Brexit/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

Brexit/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ โดย Thai VI Article » จันทร์ ก.ค. 03, 2017 6:57 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่อังกฤษในวันที่ 8 มิ.ย. ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมนำโดย นายกรัฐมนตรีเมย์มี ส.ส. ในสภาลดลงเหลือ 318 ที่นั่ง (จากเดิม 331 ที่นั่ง) ก็มีการคาดการณ์กันอย่างแพร่หลายว่า ผลการเลือกตั้งที่น่าผิดหวังดังกล่าวจะทำให้นายกรัฐมนตรีเมย์ ต้องเปลี่ยนจุดยืนในการเจรจาให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป จากท่าทีที่แข็งกร้าว (hard Brexit) มาเป็นท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้น (soft Brexit) ด้วยปัจจัย 4 ข้อดังนี้

พรรคอนุรักษ์นิยมแพ้การเลือกตั้งในหลายเขต ซึ่งในอดีตเคยสนับสนุนพรรคฯมายาวนาน เพราะประชาชนในเขตดังกล่าวมีฐานะดี มีการศึกษาสูง ฯลฯ แต่สนับสนุนให้อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

“มุ้ง” ของพรรคอนุรักษ์นิยมในประเทศสก็อตแลนด์ นำโดยนาง Ruth Davidson (อายุเพียง 38 ปี) ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยสามารถเพิ่มจำนวน ส.ส. ในสก็อตแลนด์ของพรรคอนุรักษ์นิยมจาก 1 เสียง เป็น 13 เสียง ทั้งนี้ในการทำประชามติว่าสหราชอาณาจักรอังกฤษ ควรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่เมื่อปีที่แล้วคนสก็อตแลนด์ 62% ให้คงความเป็นสมาชิกในขณะที่ 38% เห็นว่าควรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายกรัฐมนตรีเมย์ นำเอาพรรค Democratic Unionist Party (DUC) ของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมี ส.ส. 10 คน เข้ามาเป็นพันธมิตรทางการเมืองภายใต้ข้อตกลง “confidence and supply arrangement” (ไม่ใช่การเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลผสม) ทำให้รัฐบาลของนายกฯ เมย์มีเสียง ส.ส. เพิ่มขึ้นเป็น 328 คน (จากทั้งหมด 650 คน) ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า พรรค DUC ต้องการ Soft Brexit เพราะหากมีการตัดขาดกันทางเศรษฐกิจระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งถูกแบ่งออกทางการเมืองเป็นไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรอังกฤษ กับที่เหลือซึ่งเป็นประเทศไอร์แลนด์ ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจของประชาชนลำบากอย่างยิ่ง ดังนั้นพรรค DUC จึงน่าจะต้องการ soft Brexit เช่นเดียวกับประเทศสก็อตแลนด์

นาย Phillip Hammond รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ แสดงท่าทีชัดเจนว่าเขาสนับสนุนแนวคิดของนักธุรกิจอังกฤษ ที่ให้เจรจาเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปให้อยู่เช่นเดิมมากที่สุด กล่าวคือต้องการ soft Brexit หมายถึงให้อังกฤษยังเป็นส่วนหนึ่งของ European Single Market และ EU Customs Union หากนายกรัฐมนตรีเมย์ ต้องการ hard Brexit ก็ควรจะต้องปรับนาย Hammond ออกจากครม.ไปแล้ว (แต่กลับมีข่าวว่ามีรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่งจะเสนอให้ นาย Hammond เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ แต่ยังให้นาย David Davis รัฐมนตรีหัวหน้าการเจรจา Brexit ดำรงตำแหน่งเดิม)

หากพิจารนาให้ลึกซึ้งก็จะเข้าใจว่าสถานะของนายกรัฐมนตรีเมย์ นั้น อ่อนแอลงอย่างมาก (กรณีไฟใหม่ตึก Grenfell ในกรุงลอนดอน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 79 คน ก็ทำให้ความนิยมในนายกรัฐมนตรีเมย์ ทรุดตัวไปอีก) และมีนักวิเคราะห์หลายรายมองว่านางเมย์ จะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนการเจรจา Brexit สิ้นสุดลงเสียอีก (Bloomberg สอบถามผู้บริหารกองทุน 3 รายว่าใครจะออกจากตำแหน่งก่อนกันระหว่าง นางเยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะอยู่ครบวาระในเดือนก.พ. 2018 กับ นางเมย์ ซึ่งรัฐบาลอยู่ในอำนาจได้อีกเกือบ 5 ปี แต่ผู้บริหารกองทุนทั้ง 3 คนเชื่อว่านางเมย์ หลุดจากตำแหน่งก่อนนางเยลเลน)

Soft Brexit นั้นมองในแง่ดีแปลว่าอังกฤษยังคงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปได้เช่นเดิม (single market + customs union) ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหภาพยุโรป (ภายใต้ passporting rights) แต่การจะคงเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวอังกฤษจะต้องจ่ายค่าสมาชิกเช่นเดิม ยอมตามกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป รวมทั้งยอมรับอำนาจของศาลยุโรป (European Court of Justice) และเปิดเสรีการไปมาหาสู่ของคนยุโรปกับคนอังกฤษ แปลว่าจะจำกัดจำนวนคนยุโรปที่ต้องการเข้ามาทำงานและพักอาศัยในอังกฤษตามอำเภอใจไม่ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปไปทำไม เพราะมีภาระและพันธะทางกฎหมายไม่แตกต่างกัน แต่จะไม่มีสิทธิมีเสียงในรัฐสภายุโรป ทำให้เสียเปรียบทางการเมืองต่อประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนั้นอำนาจต่อรองของนายกรัฐมนตรีเมย์ ที่อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ต้องยอมรับเงื่อนสหภาพยุโรปให้เจรจาเรื่องเงินค่าหย่าร้าง (Divorce Bill) และการคงสิทธิประโยชน์ของคนยุโรปที่ปัจจุบันพำนักอยู่ที่อังกฤษแล้ว 2.3 ล้านคนก่อนการเจรจาเรื่องการค้า ซึ่งอังกฤษเคยยืนยันว่าต้องเจรจาทุกเรื่องไปพร้อมๆกัน เรื่องเงินค่าหย่าร้างที่สหภาพยุโรปเสนอประมาณ 50,000-80,000 ล้านปอนด์ให้อังกฤษต้องยอมตกลงจ่ายก่อนจะเจรจาในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่ออังกฤษนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ลำบากยากเย็นเป็นอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาไม่มากนัก ทั้งนี้เงื่อนเวลาของการเจรจา Brexit มีดังนี้

ต.ค.-ธ.ค. 2017 : เจรจาเรื่องเงินค่าหย่าร้างและคนยุโรปในอังกฤษเสร็จสิ้นเพื่อหันไปเจรจาเรื่องการค้าต่อไป

ต.ค. 2018 : การเจรจาทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นลงเพื่อให้มีเวลาเพียงพอ ที่รัฐสภาของทุกประเทศในสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ให้สัตยาบันพร้อมกับรัฐสภาอังกฤษ

29 มี.ค. 2019 : อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปวันสุดท้าย
[/size]



ตอบกลับโพส