หยุดการฉ้อโกงทางการเงิน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

หยุดการฉ้อโกงทางการเงิน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ โดย Thai VI Article » จันทร์ พ.ค. 01, 2017 7:07 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    เหตุการณ์แชร์ลูกโซ่ การหลอกลวงและการฉ้อโกงทางการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีอยู่มากเหลือเกิน ถ้าถามว่าแตกต่างจากสมัยเดิมๆเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วหรือไม่ ดิฉันก็ต้องตอบว่า ไม่แตกต่างเลย และก็เฝ้าสงสัยอยู่เนืองๆว่า ทำไมจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

    สำหรับดิฉัน เหตุการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว หรือความไม่เพียงพอของการให้การศึกษาทางการเงิน หรือ ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Financial Literacy ถ้าประชาชนทั่วไปมีพื้นความรู้ทางการเงินดีพอสมควร เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

    แชร์ลูกโซ่ หรือการฉ้อโกงหลอกลวงทางการเงิน ตั้งอยู่บนสิ่งเดียวเท่านั้น คือ ใช้จุดอ่อนเรื่อง “ความโลภ” ของคนมาดำเนินการ

    เริ่มจากผู้โกง ทราบดีว่า มนุษย์ที่ยังมีกิเลสทุกคน มี”ความโลภ”เป็นพื้นฐาน ไม่มีก็อยากมี มีแล้วก็อยากมีมากขึ้น และเมื่อเกิดความอยากมี ส่วนใหญ่ “สติ สัมปชัญญะ” จะหายไป

    กลยุทธ์ของผู้โกงคือ เสนอแนะผลตอบแทนสูงกว่าปกติ หรือเสนอแนะสินค้าบริการที่ “ถูก” กว่าปกติ เพื่อดึงดูดให้ “สมาชิก” หรือในที่นี้คือ “เหยื่อ” หลงใหลได้ปลื้ม สักระยะหนึ่ง หลังจากนั้น จะทำการโหมประชาสัมพันธ์ โดยอาจจะใช้วิธี ปากต่อปาก หรือใช้วิธี ให้แรงจูงใจกับ“สมาชิก” หรือ “เหยื่อ” รายเดิม ในการหาสมาชิก หรือ เหยื่อรายใหม่เพิ่ม อาจจะให้ค่าตอบแทนที่จูงใจ หรือให้สิทธิพิเศษ เพื่อให้เหยื่ออยากแนะนำคนอื่นเข้ามาในแวดวงเพิ่ม นั่นคือการใช้เครดิต หรือความน่าเชื่อถือของ เหยื่อกลุ่มแรก ไปขยายผลยังเหยื่อกลุ่มต่อๆไป

    ลักษณะส่วนใหญ่เป็นการนำเงินของสมาชิก มาวนจ่ายให้กันเอง ดังนั้นจึงต้องมีการหาเหยื่อใหม่ๆเพิ่ม เพื่อจะได้เงินมาหมุนเวียน

    เช่น นำเงินมาลงทุน 1 ล้านบาท ให้ผลตอบแทน 1% ต่อเดือน คือ 10.000 บาท ก็นำเงินของเจ้าของนั่นแหละค่ะ คืนให้เจ้าของ เจ้าของก็หลงใหลได้ปลื้ม คือว่าได้เงิน 1.01ล้านบาทแล้ว หาทราบไม่ว่า เหลือเงินต้นเพียง 990,000 บาท พอได้ไปสักหนึ่งปี ก็คิดว่ามีเงิน 1.12 ล้านบาท (รับมาแล้ว 0.12 ล้านบาท) ความเป็นจริงเหลือเงินเพียง 820,000 บาท

    ถึงตอนนี้ ผู้โกง ก็จะชักชวนให้นำเงินมาเพิ่ม หรือเหยื่อเองก็ความโลภ อยากเพิ่มจำนวนเงินเอง จึงทำให้ยอดความเสียหายเพิ่มขึ้น

    แก้ได้วิธีเดียว คือ ให้ความรู้กับประชาชนว่า ณ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนที่สามารถทำได้ โดยมีความเสี่ยงต่ำ คือประมาณ 0 ถึง 1.25% ต่อปีเท่านั้น (ไม่ใช่ต่อเดือน) ส่วนอัตราผลตอบแทนที่อาจจะได้รับสูงกว่านั้น เป็นอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งถึงเวลาจะได้รับจริงเท่านั้นหรือไม่ ไม่มีใครทราบ จึงถือว่าเป็นความเสี่ยง หรือ Risk

    ความเสี่ยงคือความผันผวนของผลตอบแทน ซึ่งโดยปกติ “เสี่ยงมาก ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น” แต่คนไทยนำมาใช้กันผิดๆว่า “High Risk, High Return” ดิฉันไปบรรยายที่ไหน ก็ต้องพยายามไปแก้ไขว่า ของจริงคือ “High Risk, High Expected Return” เป็นวลีทางการเงิน หมายความว่า ถ้าเราลงทุนและต้องรับความเสี่ยงสูง เราควรจะต้องคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย เพราะมี

    ความไม่แน่นอนว่าเราจะได้รับผลตอบแทนนั้น อาจจะได้ต่ำ ได้สูง หรืออาจจะไม่ได้รับเลย และบางครั้งก็อาจจะสูญเสียเงินลงทุนเบื้องต้นไปด้วย

    เพราะถ้าได้รับอัตราสูงแน่ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยงสูง ใครๆก็ต้องรีบเข้ามาลงทุน จนทำให้ราคาซื้อเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนก็จะลดลง จนเข้าสู่อัตราปกติค่ะ

    ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องพึงสงสัย ไม่เชื่อใครง่ายๆว่า จะมีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติ โดยได้มาแบบแน่นอน

    ถามว่า การลงทุนแบบให้ผลตอบแทนปีละ 12%มีไหม เรียนว่ามีค่ะ ปีที่แล้ว ผู้ที่จัดพอร์ตการลงทุนแบบรับความเสี่ยงได้สูง ที่มีส่วนผสมของการลงทุนในหุ้นประมาณ 57% โดยเป็นหุ้นไทย 52% หุ้นต่างประเทศ 5% มีเงินสด เงินฝาก เงินลงทุนในตลาดเงิน ประมาณ 13% พันธบัตร ตราสารหนี้ ประมาณ 15% และอสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 15% ที่เหลือเป็นการลงทุนในตลาดเงิน ก็สามารถรับผลตอบแทนได้ 12.03% ในปี 2559 แต่เป็นการได้รับผลตอบแทนโดยผู้ลงทุนไม่ทราบว่าจะได้รับแน่ๆเท่าไหร่ อย่างนี้เรียกว่ามีความเสี่ยงค่ะ โดยมีค่าความผันผวนที่วัดโดย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือ Standard Deviation ในปีที่แล้วเท่ากับ 8.66% แต่ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยดี และมีค่าความผันผวนน้อยกว่าปกติ

    เมื่อเราเข้าใจในธรรมชาติของการลงทุน เราก็จะ”สงสัย” ในการลงทุนที่ “ไม่ชอบมาพากล” และ ไม่เข้าไปลงทุน หรือจะสงสัยถึงความไม่สมเหตุสมผลของราคาค่าบริการ เช่นค่าทัวร์ไปญี่ปุ่น เพราะลำพังค่าบัตรโดยสารเครื่องบินอย่างเดียวก็ต้องประมาณหมื่นกว่าบาทแล้ว ไหนตะค่าโรงแรม ค่าอาหาร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขายทัวร์ในราคาไม่ถึงหมื่น หรือหมื่นต้นๆ

    ซึ่งเมื่อทุกคน “สงสัย” ในการไม่ชอบมาพากล และตระหนักว่าไม่สมเหตุสมผล ไม่น่าจะเป็นไปได้ การฉ้อโกงทางการเงินในลักษณะนี้ก็จะหายไปค่ะ เพราะเมื่อประชาชน “รู้ทัน” คนโกงจึงหลอกไม่ได้อีกต่อไป

    ไม่น่าเชื่อว่า เรื่องราวของ “ชม้อยฟันด์” (แชร์แม่ชม้อย) ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ดิฉันเรียนปริญญาโทอยู่ในต่างประเทศ และอาจารย์ทางการเงินของมหาวิทยาลัยคุยกันในลิฟท์ (ดิฉันบังเอิญอยู่ในลิฟท์ตัวนั้นด้วย) โดยอาจารย์ลงความเห็นว่า เป็นการ “ฉ้อโกง (Fraud) แน่ๆ” ยังคงปรากฏในสังคมไทยอีกบ่อยครั้ง แม้เวลาจะผ่านไปแล้วถึง 33 ปีก็ตาม

    หยุดการฉ้อโกงทางการเงิน ด้วยการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน และให้ประชาชนยึดในหลักธรรม “ไม่โลภ”
[/size]



ตอบกลับโพส