม้จะประสบปัญหาวิกฤต 911 หรือสถานการณ์โรคซาร์ส แต่ยอดผู้ใช้บริการสนามบินปรับลดลงในจำนวนที่ไม่มาก สถานการณ์สามารถพลิกกลับได้อย่างรวดเร็ว โดยในเดือนมกราคมที่มีผลกระทบจากไข้หวัดนก ยอดผู้ใช้บริการสนามบินกลับเพิ่มขึ้น 14.8% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่ผ่านมา
AOT ยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่ภาครัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยสถิติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่าจำนวนนักท่องเที่่ยวเฉลี่ย 5 ปี เพิ่มขึ้น 8.5% คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 3 เท่าตัว หรือคิดเป็น 30 ล้านคน ในปีพ.ศ.2553
การมีจุดเด่นของทำเลที่ตั้งที่เชื่อมต่อเส้นทางยุโรป ตะวันออกกลางโดยตรง ทำให้สนามบินในประเทศไทยสามารถรองรับบริการนักท่องเที่ยวได้ดี โดยสนามบินดอนเมืองในปัจจุบันเป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุดเป็นอันดับ 18 จากสายการบิน 100 แห่งทั่วประเทศ และเป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
ประกอบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจกว่า 20 ปี เหล่านี้จึงเป็นจุดเด่นของ AOT และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น และการเติบโตของรายได้และกำไร ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในปี 2456 ที่มีกำไรสุทธิกว่า 3,000 ล้านบาท ทำให้ AOT สามารถจ่ายปันผลให้นักลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ ปัจจุบัน AOT ไม่มีหนี้เลย แต่หากนับรวมเงินกู้เพื่อก่อสร้างนามบินสุวรรณภูมิทำให้บริษัทมีหนี้สินต่อทุน 1.5 เท่า
บัญชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังคณะกรรมการการบินพลเรือนอนุมัติให้ปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน 20% จากปัจจุบัน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. ปีนี้ และปรับเพิ่มได้อีกใน 1 ต.ค. 48 การอนุมัติปรับเพิ่มเพดานค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสารระหว่างประเทศจาก 500 บาท เป็น 700 บาท ผู้โดยสารในประเทศ 50 บาท เป็น 100 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.48 รวมถึงการเปิดให้ผู้บริหารรายอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในคลังสินค้า กิจกรรมภาคพื้น หรือการปรับขึ้นการขนส่งน้ำมันจากลิตรละ 6 สตางค์เป็น 8 สตางค์จะทำให้รายได้กิจการการพาณิชย์เพิ่มขึ้น โครงสร้างรายได้เดิมที่มีสัดส่วนรายได้ทีี่ไม่ใช่กิจการการบิน 40% รายได้ทีี่มาจากกิจการการบิน 60%
ส่วนสนามบินดอนเมืองจะเปิดให้บริการเที่ยวบินเหมาลำ สายการบินต้นทุนต่ำ เครื่องบินส่วนบุคคล ในส่วนของอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 จะเปิดเป็นศูนย์ประชุม แสดงนิทรรศการ นานาชาติ เช่น งานแอร์โชว์ มอเตอร์โชว์ เพื่อสร้างรายได้ให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องบริหารอยู่ปีละ 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าส่วนของการใช้บริการสนามบินจะมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท ศูนย์ประชุมและแสดงงานมีรายได้ประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี
โบรกแนะผลตอบแทนดี
บุญชัย ศรีปราชญ์อนันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ภัทร เปิดเผยว่า การกำหนดช่วงราคาที่ 37-42 บาท จากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (พีอี) ที่ 9-11 ใกล้เคียงกับพีอีกลุ่มขนส่งที่ 10 เท่า ขณะที่พีอีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 10.7 เท่า และถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับบริษัทท่าอากาศยานในภูมิภาคเดียวกันที่ค่าพีอีอยู่ทีี่ระดับ 12 เท่า โดยราคาดังกล่าวได้ปรับลดเพิื่อให้นักลงทุนมีส่วนต่างกำไร และรวมรายได้ที่จะมาจากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว โดยจุดเด่นของบริษัทท่าอากาศยานไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งทั้งด้านของขนาดสินทรัพย์ และทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบคู่แข่ง
วรุตม์ ศิวะศริยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกล เบล็กซ์ กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของ AOT น่าจะได้รับความสนใจจองซื้อจากนักลงทุนหมด เนื่องจากเป็นบริษัทที่แหล่งรายได้ กระแสเงินสดเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังจะเปิดใช้ในอนาคตจะเอื้อประโยชน์กับการ AOT เพราะมีความได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่สามารถเป็นศูนย์กลางทางการบิน เหมาะสมที่จะเป็นจุดจอดของสายการบินที่บินเส้นทางระยะยาว และเส้นทางบินระยะสั้นในภูมิภาค ขณะที่การแข่งขันสายการบินต้นทุนต่ำและการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากภาครัฐจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับ AOT
ทั้งนี้ นักลงทุนต้องพิจารณาด้วยว่าการรับรู้รายได้ในอนาคตของ AOT จากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิที่กำหนดให้เปิดใช้ได้ในวันที่ 29 ก.ย. 48 นั้น อาจมีความเสี่ยงในเรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ไม่เต็ม 100% เนื่องจากเป็นการใช้สนามบินแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ความพร้อมและความคล่องตัวในการใช้งานคงไม่เหมือนกับสนามบินที่เปิดใช้บริการมาก่อนหน้า
นอกจากนั้น การบริหารองค์์กรภายหลังจากการปรับโครงสร้างเป็นบริษัทมหาชนต้องมีความโปร่งใส เป็นมืออาชีพเพิ่มขึ้น ไม่อุ้ยอ้ายเหมือนรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เนื่องจากธุรกิจขององค์กรสามารถสร้างรายได้จำนวนมากหากมีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนนโยบายรัฐคงไม่ส่งผลกระทบกับ AOT เชื่อมั่นว่าภายใต้การบริงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพเชิงการแข่งขัน
นักวิเคราะห์จาก บล.ไซรัส หนึ่งในตัวแทนจัดจำหน่าย กล่าวว่า โดยภาพรวมหุ้น AOT น่าจะให้ส่วนต่างผลตอบแทนนักลงทุนได้ หากลงทุนในระยะยาว และจากนโยบายการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ จะเป็นจุดดึงดูดความสนใจนักลงทุนให้จองซื้อหุ้น ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดในการใช้สนามบินของประเทศ แต่นักลงทุนต้องพิจา่รรณาผลกระทบจากปัจจัยภายนอกด้วยว่าจะมีผลกระทบอย่างไร เช่น โรคไข้หวัดนก มีความยืดเยื้อเพียงใด โรคซาร์สมีโอกาสที่จะย้อนกลับมาอีกหรือเปล่า รวมถึงการก่อการร้าย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น AOT จะได้รับผลกระทบ