หน้า 1 จากทั้งหมด 1

โฆษณาเริ่มตก...

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ส.ค. 22, 2004 10:24 pm
โดย เถ้าแก่
โฆษณา7เดือนแรกทีวียอดร่วง
เหตุราคาแพง-สินค้าใช้สื่ออื่น

ส.โฆษณาฯ-พลิกวงการในรอบ 10 ปี สื่อทีวียอดร่วง เม็ดเงินโฆษณา 7 เดือนแรกใช้ผ่านแค่ 57%ติดลบถึง 4% เหตุขึ้นค่าสื่อมากเกินเหตุ ขณะที่สินค้าหันแห่ใช้เคเบิ้ลและเคเบิ้ลท้องถิ่น รวมถึงหนังสือพิมพ์แทน ขณะที่เม็ดเงินรวมสะพัดเกือบ 5 หมื่นล้าน "โทรศัพท์-อสังหา-รัฐ"ยังครองแชมป์เหนียวแน่น ชี้ปัจจัยน้ำมันแพง คาดสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันลดใช้เงิน ส่งผลอัตรการเติบโตของอุตสาหกรรมต่ำกว่าเป้าเหลือแค่ 15%

นายสุรพล ลีนิรันดร อุปนายกฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ"สยามธุรกิจ"ว่า ผลการสำรวจเม็ดเงินโฆษณา 7 เดือนแรกของปี 2547 (ม.ค.-ก.ค.)ของเอซีนีลเส็น ปรากฏว่ามีเม็ดเงิน 47,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20% ซึ่งสิ่งที่น่าจับตามองคือการเปลี่ยนแปลงของการใช้เงินผ่านสื่อ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีนสัดส่วนการใช้เงินผ่านเพียง 57% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนการใช้เงินผ่านสื่อนี้ถึง 61% หรือลดลง 4% ขณะที่การใช้เงินผ่านหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 21% จาก 18% หรือเพิ่มขึ้น 3% ขณะที่อีก 22% เป็นการใช้เม็ดเงินผ่านสื่ออื่นๆ

"การที่มีการใช้เงินผ่านสื่อโทรทัศน์ลดลงถึง 4% ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอุตสาหกรรมโฆษณาในรอบ 10 ปีที่ไม่เคยต่ำกว่า 60% แม้ว่าเปอร์เซ็นจะเล็กน้อยแต่หากคิดเป็นจำนวนเงินแล้วมีมูลค่าที่สูง โดยเฉพาะหากพิจารณาการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว พบว่าสื่อโทรทัศน์มีส่วนแบ่งของเม็ดเงินเพียง 55% เท่านั้น ขณะที่หนังสือพิมพ์มีสัดส่วนมากถึง 22% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ทางโทรทัศน์ได้มีปรับราคาค่าโฆษณาขึ้น ประกอบกับทางเลือกของสื่อโทรทัศน์มีจำนวนมากช่อง ทำให้คนดูกระจายกันออกไป ขณะที่สื่อประเภทเคเบิ้ลทีวีเริ่มได้รับความนิยม รวมถึงเคเบิ้ลท้องถิ่นในต่างจังหวัดก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทำให้สินค้าหันไปโฆษณาผ่านสื่อเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับอานิสงฆ์นี้ด้วย"

สำหรับการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อในรอบ 7 เดือน สื่อทีวียังคงได้รับความนิยมสูงสุด มีการใช้เงิน 27,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% หนังสือพิมพ์ 10,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% โรงภาพยนตร์ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% วิทยุ 3,921 ล้านบาทโต 5% นิตยสาร 3,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% สื่อกลางแจ้ง 2,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% สื่อทรานซิส324 ล้านบาท โต 2% อย่างไรก็ตามการใช้สื่อที่มีอัตรการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ถึง 5% นั้น เมื่อคำนวณกับภาวะเงินเฟ้อถือว่าไม่มีอัตราการเติบโตและยังติดลบด้วย

นายสุรพล กล่าวต่อว่า ส่วน 10 อันดับประเภทสินค้าที่มีการใช้เงินมากสุด ประกอบด้วย 1.ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2,419 ล้านบาท โตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69% 2.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 1,847 ล้านบาท โต 70% 3.หน่วยงานภาครัฐ 1,403 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 48% 4. เทปและซีดี 1,366 ล้านบาท ลดลง 12% 5.งานแสดงสินค้า 1,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% 6.การสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจสื่อสาร 1,016 ล้านบาท โต 92% 7.เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน 951 ล้านบาท ลดลง 7% 8.ภาพยนตร์ 777 ล้านบาท โต 1% 9.หนังสือและนิตยสาร 767 โต 240% 10.ธุรกิจหนังแผ่น 745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%

และ 10 อันดับบริษัทที่ใช้เงินมากสุด คือ 1.ยูนิลีเวอร์ ใช้เม็ดเงิน 2,219 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% 2.เอไอเอส 1,402 ล้านบาท เพิ่ม 74% 3.พีแอนด์จี 844 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% 4.แทค 694 ล้านบาท เพิ่ม 50% 5.โอสถสภา 664 ล้านบาท ใช้เงินเพิ่มขึ้น 11% 6.โตโยต้า 579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% 7.แกรมมี่ 572 ล้านบาท เพิ่ม 9% 8.เนสท์เล่ 503 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% 9.อายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ 499 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% และ 10.คาโอคอมเมอร์เชียล ใช้เงิน 452 ล้านบาท ลดลง 2%

ขณะที่แบรนด์สินค้า 10 อันดับแรกที่ใช้เงินมากสุด ประกอบด้วย 1.วันทูคอล 531 ล้านบาท โตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 90% 2.ดีพร้อมท์ 357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 137% 3.จีเอสเอ็ม 324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147% 4.ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าพอนด์ 299 ล้านบาท เพิ่ม 19% 5.เอไอเอส ใช้เม็ดเงิน 280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% 6. เอ็ม 150 280 ล้านบาท ลดลง 1% 7.ทศท.254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% 8.โอเลย์ 244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% 9.ผงซักฟอกบรีส 239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% และ 10.กระทิงแดง ใช้เงิน 238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาน้ำมันเบนซินขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐมีนโยบายปล่อยราคาน้ำมันลอยตัวตามตลาดโลก คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้เงินของบางสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นของชิ้นใหญ่ โดยจะมีรถยนต์ที่มีขนาด 2000 ซีซีขึ้นไป สินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องประดับ สินค้าแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ผลกระทบกับการใช้เงินโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมจากภาวะดังกล่าวคาดว่าจะมีไม่มากนักในแง่ของการใช้เม็ดเงินของสินค้า เพียงแต่จะกระทบต่ออัตราการเติบโตที่ลดลง จากเดิมที่คาดว่าทั้งอุตสาหกรรมจะโตถึง 20% อาจลดลงเหลือแค่ 15%