ดอกเบี้ยกำลังปรับตัวขึ้นที่สหรัฐ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

ดอกเบี้ยกำลังปรับตัวขึ้นที่สหรัฐ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ โดย Thai VI Article » อังคาร พ.ค. 01, 2018 7:06 pm

นอกจากการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารกลางสหรัฐแล้วในระยะหลังนี้ ดอกเบี้ยระยะยาวก็กำลังปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งดูเสมือนว่า ตลาดหุ้นจะให้ความสำคัญและกังวลกับการปรับขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาวมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวมาแตะระดับ 3% แล้ว ในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ก็ปรับตัวเข้ามาใกล้ 2.5% แล้ว

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าดอกเบี้ยระยะยาวตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และยาวกว่านั้น กำลังจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด (อุปสงค์ & อุปทาน) มากขึ้น เพราะธนาคารกลางสหรัฐกำลังลดทอนการถือพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรที่มีอสังหาริมทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.2017 โดยมีนักวิเคราะห์รายหนึ่งสรุปว่า การลดทอนงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐจนถึงปลายปีนี้ จะเสมือนกับการขายพันธบัตรออกมา (อีกนัยหนึ่งคือการลดทอนสภาพคล่องในระบบลง) ประมาณ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ เสมือนกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1%

ผู้ที่เชื่อการวิเคราะห์นี้ สรุปว่าการตึงตัวของนโยบายการเงินจะเข้มข้นมากกว่าที่นักลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจอย่างมาก ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ยากมากในปีนี้ ที่สำคัญคือการลดทอนงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐนั้น จะเร่งตัวขึ้นอีกในปี 2019, 2020 และ 2021 ตามแผนของธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวคือตั้งแต่เดือน พ.ย.ของปีนี้เป็นต้นไป ธนาคารกลางสหรัฐจะลดทอนงบดุลลงไปเดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือปีละ 6 แสนล้านดอลลาร์) จนกระทั่งประมาณปี 2021 เพราะธนาคารกลางสหรัฐ คงน่าจะต้องการลดงบดุลลงจากประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญ ที่จุดสูงสุดตอนเดือน ต.ค.2017 ให้เหลือประมาณ 2.2-2.5 ล้านล้านเหรียญ

รูปภาพ

การลดทอนงบดุลดังกล่าวคือการทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นผู้ซื้อพันธบัตร (ตอนเริ่มทำคิวอี) ตั้งปี 2009 กลับกลายมาเป็นผู้ขายพันธบัตรออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งในตัวของมันเองก็จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐต้องปรับตัวสูงขึ้นอย่างยกแผง (เพราะเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้ซื้อปีละ 200,000-300,000 ล้าน มาเป็นผู้ขายปีละ 500,000-600,000 ล้าน) นอกจากนั้น ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับการที่รัฐบาลสหรัฐปรับลดภาษี และเพิ่มรายจ่าย ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มจาก 586,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 และ 666,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 มาเป็นขาดดุล 804,000 ล้าน ในปี 2018, 981,000 ล้าน ในปี 2019, 1,008,000 ล้าน ในปี 2020 และเพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งปี 2028 ที่ 1,526,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้เป็นการคาดการณ์ 10 ปี ของสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา (Congressional Budget Office) ว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า (2019-2028) รัฐบาลสหรัฐจะขาดดุลงบประมาณรวมทั้งสิ้น 12.418 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หมายความว่า จะต้องมีการขายพันธบัตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐก็จะกำลังขายพันธบัตรแข่งกับรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย

ประเด็นดังกล่าวยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงโดยตลาดมากนักในขณะนี้ แต่อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ โดยยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งคือ การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความเสี่ยงอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะมีปัจจัยที่จะสนับสนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ประมาณ 4 ข้อคือ

1.ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทโลหะต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2016 แล้ว ซึ่งการปรับตัวขึ้นของปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่ดำเนินมายาวนานก็น่าจะกระตุ้นเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

2.ตลาดแรงงานในสหรัฐตึงตัวมาก การว่างงานเพียง 4.1% แม้ว่าโดยปกติจะมีอัตราว่างงาน 4.5-5.0% แปลว่า ค่าจ้างแรงงานน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต (เว้นแต่ automation และ robotics จะทดแทนแรงงานรวดเร็วเกินคาด)

3.นโยบายการเงินยังผ่อนคลายอยู่ กล่าวคือในอดีตดอกเบี้ยนโยบายจะสูงกว่าเงินเฟ้อ 1% แต่ปัจจุบันที่ 1.5-1.75% ยังต่ำกว่าเงินเฟ้อที่ 2%

4.นโยบายการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างมาก เพราะมีการลดภาษี (ให้ประชาชนมีเงินใช้เพิ่มขึ้น) และเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐ

ในระยะยาวนั้น โดยปกติดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ (ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี) จะอยู่ที่ 4-5% ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้นมาที่ 3% จึงต้องสรุปว่ายังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกครับ



ตอบกลับโพส