โค้ด: เลือกทั้งหมด
ผมต้องขอขอบคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่กรุณาให้ผมเขียนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์จานร้อน” มานานกว่า 15 ปี
โดยวัตถุประสงค์คือการให้ทุกคนเข้าถึงสาระของเศรษฐศาสตร์ได้โดยง่าย ไม่ต้องเป็นนักวิชาการ และต้องเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจ แต่ก็ต้องไม่ละเลยปัจจัยพื้นฐานและการมองภาพในระยะยาว
ผมยังจะเขียนคอลัมน์นี้ตราบเท่าที่กรุงเทพธุรกิจจะกรุณาให้เขียนต่อไป แต่เนื่องจากอายุผมเกิน 60 ปีแล้ว จึงจะขอแบ่งเวลามาเขียนถึงเรื่องสุขภาพบ้าง โดยคาดว่าจะเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ 80% และเรื่องสุขภาพ 20% สาเหตุที่จะลดการเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ลง ก็เพราะว่าปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในช่วง 15 ปีผ่านมา อีกสาเหตุหนึ่งคือตัวผมเอง ซึ่งอายุมากขึ้นแล้ว จึงต้องหันมาศึกษาเรื่องสุขภาพเพื่อดูแลตัวเองให้ดีขึ้น เพราะมุ่งหวังว่าจะเป็นภาระให้กับลูกหลานและคนรอบข้างให้น้อยที่สุด ประกอบกับในอนาคตสังคมไทยเองก็จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นจึงน่าจะมีความต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น
ผมไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านสุขภาพเลย แต่มีความต้องการที่จะนำเอาข้อมูลสาธารณะมาประมวลวิเคราะห์ให้ได้ข้อสรุปที่จะรักษาสุขภาพให้ die young at a very old age ข้อมูลต่างๆ ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังนั้น ผมมีความมุ่งหมายว่าต้องการ add years to your life and life to your years. ทั้งนี้ผมขอให้ท่านผู้อ่านกรุณาตรวจสอบข้อมูลทุกเรื่องที่ผมเสนอ (ห้ามเชื่อผมจนกว่าจะตรวจสอบด้วยตัวเองอีกที) และกรุณาปรึกษาแพทย์ของท่านพร้อมกันไปด้วย
จุดเริ่มต้นของผมคือการทำให้ร่างกายแข็งแรง กล่าวคือการออกกำลังกาย จากข้อมูลที่ผมค้นคว้าอ่านมานั้น สรุปได้อย่างค่อนข้างมั่นใจว่า การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักนั้นมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จยาก การลดน้ำหนักที่ได้อย่างถาวร คือการลดการกินอาหาร (ไม่ใช่ถามว่ากินอะไรดี น้ำหนักจึงจะลดลง) จึงจะมีคำถามตามมาว่า จะออกกำลังกายไปเพื่ออะไร และออกกำลังกายอย่างไรจึงจะ die young at a very old age.
บทความในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ (12 เม.ย. 2017) ซึ่งรายงานการรวบรวมบทวิจัยต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน (Lee, Brellenthin, Thompson, Sui, Lee, และ Lavie) สรุปว่าการวิ่งเป็นประจำให้ประโยชน์ดังนี้
ทำให้อายุยืนต่อไปอีก 3.2 ปี สำหรับผู้ที่วิ่งเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้วิ่ง
ลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคต่างๆ (เสียชีวิตก่อนวัยอันควร) 30% สำหรับผู้ที่วิ่งเมื่อเทียบกับไม่ได้วิ่ง
ลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจลง 45%
การออกกำลังกายประเภทอื่นๆ เช่นการเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ แม้จะใช้พลังงานเท่ากัน จะให้ประโยชน์น้อยกว่าการวิ่ง กล่าวคือลดความเสี่ยงจากการตายก่อนวัยเพียง 12%
ข้อมูลได้มาจากชายและหญิงชาวสหรัฐที่เมือง Dallas (ส่วนใหญ่คนผิวขาว) อายุตั้งแต่ 18-100 ปี (อายุเฉลี่ย 44 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 55,137 คน ตั้งแต่ปี 1974 ถึงปี 2002 (28 ปี)
ผู้ที่วิ่งนั้นเฉลี่ยวิ่งเพียง 2 ชม. ต่อ 1 สัปดาห์ ดังนั้นนักวิจัยจึงสรุปในเชิงสถิติว่า ผู้ที่วิ่งจะใช้เวลาวิ่งทั้งหมดเท่ากับ 6 เดือนในช่วง 40 ปี แต่ในการออกกำลังกายดังกล่าวจะทำให้อายุยืนมากขึ้น 3.2 ปี แปลว่าการวิ่ง 1 ชม. จะทำให้อายุยืนมากขึ้น 7 ชม. และประโยชน์จากการวิ่งนั้นมิได้ลดลง แม้ว่าผู้ที่วิ่งจะสูบบุหรี่ กินเหล้า หรือเป็นโรคอ้วนเป็นต้น ทีมผู้วิจัยไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมการวิ่งจึงได้ผลดีกว่าการออกกำลังกายประเภทอื่นๆ หากกลุ่มที่ไม่วิ่ง (ซึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานหรือ control group เพื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่วิ่ง) ได้ออกกำลังกายโดยการวิ่งสัปดาห์ละ 2 ชม. การเสียชีวิตของกลุ่มนี้จะลดลง 16% และการตายด้วยโรคหัวใจลดลง 25%
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง รายงานโดย บีบีซี (11 ส.ค. 2008) จัดทำโดย Stanford University Medical Center พบว่าผู้สูงอายุ (อายุ 50 ปีหรือมากกว่า) ที่วิ่งจะลดความเสี่ยงจากการตายก่อนวัยอันควร (เช่นจากการเป็นมะเร็ง) ลง 50% เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้วิ่ง นอกจากนั้นผู้ที่วิ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่สูงกว่ามาก เพราะจะสามารถช่วยตัวเองได้มากกว่า เนื่องจากร่างกายมีความสมบูรณ์ทำให้ดูแลตัวเองได้ดีกว่าเช่น การแต่งตัวเอง การเดิน การลุกขึ้น การกิน การจับสิ่งของ ฯลฯ ในวัยชรา ดังนั้นนักวิจัยจึงสรุปว่า “Running can slow the ageing process”
งานวิจัยนี้ เปรียบเทียบนักวิ่ง 538 คนกับคนที่ไม่วิ่ง 423 คน ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ Northern California ระหว่างปี 1984 ถึงปี 2005 โดยในช่วง 21 ปีของการศึกษาพบว่า นักวิ่งเสียชีวิตลง 15% ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้วิ่งเสียชีวิต 34% ในส่วนของการแก่ตัวลงของร่างกายนั้น สรุปได้ดังนี้
นักวิ่งเฉลี่ยวิ่ง 5 ชม. / สัปดาห์ ในปี 1984 แต่หลังจาก 21 ปี ต้องลดการวิ่งลงเหลือ 76 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ยังแข็งแรงดีอยู่ทำให้นักวิจัยสรุปว่า “the health benefits of exercise are greater than we thought
ไม่พบหลักฐานใดว่าการวิ่งทำให้นักวิ่งมีปัญหาเรื่องกระดูกหัวเข่า หรือข้อเท้า (ดังที่ทุกคนเตือนผมเมื่อเริ่มวิ่งเมื่อ 3 ปี ก่อน)
นักวิ่งมีร่างกายที่สมบูรณ์กว่าคนที่ไม่วิ่ง ทำให้ช่วยตัวเองในการดำเนินชีวิตโดยปกติได้ดีกว่า และความแตกต่างจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่ออายุสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิง เมื่อเริ่มต้นการวิจัยผู้เข้าร่วมทุกคนใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เมื่อ 21 ปี ผ่านไป นักวิ่งจะมีปัญหาเล็กน้อยกับการปฏิบัติภารกิจ (mild functional disability) 1-2 ประเภท แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้วิ่งนั้น จะประสบปัญหาระดับปานกลาง (moderate functional disability) กับการปฏิบัติภารกิจใน 2 ประเภทจาก 8 ประเภทที่ทำการทดสอบตั้งแต่ต้น