โค้ด: เลือกทั้งหมด
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงินบาทนั้น ดูเหมือนจะเน้นอยู่กับความเป็นห่วงของผู้ส่งออกว่าหากเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปแล้ว จะทำให้ส่งออกได้ยากลำบากขึ้นและจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้น้อยลง จึงต้องมีการเข้ามากำกับดูแลค่าเงินบาท โดยจะเกี่ยวข้องกับการเข้าไปแทรกแซง และบริหารจัดการค่าเงินบาทให้เหมาะสมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ผมเห็นว่าการมองเรื่องของค่าเงินบาทในมิติดังกล่าวนั้น เป็นการมองภาพในกรอบจำกัดในส่วนของผลที่ตามมา (symptom) ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา (cause) เงินเกือบทุกสกุลนั้นเสื่อมค่าลงทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี เพราะราคาสินค้าและบริการโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น การเสื่อมค่าของเงินจะเร็วหรือจะช้านั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อว่าสูงหรือต่ำเพียงใด กล่าวคือหากเงินเฟ้อเท่ากับ 5% ต่อปี ก็ต้องแปลว่าค่าของเงิน (กำลังซื้อของเงิน) จะต้องเสื่อมลง 5% ต่อปี ในขณะเดียวกันการฝากเงิน (ไม่ใช้เงิน) หมายความว่าผู้ฝากจะได้รับดอกเบี้ย ซึ่งส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดโดยธนาคารกลาง
เมื่อเราเป็นห่วงว่าเงินบาทจะแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ ก็ควรนำเอาอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐมาเปรียบเทียบกัน
จะเห็นได้จากตารางข้างบนว่าหากฝากเงินดอลลาร์เอาไว้กับธนาคาร เงินดอลลาร์จะเสื่อมค่าลงปีละประมาณ 1.75% (เงินเฟ้อ 2.5% ลบด้วยดอกเบี้ย 0.75%) แต่หากนำเงินบาทไปฝากธนาคารมูลค่าจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 0.5% (เงินเฟ้อ 1.0% ลบด้วยดอกเบี้ย 1.5%) ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานบ่งชี้ว่า น่าถือเงินบาทมากกว่าถือเงินดอลลาร์ หรือหากดูดอกเบี้ยระยะยาวคือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ก็จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยนั้น ให้ผลตอบแทนประมาณ 2.5% ในขณะที่พันธบัตรสหรัฐให้ผลตอบแทน 2.2% ต่อปี
บางคนอาจแย้งว่าประเทศสหรัฐมีความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศไทย (จากการจัดอันดับความเสี่ยงของ S&P และ Moody’s) ซึ่งก็จริง แต่หากหันมาดูความต้องการใช้เงินบาทเปรียบเทียบกับความต้องการใช้เงินดอลลาร์เป็นรายเดือนแล้ว ก็จะเห็นว่าความต้องการเงินบาทมีมากกว่าความต้องการเงินดอลลาร์อย่างมากมาย โดยดูได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย (หรือความต้องการซื้อสินค้าและบริการของไทยโดยต่างชาติหักลบกับความต้องการซื้อสินค้าและบริการของต่างชาติโดยคนไทย)
จากตารางดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2015 คนไทยมีรายได้เป็นเงินดอลลาร์ มากกว่ารายจ่ายเป็นเงินดอลลาร์เฉลี่ยเดือนละ 2,675 ล้านเหรียญ ซึ่งเสื่อมค่าลงทุกวันหากทิ้งเอาไว้เป็นเงินสกุลดอลลาร์ แต่หากเปลี่ยนมาเป็นเงินบาทก็จะมีค่ามากขึ้นเมื่อรวมดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะจูงใจให้มีความต้องการเปลี่ยนรายได้ที่เป็นดอลลาร์ให้เป็นเงินบาท การเกินดุลฯ ของไทยนั้นเพิ่มขึ้นอีกเป็นเกือบ 4,000 ล้านเหรียญต่อเดือน ในปี 2016 ในทางตรงกันข้ามสหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนละ 40,000 ล้านเหรียญ แปลว่ามีปัญหาเงินตราต่างประเทศขาดแคลนทุกเดือน ซึ่งน่าจะทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า (ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการ) ในขณะที่เงินบาทนั้นน่าจะมีแนวโน้มแข็งค่า
ดังนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย น่าจะเป็นการที่เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบล่างของนโยบายเป้าเงินเฟ้อติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว (เป้านโยบายคือเงินเฟ้อทั่วไป 2.5% ต่อปีโดยมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1% ถึง 4%) และหากจะพูดว่าเป็นเพราะความผันผวน (ปรับลดลงรุนแรง) ของราคาน้ำมันในปี 2015-16 ก็พอฟังได้ แต่ก็ยังมีเรื่องของการอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ที่ปรับตัวลดลงจากประมาณ 1.8% YoY ในเดือนก.ค. 2014 มาเป็น 1% YoY ในไตรมาส 2 ปี 2015 และเหลือเพียง 0.46% ในเดือนพ.ค. 2017 (ตัวเลขล่าสุด) การอ่อนตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปีแปลว่าดอกเบี้ยจริงปรับตัวสูงขึ้น กล่าวคือนโยบายการเงินตึงตัวโดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนั้นการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศปรับตัวลดลงเมื่อคิดเป็นเงินบาท แม้แต่ราคาสินค้าส่งออกที่คิดเป็นเงินบาทก็อาจปรับลดลงได้อีกด้วยหากผู้ส่งออกไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ได้ แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นเงินเฟ้อในประเทศก็จะลดลงไปอีก ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อไปอีกได้
ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ โดยไม่ต้องพูดถึงการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทเลยครับ