โค้ด: เลือกทั้งหมด
ดิฉันเคยเขียนถึงหัวข้อนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อน เพื่อจูงใจให้ท่านผู้อ่านหันมาสนใจการลงทุนในหุ้นทุนให้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุน ในวันนี้ แม้ราคาหุ้นของหลายบริษัทในในปัจจุบันจะไม่ถือว่าถูก แต่บริษัทจำนวนมากมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่น่าจูงใจ ประกอบกับช่วงนี้ได้รับเงินปันผลมาค่อนข้างมาก จึงอยากเขียนถึงเรื่องเงินปันผลอีกสักครั้งหนึ่งค่ะ
เงินปันผลคือเงินที่บริษัทจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น หลังจากผู้บริหารของบริษัทคำนวณแล้วว่าจะต้องนำกำไรไปใช้ลงทุนต่อ หรือใช้เงินเงินหมุนเวียนต่อเป็นจำนวนเท่าใด และได้หักเก็บเอาไว้แล้ว จึงนำเงินจ่ายปันผลออกมา ถือเป็นการคืนผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนเป็นระยะๆ โดยทั่วไปจะจ่ายปีละครั้ง แต่มีบริษัทจำนวนมากที่จ่ายเงินปันผลปีละสองครั้ง คือทุกๆ 6 เดือน โดยมากจะอยู่ในเดือน สิงหาคม ถึงกันยายน สำหรับการจ่ายเงินปันผลกลางปีที่เรียกว่า “เงินปันผลระหว่างกาล” และ เงินปันผลงวดสุดท้ายของปีมักจะจ่ายกันในเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม
ถ้าถามใจผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ การจ่ายปันผลบ่อยย่อมเป็นที่ชื่นชอบของผู้ลงทุนมากกว่าค่ะ
แต่การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ก็มีความเสี่ยงนะคะ ถ้าคณะกรรมการของบริษัทคาดคะเนกำไรของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังไม่ถูกต้อง หรือกรณีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนในครึ่งปีหลัง เงินปันผลที่จ่ายไปแล้ว เกิดมีจำนวนเกินกำไรของทั้งปี คณะกรรมการของบริษัทก็จะเดือดร้อน หากเป็นบริษัทที่มีกำไรสะสมมาอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไร แต่หากบริษัทไม่มีกำไรสะสม จะลำบาก เพราะบริษัทไม่สามารถจ่ายปันผลเกินกว่ากำไรที่มีได้ค่ะ
ดังนั้น เราจะพบว่า หากบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลปีละสองครั้ง เงินปันผลระหว่างกาล ที่จ่ายในเดือนสิงหาคม-กันยายน มักจะมีจำนวนน้อยกว่าเงินปันผลงวดสุดท้ายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพราะคณะกรรมการของบริษัทจะตัดสินใจด้วยความไม่ประมาทนั่นเอง
จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของทุกบริษัทในตลาด ณ เดือนเมษายน 2560 เท่ากับ 3.14%ของราคาหุ้นที่ซื้อขาย ซึ่งถือว่าค่อนข้างดีทีเดียว หากแยกกลุ่ม จะพบว่า ของบริษัทใน SET50 จะสูง 3.28% บริษัทใน SET100 มีอัตราเงินปันผลตอบแทน 3.21% และ SETHD คือหุ้นกลุ่มปันผลสูง มีอัตราเงินปันผลตอบแทน 4.1% ส่วนบริษัทใน mai มีอัตราเงินปันผลตอบแทนน้อยกว่า คือ 1.45% ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะบริษัทที่ยังอยู่ในช่วงเติบโต ส่วนใหญ่ต้องเก็บกำไรเอาไว้ลงทุนต่อ ส่วนบริษัทที่อยู่ตัวแล้ว ก็มักจะจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง เพราะอาจจะไม่ต้องการเงินลงทุนมากเท่าบริษัทเกิดใหม่ๆค่ะ
สำหรับผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และผู้ลงทุนมีทางเลือกที่จะไม่นำไปคำนวณเป็นรายได้ในการชำระภาษีเงินได้ประจำปี หรืออาจจะนำไปรวม การตัดสินใจว่าควรนำไปรวมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีของผู้ลงทุนคนนั้นๆค่ะ
ในหลักการคือ รัฐจะไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้น ก่อนที่บริษัทจะนำกำไรมาจ่ายเงินปันผลให้กับท่าน บริษัทเสียภาษีให้รัฐไปแล้วในอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันคือ 20% เมื่อบริษัทนำกำไรสุทธิหลังหักภาษีมาจ่ายให้ท่าน บริษัทยังมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากท่านอีก 10% ของเงินที่จ่าย จึงเท่ากับว่า กำไรก่อนภาษี 100 บาท รัฐบาลเก็บภาษีไปแล้ว 28 บาท
เมื่อท่านนำเงินได้จากเงินปันผลมาเสียภาษี ท่านจึงสามารถนำเครดิตภาษี 28 บาท บวกเข้าไปเป็นทั้งรายได้ และภาษีที่หักไว้แล้ว
แต่เดิม บริษัทเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 30% บุคคลธรรมดามีอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ตั้งแต่ 0-37% ผู้ลงทุนจึงสามารถยื่นเสียภาษีโดยรวมเงินปันผลเข้าไป เพื่อขอคืนภาษีได้เป็นจำนวนหนึ่ง
แต่ในปัจจุบันที่อัตราภาษีของนิติบุคคลลดลงเหลือ 20% ในขณะที่อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้จะลดลง แต่ในปีนี้ก็ยังเสีย 0-35% จึงทำให้โอกาสในการรับคืนภาษีลดลงไปมาก
คำแนะนำคือ หากอัตราภาษีของท่านต่ำกว่า 30% ท่านยังสามารถนำเงินปันผลจากบริษัทที่เสียภาษีเงินได้ในอัตรา 20% มารวมเป็นรายได้ เพื่อขอรับคืนเงินภาษี ได้อยู่ค่ะ เกินกว่านี้แล้ว นอกจากท่านจะไม่ได้รับคืนแล้ว ท่านจะต้องเสียภาษีเพิ่มด้วยค่ะ
อย่างไรก็ดี ท่านต้องคำนวณให้ดีด้วยค่ะ เพราะหลายบริษัทจ่ายปันผลจากกำไรสะสมซึ่งถูกหักภาษีไปแล้วในอัตรา 25-30% หรือจ่ายจากกำไรที่ได้รับยกเว้นภาษี เช่น ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ดังนั้นท่านจึงไม่มีเครดิตภาษีที่บริษัทจ่ายไป
นอกจากนี้ ทางรัฐยังไม่เปิดโอกาสให้เลือกนำเงินปันผลของบางบริษัทมารวม บางบริษัทไม่มารวม เพื่อคำนวณภาษี หมายความว่า หากท่านจะรวมคำนวณ ต้องรวมของทุกบริษัทที่ท่านได้รับ ซึ่งรวมถึงปันผลที่ได้รับจากธุรกิจส่วนตัวของท่านด้วยค่ะ
ดิฉันแนะนำว่า ถ้าจะให้ดี ท่านควรจะทดลองคำนวณภาษีเงินได้ทั้ง แบบรวมเงินปันผลมาเป็นรายได้ และแบบแยกไม่นำเงินปันผลมารวม เพื่อดูว่าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน ก็เลือกแบบนั้นค่ะ