ตลาดคู่/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

ตลาดคู่/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » อาทิตย์ ม.ค. 28, 2018 4:31 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    การคิดอะไรเป็น “คู่” นั้น  ดูเหมือนว่าจะมีอยู่ในศาสตร์ที่หลากหลายมาก  ผมคิดว่าการ “จับคู่” นั้นน่าจะทำให้เราสามารถอธิบายและเข้าใจโลกและความคิดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น  กลางวัน-กลางคืน  หยิน-หยาง  สูง-ต่ำ  ตะวันออก-ตะวันตก  และอีกมากมาย  สำหรับในตลาดหุ้นนั้น  การจับคู่เพื่อเปรียบเทียบผมคิดว่ามีประโยชน์มากต่อการทำความเข้าใจในเรื่องของการลงทุน  ในหนังสือคลาสสิกของ เบน เกรแฮม เกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้น  เขามักวิเคราะห์โดยอาศัยการ  “จับคู่”  เปรียบเทียบหลักทรัพย์ 2 ตัวเพื่อที่จะบอกว่าตัวไหนจะดีกว่ากันและ/หรือถูกกว่ากัน  วิธีแบบนี้ทำให้เราเข้าใจเรื่องของการวิเคราะห์ได้ดีขึ้น   ผมเองก็มักจะใช้วิธีนี้ในการหาหุ้นที่เหมาะสมจะลงทุน  ตัวอย่างเช่น  ผมจะเปรียบเทียบระหว่างหุ้นตัวหนึ่งกับหุ้นอีกตัวหนึ่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน  ดูว่าใครเด่นกว่ากันในแง่ของโมเดลธุรกิจและการเติบโตและหุ้นตัวไหนถูกกว่าในแง่ของราคา   นอกจากนั้น  บ่อยครั้งผมยังจับคู่ข้ามธุรกิจด้วย  และคำถามที่ผมจะเปรียบเทียบบางทีก็เป็นประเด็นว่า  ถ้าให้เลือกหุ้นสองตัวที่อาจจะยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่  ผมจะเลือกตัวไหน?

    ในภาพใหญ่ของตลาดหุ้นเองนั้น  ผมเพิ่งสังเกตและพบว่ามันก็มีเรื่องของการ “แยกออกเป็นสองด้าน” และทำให้มันมีลักษณะที่ผมเรียกว่า  “ตลาดคู่”  ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจภาพของการลงทุนได้ดีขึ้น  เราจะได้ไม่ต้องสงสัยว่า  “ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น?” เวลาที่เราคิดถึงเรื่องบางอย่างแล้วเราไม่เข้าใจ

    เรื่องของตลาดคู่ที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือ  เมื่อเร็ว ๆ  นี้  อาจจะซัก 3-4 ปีที่ผ่านมา  ตลาดหลักทรัพย์บ้านเราดูเหมือนจะมีการแบ่งกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างหุ้นที่เล่นหรือลงทุนโดย  “นักลงทุน”  กับหุ้นที่เล่นกันโดย  “นักเก็งกำไร”  เป็นหลัก  โดยที่หุ้นที่เล่นหรือซื้อขายกันโดยกลุ่มคนที่เน้นการลงทุน  “ระยะยาว” ที่อิงอยู่กับพื้นฐานของกิจการและราคาหุ้นที่เหมาะสมก็จะมีลักษณะแบบหนึ่ง  และหุ้นที่เล่นโดยกลุ่มคนที่เน้นการลงทุน  “ระยะสั้น” ที่อิงอยู่กับ “การเติบโตในระยะสั้น” และสภาวะของอุตสาหกรรมและกลยุทธ์หรือสตอรี่ที่น่าตื่นเต้นของบริษัทเป็นหลักก็จะมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง  และนี่ก็ทำให้พฤติกรรมของ “หุ้นลงทุน” กับ “หุ้นเก็งกำไร”  มีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน  และมันทำให้ความคิดและทฤษฎีหลายอย่างเกี่ยวกับหุ้นใช้การไม่ได้   ตัวอย่างเช่น  ทฤษฎีที่ว่าเมื่อดัชนีตลาดปรับตัวขึ้น  ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็จะขึ้นตามนั้น   อาจจะไม่เป็นจริงมากนัก  เพราะว่าตลาดของหุ้นเก็งกำไรกับตลาดของหุ้นลงทุนนั้นเป็นคนละตลาดแม้ว่ามันจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเหมือนกัน   และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนักเล่นหุ้นส่วนบุคคลบางคนบ่นว่าหุ้นของตนไม่ขึ้นเลยทั้ง ๆ ที่ดัชนีตลาดวิ่งเอา ๆ ในช่วงเร็ว ๆ   นี้

    พฤติกรรมของ “หุ้นลงทุน” นั้น  ข้อแรกก็คือ  ราคาจะไม่หวือหวาหรือผันผวนรุนแรง  โอกาสที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นไปหรือลดลงในวันเดียวหลาย ๆ  เปอร์เซ็นต์จะมีน้อย   ปริมาณการซื้อขายหุ้นวันต่อวันก็เปลี่ยนแปลงน้อย  เหตุผลคงเป็นเพราะคนที่เข้ามาซื้อขายนั้นเน้นการวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการเป็นหลัก  และเนื่องจากพื้นฐานของกิจการโดยทั่วไปก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ  ดังนั้นราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นจึงเปลี่ยนแปลงช้า ๆ  ตามกันไป   นอกจากนั้น  หุ้นลงทุนเองก็มักจะมีการกระจายการถือหุ้นในจำนวนมากหรือเรียกว่ามี Free Float สูงและคนที่ลงทุนก็มักจะมีการกระจายไปในระดับที่มีนัยสำคัญพอ ๆ  กันไม่มีใครถือหุ้นมากกว่าใครมากนัก   ตัวอย่างเช่นกองทุนหรือสถาบันในประเทศหรือนักลงทุนจากต่างประเทศ  ดังนั้น  ราคาที่จะปรับตัวขึ้นไปสูงหรือต่ำมากก็มักจะถูกเทขายหรือช้อนซื้อจากกลุ่มนักลงทุนที่วิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทอย่างใกล้ชิด  พูดสรุปอย่างง่าย ๆ  ก็คือ  ถ้าหุ้นดี  มันก็ค่อย ๆ  ปรับตัวขึ้นไปช้า ๆ  อย่างมั่นคง  ถ้าหุ้นแย่มันก็ค่อย ๆ  ปรับตัวลงมา  โดยที่ปริมาณการซื้อขายก็อยู่ในระดับสม่ำเสมอไม่เกิน  0.1-0.2% ของ Market Cap. ของบริษัทต่อวัน

    หุ้นตัวใหญ่ ๆ  หรือที่เป็นหุ้นบลูชิพนั้น  ส่วนมากก็มักจะเป็นหุ้นลงทุน  อย่างไรก็ตาม  หุ้นตัวใหญ่บางตัวที่มีบุคคลธรรมดาหรือบริษัทส่วนบุคคลถือหุ้นใหญ่และมี Free Float ไม่มาก  เช่นไม่เกิน 20-30%  ก็มีโอกาสเป็นหุ้นเก็งกำไรได้เช่นกัน  แต่นั่นก็มักจะเป็นหุ้นที่มี Market Cap. ใหญ่แต่รายได้และกำไรไม่สูงมาก  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  เป็นบริษัทที่มีค่า PE สูงมาก  อาจจะเป็น 40-50 เท่าขึ้นไปเช่นเดียวกับค่า PB ที่สูงเป็น 10 เท่าขึ้นไปและมีปันผลจ่ายไม่เกิน 1-2%  เป็นต้น

    หุ้นลงทุนนั้น  มักจะมีราคาที่ “สมเหตุผล” เมื่อเทียบกับพื้นฐานนั่นคือความแข็งแกร่งและอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน  ค่าความถูกความแพงเช่น PE นั้น  น้อยมากที่จะสูงลิ่วเป็น 40-50 เท่าขึ้นไปยกเว้นว่าบริษัทจะโดดเด่นและแข็งแกร่งเป็น Dominant Company ในอุตสาหกรรมจริง ๆ   ส่วนใหญ่แล้วหุ้นลงทุนก็มักจะมีค่า PE เกาะอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของตลาดและบวกลบตามคุณภาพและการเติบโตของบริษัทซึ่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มักจะอยู่ที่บวกลบไม่เกิน 10 เท่าจากค่า PE เฉลี่ยของตลาดปัจจุบัน  นั่นก็คือ PE ของหุ้นลงทุนจะอยู่ระหว่าง 10-30 เท่า

    ตลาดของหุ้นเก็งกำไรนั้น  ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นหุ้นตัวเล็กถึงกลางที่มี Free Float ต่ำหรือเป็นหุ้นที่มีผู้ถือหุ้น  “รายใหญ่” ถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ถือหุ้นรายเล็กอื่น ๆ  มาก  ถ้าจะพูดก็อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้นที่  ถูก  “Corner”  หรือ  “ต้อนเข้ามุม”  ในระดับหนึ่ง  พูดในภาษานักเก็งกำไรรายย่อยก็คือ  เป็นหุ้นที่มี  “เจ้ามือ”  ที่คอย “ดูแลหุ้น”  หุ้นเก็งกำไรนั้น  ในบางช่วงบางตอนที่เหมาะสม  เช่น  ดัชนีตลาดหุ้นกำลังวิ่งหรือเรื่องราวและผลประกอบการของบริษัทกำลังจะออกมาดี  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นก็จะวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนค่า PE สูงมาก  บ่อยครั้งเกิน 50 เท่าหรืออาจจะสูงถึง 100 เท่าและราคาหุ้นก็มักจะยังดำรงอยู่ได้เป็นระยะเวลานานเป็นเดือน ๆ  หรือเป็นปี ๆ

    ปริมาณซื้อขายของหุ้นเก็งกำไรมักจะอยู่ในระดับสูงมาก  บางตัวมีการซื้อขายมากกว่า 0.5-1% ของ Market Cap. ต่อวันเป็นประจำ  โดยที่ราคาหุ้นก็มักจะมีความผันผวนสูงมาก  ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นหรือลง 2-3% ขึ้นไปต่อวันเป็นเรื่องปกติทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้มีข่าวอะไรใหม่น่าสนใจ  ในบางช่วงที่มีคนเสนอขายน้อย  หุ้นก็อาจจะถูก  “ลากขึ้นไป”  ถึง 10%  ราวกับว่ามี  “เจ้ามือ”  คอยจ้องทำราคาให้สูงเข้าไว้เพื่อที่ว่าเขาจะได้ทยอยขายออกได้ในราคาที่สูงในภายหลัง  พูดโดยสรุปอย่างง่ายก็คือ  ราคาของหุ้นเก็งกำไรนั้นมักจะปรับตัวขึ้นลงอย่างไม่สม่ำเสมอ  การซื้อขายหุ้นในกระดานดูเหมือนว่ามีผู้ถือหุ้นรายที่ใหญ่กว่าปกติเข้ามาซื้อหรือขายทำราคาและทำกำไรตลอดเวลาโดยที่ไม่ได้อิงกับพื้นฐานหรือผลประกอบการ  แต่ดูที่ปริมาณความสนใจของนักเล่นหุ้นรายย่อยที่เข้ามาเก็งกำไรมากกว่า

    ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ดูเหมือนว่าตลาดของหุ้นเก็งกำไรจะ “เหงา” ลงไปบ้างเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทเหล่านั้นไม่น่าประทับใจ  อย่างไรก็ตาม  นักเก็งกำไรก็ยังไม่ได้  “ถอดใจ”  ราคาหุ้นเก็งกำไรก็อาจจะปรับตัวลงบ้างแต่ก็ยังสูงลิ่วอยู่  บางทีพวกเขากำลังรอ “รอบใหม่” หรือไม่ก็กำลังประคองราคาหุ้นเพื่อขายหุ้นทิ้ง  ตรงกันข้าม  หุ้นลงทุนกำลังทำผลงานได้ดี  ราคาทยอยปรับขึ้นแม้ว่าค่า PE จะไม่ต่ำแต่ก็ยังไม่สูงเกินไป   ในความคิดของผม  ตลาดหุ้นเก็งกำไรให้ผลตอบแทนที่สูงมากมาหลายปีแล้ว  โอกาสเป็นไปได้ว่ามันใกล้ “จบรอบ”  การเข้าไปเล่นในตลาดนี้น่าจะมีผลตอบแทนคาดหวังต่ำและความเสี่ยงสูงมาก  ส่วนตลาดของหุ้นลงทุนเองนั้น  ผมคิดว่าก็คาดหวังผลตอบแทนมากไม่ได้เพราะมันก็ขึ้นมาพอสมควรเช่นกัน  ดังนั้น  ถ้าจะให้ปลอดภัย  จะต้องเลือกหุ้นลงทุนที่ Defensive นั่นคือทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายได้และราคาหุ้นถูก   ถ้าจะให้ดี PE อย่าเกิน 20 เท่า  ถ้าได้ 10 เท่าก็ยิ่งดี
[/size]



ตอบกลับโพส