เช็คสต็อก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

เช็คสต็อก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » อาทิตย์ ส.ค. 13, 2017 6:34 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    การลงทุนในช่วงเร็ว ๆ  นี้ดูเหมือนว่าจะน่าเบื่อและ “เงียบเหงา” อย่างที่แทบจะไม่เคยพบเจอสำหรับนักลงทุนจำนวนมากที่เคย “สนุกสนาน”  และมีความสุขกับการลงทุนมาตลอดหลาย ๆ  ปีที่ผ่านมา  เหตุผลก็เพราะว่าดัชนีหุ้นไม่ค่อยจะขยับไปไหนไกลและที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  หุ้นและพอร์ตหุ้นที่ตนเองถืออยู่นั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว  บ่อยครั้งกว่าก็คือหุ้นค่อย ๆ  ตกลงมาเป็นระยะ  บางช่วง  เช่นช่วงที่ใกล้ประกาศงบก็จะตกลงมาหนัก  การ Rebound หรือการฟื้นตัวกลับก็ไม่แรงเท่า  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็กลับสู่ขาลงอีก  สำหรับคนที่มีเงินสดและกลับเข้ามาซื้อหุ้นเองนั้น  ผลก็ไม่ดีไปกว่าพอร์ตที่มีอยู่  ซื้อแล้วหุ้นก็มักจะไม่ทำกำไรอย่างที่เคยเป็นในสมัยที่ตลาดหุ้นบูมหรือคึกคัก  ราคาหุ้นช่วงที่ซื้ออาจจะปรับตัวขึ้นบ้างเพราะ  “แรงซื้อ” ของตนเอง  แต่หลังจากเลิกซื้อแล้วราคาก็มักจะถอยกลับลงมา  อาการที่  “ซื้อตัวไหนตัวนั้นก็ขึ้น” ของนักลงทุนรายใหญ่  “เมื่อเทียบกับตัวหุ้น”  ก็เริ่มหายไปนั้น  เป็นสัญญาณว่าเราควรจะต้องหันกลับมาตรวจสอบหุ้นในพอร์ตที่มีอยู่ในมือว่าสถานะพอร์ตลงทุนของเราเป็นอย่างไร   พูดง่าย ๆ  เราควร  “เช็คสต็อก” ว่าพอร์ตของเรามีหุ้นแบบไหนบ้างและควรที่จะทำอะไรกับมัน

    นักลงทุนแบบ VI โดยเฉพาะที่เป็นมืออาชีพอย่างคนที่บริหารกองทุนหุ้น VI นั้น  บ่อยครั้งพวกเขาก็จะตรวจ “ภาพใหญ่” ของหุ้นในพอร์ตของเขา  เขาจะดูว่าค่า PE โดยเฉลี่ย (ถ่วงน้ำหนัก) ของพอร์ตของเขาเป็นเท่าไร   ถ้าค่าที่ได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ  เช่น ไม่เกิน 10 เท่าหรือ 15 เท่า  เขาก็จะรู้สึกว่าพอร์ตของเขานั้นน่าจะปลอดภัยและอนาคตพอร์ตก็น่าจะทำผลงานได้ดี  เพราะอย่างไรเสียหุ้นส่วนใหญ่ของเขาก็ถูกหรือถูกมาก  ดังนั้น  ราคาก็ไม่น่าจะตกลงไปได้มากแม้ว่าตลาดหุ้นอาจจะไม่ดี  แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้าตลาดหุ้นฟื้นตัว  เขาก็น่าจะทำกำไรได้ดี  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีที่พบว่าค่า PE โดยเฉลี่ยของหุ้นในพอร์ตนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สูง  เขาก็อาจจะต้องพยายาม  “ปรับพอร์ต”  ลดค่า PE ลงมาโดยการขายหุ้นที่มีค่า PE สูงและหันไปซื้อหุ้นที่มีค่า PE ที่ต่ำลงโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหลักทรัพย์  “ไม่เอื้ออำนวย” กับการลงทุน

    ภาพใหญ่ต่อไปก็อาจจะเป็นเรื่องของการกระจายความเสี่ยงในการถือหุ้นที่ว่าไม่ควรถือหุ้นกระจุกเกินไป  นี่นอกจากเป็นเรื่องของหลักการใหญ่ที่นักลงทุนที่มีพอร์ตใหญ่หรือผู้บริหารกองทุนจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังเป็นเรื่องที่นักลงทุนทุกคนควรจะต้องคำนึงถึงด้วย  กฎทั่วไปของผมก็คือ  ห้ามไม่ให้ถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 50% ของพอร์ตเป็นระยะเวลานานเกิน 3-6 เดือนอะไรทำนองนี้  และควรถือหุ้นหลัก ๆ  อย่างน้อย 4-5 ตัวขึ้นไป เป็นต้น

    ผมคงจะไม่พูดมากนักในเรื่องของการคุมภาพใหญ่ของพอร์ต  เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่าแต่ละคนก็อาจจะมีภาพของตนเองว่าอยากจะเห็นพอร์ตของตนออกมาในแนวไหน  เช่น บางคนโดยเฉพาะคนที่ยังมีอายุไม่มากอาจจะอยากมีพอร์ตหุ้นที่เป็นแนว  “หุ้นเติบโต”  บางคนที่มีอายุมากอาจจะชอบหุ้นถูกแบบ “value” และก็รักษาพอร์ตหุ้นของตนในแนวนั้น  เป็นต้น  แต่ผมจะพูดถึงการปรับพอร์ตในสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยที่ผมคิดว่าน่าจะช่วยลดความเสี่ยงการลงทุนของเราลงได้  และสิ่งที่จะต้องเริ่มต้นก็คือการ  “เช็คสต็อก”  ของหุ้นในมือว่าแต่ละตัวและโดยรวมเป็นอย่างไรและเราควรจะทำอย่างไรกับมัน

    เริ่มต้นก็คือการตรวจสอบดูค่า PE ของหุ้นแต่ละตัวว่าเป็นเท่าไร  ถ้าค่า PE ของหุ้นตัวไหนสูงลิ่วเกิน 40-50 เท่าขึ้นไปโดยที่ไม่ได้เป็น “หุ้นฟื้นตัว” นั้น   ผมคิดว่าจะต้องระวังมากเป็นพิเศษ  โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าส่วนใหญ่เราควรจะขายหุ้นตัวนั้นทิ้งโดยไม่ต้องคิดถึงเหตุผลด้วยซ้ำ  เพราะผมคิดว่าเหตุผลที่คนจะยกมาเป็นข้ออ้างในการถือหุ้น PE สูงแบบนี้นั้น  มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้สูงและผลจากความผิดพลาดจะทำให้ราคาหุ้นตกลงมาได้มากเกินกว่าโอกาสที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นถ้าเราคิดถูก   เพราะเหตุผลที่หุ้นมีค่า PE สูงมากนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็คือการที่คนคาดหวังว่าหุ้นจะมีกำไรเติบโตมหาศาลและเติบโตต่อไปอีกนาน  แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นดูเหมือนว่าความเป็นไปได้อาจจะน้อยลงไปมาก   เราควรจะต้องตระหนักว่าประเทศไทยกำลังผ่านจากเศรษฐกิจโตเร็วกลายเป็นโตช้าหรือปานกลาง  ภาพใหญ่ตรงนี้จะทำให้บริษัทโดยรวมในประเทศก็จะไม่สามารถโตได้เร็วเหมือนในอดีต   “หุ้น PE สูงที่โตช้า” อาจจะกลายเป็น  “หายนะ”  ได้  ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหุ้น PE 80 เท่าตกลงมาเหลือ PE 20 เท่า?

    หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่เราต้อง  “เช็คสต็อก”  ว่าเราอาจจะถืออยู่ก็คือ  “หุ้นน่าสงสัย”   นี่คือหุ้นที่อาจจะ  “ดูดีเกินไป”  โดยที่เหตุผลที่ดูดีนั้นไม่ค่อยชัดหรือดูไม่มีเหตุผลเพียงพอ   คำว่าดูดีเกินไปนั้นก็คือเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเดียวกัน  มีการดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกันมาก    เช่น  บริษัทมีกำไรต่อยอดขายสูงกว่าคู่แข่งมากโดยที่สินค้าหรือบริการของบริษัทนั้นไม่ได้แตกต่างกับคู่แข่งหรือว่าที่จริงเป็นรองด้วยซ้ำ  คำถามของเราอาจจะเป็นว่าบริษัททำได้อย่างไร?  คำตอบที่อาจจะได้รับเป็นมาตรฐานจากผู้บริหารบริษัทก็คือ  พนักงานของเขาเก่งกว่าหรือมีคุณภาพดีกว่าคู่แข่ง  ซึ่งคำตอบแบบนี้สำหรับผมแล้ว  ผมไม่เชื่อ  ผมคิดว่าพนักงานจะเก่งหรือไม่อยู่ที่ระบบและประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติงานในระบบที่เหนือกว่า  ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนสองคนที่เรียนจบมาสาขาเดียวกันได้คะแนนเท่ากัน  แต่คนหนึ่งไปทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับสากลแต่อีกคนหนึ่งทำงานบริษัทเล็ก ๆ แบบครอบครัว  ผ่านไป 3-4 ปี  ใครจะเก่งกว่ากัน?

    หุ้นที่ “ดูดีเกินไป” นั้น  มีความเสี่ยงว่ามันอาจจะเป็นบริษัทที่ผู้บริหารมีการ  “ตกแต่งบัญชี”  ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย  เพื่อให้ผลประกอบการของบริษัท “ดูดี” อย่างน้อยในระยะเวลาหนึ่ง  เหตุผลอาจจะมีหลายอย่าง  แต่ที่มักจะเป็นก็คือการที่ผู้บริหารที่มักจะเป็นเจ้าของบริษัทด้วยนั้นต้องการ  “สร้างราคาหุ้น” เพื่อที่จะทำกำไรจากหุ้นในช่วงเวลานั้น  หรือไม่ก็เป็นเพราะผู้บริหาร “โกงเงินบริษัท” โดยการที่ทำให้ตัวเลขดูดีซึ่งทำให้คนไม่สงสัย  แต่ทั้งหมดนี้ในที่สุดแล้วสิ่งที่ดูดีทั้งหลายก็จะ  “แตก”  ในวันใดวันหนึ่ง  และวันนั้นหุ้นก็จะตกลงมาสู่พื้นฐานที่แท้จริง  บ่อยครั้งผู้บริหารก็มักจะเลือกช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเลวร้ายเพื่อที่ว่าคนจะได้ไม่สงสัยว่าผู้บริหารเป็นคนทำ  คิดว่าเป็นเรื่องของภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจหรือสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย

    หุ้นบางตัวนั้นเราอาจจะถือมานานและเชื่อว่ามันเป็นกิจการที่ดี  แต่มันอาจจะเป็นกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงโดยเฉพาะจาก “สังคมดิจิตอล”  ที่กำลัง Disrupt หรือทำลายธุรกิจเดิมอย่างแรง  นาทีนี้บริษัทอาจจะยังดูดีอยู่และมีผลประกอบการที่น่าประทับใจ  ราคาหุ้นก็ยังขึ้นไปเรื่อย ๆ  แต่เราต้องระวังว่าในที่สุดแล้ว  แม้แต่บริษัทที่ดีเยี่ยมที่สุดในกลุ่มก็อาจจะเอาตัวไม่รอดเมื่อ  “การปฏิวัติ” ทางดิจิตอลดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ   ถ้าเราสรุปว่าอย่างนั้น  ทางเลือกที่ดีก็คือ  ขายหุ้นเหล่านั้นเสียในช่วงที่มันยังขายได้ราคาดีอยู่

    หุ้นเกือบทุกตัวนั้น  เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและตัวบริษัทเอง  หุ้นที่เราเคยซื้อไว้และเชื่อว่ามันเป็นหุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็วอาจจะเปลี่ยนไปแล้วกลายเป็นหุ้นโตช้าหรืออิ่มตัว  ดังนั้น  หน้าที่ของเราก็คือการติดตามตัวหุ้นตลอดเวลา  ดูผลประกอบการเป็นระยะ  วิเคราะห์ภาพใหญ่ประกอบกับคู่แข่ง  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้เพื่อที่จะดูว่าหุ้นมีหรือกำลังมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติสำคัญหรือไม่และเราควรทำอะไรกับมัน  และนี่ก็คือการหมั่น  “เช็คสต็อก” หุ้นในพอร์ต  โดยเฉพาะในสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ผมคิดว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพื้นฐานในหลาย ๆ  อย่างที่เราจะต้องจับตามองอย่างพินิจพิจารณา
[/size]



ตอบกลับโพส