โค้ด: เลือกทั้งหมด
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ….. เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย
ดิฉันต้องเปิดเผยก่อนว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการลงทุน ของคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมาการที่มีหน้าที่ดูแลส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม หรือชื่อใหม่คือ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ตั้งแต่ชุดแรกจนถึงชุดที่สอง คือชุดปัจจุบัน
การส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นคำตอบหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นแนวทางหนึ่งที่หลายๆประเทศเลือกที่จะเดิน เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนมีกับคนไม่มี ที่นับวันจะกว้างยิ่งๆขึ้น
ในฐานะที่ได้เข้ามาช่วย สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่แรกๆ ดิฉันได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นพัฒนาการของผู้ที่สนใจและมีความมุ่งมั่นเข้ามาทำวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น
คนเหล่านี้ หากไม่ใช่ผู้ที่ผ่านชีวิตการทำงานมา เห็นตัวอย่างมา เห็นโลกมามาก ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 25-40 ปี ที่ได้รับการศึกษาในระดับอย่างน้อยปริญญาตรี จากทั้งในและต่างประเทศ แต่ที่มีเหมือนกันคือ มีจิตสำนึกอยากทำดีเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อลดช่องว่างระหว่าง”คน” และเพื่อป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาสังคม
ร่างพระราชบัญญัติฉบับที่นำมาเปิดรับฟังความเห็นนี้ เป็นร่างที่ดูแล้วมีเนื้อหาเบาหวิว และออกมาเสมือนจะกำกับ มาขีดเส้น ให้กับผู้ประกอบการ มากกว่าจะส่งเสริมสนับสนุน หรือสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดของวิสาหกิจเพื่อสังคม
เริ่มตั้งแต่นิยามเลยค่ะ หลายประเทศเขาเปิดนิยามให้กว้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในแวดวงใกล้ๆ สามารถถูกรวมเข้ามา และปรับให้ทำงานในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมมากขึ้น แต่ของเราขีดวง เหมือนจะกลัวว่าจะมีผู้เข้ามาประกอบกิจการเพื่อสังคมมากเกินไป
ดิฉันสนับสนุนการทำนิยามให้กว้าง แต่การจะใช้สิทธิประโยชน์ หรือรับการสนับสนุนในแต่ละด้าน อาจจะมีข้อจำกัด หรือมีการกรองอีกชั้นหนึ่ง การตั้งสมมุติฐานว่า ทุกคนจะต้องขอใช้สิทธิทุกอย่าง ดังนั้น เพื่อไม่ให้คนมาแอบอ้างใช้สิทธิ์ จึงต้องขีดวงนั้น เป็นการมองโลกในแง่ร้าย และมองจากมุมเดียว
บางกิจการอาจจะไม่ต้องการใช้ประโยชน์จากสิทธิทางภาษี แต่อยากจะได้รับการอบรมความรู้ หรือการสนับสนุนด้านอื่น เช่น การเข้าถึงตลาด เข้าถึงลูกค้า ความสามารถในการขายของให้กับภาครัฐ ฯลฯ ก็ต้องเสียโอกาสนี้ไป เพราะคำจำกัดความที่แคบนี้ เป็นที่น่าเสียดายอย่างอย่างค่ะ
บทบาทหน้าที่ที่พรบ.นี้จะส่งเสริมให้เกิดขึ้น ไม่ได้ถูกนำมารวม เข้าใจว่าจะยกให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่อยากให้ความเห็นว่า เนื่องจากกรรมการจะประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐจากกระทรวงต่างๆจำนวนเกินกว่าครึ่ง และผู้บริหารอาจจะไม่มีเวลามาเข้าประชุม จึงนิยมส่งผู้แทนมาประชุม หากผู้แทนมิใช่คนเดียวที่ถูกส่งมาอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการก็จะมีปัญหาในการดำเนินการ และผลงานผลสัมฤทธิ์ที่อยากเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็น
การกำหนดบทบาทหน้าที่หลักๆให้ชัดเจนลงไป ทั้งในด้านการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเริ่มและสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งองค์ความรู้ และเป้าหมายหลักๆที่ต้องการสนับสนุน จะช่วยให้คณะกรรมการสามารถแปรมาเป็นกิจกรรม ที่จะมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ ดำเนินการ หรือสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการได้
ที่สำคัญ ต้องมีการสามารถสอบคานอำนาจกันได้ คือมี check and balance ดิฉันไม่เคยเห็นด้วยกับโครงสร้างที่ให้อำนาจคนใดคนหนึ่งสามารถทำอะไรได้เบ็ดเสร็จ เช่นในกรณีการรับรองสถานภาพของวิสาหกิจเพื่อสังคม หากผู้อำนวยการสามารถทำได้คนเดียว หรือตั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ขึ้นมาให้การรับรองได้ ผู้อำนวยการจะมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้มากมาย และจะเกิดอันตรายหากผู้อำนวยการไม่ใช่คนดี หรือเป็นคนดีที่อาจเปลี่ยนไป
วิสาหกิจเพื่อสังคม ในสหราชอาณาจักร ที่เพิ่งเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นมากหลังจากรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมในปี 2546 สามารถเติบโตจากจำนวน 5.300 ราย เพิ่มเป็น กว่า 70,000 ราย และสามารถสร้างรายได้ในปี 2557 ได้ถึง 5% ของจีดีพี
อยากแนะนำหนังสือเกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ดีมากเล่มหนึ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ หนังสือชื่อ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ที่มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นบรรณาธิการ ท่านเป็นอดีตประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ที่ดิฉันเคยเป็นหนึ่งในกรรมการของท่าน เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้เป็นเวลานาน
หนังสือหนา 191 หน้า มีตัวอย่างของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ มีวิธีการบ่มเพาะและสนับสนุนของภาครัฐ ภาคประชาสังคม บุคคล และสถาบันการศึกษา น่าจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” มากขึ้น จัดพิมพ์โดย สสส. ราคาเล่มละ 200 บาทค่ะ