ปรับธุรกิจและประเทศเพื่อรับกับความท้าทายในอนาคต

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

ปรับธุรกิจและประเทศเพื่อรับกับความท้าทายในอนาคต

โพสต์ โดย Thai VI Article » จันทร์ ต.ค. 02, 2017 6:31 pm

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    สัปดาห์นี้ ดิฉันขอเล่าถึงเนื้อหาของการสัมมนาใหญ่ของปี ACMA Business Forum ซึ่งจัดโดย สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน หรือ สวตท. เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน 2560 ให้ท่านได้รับทราบ ด้วยมองเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ ทั้งของภาครัฐ และของภาคเอกชน เพื่อเตรียมรับกับยุคดิจิตอลอันท้าทาย

    รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวถึงการบริหารเศรษฐกิจว่า ความเชื่อมั่นเป็นปัจจัยหลัก  รัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ทั้งกับคนไทยและ นักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งได้ผลมาแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลี  และท่านย้ำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศ

    ในระยะต่อไป ท่านรองนายกรัฐมนตรี อยากเห็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งในภาครัฐ เป็นภาครัฐแบบดิจิตอล และกระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัว ปรับรูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการ ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อทั้งในและต่างประเทศ

    อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่มาก โดยรัฐบาลมุ่งพัฒนาให้ผู้มีรายได้น้อยมีการศึกษาที่ดีขึ้น สามารถนำเทคโนโลยี มาช่วยในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ และสามารถนำข้อมูล และเทคโนโลยีมาใช้ ในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน

    ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กระตุ้นให้ภาคเอกชนช่วยสนับสนุนภาครัฐ และภาคการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องนวัตกรรม โดยได้กล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจทำให้ e-government เกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนเอกชนในการทำงาน เพื่อให้ทุกคนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะดูแลในเรื่องของการใช้ big data ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ภาคเอกชนต้องปรับตัวให้เร็ว

    การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลของประเทศ นอกเหนือจากการมุ่งเพื่อพัฒนาให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแล้วยังมุ่งเน้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นพื้นฐานของปัญหาหลายๆปัญหาในประเทศ

    “โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน” คือข้อคิดในการพัฒนาคนที่ ดร. พิเชฐ ฝากไว้ในที่สัมมนา

    สำหรับการปรับตัวเพื่อรับกับอนาคตนั้น คุณกานต์ ตระกูลฮุน ฝากเอาไว้ว่า นวัตกรรม และ การวิจัยและพัฒนา เป็นกุญแจสู่ความอยู่รอดและความสำเร็จจริงๆ และการสร้างให้คนเกิดความกล้าที่จะใช้งบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่เมื่อทำได้แล้ว ก็พิสูจน์ได้ว่าคุ้มค่า เพราะเราจะสามารถหนีพ้นจากการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่แข่งกันด้วยราคา มาเป็นสินค้าที่แข่งกันด้วยคุณลักษณะที่ลูกค้าต้องการ ผู้บริหารต้องไปดูงาน ดูว่าองค์กรต่างๆที่มี นวัตกรรม จะสามารถแปรสภาพจากองค์กรธรรมดาๆ ขึ้นมาเป็นองค์กรใหม่ได้ เพราะใส่ใจในการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง

    มีประเด็นเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อรับกับอนาคต พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ คุณพรรณสิรี อมาตยกุล และคุณอริยะ พนมยงค์ ได้แนะนำดังนี้

    มีโอกาสในโลกมากมาย เนื่องจากคนทั่วโลกยังมีปัญหาต่างๆ หากเราเห็นโอกาส เราสามารถนำดิจิตอลเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆได้ การรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การตัดสินใจเร็ว โดยมีข้อมูลสนับสนุน และความสามารถในการทำได้เร็ว จะทำให้ธุรกิจใช้โอกาสในการเติบโตได้

    วิธีมองหาโอกาส วิธีคิดนวัตกรรมต่างๆ หากมองจากข้างนอกเข้ามา จะเห็นได้ง่ายกว่า การมองหาจากภายใน

    หลายธุรกิจต้องปรับตัว หลายธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ

    ในการปรับธุรกิจนั้น ควรต้องสำรวจสินทรัพย์ดิจิตอลของเรา ทั้งสินทรัพย์ และทรัพยากรบุคคล ว่ามีอะไรแล้วบ้าง หากเป็นการสร้างทีมจากภายใน ควรสร้างพื้นที่ที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมา หากไม่ได้สร้างในองค์กร อาจใช้วิธีการรับคนเข้ามาเพิ่ม หรือเข้าเป็นพันธมิตร หรือร่วมลงทุน กับผู้ที่มีความชำนาญในแต่ละเรื่องอยู่แล้ว ทั้งนี้ เรื่องวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสร้างวัฒนธรรมให้เกิด การสามารถล้มเหลวได้ เมื่อล้มเหลวก็มีบทเรียน และเรื่องบุคลากรเป็นเรื่องที่สำคัญค่ะ นอกจากจะต้องดูแลพนักงานให้ดีแล้ว ยังต้องทำในสิ่งที่มีเป้าหมายด้วย เพื่อจูงใจทีมคนรุ่นใหม่

    ในการปรับเปลี่ยน มีทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยเสริมทักษะของบุคลากร ทำให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น  ระดับถัดไปคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งกับบริษัทเกิดใหม่หรือ Startup หรือ องค์กรเก่าแก่ หากเราดูแล้วเห็นโอกาส เราก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเก่า หรือทำธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่มีได้

    การจะชนะในโลกที่ทุกคนใช้ดิจิตอลมาปรับปรุงธุรกิจนั้น เราจะต้องเพิ่มความผูกพันของลูกค้า และเพิ่มประสบการณ์ให้ลูกค้า และทำเงินจากข้อมูล โดยการเก็บและบริหารข้อมูล ธุรกิจสายการบินก็สามารถติดอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อส่งข้อมูลไปใช้ในการพยากรณ์อากาศได้

    และสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ จะทำให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่ง ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวรและ คุณมาร์ค เดวาดาสัน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ส ประเทศไทย ได้ฝากข้อคิด และข้อเตือนใจไว้ว่า ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยอาจมีจุดเริ่มต้นจากการที่ผู้นำเชื่อว่ามีคุณค่า เชื่อว่าดีสำหรับองค์กร และจะได้รับการยอมรับจากสังคม ชุมชน และผู้บริโภค แม้ในปัจจุบันจะยังมีกฎหมายบังคับไม่มากนัก แต่เชื่อว่าการบังคับให้คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

    และเท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีองค์กรใดที่ทำดีแล้ว จะไม่ได้ดี และเชิญชวนให้ทุกคนทำความดี โดยปิดท้ายว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้กลับมา” เพราะความโปร่งใส นำไปสู่ความน่าเชื่อถือ เมื่อผู้ลงทุนให้ความเชื่อถือ ราคาหุ้นของบริษัทก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามมา

    สำหรับกรรมการและผู้บริหารองค์กร หน้าที่คืิอการคิดกลยุทธ์ เพื่อที่จะฝังมาตรการเรื่องการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าไปในการดำเนินงานขององค์กรค่ะ
[/size]



ตอบกลับโพส