หุ้น Assets Play/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

หุ้น Assets Play/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » อาทิตย์ ต.ค. 01, 2017 3:58 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    เมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว  เพื่อนนักลงทุน “VI” คนหนึ่งของผมได้บอกกับผมว่าเขาได้เข้าไปซื้อ “หุ้นปั่น”  ตัวหนึ่งที่มีราคาตกลงมามากเพราะ “เจ้ามือ” ทิ้งหุ้นแล้ว  ราคาตกลงมาน่าจะเกิน 70%  อย่างไรก็ตาม  บริษัทก็ไม่มีทางล้มละลาย  ตรงกันข้าม  บริษัทมีเงินสดจำนวนมากที่ได้มาจากการเพิ่มทุนก่อนหน้านั้นมากกว่า Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทหลายสิบหรืออาจจะเกินร้อยเปอร์เซ็นต์และที่สำคัญแทบไม่มีหนี้เลย  ดังนั้น  ในทางทฤษฎีแล้ว  ถ้าเราสามารถซื้อหุ้นจนสามารถควบคุมบริษัทได้  เราก็สามารถนำเงินสดคืนผู้ถือหุ้นซึ่งจะทำให้เราได้กำไรงดงามทันที  นี่เป็นกรณีของหุ้น Assets Play อย่างสมบูรณ์  ที่สำคัญ  รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดก็มีหุ้นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์  กลายเป็นบริษัทที่  “ไม่มีเจ้าของ”  ดูเหมือนว่าเราอาจจะสามารถกวาดซื้อหุ้นเพื่อให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเข้าไป “Unlock” หรือ “ปลดปล่อย”  ทรัพย์สินที่มีอยู่ในบริษัทซึ่งก็คือเงินสดเกือบทั้งหมดได้  เพราะบริษัทมีทรัพย์สินอย่างอื่นน้อยมาก  มันแทบจะเป็น  “Cash Company”  หรือบริษัทที่มีแต่เงินสดเพียงอย่างเดียว

    ผมฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันอาจจะเป็นโอกาสทำเงินได้เหมือนกันเพราะดูเหมือนว่าหุ้นจะมีราคาถูกจริง ๆ  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่ได้สนใจศึกษาหรือทำอะไรต่อ  เหตุผลก็คือ  ผมไม่อยากจะยุ่งกับหุ้นที่มีชื่อเสียงหรือว่าที่จริงต้องเรียกว่า “ชื่อเสีย” ในด้านของบรรษัทภิบาลอย่างร้ายแรงและเป็น “หุ้นปั่น”  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมคิดว่ามันมีความเสี่ยงสูงในการปลดปล่อยทรัพย์สินที่บริษัทถืออยู่แม้ว่ามันจะเป็นเงินสด  กระบวนการในการที่จะเข้าไปควบคุมจำนวนหุ้นที่ถือให้เพียงพอที่จะมีอำนาจเด็ดขาดก็อาจจะไม่ง่าย  ไม่ต้องพูดถึงความยุ่งยากต่าง  ๆ  ในการจัดการบริษัท  ในประสบการณ์และความทรงจำของผม  ยังแทบไม่เคยมีบริษัทหรือหุ้นตัวไหนในประเทศไทยที่เราสามารถ Unlock ทรัพย์สินได้จริง ๆ   เราไม่มี “Take Over Artist” หรือคนที่หากินจากการเข้าไป Take Over บริษัทในตลาดแล้วเอาทรัพย์สินไปตัดขายทำกำไรอย่างงดงามให้กับคนที่ทำ

    ต่อมาผมก็ได้ข่าวว่าบริษัทหรือก็คือผู้บริหารของบริษัทนำเงินสดทั้งหมดไปซื้อทรัพย์สินที่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถนำไปทำธุรกิจหรือแม้แต่ขายต่อในราคาเดิมได้  บริษัทที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีปัญหาทางการเงินอะไรได้ในช่วงก่อนหน้านั้นสุดท้ายก็มีปัญหาหนักในเวลาอันสั้น  หุ้นถูก SP หรือระงับการซื้อขายในตลาดซึ่งทำให้นักลงทุนเสียหายอย่างหนัก  และนี่ก็น่าจะเป็นบทเรียนของการลงทุนหรือเล่นหุ้น Assets Play ที่อาจจะดูว่าปลอดภัยและไม่มีโอกาสขาดทุนเพราะบริษัทมีทรัพย์สินสุทธิที่มากกว่า Market Cap. มาก

    แต่หุ้น Assets Play นั้นยังไงก็คงไม่หมดไปและมันก็จะยังคงท้าทายให้คนเข้าไปเล่นหรือลงทุนเสมอ  เหตุผลหนึ่งก็คือ  มันคือหุ้นที่สามารถ “เห็นได้ชัด” ว่า “ราคาถูก”  คุณสามารถ “ซื้อเงิน 1เหรียญได้ในราคา 50 เซ็นต์” จากหุ้นที่มีทรัพย์สินมากกว่ามูลค่าหุ้นของมันมาก  แต่เราจะเล่นอย่างไร?

    ก่อนอื่นเลยเราจะต้องดูว่าทรัพย์สินที่มีอยู่นั้นเป็นอะไร  ถ้าเป็นอาคาร  โรงงานหรือเครื่องจักร  โอกาสที่ราคาหรือมูลค่าของมันจะไม่เป็นจริงก็จะมีอยู่สูง  โรงงานที่ “ล้าสมัย” ในด้านของเทคโนโลยีแล้วแม้ว่าในทางบัญชีจะมีค่าสูงแต่ในความเป็นจริงอาจจะมีค่าเท่ากับ “เศษเหล็ก”  สต็อกวัตถุดิบหรือสินค้าเองก็อาจจะมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าในบัญชีมาก  หรือในกรณีที่เป็นบริษัท “ปกติ” ที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่และไม่ได้มีปัญหาว่าเป็นธุรกิจตะวันตกดิน  เบน เกรแฮม เคยแนะนำว่าถ้าเราจะประเมินมูลค่าของบริษัทจากทรัพย์สิน  เราควรจะคิด Discount หรือลดราคาของทรัพย์สินในบัญชีด้วยตัวเลขส่วนลดที่เหมาะสม  เช่น  ถ้าเป็นเงินสด  เราอาจจะคิดเต็มจำนวน  ถ้าเป็นลูกหนี้  เราคิดลด 25%  คือคูณตัวเลขลูกหนี้ด้วย 0.75  สต็อกสินค้าลด 50% คือคูณด้วย 0.5  เครื่องจักร อาจจะคูณต่ำกว่านั้นอีก  เป็นต้น  พอได้ตัวเลขทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว  ก็เอาหนี้สินทั้งหมดมาหัก  หนี้สินนั้นไม่ต้องคิดลดเพราะเราต้องจ่ายเต็มจำนวนอยู่แล้ว  ตัวเลขที่ได้ก็คือทรัพย์สินสุทธิที่จะเหลือเป็นส่วนของเจ้าของ   ถ้าตัวเลขนี้สูงกว่า Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นมากก็อาจจะเป็นเครื่องแสดงว่าหุ้นตัวนี้มีราคาถูกเป็นหุ้น Assets Play ได้

    ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินดูเหมือนว่าจะน่าสนใจเพราะว่าบริษัทจำนวนไม่น้อยมักมีที่ดินที่ถือมานานและราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมาก  ถ้าเราตีราคาที่ดินตามราคาตลาดหรือราคาประเมิน  อาจจะพบว่าบริษัทมีทรัพย์สินมากและกลายเป็นหุ้น Assets Play ได้  อย่างไรก็ตาม  ต้องดูด้วยว่าที่ดินนั้นสามารถขายได้ง่ายหรือไม่  ซึ่งที่ดินที่ขายได้ง่ายส่วนใหญ่ก็คือที่ดิน  “กลางเมือง”  หรือมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีความต้องการทันที  ในกรณีแบบนี้  เราจะต้องคิด “ส่วนลด” ด้วยเช่นกัน  เพราะการขายได้กำไรมากอาจจะต้องเสียภาษีกำไรจากการขายซึ่งอาจจะสูงมากเพราะต้นทุนที่ดินอาจจะต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาขาย

    ทรัพย์สินที่ดูเหมือนว่าจะน่าสนใจที่สุดก็คือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทลูกหรือบริษัทร่วม  เพราะนี่คือทรัพย์สินที่มีตัวเลขราคาเสนอซื้อแน่นอนทุกวัน  พูดง่าย ๆ  มันมี “ราคาตลาด” ที่บริษัทสามารถขายได้จริงไม่ใช่ตัวเลข “ราคาประเมิน”   จริงอยู่  การขายจำนวนมากอาจจะทำไม่ได้ในหลายกรณี  แต่ในบางกรณีก็อาจจะขายได้จริงถ้าอยากขาย  อย่างไรก็ตาม  การขายจริงก็มักทำให้ต้องเสียภาษี  ดังนั้น  ก็จำเป็นที่จะต้อง “คิดลด” เช่น  ตามอัตราภาษีนิติบุคคลที่ 20%  เป็นต้น

    พูดมาถึงจุดนี้ก็เป็นในเรื่องของการคำนวณวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงตามมูลค่าของทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อที่จะดูว่าบริษัทเข้าข่ายเป็น Assets Play หรือไม่  แต่ในความเป็นจริง  มีโอกาสน้อยมากที่เราจะ “Break Up” หรือตัดขายทรัพย์สินของบริษัทจริง ๆ  สิ่งที่เราควรพิจารณาก็คือ  การดูว่าจะมีโอกาสที่ทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากนั้นจะสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคตและสร้างได้ครั้งเดียวหรือยาวนานหรือตลอดไปและกำไรนั้นคุ้มค่ากับ Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของบริษัทไหม   สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะทำอย่างนั้นหรือไม่ด้วย

    ประสบการณ์ของผมก็คือ  การปลดปล่อยทรัพย์สินของหุ้น Assets Play โดยทั่วไปในตลาดหุ้นไทยนั้นมีน้อยมาก  ดังนั้น  ผมจึงมักจะไม่สนใจหุ้นแบบนั้นเลย  ยกเว้นหุ้นกลุ่มเดียวที่เป็นบริษัทแม่หรือ Holding Company หรือบริษัทที่ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนอื่น  โดยที่หุ้นที่ถืออยู่มีมูลค่าสูงมากและบางกรณีมีมูลค่าหุ้นรวมกันสูงกว่า Market Cap. ของบริษัทแม่ด้วยซ้ำ

    เหตุผลที่หุ้นเหล่านี้น่าสนใจสำหรับผมนั้น  ไม่ใช่เพราะผมคิดว่าบริษัทจะสามารถขายหุ้นลูกเพื่อเอาเงินมาแบ่งหรือคืนให้ผู้ถือหุ้นเพราะนั่นคงเป็นไปไม่ได้  แต่เป็นเพราะว่ามันเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นที่น่าสนใจในราคา Discount หรือมี “ส่วนลดพิเศษ”   ความหมายก็คือ  ถ้าเราสนใจและคิดว่าบริษัทลูกหรือหุ้นที่บริษัทถืออยู่นั้น  มีราคาไม่แพงหรือยุติธรรมและเราก็อาจจะอยากซื้อ  แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น  เราก็อาจจะไปซื้อบริษัทแม่ที่มีราคาถูกกว่าแทน  เพราะ “ซื้อแม่ก็ได้ลูก”   โอกาสที่เราจะทำกำไรได้ดีกว่าหรือมีความปลอดภัยสูงกว่าก็มากขึ้น—ในระยะยาว

    คำถามสุดท้ายก่อนจบก็คือ  ทำไมคนจึงไม่ชอบลงทุนใน “บริษัทแม่” ที่มีราคาถูกกว่าลูก  คำตอบของผมก็คือ  หุ้นบริษัทลูกมักจะ “โตเร็ว” และมีความหวือหวากว่าแม่ซึ่งทำให้คนให้ราคาสูง  นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่าบริษัทลูกเป็น  “Pure Play” คืออิงกับธุรกิจเฉพาะอย่างที่อาจจะโตเร็ว  ในขณะที่แม่เองนั้นมักจะมีหลายธุรกิจปนกัน  หุ้นจะไม่ค่อยวิ่งเวลาที่สถานการณ์ดี  พูดง่าย ๆ  ในภาษานักเลงลงทุนก็คือ  มัน “มัน” กว่า  แต่สำหรับ VI แล้ว  เราชอบเงินและความปลอดภัยจากการลงทุนมากกว่าความสนุกสนานจากการเล่น  เราจึงเลือกแม่
[/size]



ตอบกลับโพส