นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ โดย Thai VI Article » อังคาร เม.ย. 10, 2018 7:07 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงการดำเนินนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ โดยเฉพาะการดำเนินการกับประเทศจีน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐมีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง และเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 โดย 2 เศรษฐกิจรวมกันมีสัดส่วนมากถึง 40% ของ จีดีพีโลก ซึ่งบางคนอาจคิดว่าผมเป็นห่วงมากไป เพราะในอดีตนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ มักจะขู่ แต่ไม่ทำอะไรจริงจัง (ขู่เพื่อหาเสียงและสร้างภาพกับฐานเสียง) แม้แต่เรื่องการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้า และอลูมิเนียม โดยอ้างความมั่นคงของประเทศ ก็ได้ยอมให้มีข้อยกเว้น สำหรับประเทศที่นำเข้ารายใหญ่เกือบทุกรายจนกระทั่งมาตรการดังกล่าว น่าจะไม่มีประสิทธิผล

ผมเกรงว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐกับจีนจะตกต่ำลงอย่างมากในปีนี้ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันในหลายมิติได้ เพราะแนวคิดของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น มองจีนเป็นปรปักษ์ (rival) กับสหรัฐ กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐนั้น จีดีพี ประมาณ 19 ล้านล้านดอลลาร์ตามควบจีนที่ 12 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เศรษฐกิจจีนขยายตัวปีละประมาณ 10% (รวมเงินเฟ้อ) คือ โตปีละ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวปีละ 4% (รวมเงินเฟ้อ) คือ 8 แสนล้านดอลลาร์ (ใน 3-4 ปี ข้างหน้า) ทำให้เห็นได้ว่าในเวลาอีกไม่นานเศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่เท่ากับสหรัฐ

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอาจมองในเชิงของผลประโยชน์และความมั่นคงในระยะยาวของสหรัฐว่าไม่มีความประสงค์ให้มีจีนมาเป็นมหาอำนาจเท่าเทียมกับสหรัฐในอนาคต และหากจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็คงจะต้องลงมือในปัจจุบันนี้ ทอดเวลายาวนานออกไปไม่ได้

ในอีกมิติหนึ่งนั้น การดำเนินนโยบายการค้าของจีนในอดีตที่มิได้ยอมเปิดให้มีการค้าแบบเสรี แต่จะดำเนินนโยบายเชิงของพ่อค้า (mercantilism) คือ การอยากส่งออกมากๆ และนำเข้าน้อยๆ ตลอดจนการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนและแทรกแซงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความเหนือชั้นทางเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้ภาคเอกชน (ทั้งบริษัทและประชาชน) ของสหรัฐไม่พอใจจีน ส่งผลให้เกิดกระแสการยอมรับทางการเมืองว่านโยบายกีดกันการค้า มีความเหมาะสมและถูกต้องในทางตอบโต้การเอาเปรียบของจีนและในการแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า

สหรัฐส่งออกไปที่จีนได้เพียง 130,370 ล้านดอลลาร์ แต่สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนมากถึง 505,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 ที่สำคัญคือ การโจมตีจีน (China bashing) นั้น เป็นเรื่องที่ทั้งพรรครีพับลิกัน และ พรรคเดโมแครต จะแข่งกันนำเสนอต่อประชาชนในการหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 435 ในเดือน พ.ย.นี้

ในกรุงวอชิงตัน นั้น การลอบบี้ทางเศรษฐกิจและการเมือง มีความสำคัญมาก และประเด็นสำคัญคือการหาพันธมิตร และแนวร่วม ซึ่งปัจจุบันจีนน่าจะหาพันธมิตร และแนวร่วมได้ยากลำบาก อาจจะมีเหลือเพียง ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร เพราะจีนซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐเป็นจำนวนมาก บริษัทเครื่องบิน และบริษัทรถยนต์ก็น่าจะเป็นมิตรกับจีนในระดับหนึ่ง

แต่ ทรัมปี และที่ปรึกษาด้านการค้า (ที่กำลังมาแรง) คือ Peter Navarro มองว่าจีนกำลังจะขโมยเทคโนโลยีการผลิตเครื่องบินและรถไฟฟ้าจากสหรัฐ บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ ของสหรัฐก็รู้สึกว่าถูกทางการจีนเอาเปรียบ โดยการบังคับให้เปิดเผยเทคโนโลยี และกีดกันทางทำการค้า-ขาย ในจีน

โดยปกติแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทน และวุฒิสภา ตลอดจนฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐจะเป็นพันธมิตรสำคัญในการลอบบี้เพื่อทานกระแสกีดกันทางการค้า (รัฐบาลไทย พึ่งพาหน่วยงานดังกล่าวบ่อยครั้ง โดยอ้างถึงความสำคัญของความเป็นพันธมิตร ทางด้านความมั่นคงกับสหรัฐ เพื่อให้สหรัฐผ่อนปรนมาตรการกีดกันการค้า

แต่ในกรณี ของจีนนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ Rex Tillerson เพิ่งถูกปลดจาก ตำแหน่ง โดย เอาผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง (CIA) Mike Pompeo มาแทน แต่ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐ โดยทั่วไป และ นPompeo โดยส่วนตัวนั้น ดูเหมือนว่าจะมองจีนเป็นคู่ปรปักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ แพร่ขยายอิทธิพลทางการทหารในทะเลจีนตอนใต้

ดังนั้น ดูเหมือนว่า จีนจะไม่สามารถหาพันธมิตรในด้านนี้ได้ ในขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ นั้น ปัจจุบัน ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างมาก เพราะยังมิได้มีการแต่งตั้งทั้งปลัดกระทรวงและอธิบดีหลายตำแหน่ง รวมทั้งอธิบดีที่ดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออก

กล่าวโดยสรุปคือผมมองไม่เห็นใครใน ครม. ของทรัมป์ หรือ ส.ส.หรือ ส.ว.อาวุโส คนใดของสหรัฐจะออกมาปกป้องผลประโยชน์ของจีน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐกับจีน ตรงกันข้ามดูเหมือนว่า ทรัมป์ จะฟัง Peter Navarro เป็นหลัก หลังจากการลาออกจากตำแหน่งของ Gary Cohn ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสนับสนุนระบบตลาดเสรี และโลกาภิวัตน์ ตรงกันข้ามกับNavarro เคยเขียนหนังสือ “Death by China” มีสาระสำคัญว่า สหรัฐกำลังถูกจีนฆาตกรรมทางเศรษฐกิจ จึงต้องรีบปกป้องตัวเองและตอบโต้การกระทำของจีน
[/size]



ตอบกลับโพส