BOL

แหล่งรวบรวมข้อมูลของหุ้นต่างๆ All for one, one for all
(ข้อมูลตั้งแต่ก่อตั้งเว็บ จนถึง 30 กันยายน 2555 ห้องนี้อ่านได้อย่างเดียวไม่สามารถ post ได้)
nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » เสาร์ พ.ย. 11, 2006 2:30 pm

นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2544

แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ The outsider
โดย ไพเราะ เลิศวิราม  

การกลับมาของแจ็คในครั้งนี้ จึงไม่ได้มาในฐานะ ของพ่อค้าคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังอยู่ในฐานะของเจ้าของธุรกิจ "เนื้อหา" และในฐานะเป็นเจ้าของ "สื่อ" สิ่งพิมพ์ ที่จะทำให้บทบาทของแจ็คไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าแจ็คจะต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายธุรกิจตามที่เขา "ฝัน" ไว้อีกพักใหญ่ก็ตาม

ในช่วงที่เอสวีโอเอถูกตีกระหน่ำจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งของธุรกิจให้บริการข้อมูลของกลุ่มเออาร์ ที่แจ็คสร้างขึ้นโดยลำพังเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ก็กลับเพิ่มบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

แจ็คก่อตั้งบริษัทเออาร์ขึ้นมาในปี 2532 เพื่อรับจ้างทำงานวิจัยในเชิงวิชาการออกวารสารด้านคอมพิวเตอร์ โดยร่วมกับนักวิชาการวงการคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น อาทิ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์

ผลิตภัณฑ์เล่มแรก คือ หนังสือ Thailand company information หรือ TCI เป็นไดเรคเทอรีส์ที่รวบรวมรายชื่อ และงบการเงินของบริษัทชั้นนำ 2,000 บริษัท ให้กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเวลานั้นมีเอกชน 2 รายที่ได้รับอนุมัติ แต่เวลานี้เหลือเออาร์เพียงเจ้าเดียวที่ยังผลิตอยู่

จากนั้นจึงได้เริ่มขยายไปทำนิตยสารคอมพิวเตอร์ ออกนิตยสารคอมพิวเตอร์ BCM วางตลาดเป็นเล่มแรก "เวลานั้นคุณแจ็คมองว่า การตัดสินใจซื้อไม่ได้อยู่ที่เอาไปใช้ประโยชน์ แต่เพื่อหน้าตา มันน่าเสียดาย การมีหนังสือก็เท่ากับเป็นประโยชน์ทางอ้อมให้กับคนไทย" วิโรจน์ อัศวรังสี ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเออาร์ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ พับลิเคชั่น จำกัด เล่า

แจ็คเองก็ต้องระมัดระวังกับความไม่เป็นกลาง เนื่องจากทำธุรกิจคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เนื้อหาของหนังสือเกื้อกูลกับเอสวีโอเอที่ค้าคอมพิวเตอร์ การดำเนินงานของบริษัทเออาร์ ถูกแยกออกจากเอสวีโอเอ และแจ็คเองก็ไม่ได้ให้เวลาเออาร์มากนัก จะใช้เวลาว่างแวะเวียนเข้ามาดูแลกิจการบ้างตามโอกาสจะอำนวย เพราะงานหลักของแจ็คยังอยู่ที่เอสวีโอเอ ที่มีขนาดของธุรกิจใหญ่กว่ามาก

6 ปีแรกของเออาร์ เป็นการบริหารงานโดยกลุ่มนักวิชาการ ธุรกิจของเออาร์เวลานั้น ก็อยู่ในวงจำกัด มีธุรกิจสิ่งพิมพ์ทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นธุรกิจเล็กๆ เนื่อง จากการใช้คอมพิวเตอร์ยังอยู่ในวงจำกัด นอกนั้นก็เป็นหน่วยงานวิจัยข้อมูลที่ทำควบคู่กันมา บริษัท IDC บริษัทวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็เป็นลูกค้าหลัก และมีแผนกรับทำ บัญชี

"คนใช้คอมพิวเตอร์ในยุคแรก จะเป็น แผนก human resource และแผนกบัญชี ยัง ไม่ขยายตัวไปในระดับกว้างเหมือนในปัจจุบัน "เนื้อหาที่นำเสนอเวลานั้น จึงเป็นในเชิงวิชาการมากกว่าจะเป็นนิตยสาร"

เออาร์เข้ามาในตลาดสิ่งพิมพ์ทางด้าน ไอที เป็นช่วงที่กลุ่มแมนกรุ๊ป และกลุ่มซีเอ็ด ครองตลาดนิตยสารทางด้านไอทีอยู่ก่อนหน้า นี้แล้ว ซีเอ็ดมีหนังสือไมโครคอมพิวเตอร์เป็น หัวหอก ในขณะที่แมนกรุ๊ปมีนิตยสารและชอปปิ้งคอมพิวเตอร์ เป็นฐานที่มั่น ทั้งสองรายจึงมีสถานภาพที่แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จัก ของผู้อ่านมากกว่ากลุ่มเออาร์ สถานการณ์ ภายในช่วงนั้นไม่สู้ดีนัก ประสบปัญหามาตลอด

"ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการผลัดเปลี่ยนคนตลอด สถานการณ์ไม่ดีขึ้น เจ๊งตลอด คน ก็ไม่เชื่อมั่นกับองค์กร "วิโรจน์ย้อนอดีต "เวลา นั้นขอคอมพิวเตอร์ทำอาร์ทเวิร์คยังไม่ได้เลย เลเซอร์พรินเตอร์ เครื่องพีซี อย่าหวังจะให้ซื้อ ไม่มีงบประมาณให้ ไม่มีอะไรเลย พนักงานดีๆ ก็ทยอยลาออก"

7 ปีแรกของธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเออาร์ต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุนมาตลอด ถึงกับมีแผนจะปิดบริษัทในช่วงปี 1992-1993

แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน และขนาดของธุรกิจไม่ใหญ่ ไม่ต้องลงทุนมาก นัก หลังจากแก้ปัญหาภายในให้คลี่คลายไป ได้ จึงมีการประคับประคองธุรกิจ และยังคง มีการออกนิตยสารคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เพื่อขยายไปยังผู้อ่านกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งการ ลงทุนออกหนังสือเล่มใหม่เหล่านี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากนัก การดำเนินงานของเออาร์จึงเป็นไปอย่างเงียบๆ และต่อเนื่อง และเริ่มมีการขยายไปที่ธุรกิจฝึกอบรมเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจ ที่ปรึกษา

8 ปีแรกของเออาร์ เป็นยุคที่เออาร์จำกัดตัวเองอยู่ภายใต้กรอบของธุรกิจที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา

จนกระทั่งในปี 2539 นับเป็นปีที่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งนั่นคือ การรุกเข้าสู่ธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์

"ช่วงนั้นเรามองว่า ข้อมูลเป็น offline มันไม่ใช่อนาคต แม้จะยังไม่มีอินทอร์เน็ต แต่ คนก็เริ่มส่งข้อมูลออนไลน์ผ่านบูเลทินบอร์ด ระหว่างโมเด็มกับโมเด็ม" พัชรา เกียรตินันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลุ่มเออาร์รีเสิร์ช จำกัด เล่า

หลังจากประเมินแล้วว่า นี่คือ ช่องทางใหม่ที่มีอนาคต แจ็คจึงไปชักชวนธนาคาร กรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เข้ามาลงขันถือหุ้นในบริษัท ANEW ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาสำหรับธุรกิจนี้โดยเฉพาะ

เมื่อแจ็คตัดสินใจขยายบทบาทของเออาร์ไปสู่ธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์ ในลักษณะของการรับสัมปทานบริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียน จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้บริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียนออนไลน์ให้แก่ประชาชนทั่วไป

ถึงแม้ก่อนหน้านี้เออาร์จะทดลองให้บริการข้อมูลผ่านระบบ BBS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการส่งข้อมูลในยุคเก่า แต่เป็นการทำภายใต้ข้อจำกัดของผู้ใช้ และเป็นลักษณะของการทดลอง ตลาด ไม่เหมือนกับในครั้งนี้

จากนั้น ANEW ก็ได้แตกบริษัทลูก คือ บิสิเนสออนไลน์ หรือบีโอแอลขึ้นใหม่ เพื่อรับสัมปทานให้บริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียน จากกรมการค้ากระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะ

ในเวลานั้นนอกจากบีโอแอล กรมการค้ายังอนุมัติให้เอกชนอีกรายที่ได้รับสัมปทานภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ เอกชนทั้งสองรายที่ได้รับสัมปทาน จะต้องนำข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนคีย์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอล เพื่อขายผ่านบริการออนไลน์ ให้กับลูกค้าอีกต่อหนึ่ง รายได้ที่จัดเก็บได้ จะต้องแบ่งจ่ายให้กับกรมทะเบียน

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เออาร์ได้ยื่นขอสัมปทานธุรกิจการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และได้จัดตั้งเป็นบริษัท ANET เพราะมองว่าธุรกิจทั้งสองจะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เครือข่ายของบริการอินเทอร์เน็ตของบริษัท ANET จะเป็นเสมือน "ถนน" ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ใช้บริการข้อมูลออนไลน์ข้อมูลบีโอแอลเข้าถึงข้อมูล

ในเวลาเดียวกัน บริการข้อมูลของบีโอแอล จะสามารถเกื้อกูลบริการไอเอสพีของ ANET ซึ่งนอกจากเออาร์ถือหุ้นแล้ว แจ็คยังได้ไปดึงเอามหาวิทยาลัย 5 แห่งเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย เนื่องจากเวลานั้นตัวแจ็ค และเอสวีโอเอ มีความใกล้ชิดกับผู้บริหาร

ทว่า การถือกำเนิดของบีโอแอลในช่วงแรกไม่ราบรื่น เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ลูกค้ายังไม่เข้าใจ และต้องใช้เงินทุน และระยะเวลาในการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของไฟล์ข้อมูล จำเป็นต้องจ้างคนจำนวนมากมาคีย์ข้อมูล

"ตอนบีโอแอลเกิด ขลุกขลักมาก หนังสือเราขาย 1,200 บาท ลูกค้ายังไม่อยากซื้อเลย หาลูกค้ายากมาก จะตั้งราคาแพงไปก็ไม่ได้ ถูกไปก็ไม่ได้ ต้องเพิ่มทุน 3 รอบ กว่าจะคีย์เสร็จใช้เวลาเป็นปี ข้อมูลก็ล้าสมัยแล้ว" พัชรา เกียรตินันทวิมล บอกกับ "ผู้จัดการ"

บีโอแอลขาดทุนอยู่ถึง 4 ปี จนกระทั่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ความต้องการข้อมูลเริ่มมากขึ้น แม้การเติบโตของบีโอแอลจะไม่หวือหวา เพราะราคายังสูงอยู่ แต่ก็นับได้ว่าเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี

ก้าวที่ถือว่ามีความหมาย และมีผลต่อการขยายตัวของเออาร์อีกลำดับหนึ่งก็คือ การที่บีโอแอลได้บริษัท Dun & Bradstreet บริษัทขายข้อมูลออนไลน์ข้ามชาติ จากสหรัฐ อเมริกาเข้ามาร่วมลงทุน ถือหุ้น 19%

ทั้งเงินทุนที่ได้รับประสบการณ์และความรู้ของ D&B ที่อยู่ในธุรกิจค้าข้อมูลมา 160 ปี มีฐานข้อมูล 58 ล้านบริษัทใน 210 ประเทศทั่วโลก คือ สิ่งที่จะช่วยขยายเพื่อน

"เขาช่วยเราได้เยอะ เขามี knowhow ชื่อเสียงที่ดี ถ้าอยู่ในวงการด้านการเงินเรื่องเครดิต ทุกคนจะรู้จักดัน แอนด์ บรัดสตรีท" พัชราบอก

การร่วมมือของทั้งสอง เริ่มตั้งแต่การ เพิ่มบริการข้อมูลให้กับลูกค้า ที่จะสามารถตรวจสอบบริษัทที่ดำเนินการอยู่ต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายของ Dun&Bradstreet ที่มีอยู่ทั่วโลก ขณะเดียวกัน Dun&Bradstreet ก็จะใช้ฐานข้อมูลของบีโอแอลในการให้บริการแก่ ลูกค้าที่ต้องการข้อมูลในไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มต้น ข้อมูลเริ่มเป็นที่ต้องการและทวีความสำคัญ ฐานข้อมูลของบีโอแอล ก็เริ่มเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้บริการ แต่การขยายตัวในเวลานั้นยังทำได้ในขีดจำกัด เพราะขาดแหล่งเงินลงทุน และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย

จนกระทั่งในปี 2542 หลังจากที่เออาร์ก็ได้บริษัทพรอสเพอร์โก้ Venture Capital ที่มีเครือข่ายธุรกิจธนาคารและไฟแนนซ์จากสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาลงทุนในบริษัท ANEW

พรอสเพอร์โก้ถือหุ้นอยู่ใน ANEW ไม่นาน ก็เริ่มทยอยขายหุ้นให้กับ keppel Tele- communication & Transportation หรือ Keppel T&T ที่เข้ามาถือหุ้นแทน เป็นผลมาจากการชักจูงของ ดัน แอนด์ บรัดสตรีท พันธมิตรสำคัญของเออาร์ที่ใช้เครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก ที่ได้เป็นผู้ชักชวน Keppel T&T เข้ามาลงทุนใน ANEW แทน เพราะมองเห็นถึงศักยภาพของ Keppel T&T ที่จะเอื้อประโยชน์ ประโยชน์ที่เออาร์จะได้รับจากกลุ่มนี้มากกว่าพรอสเพอร์โก้ ที่เป็นแค่นักลงทุนที่เอาเงินมาลงเพียงอย่างเดียว

"ช่วงหลังเราค่อยๆ ดึงเอา Keppel เข้ามาทยอยซื้อหุ้นจาก 20% จนครบ 40% ที่ พรอสเพอร์โก้ถือหุ้นอยู่"

เวลานั้น Keppel T&T เองก็มีเป้าหมายในการขยายเครือข่ายธุรกิจศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ (Internet data center หรือ IDC) ที่เป็นการลงทุนโดยบริษัทดาต้าวัน บริษัทลูกของ Keppel T&T ที่ต้องการสร้างเครือข่ายการบริการไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายดังกล่าว หลังร่วมทุนกับกลุ่มเออาร์ ดาต้าวัน เอเซีย ประเทศไทยก็ถูกตั้งขึ้นอยู่บนอาคาร เอสวีโอเอ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 280 ล้านบาท

การเข้ามาลงทุนของ Keppel T&T เจ้าของเครือข่ายธุรกิจสื่อสาร และอินเทอร์เน็ตและ ไอที จากสิงคโปร์ ถือเป็นก้าวที่มีความหมายและมีนัยสำคัญต่อเออาร์ จากการที่เออาร์จะอาศัยแหล่งเงินทุน และฐานธุรกิจของ Keppel T&T ขยายธุรกิจออกไปทั้งแนวกว้าง และแนวลึก

"จริงๆ แล้วเออาร์เริ่มขยายมาตั้งแต่ ปี 2542 แต่มาขยายมากๆ ในช่วงต้นปี 2544 จากการที่เราได้ Keppel มาลงทุนทำให้เราไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทุนอีกต่อไป"

ไม่เพียงแค่แจ็คจะผลักดันให้ Keppel T&T เข้ามาถือหุ้นใน ANEW แทนพรอสเพอร์โก้เท่านั้น แต่ยังเปิดทางให้ Keppel T&T เข้ามาถือหุ้นในบริษัทเออาร์จี (เออาร์กรุ๊ป) ในสัดส่วน 45% เพื่อ Keppel จะเข้าไปมีส่วนในธุรกิจอื่นๆ โดยผ่านเออาร์จี ซึ่งเป็นโฮล-ดิ้งคอมปานี อีกที รวมถึงการเข้าไปถือหุ้นในเอสวีโอเอ

ผู้บริหารของ keppel บอกว่า keppel T&T ได้ใช้เงินลงทุนในเบื้องต้นในการลงทุนทำธุรกิจในไทย ผ่านบริษัทเออาร์ และเอสวีโอเอ ประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1,000 ล้านบาท

แม้เม็ดเงินไม่มากนัก แต่ในช่วงวิกฤติ เศรษฐกิจ ที่หลายธุรกิจต้องล้มระเนระนาด หลายคนยังไม่ฟื้นตัวดี แต่กลับกลายเป็นก้าว กระโดดที่สำคัญ จากภาพการลงทุนของเออาร์ที่ปรากฏขึ้นต่อเนื่องมาตลอดในช่วง ปี 2544 เป็นต้นมา และเกิดขึ้นหลังจากกลุ่ม เออาร์ได้เม็ดเงินจาก Keppel T&T เข้ามาอัดฉีด

"เมื่อพายุผ่านไปแล้ว ผมต้องขยายใหญ่ที่สุด" คำกล่าวถึงการกลับมาของแจ็ค แม้ว่าเขาจะผ่านบทเรียนที่บอบช้ำมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าแจ็คยังไม่ทิ้งภาพความยิ่งใหญ่ ออกไปได้ และยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมานัก

ปฏิบัติการเชิงรุกของเออาร์ เริ่มตั้งแต่ การเปิดร้าน AR4U ที่เป็นการขยายช่องทางจัดจำหน่ายหนังสือในโลกการค้าที่เป็นจริง ไม่เพียงแต่จะรองรับกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเออาร์กรุ๊ปเท่านั้น แต่ยังรองรับกับธุรกิจอินเทอร์เน็ต บริการข้อมูลออนไลน์ ภายใต้คำจำกัดความของศูนย์ความรู้ ที่จะให้ทุกคนมาหาความรู้และบันเทิงด้วยคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการค้นหาข้อมูล

ธุรกิจนี้ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อขยาย สาขาไปทั่วประเทศในส่วนที่เป็นการลงทุนของเออาร์เอง และขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนอื่นๆ มาลงทุน

ธุรกิจตัวถัดมา คือ การเปิดบริษัท ACERTS ทำธุรกิจวางโครงสร้างพื้นฐาน ทำธุรกิจความปลอดภัยในการทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต รูปแบบของการให้บริการจะครอบ คลุมตั้งแต่บริการออกใบรับรองดิจิตอล หรือ Certification Authority (CA) ให้แก่องค์กร หรือบุคคลที่ต้องการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และเป็นตัวแทนรับจดทะเบียนใบรับรองดิจิตอลในไทย ให้กับเอ็น ทรัสต์ ดอตเน็ต (Entrust.net)

ธุรกิจรักษาความปลอดภัยเป็นธุรกิจใหม่ เกิดขึ้นมาในยุคอินเทอร์เน็ต เป็นการขยายผลทางธุรกิจที่ต่อเนื่อง มีเป้าหมายเพื่อ รองรับกับธุรกิจบริการข้อมูลของกลุ่มเออาร์ และลูกค้าภายนอก จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ในการตั้งศูนย์นิรภัย มีการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ และระบบรักษาความปลอดภัย

โครงการถัดมา ก็คือ การร่วมมือกับกรมการปกครองในการนำข้อมูลหมายเลขทะเบียนบัตรประชาชน และข้อมูลสถานะส่วนบุคคลของกรมการปกครองไปให้บริการ กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้โครงการของเครดิตบูโร

บริการข่าวออนไลน์ หรือ News online เป็นบริการข้อมูลวงการข่าวออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต รวบรวมจากหนังสือพิมพ์กว่า 15 ฉบับทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ มาตั้งแต่ปี 2533

บริการนี้แต่เดิมจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมุลของบริการ bingo ของบีโอแอล ในลักษณะของการเป็นบริการเสริมเพิ่มเติมในการสืบค้นข่าวเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน ให้สามารถสืบค้นข่าวย้อนหลังได้ 10 ปี

สิ่งที่เออาร์จะทำต่อไป ก็คือ การแยกบริการ News online ที่เคยเป็นบริการเสริม ที่อยู่ภายใต้บริการบิงโก ให้แยกออกมาเปิดเป็นผลิตภัณฑ์ และนำออกขายแก่ลูกค้าทั่วไป

"เวลานี้เราอยากจะเปิด mass มากขึ้น แทนที่องค์กรจะต้องมาตัดข่าว เรามีข่าวที่ย้อนหลังไปสิบกว่าปี จริงๆ แล้ว เป็นธุรกิจดั้งเดิม เพียงแต่เทคโนโลยีมันสุกงอมพอดี"

รวมทั้งจัดแคมเปญร่วมกับเอสวีโอเอ แจกพีซีคอมพิวเตอร์พร้อมพรินเตอร์ ให้กับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของเอเน็ต จำนวน 100 ชั่วโมง และแคมเปญลุ้นเงินรางวัล 1 ล้านบาท นับเป็นการร่วมมือทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏต่อภายนอก

ว่าไปแล้ว การขยายตัวของเออาร์ เป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ และทำความ เข้าใจในโลกธุรกิจของแจ็ค ที่ทำให้เขาให้ความสำคัญในการสร้างสัมพันธ์กับผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่

ความสัมพันธ์ในระดับบุคคล ที่แจ็คมีต่อผู้บริหารในสถาบันการเงินหลาย แห่ง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ที่เคยเป็นลูกค้า นับเป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้กับแจ็คและกลุ่มเออาร์ของเขาได้ในเวลาต่อมา

นอกเหนือไปจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใกล้ชิดกับตระกูลวิริยะประไพกิจ มาตั้งแต่ต้น และเปิดโอกาสให้แจ็คได้มีโอกาสใกล้ชิดผู้บริหารระดับกลางหลายคนในนั้น ซึ่งต่อมาผู้บริหารหลายคนในจำนวนนั้นก็ได้มีบทบาทสำคัญในสถาบัน การเงินหลายแห่งในเวลานี้

วิชิต ญาณอมร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแจ็คไว้ว่า "ในแง่ของเอสวีโอเอ ต้องนับว่าเป็นยุคใหม่ของเขา ในการที่จะกลับมาได้อีกครั้ง ส่วนเออาร์เองก็น่าจะเติบโตไปได้ดี เพราะเขาจับไอทีเป็นหลัก ทำข้อมูลกรมทะเบียนการค้า แนวทางนี้มันเป็นอนาคต เป็นสิ่งที่จะเติบโตต่อไป"

ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงได้ชื่อว่า เป็นสถาบันการเงินอีกแห่งที่มีความใกล้ชิดกับแจ็ค ก่อนหน้านี้เคยลงทุนร่วมกับเอสวีโอเอในธุรกิจบางประเภทมาแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ การลงทุนในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่เอสวีโอเอได้เข้าไปถือหุ้นแต่ได้ขายให้กับกลุ่มเนชั่นไปแล้ว

ล่าสุดก็คือการลงทุนร่วมกัน เพื่อเปิดบริษัท ACERTS ทำธุรกิจด้านความปลอดภัย ในการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลนิรภัย ขึ้นที่อาคารเอสวีโอเอ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 65 ล้านบาท เออาร์ถือหุ้น 90% ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 10%

การได้สถาบันการเงินเข้ามาร่วม เท่ากับเป็นการการันตี ในแง่ของความเชื่อถือให้กับ ธุรกิจทางด้านรักษาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากในเรื่อง ของเทคโนโลยี

นอกเหนือจากโครงการดังกล่าวแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสวีโอเอ ยังได้เตรียมลงขันเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์ ในการปรับปรุงศูนย์คอมพิวเตอร์ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำมาให้บริการศูนย์ข้อมูล "Datacenter outsourcing" เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรทั่วไป ที่ไม่ ต้องการลงทุนจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ของตัวเอง มาใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ดังกล่าว

ธนาคารไทยพาณิชย์จะต้องโอนศูนย์คอมพิวเตอร์ไปอยู่ในส่วนของบริษัทร่วมทุน ที่จะมีผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ เอสวีโอเอ และเจ้าของเทคโนโลยีจากต่างชาติ จากนั้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 500 ล้านบาทสำหรับการลงทุนทั้งหมด ลูกค้าที่ใช้บริการ จะเป็นองค์กรธุรกิจ เช่น ซีพีออเรนจ์ เป็นหนึ่งในลูกค้าที่จะมาใช้บริการ

"เหมาะสำหรับองค์กรที่ไม่ต้องการลงทุนตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง ในแง่ของแบงก์เองก็ประหยัดต้นทุนที่ต้องใช้จ่ายดูแลศูนย์คอมพิวเตอร์ไปได้ปีละเป็น 100 ล้าน บาท" วิชิตเล่า

ความจำเป็นที่ธนาคารต้องหันมาโฟกัสที่ธุรกิจหลัก ที่เป็นเรื่องของธุรกรรมการให้บริการของธนาคาร ตัดธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่อง หรือไม่จำเป็นออก เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานลงมากที่สุด จึงเป็นโอกาสสำหรับเอกชน ที่ได้โอกาสเหล่านี้

"สุดท้ายแล้วแบงก์จะไม่ต้องการไอที ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับการค้าขาย เขาต้องหาพาร์ตเนอร์ ใครทำงานชิ้นนี้ได้ดีกว่า ถูกกว่า เขาก็เลือกคนนั้น เรื่องอะไรเราจะไปแข่ง เราก็จับเขามาเป็นพันธมิตรมาทำร่วมกัน นี่คือโอกาสที่เรามองเห็น" แจ็คบอก

หากย้อนไปถึงการรุกเข้าสู่บริการข้อมูลออนไลน์ของเออาร์ ก็เริ่มต้นด้วยการจับมือกับธนาคาร โดยแจ็คก็ได้ดึงเอาธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย เข้ามาร่วมลงขันในธุรกิจให้บริการข้อมูลบริษัทจดทะเบียนออนไลน์ ที่ได้สัมปทานจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยได้ถอนหุ้นออกไป ยังคงเหลือธนาคารกรุงเทพที่ถืออยู่ 8%

การดึงเอาธนาคารเข้ามาลงทุนร่วม ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากธนาคาร เป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และฐานข้อมูลที่สำคัญในอนาคต

กรณีของโครงการ Credit Bureau ซึ่งเป็นโครงการในการจัดทำข้อมูลให้กับสถาบันการเงิน ที่จะใช้ตรวจสอบเกี่ยวกับเครดิตของบุคคล และองค์กรที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินก็เช่นกัน ผลจากการ ตื่นตัวของการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจของเมืองไทย หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา ก็ได้เป็นโอกาสทำให้กลุ่มเออาร์ได้รับเลือกในการเข้าไปร่วมในโครงการศูนย์ข้อมูลเครดิต

การเข้าไปอยู่ในโครงการที่มีความสำคัญต่อกลไกของสถาบันการเงิน จึงนับได้ ว่าเป็นการ "ต่อยอด" ธุรกิจให้กับกลุ่มเออาร์

"หลังจากทำบีโอแอลได้พักใหญ่ แบงก์ชาติมีแนวคิดที่จะทำเครดิตบูโร เพราะต้องการให้ใช้ข้อมูลในการตรวจสอบเกี่ยวกับบุคคล และองค์กร เพราะเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เลยมาติดต่อบีโอแอล" พัชราเล่า

ศูนย์ข้อมูลเครดิต ริเริ่มขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ สร้างมาตรฐานในการแลกเปลี่ยน และใช้ฐานข้อมูลลูกค้าร่วมกันสำหรับ ใช้ในการตรวจสอบการอนุมัติเครดิตแก่ลูกค้าเดียวกัน โดยจะมีธนาคารพาณิชย์ 13 แห่งที่อยู่ภายใต้สมาคมธนาคารไทยเป็นโครงการนำร่อง

ช่วงแรกธนาคารชาติ ทำเป็นโครงการ ทดลองเริ่มจากข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องส่งมาให้กับแบงก์ชาติก่อน หรือเรียกว่า (อินเทอร์ริม เครดิตบูโร) โดยได้มอบหมายให้สมาคมธนาคารไปดำเนินการ ซึ่งก็ได้เปิด ประมูลคัดเลือกเอกชนที่จะมาทำหน้าที่ประมวลข้อมูลดังกล่าว

"ตอนนั้นแบงก์ชาติมองว่า งานประมวลผลข้อมูลควรจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามา ส่วนบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง ทำ แค่บริหารลูกค้า ให้ความสะดวกในการใช้ข้อมูล"

หลังจากทดลองระบบที่บีโอแอล ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประมวลผลได้ทำการทดลอง ไปได้พักใหญ่ แบงก์ชาติก็ได้มีการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง ซึ่งถือหุ้นโดยธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง ให้มาถือหุ้น 50% บีโอแอลถือหุ้น 25% ที่เหลือ 25% ถือโดยบริษัท TransUnion

"เขาไม่อยากให้มาเก็บเงินอย่างเดียว อยากให้เรามีส่วนได้เสีย เพราะต้องลงทุนด้วย เงินทุนจดทะเบียน 100 กว่าล้านบาท 25% ทำให้เรามีข้อผูกพัน จะสำเร็จหรือไม่ คุณมีส่วนด้วย" พัชราเล่า

บีโอแอล และบริษัท TransUinon จะอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้นด้านเทคนิค ซึ่งจะรับหน้าที่ ในการ set up ระบบ ที่ต้องเป็นมาตรฐานสากล โดยจะต้องสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายทั่วโลก

การมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทให้บริการข้อมูลข้ามชาติอย่าง Dun & Bradstreet ช่วยได้มากสำหรับการทำโครงการเครดิตบูโร เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทย จำเป็นต้อง อาศัยความรู้ และประสบการณ์ของบริษัทข้ามชาติที่มีประสบการณ์มาช่วย

เครือข่ายธุรกิจ และประสบการณ์ของ Dun & Bradstreet ช่วยได้มาก Dun & Bradstreet ยังเป็นผู้ติดต่อดึงเอา TransUnion ซึ่งชำนาญผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตส่วนบุคคลเข้ามาร่วมในโครงการ เนื่องจาก Dun & Bradstreet ชำนาญข้อมูลของธุรกิจองค์กร ได้เคยร่วมมือกับ TransUnion มาแล้วในหลายประเทศ

ความรู้และประสบการณ์ทั้งสอง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการรับเป็นผู้ทำโครงการ เครดิตบูโร ในแง่มุมของเออาร์เอง ทั้ง Dun & Bradstreet และบริษัท TransUnion จะเป็นพันธมิตรสำคัญที่จะเกื้อกูลต่อธุรกิจบริการข้อมูล จากเครือข่ายธุรกิจของทั้งสองที่มีอยู่ทั่วโลก

"ในอนาคตเมื่อกฎหมายเปิด เราจะ link ข้อมูลทั่วโลกได้ และตรวจสอบบริษัทที่มีเครือข่ายในต่างประเทศ"

ที่มาของรายได้ในโครงการเครดิตบูโร จะมาจากการเก็บทรานแซกชั่นที่ธนาคารเรียก ใช้บริการข้อมูล แต่โอกาสของเออาร์มีมากกว่านั้น

เมื่อสถาบันการเงินจำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการใช้ตรวจสอบเครดิต และเห็นความจำเป็นในการใช้ข้อมูล โอกาสที่เออาร์จะนำเสนอบริการข้อมูลออนไลน์ย่อมมีมากขึ้น

พัชรายอมรับว่า การเข้าร่วมโครงการเครดิตบูโร ทำให้เออาร์กรุ๊ป มีความน่าเชื่อถือในธุรกิจบริการข้อมูลทางด้านการเงิน มากขึ้น และยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ กับธุรกิจ

"ช่วยให้บริษัทเกิดความน่าเชื่อถือใน การประมวลผลข้อมูล ทำให้ลูกค้ามองเห็นข้อมูลที่ถูกต้อง เราได้ในแง่ของ "ชื่อ" ประสบ การณ์"

ธุรกิจที่ถูกขยายผลต่อเนื่องจากโครงการเครดิตบูโร ก็คือ การเป็นตัวกลางในการจัดวางเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้ กับสถาบันการเงิน ในโครงการของเครดิตบูโรในการนำข้อมูลทะเบียนราษฎร ที่กรมการปกครองจัดเก็บด้วยคอมพิวเตอร์ ไปใช้ตรวจสอบข้อมูลของบุคคลของผู้ที่มาขอเครดิต

"สถาบันการเงินจะได้ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล หากมีอะไรผิดพลาดจะได้แก้ไขได้ก่อนที่ข้อมูลจะถูกส่งไปที่บริษัทข้อมูลเครดิตกลาง"

ปกติแล้ว ข้อมูลทะเบียนราษฎร จะให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ในการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ โดยที่เจ้าของข้อมูลจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองเท่านั้น ซึ่งกรมการปกครอง จะมีรหัสส่วนบุคคลให้กับประชาชนทุกราย ยกเว้นจะได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว บุคคล อื่นๆ จึงจะเข้าไปดูข้อมูล

ที่ผ่านมา กรมการปกครองได้มีการอนุญาตให้หน่วยงานราชการประมาณ 40 กว่าแห่งในการนำข้อมูลทะเบียนราษฎรไปใช้ประโยชน์ภายในหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน การอนุมัติให้ เออาร์ในครั้งนี้ จะเป็นเอกชนรายแรกที่ได้รับอนุมัติ

เงื่อนไขที่เออาร์ได้รับ ก็คือ จะต้องนำข้อมูลไปบริการแก่สถาบันการเงิน ที่เป็นสมาชิกของโครงการเครดิตบูโรเท่านั้น เนื่อง จากการอนุมัติให้ข้อมูลแก่กลุ่มเออาร์ของกรมการปกครองในครั้งนี้ เป็นลักษณะของการให้ความร่วมมือแก่โครงการเครดิตบูโร

เออาร์จะอยู่ในฐานะของตัวกลางที่จะต้องเป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่าย ในการ link ข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกรมการปกครอง ไปให้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรในการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

"เราจะทำให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า บุคคล เพื่อที่ว่าธนาคารจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง หากมีอะไรผิดพลาดก็จะแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง ไม่ต้องแก้ข้อมูลกลับไปมา"

รายได้ของเออาร์จะมาจากค่าบริการ ที่เก็บจากสถาบันการเงินในการเรียกดูข้อมูล โดยที่เออาร์จะต้องพัฒนาโปรแกรมข้อมูลเพื่อให้ลูกค้าเรียกดูได้ง่ายๆ

"เราติดต่อกับแบงก์อยู่แล้ว ผ่านการให้บริการของบีโอแอล หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่มีปัญหาที่เราจะเพิ่ม link อีกจุดหนึ่งให้ เขาและสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านทางออนไลน์" พัชราบอกถึงขั้นตอนหรือวิธีของการทำงาน

เออาร์ก็มีบริการอินเทอร์เน็ต และบริการรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรม บนอินเทอร์เน็ต ภายใต้บริษัท ACERTS ทั้งสองส่วนจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้ลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงินเหล่านี้เรียกดูข้อมูลทะเบียนราษฎรในการตรวจสอบ ได้แล้ว บริการข้อมูลจากบีโอแอล ก็จะถูกนำเสนอให้กับลูกค้าเหล่านั้น เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ข้อมูลอื่นๆ ที่จะถูกขยายผลต่อไป นั่นคือ โอกาสที่เออาร์จะต้องแสวงหาต่อไป

การได้รับการเกื้อกูลจากธนาคารนับได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับตัวแจ็คและ เออาร์ นอกจากธนาคารจะเป็นลูกค้าหลักที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ นอกจากนี้ธนาคารเองยังเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ และเป็นฐานในการต่อยอดทางธุรกิจ

ขบวนการทางความคิดในการดึงข้อมูลจากหน่วยงานราชการในภาคต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มเหล่านี้ เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นของธุรกิจข้อมูลของเมืองไทย ที่ยังขาดกฎเกณฑ์และกติกาที่แน่ชัด

การขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้อมูล ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เออาร์ได้เคยทำมาแล้วกับข้อมูลของบุคคลล้มละลายและ ขายทอดตลาดผ่านทางอินเทอร์เน็ต (court online) ทำมา 3-4 ปี โดยเป็นข้อมูลจากกรมบังคับ คดี กระทรวงยุติธรรม มีอายุสัญญา 20 ปี

"ข้อมูลของกรมบังคับคดี เขาต้องการเปิดเผยอยู่แล้ว ใครบ้างเป็นคนล้มละลายและ ทรัพย์สินต้องถูกขายทอดตลาด"

สิ่งที่เออาร์ทำก็คือ นำข้อมูลจากกรมบังคับคดี มาเป็นบริการเสริมด้วยการเชื่อมโยง กับฐานข้อมูลของบริการ bingo ซึ่งเป็นบริการหลักของบีโอแอล

"เรามองว่ามันเสริมกันได้ เช่น เข้าไปใน bingo เพื่อตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง และยังสามารถตรวจสอบต่อไปว่า บริษัทนี้ล้มละลายหรือเปล่า"

แม้ว่าการรุกขยายไปยังธุรกิจออนไลน์ของกลุ่มเออาร์จะดำเนินไปอย่างเข้มข้นแต่ใน อีกด้านหนึ่ง แจ็คก็ได้ขยายธุรกิจในฝั่งของสิ่งพิมพ์ออกไปทั้งในแนวกว้างและแนวลึก นับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา บริษัท A.R.Information & Publication (ARip) มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างกิจกรรมในการจัดงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง (ดูตารางเส้นทางธุรกิจสิ่งพิมพ์)

ก้าวรุกที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ การออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาไทย "บิสิเนสไทย" ที่มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาข่าวทางด้านการตลาด การจัดการธุรกิจเป็นหลัก แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่เออาร์จำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่

"การทำนิตยสาร ไม่เหมือนกับการทำหนังสือพิมพ์ เราต้องเรียนรู้ใหม่หมดทุกอย่าง ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดด้วยตัวเอง เป้าหมายของเราไม่ต้องการเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก ขอเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น" วิโรจน์บอก

ทีมงานหลักของบิสิเนสไทย เป็นผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ในการทำหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ และเป็นทีมงานขนาดกะทัดรัด ด้วยงบประมาณการลงทุน 10 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากสำหรับการทำหนังสือพิมพ์ แม้ว่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่การวิ่งมาราธอน ก็ตาม

แจ็คย้ำเสมอว่า เขาไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร เนื้อหาส่วนใหญ่ของบิสิเนสไทย จะมุ่งไปที่เรื่องของการตลาด และมุ่งในเรื่องของการใช้ประโยชน์จาก "ข้อมูล" เกี่ยวกับวิจัยต่างๆ โดยอาศัยฐานข้อมูลที่เออาร์ให้เป็นประโยชน์

"เรามองว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์ช่วงนี้น่าสนใจ เพราะราคากระดาษตกลงจาก 630 เหรียญต่อตัน เวลานี้เหลือแค่ 400 เหรียญ คู่แข่งรายสัปดาห์หายไป เรามาโฟกัสตรงนี้ เราเป็นมิตรกับทุกคนได้ ไม่ต้องแข่งกับใคร เรามีฐานข้อมูล ทำในมุมมองของเรา" วิโรจน์ย้ำ

การไม่ได้วางตัวเป็น "คู่แข่ง" กับใคร ทำให้หนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย ไม่ต้องเป็นเป้าโจมตี หรือถูกตอบโต้จากกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่อยู่มาก่อน ซึ่งมีประสบการณ์ และฐานกำลังที่มากกว่า แม้ว่าหลายแห่งจะลดความมั่งคั่งลงไปแล้วก็ตาม และการวางตำแหน่งตัวเองในลักษณะนี้ ยังช่วยทำให้เออาร์สามารถอาศัยเครือข่ายช่องทางจำหน่าย และทีมโฆษณาจากธุรกิจสิ่งพิมพ์เดิมเป็นฐานในการเข้าสู่ตลาด

แจ็คบอกว่า การทำแมกกาซีน หรือหนังสือพิมพ์ธุรกิจ นับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวน การสร้าง content ที่จะมุ่งไปที่ลูกค้าระดับ mass เป็นฐานลูกค้าในระดับกว้าง เช่น กลุ่มนักธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (sme) ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงกลุ่มลูกค้าองค์กร และสถาบัน การเงินเท่านั้น

และแจ็ครู้มากไปกว่านั้น ว่านี่คือ สิ่งที่น่าเกรงขามสำหรับสังคมไทย แม้ว่าในเวลานี้เขายังดูแปลกแยกอยู่ก็ตาม

เป้าหมายของแจ็ค ไม่ใช่อยู่ที่ธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ คือ การเป็นเจ้าของอาณาจักร "สื่อ" สิ่งพิมพ์ และนี่คือความพยายามของการเข้าสู่กระบวน การเรียนสังคมไทยในเชิงลึก

ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่แจ็คจะต้องเปิดตัวอีกครั้งในการกลับมาครั้งนี้ ด้วยภาพความ ยิ่งใหญ่ ทำให้อาณาจักรธุรกิจที่ถูกแตกขยายออกไปอย่างมากมายมีค่ามีราคาในสายตาของคนภายนอก เพราะธุรกิจข้อมูลเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้

ภายใต้ภาพอาณาจักรธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจบริการข้อมูล ธุรกิจช่องทางจัดจำหน่าย ธุรกิจสิ่งพิมพ์และการศึกษาฝึกอบรม ธุรกิจให้บริการที่ปรึกษา ที่ครอบคลุมกิจการมากมายเหล่านี้ แจ็คบอกว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เขาจะมุ่งไปที่ธุรกิจ 2 ส่วน ส่วนที่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีให้กับสังคมและสร้างอุตสาหกรรม เป็นส่วนของเอสวีโอเอ "เราเรียกส่วนนี้ว่า กระดูกสันหลัง"

ธุรกิจตัวที่สอง การสร้าง "หัวสมอง" ในความหมายของแจ็ค ก็คือ การสร้าง "เนื้อหา" หรือ content ที่จะเกื้อกูลกับธุรกิจ การขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่อยู่ในฝั่งของเอสวีโอเอ

"ถ้ามีกระดูกสันหลังจะไม่มีความหมายเลย ถ้าขาดส่วนของสมอง" แจ็คบอก

นัยตามความหมายของแจ็คก็คือ จึงอยู่ที่การสร้าง content จะเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญมากกว่าการขายคอมพิวเตอร์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็น ในแง่ของการสร้าง ตัวเลขรายได้

นั่นเพราะแจ็คเองก็รู้ดีว่า ธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์ ไม่ใช่ธุรกิจที่จีรัง เพราะนับวันจะมีแต่กำไรจะลดลงเรื่อยๆ

"เมื่อก่อนขายพรินเตอร์ตัวเป็นแสนได้กำไร 20-30% ทุกวันนี้ขายพรินเตอร์ได้ตัวละ 2,500 บาท กำไรแค่ 5% แถมประสิทธิ ภาพยังดีกว่าด้วย"

แรงขับดันเหล่านี้ ยังเป็นผลมาจากตัวเลข รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจในเวลานี้ แม้ว่าจะยังคงมาจากการขายเครื่องคอมพิว เตอร์เป็นหลักก็ตาม แต่ตัวเลขผลกำไรที่เพิ่มขึ้นกลับมาจากธุรกิจเนื้อหา "ยอดขาย content เอาแค่พันล้านบาทก็พอแล้ว เพราะ กำไรคุณสูงกว่ากันเยอะ"

ทว่า ธุรกิจ content ในความหมายของแจ็ค ไม่ได้อยู่แค่การนำเอาข้อมูลมาแปร สภาพให้อยู่ในรูปของไฟล์ดิจิตอล เพื่อให้ข้อมูลออนไลน์ได้เท่านั้น แต่ต้องแปรให้เป็น information เพื่อที่ธุรกิจจะใช้ประโยชน์ได้จริง จากนั้นจะต้องเปลี่ยนให้เป็น knowledge นั่น หมายถึง การแปรไปสู่กระบวนการของการขาย "ความรู้" ที่จะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางธุรกิจ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

"เวลานี้คุณต้องจ้างใครก็ไม่รู้มาชี้นั่น ชี้นี่ ก็ต้องจ่าย 300 ล้านบาท ธนาคารก็ต้องจ่ายอย่างนี้ เขาบอกเขาซื้อ knowledge ที่มองไม่เห็น เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ จึง ต้องจ้างคนมาทำให้"

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดของเขาตลอดช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การสร้างเวทีของเนื้อหาที่จะโฟกัสไปที่เนื้อหา 3 ด้านหลักๆ คือ ทางด้านไอที ไฟแนนเชียลและ manage-ment and marketing ทั้งสามส่วนนี้คือ ปริ-มณฑลของเนื้อหาที่จะเป็นเป้าหมายหลักของ เขาต่อไป

"สิ่งที่ผมทำคือ เนื้อหาที่เป็นท้องถิ่น และโฟกัสที่ 3 ส่วนนี้เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นผมไม่ทำ ถ้ามีคนอื่นเก่งกว่าทำให้คนทั่วโลกใช้ได้เขาก็ทำไป แต่เมื่อไรต้องการเนื้อหา ท้องถิ่น คุณต้องมาหาผม"

แจ็คยอมรับว่า เมืองไทยเวลานี้อยู่แค่ในขั้นของการสร้าง data เท่านั้น และสำหรับเออาร์ ก็อยู่ในขั้นของการแปรจาก content ให้มาเป็นข้อมูลในรูปของ information ยังไม่ได้ไปถึงเป็นการสร้างภูมิปัญญา knowledge "คิดว่าอีก 2-3 ปี เราจะเข้าสู่ตัวสุดท้าย"

สิ่งที่แจ็คทำมาทั้งหมดนี้จะเหมือนกับภาพธุรกิจที่ดูยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังเปรียบเสมือนเป็น การจัดวาง "ของ" ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ยังไม่สามารถเชื่อมโยงทางความคิดที่เป็นแก่นแท้ของธุรกิจ หรือได้รับการยอมรับของคนในวงการระดับกว้าง รวมถึงทีมงานส่วนใหญ่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร การดำเนินงาน และ Knowhow ส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทข้ามชาติเป็นหลัก รวมทั้งสัญญาสัมปทานข้อมูลที่ได้รับก็ยังมีความอ่อนไหวหรืออาจโดนโจมตีได้ง่าย หรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ภาพฝันเหล่านี้จึงอาจต้องใช้เวลามากในการพิสูจน์ความสำเร็จ

ที่สำคัญ แจ็คเองยังต้องเผชิญกับความเร้าใจในการทำธุรกิจที่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ใหม ่ที่ไม่เหมือนกับประสบการณ์เกือบ 18 ปีที่ผ่านมาของเขา

ในฐานะของ "คนนอก" การข้ามพรมแดนไปสู่อิทธิพลของสังคมไทยในระดับลึก เป็นเรื่องของการสร้างเนื้อหา (content) หรือซอฟต์แวร์ และเป็นเรื่องของธุรกิจ "สื่อ" ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย หากเขาผ่านตรงนี้ไปได้โอกาสที่จะเดินต่อไปย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ต้องยอมรับว่าแจ็คยังไม่มีประสบการณ์ที่ลึกซึ้งมากพอที่จะบริหารธุรกิจที่มีความสลับ ซับซ้อน ซึ่งไม่หมือนกับประสบการณ์ในเรื่องการขายของเหมือนในอดีต

สิ่งที่แจ็คทำ จึงเป็นความฝันที่ไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามสำหรับคนคน หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น "คนนอก" ที่สร้างตัวเองขึ้นมาจากศูนย์ กับคำถามที่เขาต้องเผชิญต่อจากนี้



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » เสาร์ พ.ย. 11, 2006 5:03 pm

นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2542

เออาร์กรุ๊ป ปริศนาของแจ๊ค


ดูเหมือนว่าการขยายกิจการของเออาร์กรุ๊ป จะมีคนที่ยินดีอยู่เพียงแค่แจ๊ค และพนักงานของเออาร์เท่านั้น แต่หากไปถามคนแถวพระราม 3 หลายคนคงไม่อยากแม้จะพูดถึง

ไม่ใช่เพราะเออาร์กรุ๊ปเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ แต่เป็นเพราะเออาร์คือ อาณาจักรใหม่ของแจ๊ค และเป็นอาณาจักรที่ขยายตัวขึ้นท่ามกลางความปรวนแปรของสหวิริยาโอเอ

แต่คำกล่าวนี้อาจไม่เป็นธรรมสำหรับแจ๊คเท่าไหร่นัก เพราะเป็นเรื่องปกติของทุกคนที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็อยากมีธุรกิจของตัวเอง และสหวิริยาโอเอก็เป็นของตระกูลวิริย-ประไพกิจถือหุ้นส่วนใหญ่

เออาร์ เกิดขึ้นมาจากความคิดของแจ๊คที่ว่า "คุณทำได้ ผมก็ทำได้"

แจ๊คให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ แต่แจ๊คไม่ได้ทำแค่ถ่ายทอดเฉยๆ แจ๊คยังศึกษาจากคนข่าวเหล่านั้นด้วย นี่เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาเห็นประโยชน์จากข้อมูลข่าว

แอ็ดวานซ์ รีเสิร์ช หรือ เออาร์ ตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจผลิตหนังสือคอมพิวเตอร์ และทำวิจัยทางด้านข้อมูล

คนที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีอย่างแจ๊ค ย่อมรู้ดีว่า อำนาจใหม่ทางธุรกิจในวันหน้า คือ โลกของข้อมูล ไม่ใช่ธุรกิจค้าฮาร์ดแวร์ หรือ ซอฟต์แวร์อีกต่อไป มันเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องปวดหัวกับสต็อก เพียงแต่จัดการกับข้อมูลดีๆ กำไรมหาศาลก็จะตามมา

บังเอิญว่า แจ๊คมอบโอกาสนี้ให้กับเออาร์ ไม่ใช่สหวิริยาโอเอ

เอนิว คอร์ปอเรชั่น จึงกลายเป็นหน่อใหม่ของเออาร์ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจค้าข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ เป็นจุดที่ทำให้บทบาทของแจ๊คต้องถูกจับตามองจากรอบด้าน

แจ๊คเห็นข้อดีจากระบบสัมปทาน และสัมปทานที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่สัมปทานสื่อสาร แต่เป็นสัมปทานที่เกี่ยวกับข้อมูล

ในแต่ละวันจะมีคนจำนวนมาก ที่เดินไปที่กรมทะเบียนการค้า แถวๆ ท่าเตียนเพื่อขอค้นทะเบียนข้อมูล บริษัท งบการเงิน ผู้ถือหุ้น แต่หากข้อมูลเหล่านี้สามารถมาบรรจุลงในคอมพิวเตอร์ และส่งถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ลูกค้าทันที โดยไม่ต้องไปเสียเวลาเดินทางนั่งรอคอย 3-4 ชั่วโมง หนำซ้ำข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถนำมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าในรูปแบบอื่นๆ ให้มีราคาเพิ่มขึ้น ได้อีก

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่แจ๊คมองเห็น

เห็นถึงมูลค่ามหาศาลที่แฝงอยู่ในข้อมูลเหล่านี้

บริษัทบิซิเนส ออนไลน์ รับสัมปทานข้อมูลทะเบียนการค้าจากกระทรวงพาณิชย์มาขายผ่านคอม พิวเตอร์ ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทลูกของเอนิวส์

แจ๊ครู้อีกว่า อินเตอร์เน็ตจะเป็นเครือข่ายทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในทศวรรษนี้ และอินเตอร์เน็ตเป็น "สื่อ" ที่จะใช้ในการส่งผ่านข้อมูลไปถึงผู้ใช้

เอ-เน็ต จึงเกิดขึ้น มันเป็นบริษัทในเครือแห่งที่ 2 ที่อยู่ในสังกัดเอนิวส์ รับสัมปทานให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย

ทั้งสองธุรกิจนี้เป็นการเอื้อประโยชน์กันโดยตรง บริการของเอ-เน็ต จึงมีจุดแตกต่างจากไอเอสพีรายอื่นๆ ตรงที่จะมีข้อมูลบริษัทหรือการค้าใส่แผ่นซีดีแถมไปด้วย ส่วนเอนิวส์จะใช้ประโยชน์จากเอ-เน็ต ส่งผ่านข้อมูลไปให้ลูกค้า

แต่ธุรกิจทั้งสองก็ยังต้องอาศัยทั้งการลงทุนและเวลาอีกไม่น้อย

"ถามว่าถึงจุดคุ้มทุนหรือยัง ยังไมคุ้มค่าเวลานี้ แต่คนที่ใช้ข้อมูลจะรู้สึกว่าข้อมูลถูกยกระดับไปอีกจุดหนึ่ง เพราะข้อมูลที่ได้มาเราเพิ่มมูลค่าใส่ลงไป มีรูปสถานที่ตั้งของบริษัท" โสจิพรรณ นาคสกุล ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มบริษัทเอนิวส์ คอร์ปอเรชั่น เล่า

โสจิพรรณ เคยทำงานในสหวิริยาโอเอมาเกือบ 4 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้ช่วยของแจ๊ค ซึ่งเป็นจุดที่เธอบอกว่าได้เรียนรู้มากที่สุด ก่อนจะข้ามฟากมานั่งเป็นผู้จัดการทั่วไปที่เอนิวส์

ถึงแม้ว่าเอ-เน็ตจะไม่ใช่ไอเอสพีที่ครองตลาดอันดับ 1 แต่ทุกวันนี้เอ-เน็ตได้ลูกค้าหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา กองทัพบก กองทัพเรือ ซึ่งโสจิพรรณบอกว่า มาจากการที่เอ-เน็ตมี HUB ในตลาดต่างจังหวัด 24 แห่ง

ในช่วงแรกเอ-เน็ตต้องเป็นฝ่ายหาเลี้ยงธุรกิจทั้งหมดของเอนิวส์ โดยเฉพาะบีโอแอลที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เพราะข้อมูลที่ได้มาจากกรมทะเบียนการค้า จะต้องจ้างพนักงานชั่วคราวมาคีย์ใส่คอมพิวเตอร์ และต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ที่อยู่ ผู้ถือหุ้น และหากเป็นข้อมูลที่ลึกลงไปอีกจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการเงินเพิ่มเติมด้วย

"ช่วงแรกของบีโอแอลยากมาก เราทำในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และราคาก็สูง เพราะเรานำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่เราก็ผ่านความยากลำบากมาได้ระดับหนึ่งแล้ว"

ก่อนหน้าที่สหวิริยาแถลงข่าวได้เจโอเอสมาถือหุ้นไม่กี่วัน บีโอแอลก็ได้ ดันส์แอนด์แบรดสตรีท (ดีแอนด์บี) เข้ามาถือหุ้น

ดันแอนด์แบรดสตรีท เป็นบริษัทค้าข้อมูลออน ไลน์ข้ามชาติ ที่มีเครือข่ายธุรกิจทั่วโลกและมูดีส์ อิน-เวสเตอร์ เซอร์วิส ก็เป็นบริษัทในเครือข่ายเดียวกัน การได้บริษัทอย่างดันแอนด์แบรดสตรีทมาถือหุ้น จึงเป็นภาพที่ดีมากๆ สำหรับบีโอแอล

ตามข้อตกลงนั้น บีโอแอลจะได้ทั้งเม็ดเงินจากการขายหุ้นให้ดันแอนด์แบรดสตรีท จำนวน 49% หรือ ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (40 ล้านบาท) ช่วงแรกดันแอนด์แบรดสตรีทจะถือหุ้นในสัดส่วน 19% และจะ เพิ่มจนครบมูลค่าตามที่ตกลงภายใน 1 ปี

ข้อมูลบริษัทจดทะเบียน 4 แสนรายที่บีโอแอลมี อยู่จะถูกขายผ่านเครือข่ายของ ดีแอนด์บี ที่มีอยู่ทั่วโลก ขณะเดียวกันบีโอแอลจะได้ข้อมูลจากดีแอนด์บี ซึ่งจะมีการวิเคราะห์และจัดอันดับความเชื่อถือให้กับลูกค้าด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ การได้ทั้งสินค้าใหม่ และเครือข่ายช่องทางใหม่ที่จะกระจายสินค้าได้มากขึ้น และยังได้ "โนว์ฮาว" และการจัดการธุรกิจที่เป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

ภาพของเอนิวส์จึงดูดีมากๆ เป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับสหวิริยาโอเอ ที่กำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่

เอนิวส์ จึงเป็นปริศนาที่แจ๊คไม่อยากพูดถึงนัก แม้ว่าทุกคนในเวลานี้จะรู้แล้วว่า นี่คืออาณาจักรที่ 2 ที่เป็นของแจ๊คเอง



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » จันทร์ ธ.ค. 11, 2006 11:29 pm

บุญทักษ์ หวังเจริญ นำทัพกสิกรไทยรุกตลาด SMEs

ถือเป็น "เครือธนาคาร" แห่งแรกที่มีแผนการดำเนินธุรกิจปี 2550 ออกมาแล้ว สำหรับ "กสิกรไทย" ภายใต้ concept "ร่วมกันรุก บุกทั้งเครือ" ซึ่งแม้ภาพการทำธุรกิจรูปแบบดังกล่าวของกสิกรไทยจะโดดเด่นขึ้นในระยะหลัง แต่หากมองเฉพาะตัวธนาคารเองมีความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งปรากฏชัดยิ่งขึ้น

นั่นคือการรุกปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูง ถือเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ปัจจุบันกสิกรไทยเป็นธนาคารที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin : NIM) สูงที่สุดของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือที่ 4.06% จากเฉลี่ยธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่งที่ 3.64% และทั้งอุตสาหกรรมที่ 3.35%

"เกือบทุกแบงก์รุกสินเชื่อ SMEs มา 4-5 ปีแล้ว แต่ทำจริงหรือเปล่าต้องไปถามลูกค้าดู จะเห็นว่าบางคนยังคงถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ อันดับท้ายๆ เมื่อเทียบกับรายใหญ่ที่ทุกคนพูดถึง SMEs อาจเพราะรู้สึกเหมือนเท่ แต่พอทำจริงๆ มันไม่ง่ายเลย ทั้งเรื่องการวิเคราะห์งบการเงินที่มีความน่าเชื่อถือได้จำกัด การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้แม้ดูเหมือนได้ส่วนต่างดอกเบี้ยเยอะ ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าใครทำ SMEs จริงให้ดูที่ สเปรด แต่กำไรต่อรายก็น้อยเพราะมีขนาดเล็กและค่าใช้จ่ายต่อรายก็สูง"

"บุญทักษ์ หวังเจริญ" รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวแสดงความเห็นต่อการทำธุรกิจกับกลุ่มลูกค้า SMEs ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ "สายงานธุรกิจตลาดทุน" สายงานใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อต้นปีเพื่อรองรับการรุกตลาดสินเชื่อและบริการทางการเงินแก่ SMEs ขณะนี้เป้าหมายการทำธุรกิจในปีหน้าที่ "บุญทักษ์" เล่าให้ "ประชาชาติธุรกิจ" ฟังน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

เป้าหมายสินเชื่อ SMEs ปี"50 โต 20%

"บุญทักษ์" กล่าวถึงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า SMEs ในปี 2550 ว่าจะขยายตัวให้ได้ 20% จากฐานสินเชื่อ SMEs ที่มีอยู่ปัจจุบัน 2.7 แสนล้านบาท หรือประมาณ 40% ของสินเชื่อรวม พร้อมกับมองว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ปล่อยสินเชื่อได้สดใสมากกว่าปีนี้ จากภาวะดอกเบี้ยที่เริ่มนิ่ง ราคาน้ำมันปรับลดลง ความเชื่อมั่นทางการเมืองกลับมา ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของหลายอุตสาหกรรมสูงกว่า 70% ทำให้เชื่อได้ว่าต้องมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก

แม้ทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อจะสดใสขึ้น แต่ดังที่กล่าวว่าแม้สินเชื่อ SMEs จะมี NIM สูง แต่ต้นทุนต่อรายก็สูงเช่นกัน ซึ่ง "บุญทักษ์" มองว่าจุดนี้คือโจทย์ที่ต้องหาทางแก้ให้ได้ นั่นหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของทีมงานและธนาคารจึงจะสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้

"การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นตัวหลักๆ เช่น การอนุมัติสินเชื่อได้เร็วในความเสี่ยงที่รับได้ ประสิทธิภาพในการให้บริการ ในต้นทุนที่ถูกลง แต่อยู่ในระดับมาตรฐานที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า ฉะนั้นจึงต้องทำอะไรเยอะ ฉะนั้นจึงต้องทำเรื่องของ processing ของ credit service ต้องเพิ่มช่องทางการบริการ ปีนี้เราทำไปได้แล้วครึ่งหนึ่ง และจะทำครึ่งหลังในปีหน้าเพื่อให้บริการที่มีประ สิทธิภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพนี้เป็นโจทย์ที่ทุกอุตสาหกรรมต้องเจอ"

เขากล่าวด้วยว่า ในการปรับหลายอย่างนั้นได้รวมถึงการปรับทัศนคติของพนักงานด้วย จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับรายใหญ่เพื่อให้ได้เป้าหมายเร็ว แต่ต้องให้ทุกคนรู้ว่าทุกงานต่างมีทั้งความสำคัญและความหมายเหมือนกัน จากการปรับโครงสร้างแล้วหน้าที่และเป้าหมายของแต่ละคนก็ชัดเจน เช่น คนที่ทำ SMEs จะไม่ให้ทำรายใหญ่เด็ดขาด หากทำจะถือเป็นความผิดทันที

ผ่าน dealer financing อนุมัติเร็ว

นอกจากการปรับประสิทธิภาพภายในองค์กรแล้ว "บุญทักษ์" ได้กล่าวถึงรูปแบบการเข้าถึงลูกค้าว่ายังคงแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ทั้งที่ลูกค้าเดินเข้ามาให้ธนาคาร และธนาคารเข้าไปหาลูกค้า แต่ทั้งหมดนี้มีเกณฑ์เดียวกัน คือ รู้ผลการอนุมัติภายใน 3 วัน นั่นเพราะธนาคารจะมีทีมงานที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์สินเชื่อโดยเฉพาะที่กระจายตัวอยู่ใน SMEs hub ซึ่งมีอยู่ 120 แห่งทั่วประเทศที่จะรับผิดชอบดูแลลูกค้า SMEs ของธนาคาร 1 hub ต่อ 4-5 สาขา

"อันหนึ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ คือ supply chain financing ที่ทำให้เข้าถึงลูกค้า SMEs ได้ สมมติว่าเราให้บริการเรียกเก็บเงินให้ลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งเขาอาจจะเป็นคนซื้อหรือขายของกับ SMEs จะทำให้เราเห็น payment record ซึ่งเป็นข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า SMEs กลุ่มนี้ และแบงก์ก็สามารถเข้าไปปล่อยสินเชื่อและอนุมัติสินเชื่อได้เร็วขึ้น ตัดปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของงบการเงินลงไปได้ ซึ่งแบบนี้เราเรียกว่า dealer financing"

นอกจากการอาศัย dealer financing ที่ทำให้สามารถวิเคราะห์สินเชื่อให้ลูกค้าได้เร็วขึ้น ขณะนี้กำลังมีการพัฒนาและจะนำระบบสกอริ่งที่จะเก็บข้อมูลหรือพฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้ามาใช้ ส่วนนี้ธนาคารเก็บข้อมูลมาประมาณ 7 ปีแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้สามารถทำนายความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น ซึ่งบางส่วนอาจมีลูกค้าที่เสียบ้างแต่ก็เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้น ถ้าอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ก็ไม่สร้างความเสียหาย เพราะรายได้ที่จะได้จาก SMEs ถือว่าคุ้ม

theme SMEs ปีหน้าช่วยลูกค้า

เพิ่มประสิทธิภาพ

บุญทักษ์กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งทีมงานและระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี นั่นเพราะเป้าหมายของธนาคารไม่ใช่เพียงการขยายบริการทางการเงินให้ลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่กสิกรไทยต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของลูกค้าด้วย ซึ่งดังกล่าวนี้เป็น theme หลักของการทำธุรกิจในปีหน้า

ที่ต้องมี theme นี้เพราะปีหน้าโจทย์ของ ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่คือเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ผลจากค่าเงิน บาทแข็ง ส่วนหนึ่งที่เขาต้องทำคือการเพิ่ม ประสิทธิภาพและบริหารความเสี่ยง

ซึ่งการบริหารความเสี่ยงนั้นทำได้แค่ในระดับหนึ่ง ซึ่งที่สุดที่ต้องทำคือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างเช่น supply chain financing ก็สามารถช่วยให้อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำคือบริษัทใหญ่ กระทั่งปลายน้ำคือ SMEs สามารถลดต้นทุนทางการเงินของเขาที่อาจเกิดขึ้น

มุ่งเป็น financing solution ของ SMEs

นอกจากการอนุมัติเร็ว และเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ลูกค้าแล้ว "บุญทักษ์" ได้กล่าวถึงเป้าหมายประการหนึ่งของกสิกรไทยว่า ธนาคารต้องการเป็นคำตอบทาง การเงิน (financing solution) ของลูกค้า ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การให้สินเชื่อ แต่ยังมีบริการต่อ เช่น เรื่องบริหารอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย การเรียกเก็บเงิน

"เราจะมองทุกอย่างให้เป็นสิ่งง่ายๆ สำหรับเขาที่จะใช้ และมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมาซึ่งในที่สุดจะเป็น financing solution ที่เหมาะกับธุรกิจของเขา โดยเรา ทำธุรกิจลักษณะนี้กับลูกค้ารายใหญ่มาตลอด สิ่งที่เราอยากทำมากที่สุดคือนำสิ่งที่ทำให้กับลูกค้ารายใหญ่มาให้รายเล็ก ตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรากำลังลงระบบ ซึ่งจะทำให้เรามีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยมาให้ลูกค้า SMEs ได้"



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » ศุกร์ มี.ค. 23, 2007 9:00 pm

Viewtiful Investor เขียน:ปีนี้ว่าจะไปประชุมกะเค้าด้วยครับ ได้กำไรตัวนี้มาตั้ง 50% มีอยู่ตั้ง 100 หุ้นแหนะ -_-'

ช่วงนี้กำลังเตรียมตัวอยู่ ติดใจเรื่องที่รายได้จาก Online Service ทำไมมันไม่ค่อย stable เลย จริงๆแต่ละ Q ควรจะมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ของ BOL กลับขึ้นๆลงๆ บาง Q ดันน้อยกว่าปีก่อนซะงั้น

ขอศึกษาให้ดีแล้วจะมาร่วมวงด้วยครับ
น่าจะเป็นเรื่องการรับรู้รายได้ ถ้าอยากรู้ละเอียดลองถาม
คุณกัณญาพรรณ 02-6573999 ต่อ 1510 เป็นผู้จัดการบัญชีครับ

ผมดูไม่ละเอียดมาก มอง q เดียวกันเทียบปีที่แล้ว ผมก็เห็นว่าโตขึ้นตลอดนะ



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พฤหัสฯ. มี.ค. 29, 2007 9:15 pm

ขอบคุณครับที่มาช่วย update ให้ ผมไม่ว่างอยู่ต่างจังหวัดเลยไม่ได้ไปประชุมด้วย

เค้ามีคุยเรื่องการเติบโตของปีนี้ไหมครับ เท่าที่ผมทราบมาเค้าบอกว่า รายได้จะโตประมาณ 20-30% ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » ศุกร์ ส.ค. 10, 2007 6:23 pm

กำไรที่เพิ่มขึ้นเยอะ ใน Q2 นี้ส่วนใหญ่มาจาก เงินปันผลของ เครดิตบูโร ที่ bol ถือหุ้นอยู่ 12.25 % โดยเพิ่มจาก 1.2M มาเป็น 6.7M ซึ่งดูแล้วน่าจะได้เพิ่มขึ้นทุกปีตามการ ขยายตัวของการใช้ ข้อมูลเครดิต

ไม่แน่ในอนาคตเงินปันผลจาก เครดิตบูโร อาจจะพอๆ กับ กำไรที่ bol หาได้เองครับ



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » ศุกร์ ส.ค. 17, 2007 1:23 pm

บิซิเนส ออนไลน์ บมจ.(BOL) เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่ ผู้จัดทำ หุ้นสามัญ 16/08/2550 15/08/2550 22,000 8.82 ซื้อ

แต่พี่คนนี้ก็ซื้ออีกแหะ ตอนถูกกว่านี้ไม่ยักกะซื้อ :roll:



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พุธ ต.ค. 31, 2007 9:16 pm

ผมว่าต้องมีหลายคนที่ไม่ทราบว่า BOL ทำอะไรบ้าง ขายอะไรบ้าง เลยเอามาฝากนะครับ


ฺBackground
ในขณะที่ท่านต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อสร้างให้ธุรกิจท่านอยู่เหนือคู่แข่ง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะระมัดระวังในการจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้นรอบๆธุรกิจของท่าน หน้าที่หนึ่งที่สำคัญของผู้บริหารคือการค้นหา คู่ค้าที่ดีและมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นการมีข้อมูลที่สมบูรณ์และรวดเร็วจึงเป็นกุญแจในการสนับสนุนการตัดสินใจของท่าน

บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ให้บริการทางธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ข้อมูลบริษัท ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ วิเคราะห์ธุรกิจ จนถึงการจัดเก็บหนี้สิน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2538 โดยเริ่มแรกร่วมมือกับ กรมพัฒนาธุรกิจ การค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้บริการข้อมูลพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 720,000 บริษัท

ผู้ใช้สามารถค้นหาและตรวจสอบข้อมูลทางด้านเครดิตและการตลาดของบริษัทที่ต้องการ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่าน www.BOL.co.th ที่ พร้อมจะให้บริการข้อมูลที่ถูกต้อง และรวดเร็ว

ร่วมทุนกับ Dun & Bradstreet ขยายสู่สากล


ในปี พ.ศ. 2541 BOL ได้ขยายเครือข่ายเข้าสู่ระดับโลก โดยร่วมกับบริษัท Dun & Bradstreet (D&B)

จากประสบการณ์กว่า 160 ปี พร้อมด้วยฐานข้อมูลของ 90 ล้านบริษัท ใน 214 ประเทศทั่วโลก ทำให้ D&B เป็นผู้นำในการให้บริการข้อมูลเครดิตของโลก

การร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับ BOL ในการเป็นผู้นำทางด้านข้อมูลธุรกิจของประเทศไทย เพราะนอกจากจะมีบริการที่ครอบคลุมแล้ว BOL ยังมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อนำไปใช้ต่อในการวิเคราะห์ทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก

ในปี พ.ศ. 2543 BOL ได้เข้าสู่ธุรกิจเครดิตบูโร ในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง และในฐานะผู้สนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีของเครดิตบูโร



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พุธ ต.ค. 31, 2007 9:27 pm

อันนี้เป็น Product หลักๆ 2 อัน

Bingo  

เป็นบริการข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยกับกระทรวงพาณิชย์ โดยผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลของบริษัทที่ต้องการ เพียงแต่ใส่ชื่อเต็มหรือบางส่วนของชื่อบริษัทที่ต้องการรายละเอียดของข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้จะประกอบไปด้วย

- ชื่อบริษัท เลขทะเบียน วันที่จดทะเบียน และประเภทธุรกิจ
- ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ ( ถ้ามี )
- ข้อมูลงบการเงินปีล่าสุด ซึ่งประกอบด้วยงบดุล และงบกำไรขาดทุนที่บริษัทจดทะเบียนจะต้อง จัดส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์ทุกๆปี  
- การวิเคราะห์ผลดำเนินงาน
- รายละเอียดของผู้ถือหุ้น เช่น สัญชาติ และสัดส่วนการถือหุ้น
- รายชื่อผู้ถือหุ้น ( สำหรับบริษัทที่มีรายได้ 200 ล้านบาทขึ้นไป )  
- ประวัติการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เช่น การเปลี่ยนชื่อบริษัท การเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนและประวัติการจัดส่งงบการเงินต่อกระทรวงพาณิชย์  
- การวิเคราะห์เปรียบเทียบผลประกอบการของบริษัท และอัตราส่วนทางการเงินโดยใช้ข้อมูลจาก งบการเงินที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2536  
- ข้อมูลบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน
- บริการเครดิตทางการค้า เช่น เครดิตเทอม และวงเงินเครดิต
- การเรียงลำดับบริษัทจากบริษัทที่จดทะเบียนตามรายได้ กำไร และสินทรัพย์  
- บริการข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ทำการค้นหา
- ลูกค้าของ BOL สามารถค้นหารายชื่อกลุ่มบริษัทต่างๆในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเสริมวัตถุประสงค์การตลาดโดยเฉพาะในเรื่องการขายตรง ซึ่งสามารถค้นหารายละเอียดข้อมูลของแต่ละบริษัทที่จดทะเบียนได้ตามที่ต้องการ และนอกจากนี้ยังสามารถค้นหากลุ่มลูกค้าได้ตามที่เงื่อนไขต่างๆ เช่น ประเภทธุรกิจ , รายได้ , กำไร , สถานที่ตั้ง , เงินทุนจดทะเบียนและทรัพย์สิน  
- บริการรายชื่อบริษัทที่จัดตั้งใหม่ บริษัทที่เลิกล้างและล้มละลาย  

ประโยชน์ของบริการ

- บริการค้นหาข้อมูลบริษัทได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถใช้บริการนี้ได้จากทุกมุมโลก เพราะอยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สะดวก รวดเร็วและประหยัดเวลา
สามารถสั่งพิมพ์ผลสรุปได้ทันที โดยไม่ต้องค้นหาจากเอกสาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในกรณีที่ต้องการสรุปข้อมูลเป็นจำนวนหลายปี และจะช่วยลดต้นทุนการทำวิจัยทางธุรกิจได้ด้วย
- ค้นหาข้อมูลได้สะดวก และรวดเร็วจากโปรแกรมสืบค้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เราต้องการทราบได้ ไม่ว่าจะเป็นจากชื่อบริษัท หมวดธุรกิจ ที่ตั้ง เป็นต้น การค้นหายังสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ต้องการให้แสดงผลเรียงตามลำดับตัวอักษร เรียงลำดับตามรายได้ กำไร เรียงลำดับตามทุนจดทะเบียน เป็นต้น  
- ประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร โดยจะมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำมากพอที่จะนำมาเป็นกลุ่มอ้างอิงสำหรับการหาอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อประโยชน์ในการบริหารเครดิตทางการค้าขององค์กร  
- เป็นการประหยัดเวลาในการได้มาซึ้งข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าไปขอข้อมูลบริษัทฯ กับกระทรวงพาณิชย์  
- สามารถใช้ข้อมูลเพื่อศึกษาผลประกอบการ และความน่าเชื่อถือ ทั้งปัจจุบัน และย้อนหลังของบริษัทจากงบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และเพื่อออกตราสารตั๋วแลกเงินของธนาคาร รวมทั้งใช้ศึกษาผลดำเนินงาน และความมั่นคงของบริษัทต่างๆ ที่จะร่วมทำโครงการด้วยกัน  
- สามารถใช้ข้อมูลเพื่อศึกษาดูแนวโน้มของรายได้ กำไร และจำนวนบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรม และเพื่อหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ



Decision Support System (DSS)

: DSS เป็นระบบที่ผนวกข้อมูลในฐานข้อมูลของ BOL กับฐานข้อมูลของลูกค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ด้วยระบบซอร์ฟแวร์ชั้นสูงที่มีการดึงข้อมูลจากหลายๆส่วนเข้าด้วยกัน โดย BOL จะทำการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่บริษัทของลูกค้าเพื่อง่ายต้องการผนวกข้อมูล และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลอีกด้วย

DSS นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ Portfolio Management, Marketing Analysis Report and Corporate Linkage

Portfolio Management (PM): เป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่ช่วยในการวิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมดของลูกค้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความแตกต่างในแต่ละกลุ่มของลูกค้าได้

นอกจากนี้ DSS ยังสามารถสะท้อนถึงความเสี่ยงทั้งหมดของการชำระเงินในแต่ละกลุ่มลูกค้าได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพรวมของความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรได้

คุณสมบัติหลักของ Portfolio Management:

- นำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกในหลากหลายมิติของการวิเคราะห์ในแต่ละกลุ่มลูกค้า
- ลูกค้าสามารถเลือกทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสามารถเลือกปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่ตนให้ความสนใจอยู่ เพื่อนำมาทำการวิเคราะห์เองได้
- ระบบจะทำการอัฟเดทข้อมูลจากฐานข้อมูลของ BOL เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ลูกค้าได้นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด
- ด้วยระบบซอร์ฟแวร์ชั้นสูง จะทำให้สามารถค้นหาข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ได้ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน
- นอกเหนือจากการทำรายงานการวิเคราะห์ตามความต้องการของลูกค้าได้แล้วนั้น ลูกค้ายังสามารถทำการบันทึกข้อมูลจากรายงานที่ได้เข้าสู่ฐานข้อมูลของตนเองได้อีกด้วย

Marketing Analysis Report (MAR): เป็นเครื่องมือทางด้านการตลาดที่จะสรุปถึงภาพรวมทั้งหมดของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม อีกทั้งยังสามารถระบุถึงโอกาสทางด้านการตลาดให้กับลูกค้าอีกด้วยโดยสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าได้ตามความเหมาะสม เช่น แบ่งตามที่ตั้ง หรือขนาดของบริษัท นอกจากนี้ ยังสามารถระบุได้ ถึงลูกค้าที่มีความสำคัญต่อองค์กร เพื่อช่วยในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งนำมาสู่การได้มาซึ่งผลกำไรสูงสุดขององค์กรอีกด้วย โดยทำการผนวกข้อมูลของลูกค้าเข้ากับฐานข้อมูลของ BOL ที่ประกอบไปด้วย ข้อมูลทางด้านการตลาด ข้อมูลทางด้านการเงิน เพื่อช่วยในการประเมินมูลค่าของตลาดทั้งหมด และช่วยการออกแคมเปญที่เหมาะสมให้กับกลุ่มเป้าหมายต่อไป

คุณสมบัติหลักของ Marketing Analysis Report :

- ช่วยให้ทราบถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และถูกต้อง
- สะท้อนให้ทราบถึงความสามารถในการเจาะตลาดของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม
- สามารถนำข้อมูลทั้งหมดจากฐานข้อมูลของ BOL มาใช้ในการวิเคราะห์ทางด้านการตลาด
- ช่วยให้ลูกค้าสามารถทำรายงานการวิเคราะห์ทางด้านการตลาดได้ในหลากหลายรูปแบบ

Corporate Linkage (CL): เป็นเครื่องมือที่บอกถึงความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้น และกรรมการในแต่ละบริษัท เพื่อให้เข้าใจถึงภาพรวมของความสัมพันธ์ทั้งหมดของบริษัทในประเทศไทย

จากการทราบถึงภาพรวมความสัมพันธ์ทั้งหมดของบริษัทต่างๆ นี้เอง จึงช่วยสะท้อนถึงโอกาสทางด้านการตลาดใหม่ๆ มีกำลังการต่อรองในการซื้อมากขึ้น และทำให้ลูกค้าสามารถประเมินความเสี่ยงทั้งหมดได้จากความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้นและกรรมการอีกด้วย

คุณสมบัติหลักของ Corporate Linkage:

- ช่วยให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของบริษัทต่างๆ ได้จากความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้น และกรรมการ
- เพื่อใช้ในการกำหนดความสำคัญของลูกค้า จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมทั้งหมดของกลุ่มบริษัทของลูกค้าได้
- ช่วยให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของลูกค้าในแต่ละรายได้ว่าอยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกันหรือไม่



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พุธ ต.ค. 31, 2007 9:29 pm

ส่วนอันนี้เป็นการทำการตลาดของ BOL น่าสนใจทีเดียว

Member Get Member
แพคเกจมัลดีฟ, ทีวี LCD, IPOD NANO...  

บีโอแอลชวนคุณไปมัลดีฟกับคนรู้ใจ หรือ เลือกรับของรางวัลมากมาย เพียงคุณร่วมกิจกรรม Member Get Member แค่แนะนำ* รับของรางวัลฟรีทันทีไม่ต้องลุ้น รวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาท ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธ.ค. 50 เท่านั้น!

3 ขั้นตอนง่ายๆ
1. แนะนำลูกค้า Bingo หรือ BIR
2. สะสมคะแนน BPoints!
3. แลกของรางวัลได้ทันที ไม่ต้องลุ้น

รายละเอียดของรางวัล
1. ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ พร้อมที่พักและแพคเกจทัวร์ไปมัลดีฟ 4 วัน 3 คืนสำหรับ 2 ท่าน
2. ทีวีแอลซีดี LG 32 นิ้ว รุ่น LG32LC2R
3. เครื่องเล่น IPOD NANO 4GB รุ่นเฉลิมพระเกียรติ
4. บัตรที่พักสุดหรูที่หัวหิน 2 คืน
5. แพ็คเกจสปา Dr. Younger
6. บัตรเติมน้ำมัน Shell
7. บัตรชมภาพยนตร์ Major Cineplex



BOL จัดอบรมการใช้งาน Bingo แก่สมาชิก  
Bingo ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์

บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่จะเรียนเชิญท่านสมาชิกเพื่อมาเรียนรู้วิธีการใช้งานข้อมูลนิติบุคคลออนไลน์ Bingo การอบรมประกอบด้วยหลักการใช้งานและประโยชน์ในการใช้งานของแต่ละเมนู การใช้งาน เพื่อที่ท่านสมาชิกจะได้นำข้อมูลไปประยุกต์ให้ใช้กับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในแง่การหาช่องทางทางการตลาดเพื่อจัดหากลุ่มเป้าหมาย การนำข้อมูลทางการเงินไปใช้ประโยชน์ และแจ้งข่าวในบริษัทที่ท่านสมาชิกกำลังสนใจ 3 ครั้งต่อวันที่ให้บริการข้อมูลมากกว่า 800,000 บริษัทในประเทศ



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พฤหัสฯ. พ.ย. 08, 2007 10:56 pm

งบQ3ออกแล้ว ครับ
3 เดือนกำไรโต 27%
9 เดือนกำไรโต 33%

ไม่มีหนีเงินกู้เลย แต่มีเงินสด 2 บาท/หุ้น
FCF ปี50 น่าจะอยู่ที่ 0.66 บาท/หุ้น
คงจะจ่ายปันผลปีนี้ประมาณ 0.46 บาท/หุ้น

ถ้าดูจาก growth ควรเทรดที่ P/FCF เท่าไหร่ดีครับ  

P/FCF 10 เท่า+เงินสด 2 บาท จะ = 8.67 บาท/หุ้น
P/FCF 12 เท่า+เงินสด 2 บาท จะ = 9.99 บาท/หุ้น
P/FCF 15 เท่า+เงินสด 2 บาท จะ = 12.00 บาท/หุ้น
P/FCF 20 เท่า+เงินสด 2 บาท จะ = 15.32 บาท/หุ้น



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » ศุกร์ พ.ย. 09, 2007 9:38 am

BOL : สรุปผลการดำเนินงานของบจ.และรวมของบริษัทย่อยไตรมาสที่3(F45-3)
               สรุปผลการดำเนินงานของบจ.และรวมของบริษัทย่อยไตรมาสที่3(F45-3)
                          บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน)

                                                         สอบทาน
                                                     (หน่วย : พันบาท)
                                            สิ้นสุดวันที่  30 กันยายน
งบการเงินรวม
                                    ไตรมาสที่ 3          งวด 9 เดือน
             ปี                    2550    2549      2550      2549

  กำไร (ขาดทุน) สุทธิ              9,878    7,774    34,300    25,709
  กำไร (ขาดทุน) สุทธิต่อหุ้น (บาท)     0.13     0.10    0.46    0.34



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พุธ พ.ย. 21, 2007 6:40 pm

บิซิเนส ออนไลน์ (BOL)  เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่  ผู้จัดทำ  หุ้นสามัญ  15/08/2550  14/08/2550  16,600  8.90  ซื้อ    
บิซิเนส ออนไลน์ (BOL)  เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่  ผู้จัดทำ  หุ้นสามัญ  15/08/2550  14/08/2550  13,000  8.95  ซื้อ    
บิซิเนส ออนไลน์ (BOL)  เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่  ผู้จัดทำ  หุ้นสามัญ  16/08/2550  15/08/2550  22,000  8.82  ซื้อ    
บิซิเนส ออนไลน์ (BOL)  เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่  ผู้จัดทำ  หุ้นสามัญ  12/11/2550  09/11/2550  11,000  9.47  ซื้อ  
บิซิเนส ออนไลน์ (BOL)  เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่  ผู้จัดทำ  หุ้นสามัญ  14/11/2550  12/11/2550  13,200  9.28  ซื้อ  
บิซิเนส ออนไลน์ (BOL)  เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่  ผู้จัดทำ  หุ้นสามัญ  15/11/2550  14/11/2550  4,000  9.80  ซื้อ  
บิซิเนส ออนไลน์ (BOL)  เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่  ผู้จัดทำ  หุ้นสามัญ  21/11/2550  20/11/2550  25,000  9.50  ซื้อ  

พี่แกซื้อไม่หยุดเลย ตลาดลงเป็น 100 จุด ส่วน bol เฉยๆ



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » ศุกร์ พ.ย. 23, 2007 8:00 pm

บิสซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท(BOL) มานิดา  ซินเมอร์แมน ผู้จัดทำ หุ้นสามัญ 23/11/2550 21/11/2550 10,000 9.50 ซื้อ

พี่สาวคนนี้เค้าก็ซื้อด้วย :lol:



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » จันทร์ พ.ย. 26, 2007 6:59 pm

บิซิเนส ออนไลน์ บมจ.(BOL) เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่ ผู้จัดทำ หุ้นสามัญ 23/11/2550 21/11/2550 10,000 9.50 ซื้อ  
บิซิเนส ออนไลน์ บมจ.(BOL) เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่ ผู้จัดทำ หุ้นสามัญ 23/11/2550 22/11/2550 2,800 9.50 ซื้อ  
บิซิเนส ออนไลน์ บมจ.(BOL) เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่ ผู้จัดทำ หุ้นสามัญ 23/11/2550 23/11/2550 4,000 9.73 ซื้อ

อยากรู้จังว่ามีสภาพคล่องมากกว่านี้พี่แกจะซื้อมากกว่านี้ vol หลังๆ ส่วนใหญ่มาจากพี่แกทั้งนั้น ไม่รู้มีอะไร ตอน 6-7 บาทไม่เห็นซื้ออย่างนี้  หวังว่าจะมีข่าวดี:lol:



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » จันทร์ ธ.ค. 03, 2007 6:33 pm

บิซิเนส ออนไลน์ บมจ.(BOL) เดวิด  จัสตินัส เอมเมอรี่ ผู้จัดทำ หุ้นสามัญ 30/11/2550 28/11/2550 4,400 9.75 ซื้อ  :lol:



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » ศุกร์ ธ.ค. 28, 2007 4:54 pm

:drink:  ฉลอง new high ครับ :B



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » อังคาร ม.ค. 08, 2008 7:27 pm

เครดิตบูโรจีบ บล.เป็นสมาชิก ดีเดย์เปิดเผยบัญชีนักลงทุนปีนี้ โดย กระแสหุ้น

เครดิตบูโรจ่อดึงโบรกเกอร์เข้ามาเป็นสมาชิกภายในปีนี้ เก็บข้อมูลลูกค้าเทรดหุ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุน เผยอยู่ระหว่างหารือว่าจะเริ่มจากบัญชีเงินสดหรือมาร์จิ้น และเกณฑ์บล.ทุกแห่งเข้าเป็นสมาชิกพร้อมกันเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ ขณะที่สมาคมบล.ทำท่าเห็นด้วย เตรียมเรียกประชุมสมาชิก

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการดึงบริษัทหลักทรัพย์(บล.)เข้ามาเป็นสมาชิกในเครดิตบูโรนั้น ล่าสุดได้เข้าไปชี้แจงข้อมูลกับประธานสมาคมหลักทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม ให้เห็นถึงความสำคัญของการรู้จักตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าในฝั่งของสินเชื่อเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกค้าไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการขาดทุนได้ ในขณะที่ฝั่งของสินทรัพย์ เช่น เงินฝาก บล.มีการตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งประธานสมาคมเห็นประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับสมาชิก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางบริษัทต้องกลับไปศึกษาเพิ่มเติมคือ จะเริ่มจากบัญชีประเภทใดระหว่างบัญชีเงินสดกับบัญชีกู้ยืม(มาร์จิ้น) และเมื่อเริ่มแล้ว บล.ทุกแห่งจะต้องเป็นสมาชิกพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ โดยบริษัทจะเข้าไปพูดคุยกับประธานสมาคมหลักทรัพย์อีกครั้งภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าว่า บล.มีความพร้อมมากเพียงใด เนื่องจากเครดิตบูโรได้เตรียมการมาปีกว่าแล้ว หากสำเร็จก็จะถือเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม

การที่ บล.จะตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ได้น่าจะเป็นประโยชน์ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับความเสี่ยงจากการชำระราคาหลักทรัพย์ของลูกค้าโบรกเกอร์ แต่หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้มีปัญหามากพอสมควร ซึ่งการตรวจสอบลูกค้าทำให้ได้รู้ว่าเขามีบัญชีซื้อขายที่ไหนบ้าง จะได้คำนวณมาร์จิ้นที่จะให้กับลูกค้าได้ตามความเหมาะสม นายนิวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ บล.ส่วนใหญ่ 70% เห็นด้วยกับการส่งข้อมูลลูกค้าให้เครดิตบูโร มีเพียง 30% ที่ไม่เห็นด้วย ทำให้ในส่วนของ 70% ยังไม่กล้าตัดสินใจส่งข้อมูลให้เครดิตบูโร เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวแข่งขันกันรุนแรงมาก ดังนั้น หากมี บล.บางส่วนไม่ส่งข้อมูล ที่เหลือก็จะไม่อยากส่งข้อมูลเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้จากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ร่วมกับตัวแทนจากบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นการหารือในประเด็นที่ลูกค้าของบริษัทประกันชีวิตไม่มีเงินจ่ายค่ากรมธรรม์ และต้องการยกเลิกกรมธรรม์ บริษัทประกันจึงหาทางออกด้วยการให้ลูกค้ากู้ยืมเงินจากมูลค่าเงินสดของลูกค้าเองที่มีอยู่ในกรมธรรม์ เพื่อมาชำระค่ากรมธรรม์ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองต่อไปว่าถือเป็นการกู้ยืมเงินหรือไม่ และบริษัทประกันจำเป็นต้องส่งข้อมูลลูกค้าในกรณีดังกล่าวมายังเครดิตบูโรหรือไม่ซึ่งเรื่องนี้ธปท.ขอดูรายละเอียดในเรื่องนี้ก่อนและจะให้คำตอบในภายหลัง

อย่างไรก็ตามในความคิดเห็นของเครดิตบูโรมองว่ากรณีดังกล่าว ต่างจากการให้สินเชื่อทั่วไป เพราะเป็นการกู้ยืมเงินของลูกค้าเองซึ่งไม่มีความเสี่ยงอะไร และบริษัทประกันแค่หาทางออกให้ลูกค้าเพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับความคุ้มครองไป จึงถือว่าไม่มีความเสี่ยง จึงไม่จำเป็นที่บริษัทประกัน ต้องรายงานข้อมูลลูกค้าเข้ามา

ทั้งนี้ เพราะจะทำให้ดูเสมือนว่าลูกค้ามีประวัติการกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ซึ่งสถาบันการเงินที่ลูกค้ารายดังกล่าวไปกู้ยืมเงินอาจจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ผิดๆและคิดว่าลูกค้ามีหนี้เพิ่มเข้ามาอีกก้อนหนึ่ง ทั้งที่เป็นเงินกู้ยืมที่เกิดจากมูลค่าเงินสดของตนเองที่สะสมมากับบริษัประกันฯ



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พฤหัสฯ. ม.ค. 31, 2008 10:19 pm

[quote="Mr. Boo"].....บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL เปิดเผยว่า ปีนี้ธุรกิจโดยรวมของบริษัท จะเติบโตเต็มที่ 20% และคงอัตราการเติบโตในระดับนี้ต่อไปอีก 3 ปี ขณะเดียวกันบริษัทก็จะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พฤหัสฯ. ม.ค. 31, 2008 10:21 pm

ถ้าได้ตามข่าวก็เยี่ยมเลยครับ :B



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » อังคาร ก.พ. 12, 2008 10:04 pm

[quote="Mr. Boo"]



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » พฤหัสฯ. ก.พ. 21, 2008 8:44 pm

[quote="Mr. Boo"]โอย.....ยังไม่ออกซะที หน้าแตกเลยครับพี่น้อง ขอโทษทีที่เดาผิด



nuttachk23

Re: สงสัย " เงินสดต้นงวด" ของ BOL ใน Q4 ปี 49 ถึง

โพสต์ โดย nuttachk23 » พฤหัสฯ. ก.พ. 21, 2008 8:50 pm

Goal เขียน:ในงบกระแสฯ ของ q4 ปี 49 แสดงว่ามีเงินสด ณ วันสิ้นงวด เท่ากับ 38 ล้าน แต่ทำไมพอดูในงบ Q1 ปี 50 กลับแสดงว่ามีเงินสด ต้นงวดเท่ากับ 130 ล้าน

ผมเข้าใจว่าน่าจะต้องเท่ากัน หรือว่าผมเข้าใจผิด??
ช่วยแนะนำที่ครับ

Goal
q4 49 มีเงินสดประมาณ 92 ล้านบาท ที่เอาไปซื้อ ตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงกลายเป็น เงินลงทุนชั่วคราว ส่วน q1 50 ตั๋วสัญญาใช้เงินคงครบอายุเลยกลับมาเป็นเงินสดเหมือนเดิมครับ  :lol:



nuttachk23

Re: สงสัย " เงินสดต้นงวด" ของ BOL ใน Q4 ปี 49 ถึง

โพสต์ โดย nuttachk23 » พฤหัสฯ. ก.พ. 21, 2008 9:30 pm

Mr. Boo เขียน:
nuttachk เขียน:
Goal เขียน:ในงบกระแสฯ ของ q4 ปี 49 แสดงว่ามีเงินสด ณ วันสิ้นงวด เท่ากับ 38 ล้าน แต่ทำไมพอดูในงบ Q1 ปี 50 กลับแสดงว่ามีเงินสด ต้นงวดเท่ากับ 130 ล้าน

ผมเข้าใจว่าน่าจะต้องเท่ากัน หรือว่าผมเข้าใจผิด??
ช่วยแนะนำที่ครับ

Goal
q4 49 มีเงินสดประมาณ 92 ล้านบาท ที่เอาไปซื้อ ตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงกลายเป็น เงินลงทุนชั่วคราว ส่วน q1 50 ตั๋วสัญญาใช้เงินคงครบอายุเลยกลับมาเป็นเงินสดเหมือนเดิมครับ



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » ศุกร์ ก.พ. 22, 2008 5:49 pm

งบออกแล้วครับ กำำไร 60 ล้านบาท (ดีกว่าที่คาด 20 %) :shock:
เพิ่มขึ้น 60 % yoy จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพียง 20 % yoy
เพราะ profit magin ดีขึ้นจาก 17.2% เป็น 22.7% :lol:

น่าจะจ่ายปันผล 0.56 บาท/หุ้น ที่ราคา 11 บาท คิดเป็น 5%
สุดยอดจริงๆ โตได้ขนาดนี้ ไม่มีหนี้เงินกู้สักบาท แล้วยังจ่ายปันผลได้อีก 5%  
เอ้าชน :cheers:  :B



nuttachk23

Re: สงสัย " เงินสดต้นงวด" ของ BOL ใน Q4 ปี 49 ถึง

โพสต์ โดย nuttachk23 » เสาร์ ก.พ. 23, 2008 10:43 am

Goal เขียน:
nuttachk เขียน:
Goal เขียน:ในงบกระแสฯ ของ q4 ปี 49 แสดงว่ามีเงินสด ณ วันสิ้นงวด เท่ากับ 38 ล้าน แต่ทำไมพอดูในงบ Q1 ปี 50 กลับแสดงว่ามีเงินสด ต้นงวดเท่ากับ 130 ล้าน

ผมเข้าใจว่าน่าจะต้องเท่ากัน หรือว่าผมเข้าใจผิด??
ช่วยแนะนำที่ครับ

Goal
q4 49 มีเงินสดประมาณ 92 ล้านบาท ที่เอาไปซื้อ ตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงกลายเป็น เงินลงทุนชั่วคราว ส่วน q1 50 ตั๋วสัญญาใช้เงินคงครบอายุเลยกลับมาเป็นเงินสดเหมือนเดิมครับ



nuttachk23

Re: รายได้ค้างรับ 40 ล้าน

โพสต์ โดย nuttachk23 » เสาร์ ก.พ. 23, 2008 10:48 am

Goal เขียน:เห็นใน q4 นี้มีรายการรายได้ค้างรับตั้ง -40 ล้าน อืม อย่างนี้ดี หรือไม่ดีครับ (q3 มีรายได้ค้างรับแค่ 1.45 ล้านเอง)
น่าจะเป็นรายได้ค้างรับจากลูกค้าที่เป็น Bank จึงไม่น่ามีปัญหาเรื่องเงินครับ



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » เสาร์ ก.พ. 23, 2008 10:24 pm

ผมว่า 0.56 บาท/หุ้น คิดเป็น 70 % ของกำไรตามมาตรฐานเดิม :wink:



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » จันทร์ ก.พ. 25, 2008 9:09 am

หลักทรัพย์ BOL  
แหล่งข่าว BOL  
 หัวข้อข่าว แจ้งกำหนดวันประชุม AGM และจ่ายเงินปันผล  
 วันที่/เวลา 25 ก.พ. 2551 09:04:10  

 ที่ BOL 65/2551



                                                    22 กุมภาพันธ์ 2551

เรื่อง     แจ้งกำหนดวันประชุม AGM และจ่ายเงินปันผล

เรียน     กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

        บริษัทขอแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2551 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ดังนี้

1. มีมติอนุมัติรับรองรายงานประจำปี 2550 และรายงานของคณะกรรมการของบริษัท

2. มีมติอนุมัติงบดุลและงบกำไรขาดทุนของบริษัท สำหรับรอบปีบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550

3. มีมติอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิเป็นทุนสำรองตามกฎหมายเป็นจำนวน 3,500,000 บาท และอนุมัติจ่ายเงิน
  ปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการได้กำหนดวันปิดสมุด
  ทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันที่ 12 มีนาคม
  2551 เวลา 12.00 น. และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ ในวันที่ 9 เมษายน 2551

4. มีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการที่ต้องพ้นตำแหน่งตามวาระ คือ
    1. นายนรวัฒน์ สุวรรณ 2. นายเดวิด จัสตินัส เอมเมอรี่ และ 3. นางสาวชไมพร อภิกุลวณิช
    กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทอีกวาระหนึ่ง พร้อมกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ ประจำปี
    2551 ดังนี้
         - ประธานกรรมการ ค่าตอบแทนรายเดือน                      เดือนละ 278,020 บาท
         - ประธานคณะผู้บริหาร ค่าตอบแทนรายเดือน                    เดือนละ 212,000 บาท
         - กรรมการหรือกรรมการอิสระ ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท
           พร้อมกับจ่ายเบี้ยเข้าประชุมครั้งละ 5,000 บาท เฉพาะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม

5. มีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบที่ต้องพ้นตำแหน่งตามวาระ คือ
  1. นายประเวทย์ อมรสิน 2. นางสาวมานิดา ซินเมอร์แมน และ 3. ผศ.ดร. ชนวัฒน์ ศรีสอ้าน
  กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบของบริษัทอีกวาระหนึ่งพร้อมกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ
  ประจำปี 2551 ดังนี้
      - ประธานกรรมการตรวจสอบ ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 53,500 บาท
      - กรรมการตรวจสอบ ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท

6. มีมติอนุมัติแต่งตั้งให้ผู้สอบบัญชี นายสมคิด เตียตระกูล ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 2785 หรือ นางสุมาลี
  โชคดีอนันต์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 3322 แห่งบริษัทแกรนท์ ธอนตัน จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของ
  บริษัท และกำหนดค่าตอบแทนประจำปี 2551 เป็นจำนวนเงิน 510,000 บาท (ห้าแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

7. มีมติกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นของบริษัทในวันที่ 12 มีนาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ไป
  จนกว่าการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจะแล้วเสร็จ และกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2551 ใน
  วันที่ 1 เมษายน 2551 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมเอสิค ชั้น 34 อาคารเอสวีโอเอ ทาวเวอร์ ถนนพระราม
  ที่ 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120

8.    มีมติกำหนดวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2551 มีดังนี้
    วาระ 1.      พิจารณารับรองรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2550
    วาระ 2.      พิจารณารับรองรายงานประจำปี 2550 และรายงานของคณะกรรมการของบริษัท
    วาระ 3.      พิจารณาอนุมัติงบดุลและงบกำไรขาดทุนประจำปี 2550 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550

วาระ 4.   พิ จ ารณาอนุ มั ติ ก ารจั ด สรรกำ ไรสุ ท ธิเ ป็ น ทุน สำ รองตามกฎหมาย และพิ จ ารณาอนุ มั ติ ก าร
         จั ด สรรกำไรสุทธิประจำปี 2550 สำหรับการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นพร้อมกำหนดวันปิดสมุด
         ทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล
วาระ 5.   พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินโบนัสให้ประธานกรรมการ, ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการ
         สำหรับผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550
วาระ 6.   พิจารณาอนุมัติเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดค่าตอบแทน
         กรรมการ
วาระ 7.   พิจารณาอนุมัติเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการตรวจสอบที่ออกตามวาระและกำหนด
         ค่าตอบแทนกรรมการตรวจสอบ
วาระ 8.   พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี สำหรับปี 2551
วาระ 9.   พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)



                                               ขอแสดงความนับถือ


                                              (นายนรวัฒน์ สุวรรณ)
                                                ประธานกรรมการ
                                    บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน)

ผิดคาดครับ  :cheers: :lol:



nuttachk23

โพสต์ โดย nuttachk23 » จันทร์ ก.พ. 25, 2008 7:57 pm

- สูงสุดคืนสู่สามัญครับ ถ้ามีโอกาสเจออาจารย์ ดร. นิเวศน์ ลองถามท่านดูก็ได้ครับว่าท่านใช้ DCF ในการคำนวณเป้าหมายราคาหุ้นของท่านหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติต่างๆ ของธุรกิจและจุดอ่อนจุดแข็งของวิธี DCF แล้ว เราจะประมาณได้เลยครับว่าธุรกิจแบบนี้ p/e เท่าไหร่จึงจะน่าซื้อ และ p/e ประมาณเท่าไหร่จึงจะแพงไป แต่ผมเห็นด้วยครับว่าเราควรเข้าใจวิธีการหา dcf ผลลัพธ์จากการคำนวณ dcf ได้ก็คือ p/e ที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นๆ นั่นเอง

ดังนั้นก็เหมือนหนังกำลังภายในครับ DCF นั้นเหมือนกระบี่คม ผู้เชี่ยวชาญในวรยุทธ์นั้นแม้กิ่งไม้หรือนิ้วมือก็ใช้แทนกระบี่ได้ ผู้จัดการกองทุนหรือนักลงทุนมี่มีชื่อเสียงของโลกผมเชื่อว่า 99% ไม่มีใครมาทำ model DCF หรือเชื่อราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์โดยวิธี DCF อย่างของเมืองไทยทำไมราคาเป้าหมายโดยวิธี dcf ของ PTT ในปี 46 นั้นอยู่ที่ 40 บาทแต่ทำไมเป้าหมายปี 50 โดย DCF ถึงเป็น 480 บาทแล้ว อย่างกรณีของ Buffet นั้นก็เป็นหนังสือที่ Buffet ไม่ได้เขียนเองแต่เป็นการคาดเดาความคิดของ Buffet อย่างมีเหตุผลเท่านั้น แต่ทุกคนจะเข้าใจหลักของ DCF ดีและนำทฤษฎีการคำนวณ DCF มาใช้ประกอบโดยไม่รู้ตัว เช่น

- หุ้นที่ growth สูง p/e ย่อมสูง
- หุ้นที่เติบโตโดยไม่ใช้เงินลงทุนมากนัก หรือไม่ต้องเพิ่มทุน p/e สูง
- หุ้นที่ working cap เป็นบวกทุกๆ ปี p/e สูง
- หุ้นที่มีรายได้มั่นคงแน่นอน p/e สูง
- ธุรกิจที่ใกล้ตัว เข้าใจง่าย p/e สูง
เป็นข้อคิดของพี่ IH ครับอยู่ในกระทู้
http://www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=32337

หลายๆคนอาจจะคิดว่า BOL แพงแล้ว PE 15 ตั้งเท่า แต่ผมว่ามันมีเหตุผลของมันนะครับ



ตอบกลับโพส