วิสาหกิจเพื่อสังคม : การสนับสนุนยังริบหรี่

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

วิสาหกิจเพื่อสังคม : การสนับสนุนยังริบหรี่

โพสต์ โดย Thai VI Article » อังคาร เม.ย. 10, 2018 7:14 pm

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ดิฉันไม่ได้เขียนเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมมานาน ไม่ใช่เพราะไม่สนใจ  ยังสนใจและเฝ้าติดตามอยู่ว่า เมื่อใดเราจึงจะมีกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (กิจการเพื่อสังคม) และสามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

    ตอนนี้ความหวังเริ่มริบหรี่

    ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะมีกฎหมายส่งเสริมหรือไม่ วิสาหกิจเพื่อสังคมก็เกิดขึ้นแล้ว และดำเนินการอยู่ เพียงแต่ขาดหน่วยงานที่จะประสานงาน รวบรวมข้อมูล จัดทำนโยบาย และช่วยรัฐบาลในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เติบโต เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมในยุคต่อไป

    หลายท่านเคยทราบเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว อาจจะเบื่อ ขอให้ข้ามไปไม่ต้องอ่านบทความนี้นะคะ เพราะดิฉันยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจและดำเนินการอะไรสักอย่างหรือหลายๆอย่างเพื่อไม่ให้เชื้อไฟที่เราจุดให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ต้องจางหายไปเพราะประเทศเราเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย

    “วิสาหกิจเพื่อสังคม” มีเป้าหมายที่จะตอบโจทย์ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิธีการทางธุรกิจและทักษะของผู้ประกอบการ

    จริงๆแล้วผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ตอบโจทย์ทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม คือ รัฐ

    แต่ไม่ว่าประเทศใด การดำเนินการภาครัฐมักจะติดปัญหากระบวนการ ขั้นตอน ฯลฯ ทำให้การดำเนินการเป็นไปได้ช้า และบางครั้งก็ไม่ทันการณ์ บางครั้งก็ทำให้ปมปัญหาใหญ่ขึ้น และหลายครั้ง ทำให้ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เสียโอกาส

    มีตัวอย่างความไม่มีประสิทธิภาพให้ยกมากมาย ในทุกวงการ และที่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคม)คือ การเดินรถไฟไปสนามบิน ด่านแรกที่เป็นหน้าตาของประเทศ

    กลับมาเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อค่ะ เมื่อเอกชนมีจิตอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาแทน รัฐควรจะยินดีและสนับสนุน เพราะเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐ ยกตัวอย่างชุมชนแห่งหนึ่งในยุโรป จัดตั้งกิจการเพื่อสังคมเพื่อบริหารการเดินทางของผู้สูงวัยไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถใช้รถร่วมกัน โดยเอารถบ้านมาเดินเป็นรถประจำทาง แวะรับและส่งผู้สูงวัยและชาวเมือง ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ประหยัดน้ำมัน และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน (เพราะในยุโรปบางประเทศ คนอายุ 80-90 ปี ก็ยังขับรถอยู่ เพราะไม่มีใครขับให้)

    ผู้ประกอบการเพื่อสังคมบางส่วนอาจเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวย แต่มีจิตสาธารณะอยากจะช่วยสังคม อาจจะเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากต่างประเทศ และพร้อมที่จะมาทำงานประเภทนี้ เพราะใจรัก หรืออาจจะเป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการเพื่อความอยู่รอด เพราะเงินบริจาคลดน้อยหรือหดหายไป ทั้งผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของเงินทุนประเดิมที่ฝากไว้ ก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการกลุ่มไหน ก็ต้องการเห็นกิจการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น และการเติบโตอย่างยั่งยืนต้องได้รับการสนับสนุน เพราะโจทย์ของผู้ประกอบการเหล่านี้ยากกว่าธุรกิจปกติ

    ดิฉันขอยกตัวอย่างการดำเนินการเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสรุปข้อมูลมาจากเอกสาร “Social Enterprise in the UK : Developing a thriving social enterprise sector” ซึ่ง British Council เป็นผู้จัดทำ  รายงานนี้กล่าวว่าการทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นและแข็งแรงต้องมีการสนับสนุน โดยการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสม

    โดยการสนับสนุนของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสก็อตแลนด์ คือการสร้างทักษะในการบริหารจัดการให้กับผู้ประกอบการสังคม สนับสนุนให้ดำเนินการ และเมื่อประสบความสำเร็จก็สนับสนุนให้มีการขยายขอบเขตของกิจการ ไปยังเขตอื่นหรือเมืองอื่น รวมถึงการสร้างผู้นำในวงการวิสาหกิจเพื่อสังคม

    การสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการสังคม จะคล้ายกับการสนับสนุน SME คือต้องให้มีทักษะและความสามารถในการประกอบกิจการ แต่จะมีความเฉพาะตัว เพราะวิสาหกิจเพื่อสังคมมีโครงสร้างและการกำกับดูแลแตกต่างออกไป และไม่เน้นการแสวงหากำไรสูงสุด ทั้งยังต้องสร้างสมดุลย์ระหว่างเงินบริจาคกับรายได้อื่นๆจากการดำเนินการ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว

    เมื่อสนับสนุนให้เกิดแล้ว ต้องดูแลให้เติบโตและยั่งยืน ในเวลส์มีการช่วยเหลือดูแลแบบพี่เลี้ยงตัวต่อตัว โดยการให้ที่ปรึกษาเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยง

    สำหรับการให้การสนับสนุนทางการเงินนั้น ในอังกฤษ ได้พัฒนาจากการที่รัฐให้เงินสนับสนุน เป็นการรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเงินให้เปล่าเพื่อสนับสนุนให้เริ่มต้นกิจการ เงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ และเงินลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เราเรียกกันว่า Social Investment Fund หรือการสนับสนุนให้เกิดตัวกลางในการระดมทุนให้วิสาหกิจเพื่อสังคม

    นอกจากนี้ การสนับสนุนให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมอีกอย่างหนึ่งคือ การวัดผลกระทบทางสังคม ซึ่งดิฉันเคยยกตัวอย่างของ บริษัท “ป่าสาละ” ของประเทศไทยไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

    ในส่วนสุดท้ายของรายงานฉบับนี้ บริติชเคาน์ซิล ได้นำเสนอสรุปภาพความร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดและเติบโตในสหราชอาณาจักร คือ การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ การรวมตัวกันผลักดันกฎหมายและนโยบาย เช่น มีการตรากฎหมาย Public Service (Social Value) Act ในปี 2012 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐของอังกฤษและเวลส์ ต้องคำนึงถึงการจัดจ้างที่จะต้องช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม แทนที่จะคำนึงถึงเฉพาะ “ต้นทุน”การจัดจ้างอย่างเดียว ซึ่งกฎหมายนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆจำนวนมาก ให้ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมต่อการดำเนินการทั้งของหน่วยงานตนเอง และคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง

    นอกจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องยังร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้โครงการ “Buy Social” ตั้งแต่ปี 2012 เพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์และผลกระทบด้านบวกที่เกิดขึ้นจากการอุดหนุนสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการเพื่อสังคม

    ทั้งนี้มีการออกเครื่องหมายรับรองความเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise Mark เพื่อให้ผู้บริโภคแยกแยะได้ชัดเจนขึ้นว่ากำลังสนับสนุนสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม

    ผลลัพธ์คือ ในปัจจุบันของวิสาหกิจเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักรกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีอยู่ เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล และยอดการซื้อสินค้าและบริการของรัฐ คิดเป็นรายได้ประมาณหนึ่งในสี่ของรายได้ของวิสาหกิจเหล่านี้  หากไม่เกิดกฎหมายนี้ขึ้น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็คงจะยังคงอยู่กับบริษัทใหญ่ๆและเป็นการจัดซื้อปริมาณสูง ไม่ได้ซอยย่อยเพื่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเล็กๆมีโอกาสนำเสนอสินค้าและบริการของตน

    นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษ ยังประกาศนโยบายที่จะให้วิสาหกิจเพื่อสังคม เข้าไปดูแลการให้บริการด้านสุขภาพและการดูแลทางสังคม ตั้งแต่ปี 2010

    สนใจหาอ่านเพิ่มเติมได้นะคะ และหวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะช่วยกันทำให้เกิดหน่วยงานที่จะมาเป็นเจ้าภาพดูแลผลักดันเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะปัจจุบันไม่มีคณะกรรมการหรือหน่วยงานใดที่จะดูแลเรื่องนี้แล้วค่ะ เพราะหมดวาระกันหมดแล้ว

    ดิฉันจึงเขียนไว้ว่า “ความหวังริบหรี่” ในตอนต้นอย่างไรเล่าเจ้าคะ  ริบหรี่แล้วจะดับไปพร้อมกับตอนจบของออเจ้าหรือเปล่าก็มิอาจรู้ได้เจ้าค่ะ
[/size]



ตอบกลับโพส