โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ก.ย. 02, 2004 11:19 am
ไม่รู้พี่ thebing ได้อ่านรึยัง
ภาวะเงินตึงราคาเฟ้อ (Stagflation) : ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?
โดยคุณจงรัก ระรวยทรง
หนังสือพิมพ์ทันหุ้น
ในระยะนี้ จะเห็นข่าวทางเศรษฐกิจ ความเห็นและบทวิจารณ์ที่มีการพูดถึงเรื่องของภาวะเงินตึงราคาเฟ้อ (stagflation) กันมากขึ้น จนบางทีก็เลยเถิดไปถึงขั้นระบุว่า เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะ stagflation แล้ว
จริงๆ แล้ว stagflation คืออะไร ? stagflation มาจากคำว่า stagnation + inflation ซึ่งเป็นคำอธิบายถึงภาวะเศรษฐกิจที่เกิด stagnation พร้อมๆ กับ inflation โดยที่ stagnation คือ ภาวะที่เศรษฐกิจชะงักงันไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค หรือการลงทุน ล้วนแล้วแต่อยู่ในช่วงซบเซา มีการว่างงานในอัตราสูง ซึ่งส่งผลให้การเจริญเติบโตของประเทศหยุดชะงักไม่ขยายตัว ส่วน inflation ก็คือ ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งวัดจากการที่ดัชนีราคาสินค้าของประเทศมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาวะ stagflation ก็คือ ภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศชะงักงัน แต่กลับมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งในที่นี้จะขอใช้คำว่า เงินตึงราคาเฟ้อ ไปก่อนแม้ว่าจะไม่ตรงตัวเสียทีเดียว
ในทฤษฎีเศรษฐกิจสมัยใหม่ยุคแรกๆ นั้น จะไม่มีการพูดถึงภาวะ stagflation เพราะภาวการณ์ทั้งสองอย่างนั้นเป็นสิ่งตรงข้ามซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดชะงักงัน อุปสงค์ (demand) ทั้งทางด้านการบริโภคและการลงทุนไม่เพิ่มขึ้น ผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอย ผู้ผลิตไม่ขยายการผลิตและการลงทุน ภาวะเงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในทางตรงข้าม หากเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในประเทศ นั่นย่อมหมายความว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว ผู้ผลิตมีการขยายการผลิตและต้องการลงทุนเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็มีอำนาจซื้อที่จะต้องการสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้อุปสงค์โดยรวมเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดมีการรวมกลุ่มในลักษณะ Cartel ของประเทศผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันที่เรียกกันว่า OPEC (Organization of Petroleum Exporting Countries) และต่อมาได้มีการรวมหัวลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเพื่อผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น จนเกิดภาวะวิกฤติน้ำมัน (Oil Crisis) ขึ้นทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 ประเทศส่วนใหญ่ก็ได้รู้จักกับภาวะ stagflation ซึ่งระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะงักงันไม่เจริญเติบโต แต่ราคาสินค้ากลับเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อขึ้นพร้อมๆ กัน
ถ้ายังจำกันได้ ประเทศไทยในยุคนั้นก็หลีกเลี่ยงหนีชะตากรรมของผลกระทบจาก Oil Shock ไปไม่พ้น ในฐานะประเทศที่ต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากภายนอกด้วยการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ประเทศไทยต้องเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลในขณะนั้นจะได้ดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานในหลายเรื่องด้วยกัน อาทิเช่น การให้สถานีโทรทัศน์แพร่ภาพภายในเวลาที่สั้นลงกว่าเดิม การให้ปั๊มน้ำมันปิดบริการเร็วขึ้น หรือการปิดไฟข้างถนนสลับกัน เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดเศรษฐกิจไทยก็ต้องเข้าสู่ภาวะ stagflation อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์น้ำมันที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางการจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสามารถรับมือกับแรงกดดันจากภายนอกได้ ในช่วงนั้น เราจึงได้เห็นมาตรการและโครงการหลายอย่างที่มุ่งไปยังการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน โดยโครงการส่วนใหญ่จำเป็นต้องอาศัยเงินกู้จากธนาคารโลก แต่เป็นไปในลักษณะ Program Loan มิใช่ Project Loan อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ภายใต้ชื่อว่า เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้าง (Structural Adjustment Loan) หรือที่เรียกกันว่า SAL ซึ่งต้องใช้เวลานานในการดำเนินงาน จนต้องมี SAL II ตามมาและปัญหาทางเศรษฐกิจสามารถคลี่คลายไปได้
จะเห็นได้ว่าภาวะ stagflation เป็นภาวะเศรษฐกิจซึ่งยากลำบาก และต้องใช้ทรัพยากรและเวลานานในการแก้ไขปัญหา เพราะจำเป็นต้องใช้มาตรการที่ลึกลงไปถึงระดับโครงสร้างและเป็นมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนั้น ปัญหา stagnation และปัญหา inflation ก็เป็นปัญหาซึ่งต้องใช้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่ ตรงกันข้าม ซึ่งถ้าทำให้สามารถแก้ไขปัญหาหนึ่งได้ ก็อาจจะทำให้ปัญหาอื่นเลวลง ดังนั้น จึงต้องใช้ศิลปะในการ แลกเปลี่ยน (trade-off) เครื่องมือทางนโยบายที่มีอยู่เป็นอย่างดีเพื่อให้เกิดผลโดยรวมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และที่ร้ายไปกว่านั้น ก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (small, open economy) ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัจจัยภายนอกประเทศ ความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องในเรื่องเสถียรภาพภายนอก (external stability) ทั้งในเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นที่จะต้องพิจารณาประกอบกันไปด้วย
ดังนั้น ในช่วง Oil Shock ทั้ง 2 ครั้งในอดีตที่ผ่านมาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เราจึงได้เห็นทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะงักงัน อัตราเงินเฟ้อในระดับสูง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การขาดดุลทางการคลัง และปัญหาการว่างงาน ซึ่งต้องใช้เวลานานปีกว่าจะฝ่ามรสุมปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าวมาได้
การที่มีผู้กังวลในเรื่องของการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะ stagflation ว่าไปแล้ว ก็เป็นสิ่งดีที่จะช่วยให้เกิดการ ตระหนัก เพื่อที่จะได้ เตรียมพร้อม สำหรับการรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะสรุปว่าในขณะนี้ เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในภาวะ stagflation ก็เป็นการกล่าวที่คลาดเคลื่อนเกินความจริง เพราะภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันต่างกับเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว และในขณะนี้เศรษฐกิจไทยก็มิได้ตกอยู่ในภาวะ stagflation แต่อย่างใด ระบบเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวในอัตรา 6-7% มิได้หยุดชะงักงัน ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงประมาณ 2-3% เท่านั้น
ถ้าถามต่อไปว่า แล้วเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ stagflation หรือไม่ ? คำตอบก็คือ เป็นไปได้ หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงเกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบาร์เรล และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ไม่มีการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างถูกต้อง
ภายใต้สภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งเรายังไม่มีแรงกดดันจากปัญหาภาวะเงินเฟ้อและปัญหาเสถียรภาพภายนอกมากนัก การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์พลังงานยังนับว่าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ง่ายกว่าภาวะแวดล้อมในอดีตเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เศรษฐกิจไทยต้องเข้าสู่ภาวะ stagflation เพียงแต่ว่ามาตรการที่นำออกมาใช้จะต้องมิใช่มาตรการที่เน้นในเรื่องการกลบเกลื่อนปัญหาในระยะสั้น หากแต่ควรจะเป็นมาตรการในระยะปานกลางและระยะยาวที่มุ่งแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างเป็นสำคัญ เพราะโดยเปรียบเทียบแล้ว ภาวะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าช่วง Oil Shock ในอดีต และดีกว่าประเทศในภูมิภาคนี้อีกหลายประเทศ