โค้ด: เลือกทั้งหมด
เวลาพูดถึงเรื่องของการลงทุน คนทั่วไปรวมถึงนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นที่ยังเป็นมือใหม่มักจะคิดถึงกิจกรรมหรือการเล่นที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ เป็นกิจกรรมที่ “ดุเดือดเลือดพล่าน” ที่นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นต้องมีไหวพริบและกลยุทธ์หรือกลเม็ดเด็ดพรายรอบตัวที่เหนือกว่าคนอื่น นอกจากนั้น พวกเขาก็ยังต้องมีความรวดเร็วตัดสินใจเด็ดขาดได้แบบนาทีต่อนาที จิตใจต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว บางทีก็ต้องพร้อมที่จะ “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” บางครั้งก็สามารถ “ทุ่มสุดตัว” ได้ทันทีเมื่อ “โอกาสมาถึง” เรื่องราวหรือ Story ของการลงทุนแต่ละครั้งของนักลงทุนแต่ละคนโดยเฉพาะที่เป็น “เซียน” ดูมีสีสันน่าตื่นเต้น บางครั้งทำกำไรมโหฬารในเวลาอันสั้น บางคนก็พลาดเสียหายหนัก ทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของฝีมือและ/หรือโชคบ้าง เกมของการลงทุนนั้นดูเหมือนไม่มีใครคิดว่าน่าเบื่อเลย คนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนุกและคนจำนวนมากอยากทำ อยากเลือกหุ้นลงทุน สนุกกับการ “ลุ้น” ว่าหุ้นจะขึ้นไปแค่ไหนและจะได้กำไรเท่าไร
แต่ความเป็นจริงก็คือ ภาพที่เห็นอาจจะไมตรงกับความเป็นจริง ความน่าตื่นเต้นเร้าใจอาจจะไม่ได้แปลงออกมาเป็นผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน คนลงทุนที่ตื่นเต้นและสนุกกับการลงทุนอาจจะแพ้คนที่ลงทุนแบบน่าเบื่อหน่าย เซียนหุ้นที่ดูน่าตื่นเต้นมีเรื่องราวการลงทุนที่โดดเด่นน่าติดตามมากกรณีนั้นอาจจะแพ้เซียนที่ดูเงียบเหงาน่าเบื่อหน่ายไม่เคยมี “หุ้นเด็ด” ที่ลงแล้ว “เปลี่ยนชีวิต” ภายในปีสองปีหรือน้อยกว่านั้น ประวัติศาสตร์ของการลงทุนและนักลงทุนนั้นบอกให้เรารู้ว่า การลงทุนนั้นเป็นเกมที่เชื่องช้าน่าเบื่อ วอเร็น บัฟเฟตต์ บอกว่าเหมือนตัวสล็อตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคลื่อนไหวช้าที่สุดในโลก ผมเองคิดว่ามันเป็นเรื่องของเต่าที่เดินช้าแต่มีกระดองที่ไม่มีใครทำอะไรมันได้ ถ้าเปรียบเทียบกับสงคราม มันคือสงครามยืดเยื้อที่น่าเบื่อหน่ายไม่ใช่สงครามสายฟ้าแล็บ ถ้าเปรียบกับการแข่งขันกีฬามันก็เป็นการแข่งวิ่งมาราธอนไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร มันไม่ตื่นเต้นยกเว้นเฉพาะตอนได้ชัยชนะหรือถึงเส้นชัย แต่ในระหว่างทางนั้นบางทีก็มีแต่อุปสรรค หลายครั้งเราหมดหวัง ความอดทนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรายังอยู่ในสนามหรืออยู่ในเกม การ “เอาตัวรอด” เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่ง กลยุทธ์ส่วนใหญ่ที่เราใช้ก็เป็นไปตามนั้น ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้นในระหว่างทางที่ยาวไกล
เรื่องราวของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นดูมีสีสันและน่าตื่นเต้น คนอาจจะคิดว่านี่คือสิ่งที่บอกว่าเกมการลงทุนเป็นเกมที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่นี่เกิดขึ้นเพราะเขารวยมากแล้วและดังระดับโลกเพราะผลงานที่สะสมมานานจนเป็นที่ประจักษ์ แต่ถ้าดูผลงานการลงทุนเฉพาะตัวหุ้นหรือผลงานของพอร์ตของเขาเราก็อาจจะได้เห็นอีกภาพหนึ่งว่าจริง ๆ แล้ว หุ้นที่เขาลงและผลงานของพอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้น ไม่ได้หวือหวาอย่างเซียนในระดับเดียวกันเลย หุ้นแต่ละตัวที่เขาลงทุนนั้นดูธรรมดามาก เป็นหุ้นเก่า ๆ ที่อยู่มานานมีคนซื้อขายกันจนไม่มีอะไรน่าสนใจแล้ว ราคาหุ้นก็ไม่ได้หวือหวาอะไรเลยก่อนหน้านั้นรวมทั้งผลประกอบการของบริษัทเองก็เป็นแบบเดียวกัน ตัวอย่างเช่นหุ้นโค๊ก หุ้นใบมีดโกนยิลเล็ต หุ้นซอสมะเขือเทศไฮนน์ ที่เขาซื้อหลังจากที่บริษัทอยู่มาหลายสิบปีและกิจการก็โตมาจนน่าจะ “อิ่มตัว” แล้วในสายตาของคนทั่วไป เป็นต้น
หุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อเองนั้น ก่อนที่เขาจะดังระเบิดอย่างในวันนี้ ราคาหุ้นก็มักจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นหวือหวา และในเวลาต่อมามันก็ไม่เคยปรับตัวขึ้นรุนแรงกลายเป็นหุ้น “ขวัญใจ” ที่ทุกคนหันมาเล่นกันและราคาขึ้นเป็นเท่า ๆ หรือหลาย ๆ เท่าในเวลาอันสั้น หุ้นที่เขาซื้อนั้นมักจะขึ้นไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ แต่ไม่ค่อยลงเพราะมันเป็นกิจการที่เข้มแข็งมีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอย่างยั่งยืน ดังนั้น กำไรมันมั่นคงแน่นอนซึ่งทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้ในเกือบทุกสถานการณ์ เวลาผ่านไปยิ่งนาน ราคาก็ยิ่งขึ้นไป พอถึงวันหนึ่งคนค่อยตระหนักว่ามันคือหุ้น “สุดยอด” ที่ไม่เคยดังจริง ๆ เลย ไม่เคยขึ้นหวือหวาและคนกล่าวขวัญถึง คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดจะซื้อในระหว่างทางเพราะมันดูนิ่ง ๆ ไม่น่าสนใจไม่มีเรื่องราวโดดเด่น นี่คือหุ้นน่าเบื่อแต่มันทำเงินในระยะยาว “ที่เส้นชัย”
พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้น ดูน่าประทับใจมาก แต่นี่เกิดขึ้นหลังจากเวลาผ่านมานานมากหลายสิบปี ในระหว่างทางนั้นมันก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไรนัก แต่ละปีมีหุ้นน้อยตัวในพอร์ตที่วิ่งขึ้นเป็น “กระทิงดุ” ดังนั้นมันจึงไม่มีข่าวอะไรที่มีสีสันเหมือนกับเซียนคนอื่น ๆ หลายคน ผลงานการลงทุนของพอร์ตของบัฟเฟตต์ที่น่าสนใจแต่ไม่น่าตื่นเต้นก็คือ เขาไม่ค่อยจะขาดทุนเลยไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร ประมาณ 60 ปีที่ผ่านมาพอร์ตของเขาน่าจะขาดทุนไม่เกิน 6 ครั้ง เช่นเดียวกัน การเติบโตของพอร์ตของเขาปีต่อปีก็สูงแต่ไม่น่าตื่นเต้นที่ประมาณ 20% บวกลบ แต่แทบจะไม่มีเลยที่พอร์ตจะกำไรเกิน 50% ต่อปี
เวลาจะซื้อหุ้นหรือเทคโอเวอร์บริษัทเองนั้น สำหรับบัฟเฟตต์เองก็ดูเหมือนว่ามันไม่ได้ดูตื่นเต้นอะไร เขานั่งทำงานอยู่ในออฟฟิสตั้งแต่เช้ายันเย็นเป็นส่วนใหญ่ ใช้เวลากับการอ่านเป็นหลัก เขาไม่เคยดิ้นรนวิ่งไปหาผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการเพื่อหาข้อมูลลึกแนว Inside หรือขอซื้อหุ้นหรือกิจการในราคาพิเศษ เขา “รอ” ไปเรื่อย ๆ รอให้มีคนเสนอขายกิจการหรือรอให้หุ้นที่เขาสนใจมีราคาที่เหมาะสมแล้วก็ตัดสินใจลงมือทำ เขาไม่เสนอตัวไปแข่งกับใครหรือพยายามเข้าไปคุยหาดีลกับบริษัท ดังนั้นเขาจึงค่อนข้างจะมีเวลาว่างมากกว่าทรัพย์สินหรือสถานะของเขามาก ชีวิตประจำวันของเขานั้น แม้ว่าส่วนตัวเขาเองจะคิดว่าไม่เป็นชีวิตที่น่าเบื่อเพราะเขาบอกว่าเขารักงานของเขาและมีความสุขทุกวันที่ไปทำงาน แต่มองจากภายนอกแล้ว เราคงรู้สึกว่า “น่าเบื่อ” เพราะวัน ๆ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้ทำอะไรนัก
ประสบการณ์ของผมจากการศึกษานักลงทุนที่เป็นหรือเคยเป็น “เซียน” ทั้งในระดับโลกและในตลาดหุ้นไทยผมคิดว่ามีบทเรียนที่น่าสนใจก็คือ นักลงทุนส่วนใหญ่และคนในแวดวงตลาดหุ้นต่างก็ชอบลงทุนหรือเล่นหุ้นที่น่าตื่นเต้น เป็นหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ๆ ทั้งในเรื่องของพื้นฐานของกิจการและราคาหุ้น พวกเขาจะเชียร์กันสนั่นเมื่อมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์หรือมีคุณสมบัติดังกล่าว และก็จะเข้ามาซื้อขายหุ้นหรือลงทุนอย่างหนัก นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “ขาใหญ่” ที่เข้าไปโหมซื้อจนมีสถานะเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” เมื่อมีการประกาศในข้อมูลของบริษัทเขาก็จะได้รับการสรรเสริญชื่นชมว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นได้ดีเด่นและ “ทำกำไร” เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปแรง จากนั้นก็อาจจะมีคนซื้อตามและส่งเสริมให้หุ้นได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น คนจำนวนมากที่เข้าไปซื้อก่อนหน้านั้นได้กำไรและก็รู้สึกถึงความตื่นเต้นและพึงพอใจ เวลาต่อมาหุ้นตัวนั้นก็อาจจะตกลงมาแรงเมื่อผลประกอบการอาจจะไม่ดีตามที่คาด หรือบางทีก็อาจจะดีแต่ราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐานไปมากทำให้นักลงทุนบางส่วนรวมถึงรายใหญ่อาจจะขายหุ้นทิ้งทำให้ราคาลดลงมามาก คนจำนวนมากที่เข้าไปทีหลังขาดทุนอย่างหนัก บางครั้งนักลงทุนรายใหญ่ก็ขาดทุนเช่นกันหาก “ปล่อยของ” ไม่ทัน โดยรวมแล้วคนที่กำไรและคนที่ขาดทุนอาจจะพอ ๆ กันหรือแตกต่างกันก็ได้แต่คนที่ขาดทุนมักไม่พูดแต่คนที่กำไรพูดไปแล้วทั้ง ๆ ที่ต่อมาอาจจะขาดทุนทีหลัง
ผมเองเห็นคนที่ทำผลงานเป็นกรณี ๆ หรือหุ้นเป็นตัว ๆ ได้น่าประทับใจอยู่พอสมควร ซึ่งก็เกิดความรู้สึกว่ากำไรของพอร์ตโดยรวมน่าจะดีมาก—ทุกปี อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปหลาย ๆ ปี ผมเองก็ไม่ได้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมีผลการลงทุนแบบทบต้นที่โดดเด่นมาก ๆ อย่างที่คิด แน่นอนว่าคนที่ลงทุนหรือแม้แต่เก็งกำไรแบบ Aggressive ในช่วง “ยุคทอง” ที่ผ่านมาต่างก็รวยในระดับหนึ่งทั้งนั้น แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาก็ไม่ได้ทำได้เหนือกว่านักลงทุนที่ “ลงทุนเต็มร้อย” แบบ “น่าเบื่อ” เช่นเดียวกัน ดังนั้น ผมจึงสรุปโดยอาศัยประสบการณ์การอ่านจากต่างประเทศว่า การลงทุนแบบที่รู้สึกว่า “น่าเบื่อ” นั้น ดีกว่าการลงทุนที่รู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลา