โค้ด: เลือกทั้งหมด
คำถามหลักของปีนี้คือ สภาวะการที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างทั่วถึง และกว้างขวาง ตลอดจนราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกประมาณ 20-25% ที่เกิดขึ้นในปี 2017 จะเกิดขึ้นอีกในปี 2018 ได้หรือไม่
คำตอบสั้น ๆ ในความเห็นของผมคือเป็นไปได้ หากเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยในปี 2018 เช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี 2017
อัตราเงินเฟ้อที่ว่านี้คือ Core Consumer Expenditure Inflation (core PCE inflation) ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐต้องการให้ปรับตัวสูงถึง 2% แต่น่าจะอยู่ที่ 1.5 % .ในปี 2017(ตัวเลขเดือนธ.ค. ยังไม่ออกมา) แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวเป็นลำดับแล้วตั้งแต่ปี 2010 จนกระทั่งอัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียง 4.1% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่ประมาน 5.0-5.5%
สภาวการณ์ในปี 2017 ที่เอื้ออำนวยต่อการปรับตัวขึ้นขอราคาหุ้นทั่วโลกนั้นสามารถสรุปได้ว่าปัจจัยสนับสนุนคือ 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างครอบคลุมและกว้างขวาง 2. การที่กำไรของบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก 3.เงินเฟ้อของโลกอยู่ที่ระดับต่ำ ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวต่ำ 4.ธนาคารกลางโดยรวมยังดำเนินนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลายอย่างมาก 5.เงินดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้ไม่มีความกังวลกับประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ที่มีหนี้สินเป็นเงินดอลลาร์และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนั้นผูกโยงกัน กล่าวคือ การที่เงินเฟ้อของโลกอยู่ที่ระดับต่ำนั้น ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวไม่ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วยให้รัฐบาลและบริษัทใหม่ ๆ มีต้นทุนทางการเงินต่ำ (จึงทำกำไรได้ดีขึ้น) และทำให้หุ้นดูราคาไม่แพง
นอกจากนั้น ยังทำให้ธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายได้ต่อไป โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในปี 2017 และการอ่อนค่าดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับความมั่นใจในการลงทุนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด ซึ่งนำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถมีผลประกอบการและกำไรที่ขยายตัวสูงพร้อมกันโดยถ้วนหน้า
ปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกมีอาการคึกคักไปได้อีกในปี 2018 คือการที่เงินเฟ้อในสหรัฐ จะต้องไม่ปรับตัวขึ้นมาก อันจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงไปได้อีก เพราะนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนของธนาคารกลางสหรัฐคือการ “ส่งออก” เงินเฟ้อต่ำ เช่นที่เกิดขึ้นในปี 2017
อย่างไรก็ดีการที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หรืออีกนัยหนึ่งคือดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดของปี 2017 ในต้นเดือนก.ย.ที่ 2.06% มาเป็น 2.55% ในวันที่ 15 ม.ค. 2018 อาจมองได้ว่าตลาดพันธบัตรเริ่มกลัว และส่งสัญญาณเตือนว่า เงินเฟ้อจะทวีความรุนแรงขึ้นได้ในปี 2018
แต่ทั้งนี้นักวิเคราะห์ก็คาดการณ์เอาไว้แล้วว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นบ้าง จึงคาดการณ์โดยเฉลี่ยว่าดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับขึ้นไปที่ 2.9% ในปลายปี 2018 แต่หากเงินเฟ้อมาเร็วและมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับขึ้นสูงกว่า 3% ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ก็อาจเป็นข่าวเชิงลบอย่างมากสำหรับราคาหุ้น
การดูว่าหุ้นราคาแพงหรือไม่นั้น ตัวแปรตัวหนึ่งคือการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุดคือ ผลตอบแทนจากการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีนั่นเอง ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ นอกจากดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐก็จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในระยะเวลาอันสั้น และอาจทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างผิดคาด ซึ่งจะส่งผลในเชิงลบกับตลาดเกิดใหม่อีกด้วย
ประเด็นที่กล่าวข้างต้นนั้น ยังไม่ได้รวมปัจจัยลบจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าขึ้นจริง ๆ ในปี 2018 ไม่ใช่มีแต่คำขู่ดังที่เกิดขึ้นในปี 2017
ความพยายามที่จะปิดกั้นและจะลดจำนวนคนงานต่างชาติในสหรัฐ หากทำสำเร็จในปี 2018 ก็อาจทำให้การขาดแคลนแรงงานในสหรัฐเกิดขึ้นอย่างจริงจัง และผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้คาดการณ์ได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายในภาวะปกตินั้น น่าจะอยู่ที่ 2.75-3.0% ในขณะที่ดอกเบี้ยระยะยาวน่าจะอยู่ที่ 4.5-5.0% ซึ่งเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.25-1.5% และดอกเบี้ยระยะยาว (10ปี) อยู่ที่ 2.55% นั้น แปลว่าดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มให้ได้อีกเท่าตัวในระยะอันใกล้ หากเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดความคาดหมาย
ปีนี้จึงต้องฟันธงให้ถูกต้องว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะยังต่ำกว่า 2% หรือจะปรับตัวสูงขึ้นเกินความคาดหมายครับ