โค้ด: เลือกทั้งหมด
ลัทธิ (Doctrine) เป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์มายาวนานที่สุดตั้งแต่เกิดสังคมมนุษย์ขึ้น หมายถึงคำสอน ความเชื่อ ที่ถูกถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูด ทางตำรา คัมภีร์ ว่านี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่า “ดีที่สุด” ซึ่งเกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วนในกิจกรรมทางของสังคมมนุษย์ เช่น ด้านศาสนา ด้านการทหาร ด้านการเมือง ด้านสังคม และดูเหมือนว่า ในด้านการลงทุนนั้นจะเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีลัทธิมากไม่แพ้กัน ที่ผมสังเกตเห็นคือนักลงทุนในปัจจุบันมีกลุ่มก้อน มีเซียน และเกิดแนวทางการลงทุนมากมาย แตกแขนงออกจากแนวคิดหรือปรัชญาการลงทุนหลัก ๆ และผมคิดว่าการเลือกลัทธิ และผู้นำลัทธิ เป็นส่วนสำคัญที่สุดใน “จุดเริ่มต้น” ของการลงทุนว่า คุณจะประสบความสำเร็จได้ดีแค่ไหนในโลกของการลงทุน
ก่อนที่จะเกิดสิ่งที่ผมเรียกว่าลัทธิการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน เราต้องย้อนไปดูต้นฉบับของ “ปรัชญาการลงทุน” อันแตกต่างกันที่เกิดขึ้นเพราะความต่างทางความคิดและความเชื่อที่มีต่อตลาดหุ้น เช่น ความแตกต่างของพฤติกรรมนักลงทุน ความเชื่อเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพหรือไม่ การบริหารความเสี่ยงในตลาดหุ้น
ซึ่งทำให้เกิดการลัทธิเบื้องต้นสองหลักใหญ่คือ การลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน และการลงทุนแบบเทคนิค (หรือดูกราฟ)
นอกจากนั้น ในแนวคิดกระแสหลักนั้น อาจจะแบ่งย่อย ๆ ออกมาอีกหลายอย่าง เช่นในความคิดของเบนจามิน เกรแฮม บิดาของวิชาการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เชื่อว่ามีแนวคิดสองอย่าง คือ การลงทุนแบบเชิงรับ (Passive) และ แบบเชิงรุก (Active) ซึ่งพูดให้ง่าย ๆ คือ การเน้นการหาหุ้นถูกเพื่อเอาชนะผลตอบแทนตลาด หรือเน้นการลงทุนไปตามตลาดเช่นการซื้อ Index Fund หรือการซื้อแบบ Dollar Cost Average นอกจากนั้นยังมีแนวทางตามกูรูอื่น ๆ เช่น การลงทุนในหุ้นเติบโตแบบ Phil Fisher การลงทุนในหุ้น 6 ประเภทแบบ Peter Lynch หรือการลงทุนในหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ๆ แบบ Warren Buffett ก็ล้วนอยู่ในประเภทการลงทุนเชิงรุกทั้งนั้น
นักลงทุนทั้งหมดที่ผมกล่าวเป็นตัวอย่าง เป็นแนวทาง Classic ซึ่งได้รับการพิสูจน์ผ่านการเวลามากมาย สิ่งที่ผมจะพูดถึงคือการเกิดลัทธิการลงทุนขึ้นในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย มีการผสมผสานแนวคิดการลงทุนมากมาย และเผยแพร่แนวคิดการลงทุนกันอย่างหลากหลาย จนเกิด “ลัทธิ” ย่อย ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่อันตรายสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ตัวอย่างบางส่วน อย่างเช่น “ลัทธิผสม” เป็นแนวคิดผสม ๆ เช่น VI ต้อง Cut Loss เพื่อให้ขาดทุนไม่เกิน xx % ที่จริงแล้วการ Cut loss แบบ VI เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียว คือ เรามองธุรกิจผิด ประเมินมูลค่าผิด หรือมีเหตุการณ์ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าบริษัท ไม่ใช่เรื่องราคาหุ้น
หรือ “ลัทธิผิวเผิน”แนวคิดการลงทุนที่เห็นส่วนใหญ่มักจะผิวเผินเกินไป การลงทุนจริง ๆ จัง ๆ ต้องวิเคราะห์ลึกกว่านั้นมาก ดังนั้นการเลือกฟังอย่างผิวเผิน ซ้ำไปซ้ำมาอาจจะไม่เพียงพอ ไม่เช่นนั้น ฝีมือการลงทุนเราก็จะผิวเผินไปเรื่อย ๆ หรือ ลัทธิบิดเบือน เช่น ปัจจุบันตลาดนิยมหุ้นเติบโต ทุกสิ่งทุกอย่างก็พยายามบอกว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้เป็นหุ้นเติบโตไปเสียทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เป็นหุ้นวัฎจักรเป็นต้น
ปรัชญาการลงทุนทุกแบบมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง ดังนั้นไม่ว่าจะลัทธิรูปแบบไหน เราจะสามารถมีเหตุผลได้เสมอว่าลัทธินี้น่าเชื่อถือ เพราะเรา “เลือก” ที่จะมองแต่เหรียญเพียงด้านเดียว สิ่งที่พิสูจน์ได้ดีที่สุด คือ “ประวัติศาสตร์” การลงทุนก็เช่นเดียวกัน ส่วนตัวเราจะต้องอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าแนวทางที่เราเลือกนั้นเพราะอะไร ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร เราเลือกใครเป็นอาจารย์ และเลือกเพราะอะไร หรือทางที่ดีที่สุดคือ กลับไปอ่านตำราต้นฉบับจากกูรูระดับโลกดีกว่า
สุดท้ายผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การโต้เถียงความเชื่อของลัทธินั้น ๆ โดยปกติแล้ว Doctrine จะเป็นลักษณะที่เราต้องเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างสูงในเรื่องการลงทุน เราต้องรู้จักใช้มุมมองที่แตกต่าง “มองในมุมกลับ” ในสิ่งที่ตนเองเชื่ออยู่ และในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ ถ้าให้เปรียบคือการยึดหลักกาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ โดยเฉพาะข้อ 10 ว่าอย่าปลงใจเชื่อ ด้วยนับถือว่าเป็นอาจารย์ ประวัติศาสตร์มนุษย์มีลัทธิประหลาด ๆ มากมาย บางลัทธิสอนให้ถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น เราฟังดูอาจจะแปลกใจ แต่ในโลกการลงทุน ก็มีลัทธิประหลาด ๆ เยอะไม่แพ้กัน และกาลเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ได้ แต่ถ้าเรารอจนกว่าจะถึงวันนั้น ชีวิตการลงทุนของคุณก็ไม่มีเวลาแก้ตัวเสียแล้ว จงเริ่มต้นจากเลือกหนังสือถูกเล่ม อาจารย์ถูกคนครับ สำคัญกว่าเลือกหุ้นตัวแรกเสียอีก