โค้ด: เลือกทั้งหมด
ว่ากันว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นทุก ๆ 10 คน จะมีคนประสบความสำเร็จแค่ 1 คน เสมอตัว 1 คน ที่เหลืออีก 8 คนจะขาดทุน หลายคนออกจากตลาดหุ้นพร้อมกับสาปแช่งว่า ตลาดหุ้นเป็นแหล่งการพนัน
จากที่ผมลงทุนมาได้ 10 กว่าปี สิ่งที่ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็คือ การที่เราสามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนโดยเฉพาะหน้าใหม่ควรหมั่นศึกษา อาจไม่ใช่แค่ดูหุ้นตัวที่ขึ้นเยอะ ๆ แต่ควรรู้ด้วยว่าหุ้นแบบไหนจะทำให้เราขาดทุนได้มาก หากเราขาดความเข้าใจที่ดีพอ
หุ้นที่ทำให้คนจำนวนมากขาดทุน เป็นหุ้นที่เรียกว่า Pump-and-Dump Stock (PND) เป็นศัพท์ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้กัน แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีใครพูดถึง คนไทยจะใช้ศัพท์เรียกหุ้นแย่ ๆ ว่าเป็น “หุ้นปั่น” แต่ “หุ้น PND” จะเหนือกว่าหุ้นปั่นมาก เป็นหุ้นที่นักลงทุนวีไอที่เก่งกาจอาจจะพลาดได้ มาลองดูว่าหุ้น PND มีลักษณะอย่างไร
1.เป็นหุ้นที่ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายไตรมาส บางครั้งหลายปี คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นหุ้น Growth Stocks
2.มี Story ที่สวยหรู กิจการอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น เป็นเมกะเทรนด์
3.มีความเชื่อว่ากิจการมีความสามารถในการแข่งขัน ผู้บริหารมีความสามารถขั้นเทพ กิจการมีปราการที่แข็งแกร่ง ทำให้คู่แข่งเข้ามายาก
4.ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้น
5.ผู้บริหารเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เริ่มออกสื่อ ได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น รางวัล Good Governance จากสถาบันที่น่าเชื่อถืออย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ
6.มีนักลงทุนรายใหญ่หรือกองทุนที่มีชื่อเสียงเข้าซื้อหุ้นไปเป็นจำนวนมาก หลายครั้งทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจากการซื้อของนักลงทุนดังกล่าว พร้อมกับแรงซื้อมหาศาลจากเหล่าสาวกวงใน
7.จากผลการดำเนินงานที่เติบโตดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกไตรมาส ราคาหุ้นที่ขึ้นมามาก ก็ยังขึ้นได้อีก หลายคนเลิกมอง P/E แต่เลือกมโนขนาด Market Capitalization ในอนาคตเป็นหลัก
8.หลายครั้งบริษัทมีการแต่งงบการเงินด้วยวิธีการทางบัญชีต่าง ๆ นานา ทำให้ผลประกอบการดูดีตลอดในช่วงแห่งการ Pump ผลประกอบการและราคาหุ้น
9.หลังจากกลุ่มคนในทำการรินขายหุ้นผ่าน Nominees จนใกล้หมด ก็จะเข้าสู่ช่วงของการ Dump
10.ราคาหุ้นเริ่มไหลลงแบบงง ๆ หลายครั้งผลประกอบการก็ยังดูดี อาจจะโตช้าลงหน่อย ราคาหุ้นไหลลงมาก จนทั้งนักลงทุนวีไอและนักเก็งกำไรจำนวนมากเข้ามาช้อนเข้ามาเก็บ ดีใจคิดว่าได้ของถูก
11.ราคาหุ้นที่ลงมามากแล้ว จนคิดว่าถูกแล้วกลับมีถูกกว่า อีกทั้ง P/E ที่คิดว่าต่ำแล้วกลับมีต่ำกว่า นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากยังไม่รู้ตัวว่าโดนเท
12.หลังจากราคาหุ้นตกลงมามากแล้ว ผลประกอบการที่แย่จึงเริ่มปรากฏ ข่าวร้ายเริ่มมา หลายครั้งนักลงทุนรายย่อย (ยับ) ที่ติดหุ้นกลับโดนซ้ำเติมด้วยการเรียกเพิ่มทุนมหาศาล จากบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยได้รางวัล Good Governance มามากมาย
13.หลายครั้งการแต่งงบการเงินไม่เคยถูกเปิดเผย สิ่งเน่า ๆ ในงบการเงินมักจะถูกนำออกมาตัดขาดทุนครั้งใหญ่ (Big Bath Accounting) ทำให้บริษัทบันทึกขาดทุนจำนวนมากหลังจากการจบขบวนการ PND
14.บางบริษัทถึงกับขาดทุนล้มละลาย หุ้นถูกห้ามซื้อขาย ถูกขับออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าหุ้นกลายเป็นศูนย์
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นลักษณะหุ้น PND ที่ดูเผิน ๆ อาจดูคล้าย ๆ หุ้น Super Stocks สิ่งที่ช่วยให้เราสามารถแยกเพชรออกจากขยะ คือ การมองความสามารถในการแข่งขันให้ออก มองบิสซิเนสโมเดลให้ออก เข้าใจกิจการอย่างแท้จริง แยกให้ได้ว่าอะไรเป็นของจริง อันไหนเป็นของปลอม และที่สำคัญคือ ต้องตระหนักว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่ทำลายเราได้มากที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่เราไม่รู้ แต่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ต่างหาก