พฤติกรรมราคาหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

พฤติกรรมราคาหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » อาทิตย์ พ.ค. 21, 2017 7:16 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานและมีเวลาดูหน้าจอราคาหุ้นอยู่บ่อย ๆ มักจะพบว่าหุ้นแต่ละตัวหรือแต่ละกลุ่มนั้นมักจะมีพฤติกรรมราคาหุ้นที่แตกต่างกัน หุ้นบางตัวมีการซื้อขายคึกคักเป็นนิจสินและราคาหุ้นขึ้นลงหวือหวาบางทีวิ่งขึ้นลง 2-3% ในเวลาไม่กี่นาทีก็เป็นเรื่องปกติ หุ้นบางตัวราคาค่อนข้างนิ่งไม่ไปไหนไกลแม้ว่าจะมีปริมาณซื้อขายมาก หุ้นบางตัวนั้นมีปริมาณการซื้อขายและราคาเคลื่อนไหวมากเป็นพัก ๆ และหุ้นบางตัวในบางเวลาก็มีราคาผันผวนอย่างหนักจนคนเล่นกำไรหรือขาดทุนอย่างหนัก บางครั้งขาดทุนวัน 30% ก็มี พฤติกรรมราคาหุ้นขึ้นลงในระยะสั้น ๆ บางทีไม่ถึงวันแต่บางทีก็เป็นเดือนหรือเป็นปีก็มีนั้น ในแง่ของ VI เราอาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของการเก็งกำไรของ “นักเล่นหุ้น” เราไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นหรือทำไมวันนี้หุ้นตัวนี้ขึ้นหรือลง เหนือสิ่งอื่นใด เราไม่ได้ซื้อขายหุ้นวันต่อวัน อย่างไรก็ตาม การเข้าใจ “พฤติกรรมราคาของหุ้น” แต่ละกลุ่มหรือแต่ละตัวในตลาดหุ้นไทยเองนั้น ผมก็คิดว่ามันมีประโยชน์สำหรับ VI ด้วยในแง่ที่ว่ามันจะทำให้เรารู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับหุ้นตัวนั้นและเราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเห็น แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วเราก็ไม่ทำอะไร ลองมาดูกัน

    หุ้นที่มีราคาขึ้นลงค่อนข้างแรง บางวันหลายเปอร์เซ็นต์ โดยที่ปริมาณการซื้อขายเมื่อเทียบกับขนาดของบริษัทหรือของ Free Float ของหุ้นสูง เช่น มีปริมาณการซื้อขายเกิน 1-2% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทต่อวันเป็นนิจสินนั้น ผมคิดว่าเป็นพฤติกรรมของ “หุ้นเก็งกำไร” ที่มักจะเล่นโดยนักลงทุนส่วนบุคคล หุ้นเหล่านี้มักจะมีราคาแพงหรือไม่ถูกวัดจากค่า PE หรือค่าอื่น ๆ รวมถึงปันผลที่มักจะค่อนข้างต่ำกว่าเฉลี่ย บางช่วงบางเวลา โดยเฉพาะที่มี “ข่าวดี” ที่มักจะมีการแถลงโดยบริษัทหรือผู้บริหาร ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปสูงหลาย ๆ เปอร์เซ็นต์ในวันเดียวพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่สูงตามกัน ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิด “ข่าวร้าย” เช่น ผลประกอบการออกมาต่ำกว่าคาดมาก ราคาหุ้นก็จะตกลงมาอย่างหนักและบางทีก็ทำให้หุ้นหลังจากนั้นซบเซาลงมากไประยะหนึ่ง อาจจะหลายเดือนหรือบางทีอาจจะเป็นปีก็มี อย่างไรก็ตาม หุ้น “เก็งกำไร” เหล่านี้ก็มักจะ “ไม่ตาย” วันดีคืนดีราคาหุ้นก็กลับมาคึกคักใหม่ ปริมาณและราคาหุ้นเพิ่มขึ้นร้อนแรงพร้อมกับ “สตอรี่” หรือเรื่องราวใหม่ที่น่าสนใจ ถ้าเราเจอหุ้นประเภทนี้ เราก็จะต้องเข้าใจ อย่าไปหลงผิดว่ามันเป็นหุ้น VI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะไปเห็นราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแรงพร้อม ๆ กันสตอรี่ที่ “สุดยอด” ในบางช่วงบางเวลา

    พฤติกรรมของหุ้นขนาดใหญ่มากที่มีผลการดำเนินงานมายาวนาน มีกำไรสม่ำเสมอและมีการจ่ายปันผลที่ค่อนข้างดีในระดับประมาณ 3% ต่อปีที่เรียกกันว่า “หุ้นบลูชิพ” นั้น พฤติกรรมของราคาหุ้นก็จะไม่ผันผวนมาก ราคาปรับตัวขึ้นลงส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เกิน 1-2% ต่อวันในภาวะปกติและปริมาณการซื้อขายก็ไม่สูงเมื่อเทียบกับขนาดของบริษัท เช่น ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเฉลี่ย 500 ล้านบาทแต่ขนาดของบริษัทคือสองแสนล้านบาทคิดเป็นเพียง 0.25% ต่อวัน การเคลื่อนไหวของราคาของหุ้นบลูชิพนั้นมักจะสอดคล้องกันไปกับ “ภาพใหญ่” ของเศรษฐกิจ การเงิน และเหตุการณ์ในประเทศไทยและโลกที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน ผลประกอบการของบริษัทก็มีผลต่อราคาหุ้นไม่น้อยไปกว่ากัน อย่างไรก็ตาม การที่จะเห็นราคาหุ้นวิ่งแรงมากเป็นหลาย ๆ เปอร์เซ็นต์หลังจากประกาศผลกำไรที่ “น่าประทับใจ” หรือมีเหตุการณ์ดีเด่นเฉพาะตัวของบริษัทก็มักจะเป็นไปได้ยาก เหตุผลก็คงเป็นเพราะมีผู้ถือหุ้นสถาบันขนาดใหญ่จำนวนมากที่พร้อมจะขายเมื่อราคาวิ่งขึ้นไปสูงเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น พวกเขามักจะซื้อขายหุ้นโดยอิงกับ “พื้นฐาน” ของกิจการที่มักจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากและเร็วในชั่วข้ามคืนของบริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีเสถียรภาพมายาวนานอย่างหุ้นบลูชิพ ดังนั้น คนที่ลงทุนในหุ้นบลูชิพจะต้องเข้าใจว่าทำไมบางครั้งบริษัทมีกำไรที่โดดเด่นมากในบางไตรมาศแต่ราคากลับไม่ค่อยจะไปไหนมากนัก

    หุ้นที่มักจะมีขนาดเล็กเช่นมีมูลค่าตลาดเพียงพันหรือสองสามพันล้านบาทบางตัวนั้น อยู่ดี ๆ ก็มีราคาปรับตัวขึ้นไปแรงมากและอาจจะปรับตัวขึ้นไปแรงติดต่อกันจนราคาเพิ่มขึ้นจากจุดเริ่มต้นหลายเท่าในระยะเวลาไม่นาน อาจจะแค่ไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือน และมีปริมาณการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นมากเป็นหลาย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อวันเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นนั้น บางทีอาจจะเป็น “หุ้นปั่น” หรือหุ้นที่มี “เจ้ามือ” หรือมี “สปอนเซอร์” ที่คอยซื้อขายหุ้น “ทำราคา” ซึ่งทำให้หุ้นมีราคาผิดจาก “พื้นฐานที่แท้จริง” ของมันจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เหตุผลที่ราคาหุ้นขึ้นไปผิดจากพื้นฐานได้มากนั้น เกือบทั้งหมดเกิดจากการที่ผู้ถือหุ้นบางคนหรือบางกลุ่มได้เข้ามากวาดซื้อหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดไว้มากจน “เกือบหมด” หรือเรียกว่าหุ้นถูก “Corner” หรือถูก “ต้อนเข้ามุม” ซึ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปได้สูงมากเมื่อมีคนมาซื้อเพิ่มแต่ไม่มีใครจะขาย ผลก็คือ ราคาหุ้นบางทีขึ้นไปแพงจนแทบเป็นไปไม่ได้เช่นมีค่า PE เกิน 50 เท่าหรือ 100 เท่าทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หุ้น Turnaround หรือหุ้น Cyclical ที่กำลังเริ่มมีกำไรหลังจากภาวะเลวร้ายหรือขาดทุนมาก่อนหน้านั้น

    หุ้นปั่นหรือหุ้นที่ถูกคอร์เนอร์นั้น บางคนอาจจะคิดว่าต้องเป็นหุ้นของกิจการที่ไม่ดีแต่เจ้ามือหรือคนปั่นเอามา “หลอก” ให้คนเข้ามาเล่น แต่นี่เป็นสิ่งที่ไม่จริงโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน จริงอยู่ อาจจะมีหุ้นปั่นจำนวนหนึ่งที่กิจการไม่ดีและถูกนำมาปั่นโดยอาศัย “สตอรี่” ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่หุ้นที่ถูกคอร์เนอร์จำนวนไม่น้อยในปัจจุบันนั้นกลับเป็นหุ้นที่มีกิจการที่ดีและอาจจะมีโอกาสเติบโตเร็วที่สามารถสร้างความหวังเลิศหรูให้กับนักลงทุนที่เข้ามาเล่น มันเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดีและอาจจะดีมากด้วย

    เพียงแต่ว่าราคาของหุ้นนั้นสูงเกินพื้นฐานไปมาก อาจจะเรียกหุ้นเหล่านี้ว่าเป็น “Decent company with super stock price” หรือเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติพอใช้ได้ในราคาของหุ้นซุปเปอร์สต็อก ถ้าเราจะเข้าไปเล่น เราก็ควรจะต้องเข้าใจว่าไม่ช้าก็เร็วราคาก็น่าจะกลับไปสู่ความเป็นจริงตามพื้นฐานที่ควรจะเป็นของบริษัท เช่น ค่า PE ก็ควรจะอยู่ในระดับไม่เกิน 20 เท่า เป็นต้น

    หุ้นบางตัวนั้นมีการซื้อขายน้อยมากมาต่อเนื่องยาวนานและราคาหุ้นก็นิ่ง ๆ มาตลอด ดูเหมือนว่ามันจะไม่ใคร่สะท้อนกับข่าวหรือพื้นฐานการประกอบการของบริษัทเลย เช่นเดียวกัน ผลประกอบการของบริษัทเองก็มักจะทรง ๆ ไม่เติบโตมาหลาย ๆ ปี นี่ก็อาจจะเป็นพฤติกรรมของหุ้น “ตะวันตกดิน” ที่ไม่รู้ว่าบริษัทจะไปทางไหนในอนาคต หรือไม่ก็อาจจะเป็นบริษัทที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นไม่ได้สนใจกับราคาหุ้นและปันผลของบริษัทเท่าไรนัก แต่เขาอาจจะได้ประโยชน์จากบริษัทด้านอื่นมากกว่า เช่น ได้เงินเดือนหรือโบนัสก้อนโตหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยวิธีการผ่องถ่ายกำไรจากบริษัทไปสู่ส่วนตัวมากกว่า ดังนั้น ถ้าเราเจอหุ้นเหล่านี้บางตัวและบางครั้งที่ดูเหมือนว่ามันน่าสนใจที่จะลงทุน เราอาจจะคิดว่ามันน่าจะเป็นหุ้น Value แต่เราก็จะต้องระวังว่ามันอาจจะเป็นหุ้นที่เราไม่ควรไปยุ่ง เพราะมันเป็นหุ้นที่ “ไม่ต้อนรับนักลงทุน” หรือเป็นหุ้นที่ผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อยกับเจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทอาจจะไม่ตรงกัน ลงทุนไปแล้วจะ “คับข้องใจ” ไปตลอด

    ทั้งหมดนั้นก็คือบางส่วนของพฤติกรรมราคาหุ้นแบบต่าง ๆ จากการสังเกตของผม ผมเองก็ไม่ยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน เช่นเดียวกัน พฤติกรรมราคาหุ้นเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นและนักลงทุน หน้าที่ของ VI ก็คือพยายามวิเคราะห์และติดตามเพื่อที่จะทำให้เรา “ไม่หลง” ไปกับ “ราคาหุ้น” ในระยะสั้นซึ่งมักจะทำให้เราวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทผิดไปจากความเป็นจริง ว่าที่จริง การวิเคราะห์ที่ดีก็คือไม่ต้องดูราคาหุ้น แต่ในความเป็นจริง ใครจะอดไม่ดูราคาหุ้นได้?
[/size]



ตอบกลับโพส