เตือนกระแสนิยม"หุ้นไอพีโอ"
รัตนา วงศ์รัศมีเดือน สถาบันราชภัฏสวนดุสิต [email protected]
กระแสนิยมหุ้นจอง ที่เป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ได้ช่วยประโคมให้ หุ้นของบริษัทท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่จะนำเข้าจดทะเบียนซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ มีความร้อนแรงมากที่สุดรายการหนึ่งในขณะนี้ และเมื่อหุ้น ทอท.เปิดจองในวันแรกก็เกลี้ยงภายในพริบตาและมีการจองซื้อมากกว่า 10 เท่าเพียงใช้เวลาดำเนินแค่ 10 นาทีเท่านั้น
โดยเมื่อวันที่ 26 - 27 ก.พ. และ 1 มี.ค. ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อหุ้นได้ขั้นต่ำคนละ 500 หุ้น และไม่เกิน 20,000 หุ้น ต่อ 1 ใบจอง ในราคาหุ้นละ 37 - 42 บาท ซึ่งนักลงทุนที่จองซื้อต้องจ่ายเงิน เค็ม 42 บาทต่อหุ้นก่อน แต่หลังจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินสรุปราคาที่ชัดเจนในวันที่ 2 มี.ค. แล้ว หากราคาออกมาต่ำกว่าก็จะคืนให้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการจองซื้อหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อ 2 ปีก่อน ได้ให้ผู้ลงทุนจ่ายเงินค่าจองก่อนในราคา 33 -35 บาท โดยให้จ่ายในราคาสูงสุดเช่นกัน แต่เมื่อประกาศราคาออกมาอยู่ที่ 35 บาท ทาง ปตท. ก็ไม่จำเป็นต้องคืนเงินให้กับผู้ลงทุนอย่างใด
จากกระแสความนิยมเช่นนี้ ผู้เขียนขอฟันธงไปได้ว่า ราคาจริง นักลงทุนต้องจ่าย 42 บาทแน่นอน ไม่เชื่อก็คอยดูสิ ซึ่งสวนกระแสตลาดหุ้นที่ตกลงทุกวัน โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า การตกต่ำของตลาดหุ้นมาขากการเทขายหุ้นในกระดาน เพื่อนำเงินมาจองซื้อหุ้นสุดฮอต ทอท.นั่นเอง
การปลุกกระแสความนิยมในสื่อต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการจองหุ้น นับได้ว่ามีส่วนเร่งเร้าให้เกิดการเก็งกำไรมากกว่าการให้ความหมายที่แท้จริงของการลงทุน
จากอดีตไม่ว่าจะเป็นหุ้นของ ปตท. โรงไฟฟ้าราชบุรี ไทยโอลีฟีน และอีกหลายๆ บริษัท เมื่อนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์จะมีการเก็งกำไรตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดอยู่เสมอ ซึ่ง "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ปรมาจารย์ด้านการลงทุนในตลาดทุนของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า หากหุ้นเข้ามาเสนอขาย IPO หรือหุ้นจองในตลาด การใช้กลยุทธ์ทางการขาย ด้วยวิธีประโคมข่าวอย่างมโหฬารแล้ว นักลงทุนรายย่อยก็จะได้รับการจัดสรรในจำนวนที่น้อยมาก และเมื่อการเสนอขายเริ่มขึ้น ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยต้องซื้อในราคาสูง
แม้ว่า นักลงทุนยังต้องการซื้อหุ้น IPO ในราคาต่ำ และขายหุ้นทำกำไรอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความร้อนแรงในหุ้นใหม่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งโบรกเกอร์เรียกวิธีการดังกล่าวว่า Flipping และจากสถิติที่บัฟเฟตต์ค้นพบ กำไรของหุ้น IPO จะคงอยู่ในช่วงแรกที่หุ้นได้รับข่าวปลุกเร้า ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีกระแสความนิยมที่จะสร้างราคาหุ้นขึ้นไปได้อีก แต่เมื่อหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว 90 วัน หลังจากนั้นราคาหุ้นจะตกลงมา จึงเห็นได้ว่า โบรกเกอร์จำนวนมาก และสื่อต่างๆ รวมไปถึงการโฆษณาชี้ชวน ล้วนเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนรายย่อยให้สนใจที่จะเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นจองจนละเลยการเป็นนักลงทุนที่แท้จริง
การที่หุ้นไอพีโอจองได้ยาก เช่นหุ้นของ ทอท. ที่มีสถิติการจองเกินยอดที่จะจัดสรรถึง 10 เท่า ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาที่ปลุกกระแสการสร้างราคาให้สูงขึ้นไป ในวันที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จนเกินราคาจริงไปมาก ซึ่งการสร้างราคาแบบไม่ยั่งยืนเช่นนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีแรงเทขายทำกำไรจากนักเก็งกำไรรายใหญ่ ทำให้ราคาในตลาดตกลงมาเป็นราคาตามมูลค่าที่แท้จริงในที่สุด
หากนักลงทุนยังพอจำได้ คงไม่ลืมกระแสฟีเวอร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหุ้นจองของบริษัทการบินไทยในอดีต ที่ประชาชนสามารถจองซื้อได้ในราคาหุ้นละ 60 บาท ที่ให้สิทธิจองซื้อได้คนละ 200 หุ้น โดยใช้วิธีสุ่มเลือก หรือ random ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็มีสภาพการณ์เหมือนหุ้น ทอท.ในวันนี้
ทันทีที่มีการประกาศรายชื่อผู้ที่จองซื้อหุ้นได้สำเร็จ หลายคนดีใจราวถูกหวย แต่หลังจากนั้น...เรื่องเศร้าก็ตามมา จนถึงบัดนี้ หลายคนต้องมาขายหุ้นการบินไทยในราคาต่าง ๆ กัน บางคนขายที่ 50 บาทเศษ บางคนก็ขายที่ราคา 3 หุ้นร้อย แต่ที่ช้ำไปกว่านั้นคือ หลังเหตุการณ์ 11 ก.ย.2544 ซึ่งเกิดเหตุการณ์สะท้านไปทั่วโลก ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้เข้าโจมตีกลางกรุงนิวยอร์ก ในจุดที่เป็นที่ตั้งตึกแฝดเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และตึกเพนตากอนที่ทำการด้านกลาโหมของสหรัฐ หลังจากนั้น ราคาหุ้นการบินไทย ก็ตกลงมาเหลือแค่ประมาณ 20 บาทเศษ และนี่คือหนึ่งในอีกหลายตัวอย่างของหุ้นไอพีโอ ที่เคยมีกระแสความนิยมในช่วงแรก
ประเด็นที่นำพูดถึงนี้ เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงหลักสำคัญของการลงทุน คือ การพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน หาใช่คำโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายไม่ นักลงทุนต้องตั้งสติให้มั่น อย่าหวั่นไหว ไปตามกระแส โดยเฉพาะหุ้น IPO ที่บริษัทแกนนำหุ้นเข้าตลาดฯ ต่างต้องพยายามสร้างความนิยม ทำให้หุ้นสามารถผ่านราคาจองในวันแรกให้ได้ แต่หลังจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของหุ้นแต่ละตัว ที่จะฝ่าฝันกระแสความท้าทายที่จะยืนหยัดราคาที่แท้จริง เช่นเดียวกับนักลงทุนทั้งหลาย ที่ต้องใช้สายตาที่ยาวไกล มองให้ทะลุว่า หุ้น IPO แต่ละตัวที่ลงทุนไปจะมีแนวโน้มในระยะยาวเป็นอย่างไร
มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับหุ้น IPO ก็คือ บริษัทมักจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในขณะที่ตลาดอยู่ในขณะขาขึ้น เพราะทำให้การระดมทุนได้เม็ดเงินจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นหน้าต่างโอกาส หรือ Window of Opportunity ของเจ้าของบริษัทที่จะสร้างผลตอบแทนงามๆ จากราคาหุ้นได้
เพราะเมื่อใดที่ตลาดลดความร้อนแรงลง ราคาหุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดก็มักจะลดลงไปด้วย ข้อนี้นับเป็นสัจธรรมของการลงทุน ซึ่งนักลงทุนทุกคนต้องตระหนักเตือนตนเองอยู่เสมอ