ส่งต่อความดีไปข้างหน้า/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

ส่งต่อความดีไปข้างหน้า/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ โดย Thai VI Article » อังคาร ก.ย. 11, 2018 7:25 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    หลายครั้งที่มีผู้ทำดีกับเราและเราอยากจะทำดีตอบ แต่เราอาจจะไม่มีโอกาส ถ้าหากว่าเราต้องการตอบแทนบุญคุณนั้นจริงๆ เราจะทำอย่างไร?

    ในพุทธศาสนา เรามีหลักการของการ “ให้” โดยไม่หวังผลตอบแทนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีการให้ความช่วยเหลือ หรือให้ทานกับผู้ที่ลำบากกว่าโดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน ถือเป็นความสุขใจ อาจจะมีส่วนหนึ่ง(แอบ)หวังว่า เพื่อชาติหน้าเกิดใหม่จะได้มีชีวิตที่ดีกว่าชาตินี้  แต่สำหรับโลกตะวันตก การให้โดยไม่หวังผลตอบแทน อาจจะเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยชินกัน จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับเขา

    แนวคิดของการส่งต่อความดีไปข้างหน้า หรือ “Pay It Forward” หรือ การตอบแทนบุญคุณของผู้ทำความดีกับเรา ด้วยการทำดีต่อผู้อื่น เสมือนการส่งต่อความดี จริงๆแล้วมีตั้งแต่สมัยเอเธนส์โบราณ โดยเริ่มใน 317 ปีก่อนคริสตกาล และในปี ค.ศ. 1784 เบนจามิน แฟรงคลิน ได้เขียนถึงเรื่องนี้ว่า ปกติคนเรามักไม่ค่อยมีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณของผู้ทำดีกับเรา ดังนั้นหากมีโอกาสและอยากตอบแทน ให้ตอบแทนโดยการทำดีกับผู้อื่น หรือ “ส่งต่อความดีไปข้างหน้า”

    ยกตัวอย่าง คุณครูที่สอนเรามาตั้งแต่เด็ก หากเราอยู่ในหมู่บ้านเดิม และคุณครูไม่ได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนอื่น เราก็ยังสามารถกลับไปหาท่าน ดูแลสารทุกข์สุขดิบของท่านได้ แต่หากเรา หรือคุณครูของเรามีการโยกย้ายไปทำงานหรือไปอาศัยในหมู่บ้านอื่น หรือเมืองอื่น โอกาสที่จะได้ตอบแทนพระคุณคุณครูก็แทบไม่มี  สิ่งที่เราทำได้คือ ทำดีต่อคนอื่นเป็นการตอบแทน

    การใช้แนวคิดนี้ ทำให้โลกน่าอยู่ ทำให้มนุษย์ละความเห็นแก่ตัว และสามารถนำมาเป็น “แนวคิด” ของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยลดช่องว่างต่างๆได้

    แนวคิดนี้มาโด่งดังเมื่อ บริษัท วอร์เนอร์บราเดอร์ส์ นำหนังสือนวนิยายเรื่อง “Pay It Forward” ที่แต่งโดย แคทเธอรีน ไรอัน ไฮด์ (Catherine Ryan Hyde) ในปี ค.ศ. 2000 ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันให้คนในสังคมอยากทำดี และให้คนที่รับทำดีส่งต่อไปข้างหน้า จนเกิดมูลนิธิขึ้นในสหรัฐอเมริกา ชื่อ “Pay It Forward Movement Foundation” และเมื่อการดำเนินการเผยแพร่ไปกว้างขวาง ก็มีสายรัดข้อมือเป็นสัญลักษณ์ของผู้ร่วมในปรัชญา “ส่งต่อความดีไปข้างหน้า” นี้

    ในปี ค.ศ. 2007 ได้เกิด “วันส่งต่อความดี(ไปข้างหน้า)สากล” หรือ “International Pay It Forward Day” ในประเทศออสเตรเลีย และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการกระทำที่เป็นความดี/ความเอื้ออาทรในโลกนี้ ถึง 5 ล้านครั้ง

    ท่านอาจจะเคยได้ดูวิดีโอคลิป ที่มี(ชายเข้าคิวจะซื้ออาหารอยู่ พอได้อาหารแล้วจะจ่ายเงิน คนขายก็บอกว่า ผู้ชายคนที่อยู่ข้างหน้าคุณเขาจ่ายให้คุณแล้ว ผู้ชายคนนั้น จึงส่งต่อความประหลาดใจให้กับคนข้างหลัง ด้วยการออกเงินค่าอาหารให้คนที่เข้าคิวถัดไป และเกิดอย่างนี้เป็นทอดๆไปทั้งวัน

    แม้เราสามารถทำความดีได้ทุกวัน แต่การได้รับในสิ่งที่ไม่คาดหวัง บางครั้งอาจเกิดความประทับใจที่ยิ่งใหญ่ และทำให้เราอยากจะทำความดีให้บ่อยขึ้น เพียงหวังที่จะทำให้คนที่รับต่อ ได้รับประสบการณ์ความประทับใจนี้เช่นกัน น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่ลูกค้าเดินเข้าไปในร้านเป็นคนแรก และได้รับของชิ้นแรกมาฟรี โดยคนขายแจ้งว่า “ลูกค้าคนสุดท้ายเมื่อคืนนี้ เขาจ่ายไว้ให้คุณแล้วค่ะ”

    หากนำไปใช้พูดคุยให้นักเรียน/นักศึกษาผู้กู้ยืม กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ยังไม่ชำระคืนเงินกู้  ที่มีปัญหากันอยู่ทุกวันนี้ว่า ปู้กู้ไม่ชำระ แม้จะทวงแล้วทวงอีก แม้จะแจ้งว่าหากไม่นำมาชำระคืน ก็จะไม่มีเงินให้กับนักเรียนรุ่นต่อไป ในทางกลับกัน หากแจ้งว่าหนี้ของเขาได้รับการชำระแล้ว เพียงแต่หน้าที่ของเขาคือ ส่งเงินให้รุ่นน้องเรียนหนึ่งคน และเขามีหน้าที่ส่งเงินให้น้องคนนั้นจริงๆ โดยมี กยศ. เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินให้ และให้ผู้รับเงินรายงานต่อผู้ส่งเงินทุกเทอม ว่าผลการเรียนเป็นอย่างไร เขารู้สึกอย่างไรต่อการมีผู้จ่ายเงินให้เรียน อาจจะทำให้ กยศ. สามารถเก็บหนี้ได้มากขึ้นนะคะ

    ของแบบเดียวกัน แต่ทำให้มองคนละมุม ก็อาจจะทำให้คนคิดว่ามันไม่เหมือนกัน ได้ค่ะ

    การส่งต่อความดีไปข้างหน้า เป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการดำเนินการ ธนาคารคนยาก (Micro Finance) และเกิดผู้ให้กู้เพิ่มขึ้นมากมาย เพียงเพราะอยากตอบแทนอะไรให้กับสังคม โดยไม่ได้มุ่งหวังได้รับผลตอบแทนกลับคืน

    วันนี้คุณทำดีแล้วหรือยังคะ ลองทำเพื่อส่งต่อไปข้างหน้าดูสักอย่างหนึ่ง ผลที่ได้รับอาจจะประทับใจไม่รู้ลืมค่ะ
[/size]



ตอบกลับโพส