ดาวดับแสง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

ดาวดับแสง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » อาทิตย์ ก.ค. 16, 2017 7:13 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ในช่วงประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมานี้  เราได้เห็นนักลงทุนและ/หรือนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จสูงมากจำนวนไม่น้อยกลายเป็น  “ดาว”  ในตลาดหุ้นไทย  สถิติผลงานการลงทุนของพวกเขานั้นสูงลิ่วจนไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับผลงานการลงทุนของ  “เซียน”  ในระดับโลก  และแม้ว่าสถิตินี้ยังไม่ได้ยาวพอที่จะนำมาคิดเป็นจริงเป็นจังแต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นผลงานที่เกิดขึ้นได้ยากในที่อื่นหรือส่วนอื่นของโลกอยู่ดี  ผมคงไม่ต้องพูดซ้ำอีกว่ามันเป็นไปไม่ได้สำหรับ  “ดาว”  จำนวนมากที่จะทำผลงานได้เท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม  เหตุผลก็เพราะว่าสภาพของตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 10 กว่าปีมานี้เป็นสถานการณ์พิเศษที่เอื้ออำนวยให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  “VI” หรือนักเก็งกำไรที่  “เกาะกระแส VI” สามารถทำเงินได้อย่างง่ายและเร็วด้วยวิธีการที่ไม่ยาก  แต่สถานการณ์แบบนั้นผมคิดว่ามันกำลังหมดไป  การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในอนาคตน่าจะกำลังกลับเข้าสู่ “ภาวะปกติ” ที่จะมีแต่คนที่แน่จริง ๆ และมีหลักการที่ถูกต้องในระยะยาวจริง ๆ  เท่านั้นที่จะเป็น  “ดารา” ซึ่งก็แน่นอนว่าน่าจะรวมถึง “ดาว” หลายคนในปัจจุบันด้วย

    “ดาว” ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยในปัจจุบันนั้น  ผมคิดว่าจะค่อย ๆ  ลดความ “สุกสว่าง” ลงจนอาจจะไม่เป็นดาวอีกต่อไปเมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปีข้างหน้าแต่พวกเขาก็น่าจะยังมีชีวิตที่ดีอยู่เนื่องจากความมั่งคั่งที่สะสมเอาไว้มากจาก “ช่วงทอง” ที่ผ่านมา  หน้าที่ของเขาก็คือ  พยายามรักษา “ปาฏิหาริย์”ของตนเองไว้ให้ได้   แต่ก็น่าจะยังมี “ดาว”  บางดวงที่ต้อง “อับแสง” หรือ “ดับแสง” ลงเนื่องจากไม่ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของตลาดและการลงทุน  พวกเขายังใช้เทคนิคและวิธีการเดิมที่เคยทำเงินมากแต่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในระยะยาวและในทุกสถานการณ์  ดังนั้น  เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน  กำไรที่เคยได้มหาศาลก็กลายเป็นขาดทุนมหาศาลจนอาจจะกลายเป็นหายนะ  และนี่ก็คือสิ่งที่ผมจะพูดถึงในบทความนี้

    ถ้าพูดถึงนักลงทุนระดับโลกที่เคยเป็น “ดาว” ในช่วงเวลาหนึ่งเช่น 10-20 ปีหรือมากกว่านั้นแต่สุดท้ายกลายเป็น  “ดาวดับแสง” เราก็มีรายชื่ออยู่ไม่น้อยและอยู่ในทุกกลุ่มของนักลงทุน   เริ่มตั้งแต่ Jesse Livermore นักเก็งกำไร “บันลือโลก” ที่เล่นหุ้นตั้งแต่อายุ 14 ปี ถึงอายุประมาณ 50 ปีเขาก็กลายเป็นมหาเศรษฐีมีเงินคิดเป็นหลายหมื่นล้านบาทไทยถ้าคิดเป็นเงินในวันนี้  แต่ตลอดชีวิตการลงทุนของเขานั้น  เขาผ่านช่วงสูงสุดและตกต่ำหลายครั้งตามสภาพตลาดหลักทรัพย์จนถึงช่วงปลายชีวิตที่เขาอยู่ในสภาพล้มละลายและฆ่าตัวตายในปี 1940 ด้วยวัย 63 ปี

    บิล มิลเลอร์ นักลงทุนหุ้น Growth ที่บอกว่าตนเองเป็น VI  นั้น  ครั้งหนึ่งน่าจะประมาณกว่า 10 ปีมาแล้วเขาเคยเป็น  “ดาว” ที่สามารถสร้างผลงานการลงทุนที่ยอดเยี่ยมเอาชนะตลาดติดต่อกันมา 15 ปี โดยการเน้นลงทุนในหุ้นไฮเท็ค  แต่สุดท้ายเมื่อ  “ฟองสบู่แตก”   ผลงานของกองทุนก็คว่ำไม่เป็นท่าและทำให้ชื่อเขาตกลงมาจนคนรุ่นหลังแทบไม่รู้จักในปัจจุบันแม้ว่าเขาก็ยังทำงานเป็นผู้บริหารกองทุนรวมอยู่

    “ดาวดับแสง”  ที่น่าสนใจมากคนหนึ่งก็คือ Julian Robertson อดีตผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ กลุ่ม “Tiger Fund” ที่เน้นการลงทุนแนว Value เป็นหลัก  เขาทำผลงานได้ดีมากมาตลอดแม้ว่าจะมีปีดีและร้าย  อย่างไรก็ตาม  ในปีประมาณ 2000 ที่หุ้น Growth กำลังมาแรง  เขาก็ต้อง “ปิดกองทุน”  เนื่องจากผลขาดทุนอย่างหนักโดยเฉพาะจากการลงทุนในหุ้นสายการบิน  เขาสารภาพว่าเขาไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นที่ทำให้หุ้น Value หรือแนวการลงทุนแบบ VI  “ใช้ไม่ได้”  อีกต่อไป  บางทีเขาอาจจะคิดว่าความคิดและแนวทางของเขา  “ตกยุค” แล้ว  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น  ลูกน้องของเขาหลายคนก็ออกมาตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์  “Tiger Cubs” หรือ  “ลูกเสือ”  หลายสิบกองทุนโดยมีเขาเป็นคนช่วยลงเงินสนับสนุนและประสบความสำเร็จต่อมาจนถึงทุกวันนี้

    ดาวดับแสงสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ นักกลยุทธ์ลงทุนของกองทุน Long-Term Capital ที่เป็นนักวิชาการการเงินชื่อดังสองคนที่ได้รับรางวัลโนเบิลทั้งคู่และทฤษฎีของพวกเขานั้นนักการเงินระดับปริญญาโทและเอกทุกคนต้องเรียนก็คือ Myron Scholes กับ Robert Merton  ทั้งสองคนใช้ทฤษฎีและการพิสูจน์ทางสถิติการเงินมาออกแบบการลงทุนที่อาศัยการกู้เงินมหาศาลมาลงทุนในสิ่งที่เขาคำนวณดูแล้วว่า  “ไม่มีความเสี่ยง”  โอกาสที่จะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์นั้นน้อยจนแทบเป็นศูนย์  กองทุนตั้งขึ้นในปี 1994 ผลตอบแทนใน 3 ปีแรกนั้น “มหัศจรรย์”  ที่ 21%  43% และ 41% ตามลำดับ  ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากสถาบันการเงินต่าง ๆ  ที่ถูกนำเข้ามาลงทุนเพราะเชื่อมั่นใน “โมเดล” ของคนที่คิดหาทฤษฎีมูลค่าของ Option ที่เรียกว่า “Black and Scholes”  แต่แล้ว เหตุการณ์ “ไม่คาดฝัน”  ก็เกิดขึ้น  เริ่มแรกก็คือวิกฤติต้มยำกุ้งและต่อมาที่สำคัญก็คือการ “ล่มสลาย” ของเงินรัสเซียในปี 1998 ที่ทำให้กองทุน “เจ๊ง”  ความเสียหายเกิดขึ้นมหาศาลขนาดที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องเข้ามาช่วยกู้ไม่ให้สถาบันการเงินที่เข้าไปเกี่ยวข้องต้องล้มละลาย  เหตุการณ์ครั้งนี้ให้บทเรียนว่า “วิกฤติ” นั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้

    กลับมาที่ตลาดหุ้นไทยและ “ดาว” ที่  “ดับแสง”  หรืออาจจะกำลังดับ  ผมเองคงไม่กล่าวถึงตัวบุคคล  แต่สิ่งที่ผมจะพูดก็คือสาเหตุที่ทำให้การลงทุนของพวกเขาเสียหายอย่างหนักจนบางครั้งเป็นหายนะนั่นก็คือเรื่องของการบริหารความเสี่ยงที่ดูเหมือนจะถูกละเลยไปมากในยามที่ทุกอย่างกำลังดูดีไปหมด  ตลาดหุ้นสดใส  ธุรกิจสดใส  เส้นทางแห่งอนาคตมีแต่ความแน่นอน

    “ดาว” ที่ดำรงอยู่ในทุกวันนี้นั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่นั้นน่าจะเป็นคนหนุ่มที่มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม  เป็นคนที่กล้าได้กล้าเสียและหลายคนอาจจะ  “บ้าบิ่น”  ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะประสบความสำเร็จอย่างสูงมาหลายปี  หลายคนมีความคิดที่จะ  “รวยมาก”  เป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีในวันหนึ่ง  พวกเขาไม่อยากจะแค่ลงทุนให้มีผลตอบแทนที่ดีมีฐานะการเงินที่ใช้ได้  เขาคิดว่าถ้าไม่รวยก็ “เจ๊ง” ไปเลยก็ได้  ไม่อยากจะมีชีวิต “ธรรมดา ๆ”  ดังนั้น  ในบางครั้งพวกเขาสามารถ “จำนองบ้านมาลงทุน”  พวกเขาพร้อมกู้เงินแบบ “ไฮไฟแน้นซ์”  ใช้เงินของทางบ้านหรือเงิน  “นอกระบบ”  คือกู้เงินหลายเท่าของเงินที่ตนเองมีมาลงทุนแบบใช้มาร์จิน  ซึ่งทำให้ความเสี่ยงสูงมหาศาลแต่ก็สามารถทำให้รวยได้ในชั่วข้ามคืน   โชคดีที่ว่าเขาประสบความสำเร็จ  กำไรหลายล้านหรือหลายสิบหรือร้อยล้านบาทเนื่องจากภาวะตลาดหุ้นเป็นใจ  ตัวหุ้นเป็นใจ  เขากลายเป็น  “ดาวสว่างแสง”  พวกเขาไม่หยุดและยังทำต่อเพราะอยากรวยขึ้นไปอีก

    “ดาวดับแสง”  มักจะเกิดขึ้นจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและการที่ “ดาว” ปล่อยให้การลงทุนอยู่ในความเสี่ยงมหาศาล  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือการลงทุนแบบไม่กระจายความเสี่ยงถือหุ้นเพียงตัวสองตัวที่มีขนาดใหญ่มากโดยที่หุ้นตัวนั้นเองมีความเสี่ยงสูงมากเช่น  มีหนี้มหาศาล  มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นโภคภัณฑ์น้อยชนิด  มีลูกค้าน้อยรายหรือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือลูกค้าใหม่ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์  หรือเป็นสถาบันการเงินที่อาจจะล่มสลายได้ง่ายจากปัญหาหนี้เสีย  และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ  บริษัทนั้นมีการโกงของผู้บริหารที่อาจจะรุนแรงจนทำให้บริษัทล้มละลายได้

    ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  การที่จะเป็น  “ดาวค้างฟ้า” ได้นั้น  การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด  ตัวอย่างง่าย ๆ  ก็เช่น  ไม่กู้เงินมาลงทุนเกิน 20% ของพอร์ต   ไม่ถือหุ้นตัวเดียวสูงกว่า 50% ของพอร์ตไม่ว่ากรณีใด  และถ้าถือหุ้นแบบนั้นก็ต้องมั่นใจว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ   นอกจากนั้นก็คือ  อย่ามั่นใจในตัวเองจนคิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราคาด  ต้องคิดเสมอว่าอะไรคือ “จุดตาย” ของหุ้นและของเรา  และโอกาสเกิดมีมากน้อยแค่ไหน
[/size]



ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 642
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ มี.ค. 06, 2013 5:02 pm

Re: ดาวดับแสง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย นายมานะ » พุธ ก.ค. 19, 2017 1:08 pm

storywriter เขียน:ตอนนั้นดอกเตอร์ถือ cpall มีการใช้มาร์จิน กับถือเยอะพอสมควรในพอร์ตเลยนี่ครับ
ผมไม่แน่ใจว่าดร.ท่านเคยใช้มาร์จินสูงสุดกี่ % และถือ cpall ในพอร์ตสูงสุดกี่ % อาจจะเคยเสี่ยงมากกว่าที่ท่านเตือนไว้ในย่อหน้าสุดท้ายก็ได้ แต่ด้วยสถานการณ์ของตลาด และ valuation ของ cpall ในตอนที่ท่านซื้อต่างจากปัจจุบันนี้มาก (ระดับความเสี่ยงต่างจาก polar มากด้วยเช่นกัน) และเจตนาของบทความต้องการจะ "เตือน" นักลงทุนให้ลงทุนด้วยความระมัดระวัง และอย่าเสี่ยงมากเกินไป ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์ครับ

ทุ่มเททั้งหมดให้กับความฝัน ที่มีแต่เราเท่านั้นที่มองเห็น


ตอบกลับโพส