JAL บินสู่วันพรุ่งนี้/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

JAL บินสู่วันพรุ่งนี้/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ โดย Thai VI Article » พุธ ก.ย. 26, 2018 10:42 am

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    หัวข้อในวันนี้เป็นหัวข้อบรรยายของ คุณโยชิฮารุ อุเอกิ ประธานของบริษัท เจแปนแอร์ไลน์ ซึ่งได้มาบรรยายพิเศษในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ของสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (สวตท.) ดังที่ดิฉันเคยเขียนเชิญชวนท่านไปฟัง

    ท่านประธานอุเอกิ เคยเป็นนักบินมาก่อน และชอบมากรุงเทพฯมาก ในชีวิตการบิน 35 ปีนั้น มีช่วงประมาณ 10 ปีที่ได้บินมากรุงเทพเดือนละครั้ง ท่านชอบอาหารไทย และชอบอัธยาศัยของคนไทย ท่านกล่าวว่าอาจจะเรียกว่า กรุงเทพฯเป็นบ้านที่สองก็ว่าได้

    ท่านเป็นนักบินจนถึงปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นปีที่เจแปนแอร์ไลน์ล้มละลาย ทางรัฐบาลได้ขอร้องให้ ดร. คาสึโอะ อินาโมริ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง เคียวเซระ และบริษัท โทรคมนาคม KDDI  เข้ามาเป็นประธาน และตอนนั้น ทางผู้ใหญ่ก็ทาบทามให้ท่านเป็นกรรมการบริหาร แม้จะรักการบินมาก แต่ท่านก็ตัดสินใจที่จะเข้าไปทำงานบริหารเพื่อช่วยฟื้นฟูบริษัท ช่วยเพื่อนพนักงานให้ได้ทำงานต่อไป ทำงานบริหารเพียงสองปีท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรรมการผู้อำนวยการ (President)

    ท่านเล่าให้ฟังว่า ก่อนการล้มละลาย เจแปนแอร์ไลน์เป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินครอบคลุมทั่วโลก 246 เส้นทาง มีฝูงบินที่มีเครื่องบินโบอิ้ง 747 หรือที่เราเรียกกันว่า “จัมโบ้” มากกว่าร้อยลำ เรียกว่ามากที่สุดในบรรดาสายการบินต่างๆในโลกในขณะนั้น แต่ปัญหาก็คืด วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลก (รวมถึงในญี่ปุ่น ในเอเชีย และในสหรัฐและยุโรป) ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง การมีเครื่องบินลำใหญ่กลายเป็นภาระ เพราะต้นทุนคงที่ หรือเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ลดลง

    นอกจากนี้ พนักงานยังทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีใครสนใจภาพรวมและผลกำไรขององค์กร (เพราะไม่เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรง)

    แม้จะมีเส้นทางการบินที่ขาดทุน แต่บริษัทก็ไม่ได้ยกเลิกเส้นทางบินเหล่านั้น  เพราะเชื่อในการมีเครือข่ายครอบคลุมเส้นทางบินมากๆ และคิดว่าหากสถานการณ์แย่จริงๆ “อย่างไรรัฐบาลก็มาช่วยอุ้ม”

    ดิฉันประหลาดใจมาก ไม่คิดว่าแนวคิดของการมีรัฐบาลมาช่วยอุ้มรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน จะเป็นแนวคิดสากล ที่ไม่เว้นแม้แต่คนญี่ปุ่น ที่ได้รับการยอมรับว่ามีจิตสาธารณะดียอดเยี่ยม อาจจะดีที่สุดในโลกด้วยซ้ำไป

    ในปี พ.ศ. 2553 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศไม่เข้าไปอุ้มเจแปนแอร์ไลน์ ปล่อยให้บริษัทล้มละลาย และต้องสร้าง ต้องฟื้นฟูขึ้นมาเป็นบริษัทใหม่

    การฟื้นฟูเกิดขึ้นในสมัยของท่านประธานอินาโมริ  ท่านเปลี่ยนบริษัทอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ  ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยมีการเชิญผู้บริหารและพนักงานของฝ่ายงานต่างๆมาพูดคุยอย่างเปิดเผย ห้ามเกรงใจกัน และช่วยกันคิดจน รู้ว่าสาเหตุจริงๆของความล้มเหลวของบริษัทคือ การที่พนักงานไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิด และพนักงานไม่เอาจริงเอาจัง หลังจากมีการพูดคุย วิเคราะห์แล้ว จึงมีการคิดและกำหนด “ปรัชญาของ เจเอแอล” ในการสร้าง “ความสุขของพนักงานทุกคน” และ “เพิ่มคุณค่าของบริษัท” เป็นหลักการในการใช้บริหารบริษัทตั้งแต่ปี 2554 (อ่านประวัติบริษัท ได้ในบทความคอลัมน์ Money Pro ที่ลงตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 และปรัชญาของเจเอแอล ในบทความที่ตีพิมพ์ 14 สิงหาคม 2560)

    นอกเหนือจากการกำหนดปรัชญาใหม่แล้ว ยังนำระบบการแบ่งกำไรขาดทุนของหน่อยงานมาใช้ เรียกว่า Sectorial Profitability System โดยการคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยย่อย เพื่อให้เห็นกำไรขาดทุนของหน่วยงาน  โดยมีการแบ่งหน่วยย่อยให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะทำให้เห็นการทำกำไรหรือขาดทุนอย่างชัดเจนแล้ว ยังทำให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการมากๆ ใช้เวลายาวนาน โดยแต่ละหน่วยย่อย สามารถตัดสินใจทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเองมากขึ้น

    ดิฉันเคยเขียนถึงเจแปนแอร์ไลน์ไปสองตอนในปีที่แล้ว ว่าเขาสร้างให้พนักงานมีจิตสำนึกเรื่องต้นทุนและกำไร ในครั้งนี้ คุณอุเอกิได้ยกตัวอย่างตัวอย่างหนึ่ง ที่เราอาจจะคาดไม่ถึงคือ เขาทำป้ายบอกราคาของอะไหล่แต่ละชิ้นเอาไว้ ไม่ว่าจะราคาเพียง 300 กว่าเยนหรือเท่าไรก็ตาม ดังนั้น เมื่อช่างจะหยิบไปใช้งาน จะได้ทราบว่าราคาเท่าไร หากใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่รักษา ก็จะทำให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้น

    หลังจากดำเนินการฟื้นฟูได้ไม่ถึงสองปี เจแปนแอร์ไลน์ ก็กลับมามีรายได้ที่ดีขึ้น พลิกฟื้นกลับมามีกำไรได้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดย ดร. อิมานูริ ได้ส่งไม้ต่อให้ ประธาน มาซารุ โอนิชิ โดยคุณอุเอกิ ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการ (President) ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่เจแปนแอร์ไลน์เข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว จนครบเกษียณอายุงานในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคนที่สาม เมื่อเดือนเมษายนปี 2561 นี้

    ท่านประธานอุเอกิ สรุปให้ทราบว่า พนักงานคือหัวใจของธุรกิจ บริษัทจะรุ่งเรืองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพนักงาน ทัศนคติของพนักงานต่องาน ต่อลูกค้า และต่อบริษัท

    ในห้าปีที่ผ่านมา เจแปนแอร์ไลน์ มีรายได้ในระดับ 1.239 ล้านล้านเยน ถึงประมาณ 1.383 ล้านล้านเยน (ประมาณ 0.37- 0.41 ล้านล้านบาทต่อปี) มีกำไรจากการดำเนินงานในอัตรา 12.7-15.8% ซึ่งถือว่าสูงมากในอุตสาหกรรมนี้ และมีกำไรสุทธิประมาณ 135,000 – 174,000 ล้านเยน หรือประมาณ 40,500 – 52,200 ล้านบาทต่อปี

    เมื่อดิฉันเขียนถึงหุ้นเจแปนแอร์ไลน์ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ราคาหุ้นอยู่ที่ 3,746 เยน ค่าพีอี 12.26 เท่า ราคาปิด ณ วันพฤหัสที่ 20 กันยายน 2561 เท่ากับ 4,006 เยน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.94% ค่าพีอีที่คาดการณ์ ประมาณ 11.35 เท่า (ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก) มีผลตอบแทนจากเงินปันผล 2.75% แต่ในสองไตรมาสหลังที่ผ่านมาอัตรากำไรสุทธิเริ่มลดลง จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน

    ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เจแปนแอร์ไลน์ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจสายการบินราคาประหยัด หรือ โลว์คอส โดยจะบินทั้งระยะปานกลางและระยะยาว ไปเอเชีย ยุโรป และทวีปอเมริกา ทั้งนี้ผู้บริหารได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะเริ่มเส้นทางบินมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแถวบ้านเราก่อนค่ะ

    ก็เตรียมตัวไปใช้บริการกันได้นะคะ

    หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน บทความนี้เป็นเพียงกรณีศึกษา ไม่ได้มีความประสงค์จะเชิญชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหุ้นดังกล่าว
[/size]



ตอบกลับโพส