โค้ด: เลือกทั้งหมด
13 ปีที่แล้วสายการบิน Thai Air Asia ช่วยให้คนไทยหลายล้านคนได้มีโอกาสขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก ภายใต้สโลแกน “ใคร ใคร ก็บินได้” ทำลายความเชื่อเดิมๆว่า การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นของแพงที่มีไว้สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น ปัจจุบันการขึ้นเครื่องบินเป็นเรื่องปกติสำหรับคนไทย ไม่ต่างกับการขึ้นรถแท็กซี่ แต่สำหรับคนเวียดนามอุตสาหกรรมการบินยังเดินทางช้ากว่าเราอยู่เกือบ 10 ปี
ภายใต้สโลแกน “Enjoy Flying” สายการบิน VietJet ได้เปิดให้บริการเส้นทางการบินเส้นแรก ระหว่างฮานอยกับโฮจิมินห์ซิตี้ ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม หลังจากนั้นก็เร่งขยายฝูงบินอย่างรวดเร็วจนกระทั่งมีเครื่องบินทั้งหมด 38 ลำ และสามารถขึ้นเป็นสายการบินในประเทศอันดับหนึ่งได้ภายในระยะเวลาแค่ 5 ปี ยึดครองส่วนแบ่งของผู้โดยสารได้ถึง 43.1% มากกว่าสายการบินแห่งชาติอย่าง Vietnam Airline เสียอีก การเติบโตแบบติดจรวดนี้ไม่ได้เกิดจากความโชคดี แต่เป็นกลยุทธ์การเติบโตและสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย ที่ช่วยให้ VietJet ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ในระยะเวลาสั้นๆ
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จของ VietJet คือการที่กรมการบินของเวียดนามยังไม่อนุญาตให้สายการบินรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรี ปัจจุบัน VietJet มีคู่แข่งที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำเพียงรายเดียวคือ JetStar บริษัทร่วมทุนของสายการบิน Qantas Airline ซึ่งถูกสายการบินคู่แข่ง Vietnam Airline ซื้อหุ้น 70% จากผู้ถือหุ้นเดิมในปี พ.ศ. 2555 ทำให้ตอนนี้ทั้งสามสายการบินครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศกว่า 98.2%
นอกจากนี้ VietJet ยังมีกลยุทธ์ที่คล้ายๆกับ Air Asia คือการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งละมากๆเพื่อให้ได้ส่วนลดที่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนของเครื่องบินต่ำกว่าคู่แข่ง ล่าสุดกลางปี พ.ศ. 2559 VietJet ได้มีคำสั่งซื้อเครื่องบิน Boeing 737 จำนวน 100 ลำ หลังจากที่พึ่งมีคำสั่งซื้อ Airbus A320 จำนวน 100 ลำไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความฮือฮาให้กับอุตสาหกรรมการบินเป็นอย่างมาก ว่าสายการบินน้องใหม่นี้ สามารถสั่งเครื่องบินเยอะขนาดนี้ได้อย่างไร เคล็ดลับอยู่ตรงที่ว่าการสั่งครั้งละมากๆ จะทำให้ได้ส่วนลดที่มากกว่าสายการบินอื่น ทำให้สามารถทำการ Sale & Leaseback หรือ การขายและเช่าเครื่องบินกลับ เป็นการลดปริมาณเงินลงทุนที่บริษัทต้องใช้ในการเติบโต อีกทั้งยังสามารถ ทำกำไรจากส่วนต่างของราคาเครื่องบินเป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่สายการบิน IndiGo ใช้จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นสายการบินอันดับ 1 ในอินเดียในเวลาไม่นาน
ถ้าพูดถึงเรื่องการตลาด VietJet ก็จะมีชื่อเสียงในการทำการตลาดแบบแปลกๆที่ไม่เหมือนใคร ที่ทำให้เกิดกระแสในโลกของออนไลน์ ตั้งแต่เรื่องจ้างนางแบบพริตตี้มาถ่ายแบบในชุดเซ็กซี่, Flash Mob, ใช้บอลลูนเพื่อโปรโมท และ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ที่สุดคือ การให้พนักงานบริการผู้โดยสารมาใส่ชุดบิกินี และเต้นโชว์เพื่อเปิดตัวสายเส้นทางบินใหม่ ทำให้ได้รับการต่อว่าอย่างหนัก จนสุดท้ายโดยปรับเงินจากกรมการบินของเวียดนาม ซึ่งถ้าดูๆไปก็จะคล้ายคลึงกับสไตล์การทำการตลาดของ Virgin Airline ของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ที่เรียกได้ว่าทำทีไรก็ตกเป็นข่าวทุกที
อย่างไรก็ตามธุรกิจสายการบินก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่นักลงทุนทุกคนต้องระวัง ตั้งแต่ความผันผวนของต้นทุนราคาน้ำมัน การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ๆ การปรับขึ้นของค่าธรรมเนียมสนามบิน จนถึงราคาขายเครื่องบินผ่าน Sale & Leaseback ที่อาจจะมีความผันผวน สิ่งเหล่านี้อาจจะมีผลต่อกำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ราคาหุ้นของธุรกิจสายการบิน ถ้าเปรียบเทียบด้วย Price / Earning Ratio จะค่อนข้างต่ำกว่าธุรกิจอื่นๆ เพราะมีความไม่แน่นอนของกำไรที่มากกว่า
VietJet จะเข้าลิสต์ในตลาดโฮจิมินห์ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ มูลค่าตามตลาดหลักทรัพย์จะสูงถึง 43,000 ล้านบาทในวัน IPO ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ VietJet มาดาม Nguyen Thi Phuong Thao จะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศเวียดนาม ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ
สุดท้ายแล้ว เราคงต้องมาลุ้นกันว่า VietJet จะเติบโตไปได้อีกมากแค่ไหน จะทำตามแผนการขยายแบบติดจรวดนี้ได้หรือไม่ จะแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำยักษ์ใหญ่อย่าง Air Asia และ Lion Air ได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆดีล VietJet นี้คงเป็นหุ้น IPO ที่ร้อนแรงที่สุดตัวหนึ่งในตลาดหุ้นเวียดนามในปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย