แบงค์ Disrupt ตัวเอง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

แบงค์ Disrupt ตัวเอง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ โดย Thai VI Article » อาทิตย์ เม.ย. 01, 2018 5:32 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    เหตุการณ์ที่แบงค์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งประกาศว่าจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินและการทำธุรกรรมอื่นผ่านระบบดิจิตอลหรือ App. ของธนาคารบนมือถือและเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ  เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นทำให้แบงค์อื่น ๆ  แทบทั้งหมดต้องประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมตามในระดับเดียวกันหรือมากกว่า  เหตุการณ์นี้เกิดรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อและทำให้ราคาของหุ้นแบงค์ในตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาแรงแต่ก็เพียงวันสองวันก่อนที่จะทรงตัว  เหตุผลนั้นคงเป็นเพราะว่านักลงทุนตกใจเนื่องจากค่าธรรมเนียมเป็นรายได้หลักของธนาคารโดยเฉพาะที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีลูกค้ารายย่อยจำนวนมากที่ทำธุรกรรมการโอนเงินเป็นประจำ   อย่างไรก็ตาม  รายได้จากค่าธรรมเนียมในการโอนเงินผ่านแอ็บนั้นก็ยังไม่มากนัก  เหตุผลคงเป็นเพราะว่าคนไทยเองก็ยังไม่คุ้นเคยกับช่องทางนี้รวมถึงการที่อุปกรณ์และโครงสร้างของธนาคารเช่นเครื่องคิวอาร์โค้ดก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก  ดังนั้น  นักวิเคราะห์หลายคนก็เลยมีความเห็นว่ามันคงกระทบรายได้ของแบงค์ไม่มากนัก  คิดเป็นกำไรที่หายไปในปีนี้ไม่น่าจะเกิน 5%   แต่สำหรับผมซึ่งมองการลงทุนในระยะยาวแล้ว  เรื่องนี้คงต้องติดตามและวิเคราะห์ให้ไกลไปกว่านั้น

    เรื่องของการถูก Disrupt หรือ  “ถูกทำลายให้ล่มสลายอย่างรวดเร็ว” โดยเทคโนโลยีในระยะหลังนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษแม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคน  “โลว์เทค”  ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เหตุผลก็เพราะว่าผมได้เห็นสิ่งที่เทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านดิจิตอลที่สามารถทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงมากได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมากและมันเริ่มเข้ามาทำแทนมนุษย์ซึ่งทำให้กิจกรรมของคนถูกแทนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ  ผลก็คือ  บริษัทแบบดั้งเดิมที่ดำเนินการอยู่ถูกบริษัทรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแข่งขันและได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว   การ “ล่มสลาย” ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิมและบริษัทที่ทำธุรกิจนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วจนน่าตกใจโดยเฉพาะในประเทศที่มีการพัฒนาสูงกว่า

    ในประเทศไทยเองนั้นเราก็เริ่มเห็นการ  “ล่มสลาย”  หรือการใกล้ล่มสลายของหลาย ๆ  ธุรกิจ  โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลหรืออาจจะถูกดิจิตอลทำลายซึ่งน่าจะรวมถึงเรื่องของสื่อเช่นทีวี  หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย  อุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองมากกลุ่มต่อมาก็คือเรื่องของการค้าขายและการเงินซึ่งอยู่ในข่ายที่อาจจะถูก Disrupt ได้เนื่องจากมันทำหน้าที่เป็น  “ตัวกลาง” ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเหมือนกับสื่อซึ่งทั้งหมดนั้นในยุคดิจิตอลสามารถแทนที่ได้ง่ายด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและ AI หรือความรู้ความสามารถในการคิดของคอมพิวเตอร์  อย่างไรก็ตาม  หลายคนโดยเฉพาะที่ “มองโลกในแง่ดี”  ก็ยังคิดว่า  “เมืองไทยไม่เหมือนที่อื่น”  เพราะ…

    การที่แบงค์ประกาศ “Disrupt” ระบบการโอนเงินผ่าน App. ครั้งนี้นั้นช่วยยืนยันความคิดของผมว่า  “เมืองไทยก็เหมือนที่อื่น”  โดยเฉพาะที่มีระดับความมั่งคั่งของประชาชนในระดับเดียวกัน  ความแตกต่างนั้นถ้าจะมีก็เป็นเรื่องของรายละเอียดและเรื่องของเวลา  พูดง่าย  ๆ  เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วที่อเมริกาและที่จีน  ไม่ช้าก็เร็ว  มันก็จะมาเกิดที่ประเทศไทย  เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้  เรื่องของแบงค์ที่ประกาศเลิกคิดค่าธรรมเนียมผ่านระบบดิจิตอลครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นเพราะแบงค์รู้ดีหรือเชื่อว่าในที่สุดคนไทยก็จะโอนเงินและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบโทรศัพท์มือถือหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือระบบคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่เหมือนประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเช่นอเมริกาและจีน  และการทำธุรกรรมแบบนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนต่ำมากซึ่งทำให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการแบบ  “ฟรี” โดยที่คนให้บริการสามารถไปหารายได้ “ทางอ้อม”  ผ่านเครือข่ายของลูกค้าที่มาใช้งานในระบบได้  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือการให้บริการของอาลีบาบาและบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นของจีนที่สามารถดึงดูดให้คนหันมาใช้บริการการจ่ายและโอนเงินอย่างแพร่หลายทั่วประเทศจีนและลามมาถึงเมืองไทยตามนักท่องเที่ยวจีน

    แบงค์ขนาดใหญ่ของไทยคงคิดแล้วว่าถ้าตนเองยังคิดค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการ  วันหนึ่งก็จะมีบริษัทอื่นที่ไม่ใช่แบงค์ซึ่งอาจรวมถึงบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาให้บริการ  “ฟรี”  และแย่งลูกค้าของตนไปและวันนั้นตนเองก็จะเสียหาย  คือนอกจากจะไม่ได้ค่าธรรมเนียมแล้วก็ยังเสียลูกค้าให้กับคนอื่น  ไม่ใช่ลูกค้าด้านการโอนเงิน  แต่เป็นลูกค้าที่ต้องการใช้บริการการเงินอื่น ๆ  เช่น  การลงทุนการซื้อประกันและอื่น ๆ อีกมาก  และนี่ก็คือสิ่งที่นักกลยุทธ์ทางธุรกิจเรียกว่าให้  “Disrupt ตัวเองก่อนที่จะถูก Disrupt โดยคนอื่น” การทำแบบนี้แบงค์หวังว่าจะสามารถรักษาลูกค้าของตนเองจากบริษัทที่ไม่ใช่แบงค์  และเนื่องจากทุกแบงค์ต่างก็ทำตามแบบเดียวกัน  ทุกแบงค์ต่างก็หวังว่าระบบแบงค์ไทยก็จะยังรักษาสถานะเดิมของตัวเองได้เพียงแต่ว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนเงินอาจจะหายไปบ้างเช่นเดียวกับกำไรที่หายไปในอัตราเดียวกัน  แต่ความเสียหายนี้ก็อาจจะสามารถชดเชยได้ในปีต่อ ๆ ไปเมื่อแบงค์สามารถลดต้นทุนทางด้านคนโดยเฉพาะจากการปิดหรือลดสาขาแบงค์ลง

    อนาคตของแบงค์และหุ้นแบงค์นั้นเป็นสิ่งที่ผมต้องวิเคราะห์เพื่อที่จะดูว่ามันจะเป็นอย่างไร  ล่มสลายหรือไม่?  คำตอบของผมก็ชัดเจนว่าแบงค์จะไม่ล่มสลายแน่นอน  ประวัติศาสตร์หรือประสบการณ์จากแบงค์ในสังคมที่เจริญกว่าก็ชี้ชัดว่าไม่มีประเทศไหนที่ระบบแบงค์ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยี  เหตุผลก็คงเป็นเพราะงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของแบงค์นั้นเทคโนโลยียังไม่สามารถทำแทนได้นั่นก็คือ  “การบริหารความเสี่ยงทางการเงินให้กับลูกค้า”  เช่น  การปล่อยกู้  การประกันภัยและประกันชีวิต  การบริหารการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล  เป็นต้น  ธุรกรรมเหล่านี้เทคโนโลยียังไม่สามารถทำแทนได้  ตรงกันข้ามเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแบงค์  ดังนั้น  แบงค์ก็น่าจะยังอยู่ต่อไปได้  ดีขึ้นหรือแย่ลงเป็นเรื่องที่เราจะต้องดูกันต่อไป

    คำว่า “บริหารความเสี่ยงทางการเงิน” นั้น  หลายคนอาจจะงงว่าทำไมผมไปพูดถึงเรื่องสินเชื่อหรือประกัน   ลองคิดดูว่าเวลาเราไปฝากเงินแบงค์นั้น  จริง ๆ  ก็คือ  เราเอาเงินของเราให้แบงค์ช่วยบริหารให้ได้ผลตอบแทน  โดยผลตอบแทนนั้นแบงค์สัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ยแน่นอน  แต่ความเสี่ยงของเราก็คือ  ถ้าแบงค์ “เจ๊ง”  เงินของเราก็สูญ  แต่โอกาสก็เกิดน้อยมาก  ดังนั้น  เราจึงยินดีที่จะรับดอกเบี้ยต่ำมาก  เช่นปีละ 1%  ถ้าเป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่เปิดโอกาสให้เราถอนการลงทุนได้ตลอดเวลา  ในด้านของแบงค์เองนั้น  เงินของเราก็ถูกเอาไปลงทุนให้งอกเงยได้ผลตอบแทนที่ดีโดยส่วนใหญ่ก็มักเอาไปปล่อยกู้ที่คิดดอกเบี้ยสูงเช่น ปีละ 6-7% ถ้าเป็นการปล่อยกู้ให้บริษัทธุรกิจ  หรืออาจจะสูงถึง 15% ถ้าเป็นการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าบัตรเครดิต  เป็นต้น  หน้าที่ของแบงค์เองก็คือต้องคัดเลือกลูกค้าที่ดีและมีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียต่ำเพื่อที่จะทำให้แบงค์มีกำไรสามารถจ่ายเงินให้พนักงานและผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสม

    ในอดีตนั้น  นักลงทุนมักจะมองแบงค์ที่มีรายได้จาก “ค่าธรรมเนียม” ในอัตราที่สูงว่าเป็นแบงค์ที่ดีและให้ราคากับหุ้นสูงกว่าแบงค์อื่น  เหตุการณ์การ “ฟรีค่าธรรมเนียม” สัปดาห์ก่อนทำให้หุ้นเหล่านั้นตกลงมามากกว่าเพื่อนที่มีรายได้เป็นค่าธรรมเนียมน้อยกว่า  ผมเองก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าหลังจากนี้หุ้นแบงค์จะเป็นอย่างไรในระยะยาวแต่ด้วยราคาหุ้นที่ “ไม่แพง”  และกำไรหลักของแบงค์ที่ยังมั่นคงและยังไม่เห็นว่าระบบแบงค์ในประเทศไทยจะถูกใคร Disrupt ได้  ผมจึงคิดว่าหุ้นแบงค์ส่วนใหญ่ก็น่าจะยัง  “ลงทุนได้”  ส่วนที่ว่าหุ้นแบงค์ไหนน่าจะมี Value ดีกว่าแบงค์อื่นก็คงต้องมองในมุมที่ต่างไปจากเดิม  ดูเหมือนว่าปัจจัยเรื่อง “ค่าธรรมเนียม”  อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
[/size]



ตอบกลับโพส