โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา รางวัลโนเบลด้าน Physiology or Medicine ได้ถูกมอบให้นักวิทยาศาสตร์ 3 คน คือ
Jeffery Hall, Michael Rosbash และ Michael Young จากการค้นพบกลไกระดับโมเลกุลในสิ่งมีชีวิตที่ควบคุมและขับเคลื่อนระบบนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm หรือ internal biological clock) กล่าวคือระบบของร่างกายสิ่งที่มีชีวิตนั้น มีจังหวะทำงานของตัวเองในแต่ละวัน ทั้งนี้ สถาบัน Salk Institute ได้ทำการวิจัย พบว่าการทำงานของยีนในร่างกายนั้น เกือบ 80% ทำงานตามระบบนาฬิกาชีวภาพในแต่ละวัน และทำให้เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระทบกระเทือนต่อระบบนาฬิกาชีวภาพดังกล่าว จะมีผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับสมอง Crohn’s disease (ความผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการระคายเคืองและทางเดินอาหารบวม), IBD (ความผิดปกติในช่องท้อง ท้องเสีย) โรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง
แต่ที่สำคัญคือการดำเนินชีวิตของมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งมีเทคโนโลยีทำให้สามารถดำเนินพฤติกรรมต่างๆ ได้ ทั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืน (เพราะมีไฟฟ้า ตู้เย็น และร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนร้านอาหาร fast food ที่เปิด 24 ชม.ต่อวัน) ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างมากได้ รวมทั้งการเดินทางโดยเครื่องบินทำให้เปลี่ยนเวลาดำเนินชีวิตบ่อยครั้งได้ในหนึ่งสัปดาห์เป็นต้น ทั้งนี้ Salk Institute อ้างว่าการทำวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของยีนภายใต้ระบบนาฬิกาชีวภาพนั้น อาจมีส่วนในการช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ถึง 150 โรคเป็นอย่างน้อย
กล่าวโดยสรุปคือ มนุษย์นั้นร่างกายเกิดมาเพื่อทำงานและกินอาหารในช่วงที่มีแสงสว่าง (6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น) และในช่วงกลางคืนก็ควรเป็นช่วงนอนหลับพักผ่อน ไม่ควรกินอาหารเย็นตอน 4 ทุ่ม และเที่ยวต่อ และเข้านอนตอนตี 2 (ดังที่พวกเราทำกันตอนหนุ่มสาว) เป็นต้น ซึ่ง Salk Institute ก็ได้ทำการวิจัยหนูและมีผลออกมาที่น่าสนใจ ดังนี้
ในปี 2008 ได้แบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ให้กินอาหารช่วงใดของวันก็ได้ตามใจชอบ (eat anytime mice) กับกลุ่มที่ 2 ให้กินอาหารเพียง 8 ชม.ใน 1 วัน (เช่นจาก 6 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง) เมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือน ผลปรากฏว่าหนูกลุ่มที่ถูกควบคุมเวลากิน น้ำหนักน้อยกว่ากลุ่มที่กินเมื่อใดก็ได้ถึง 28% แม้ว่าหนูทั้ง 2 กลุ่มจะกินอาหารเหมือนกันและในจำนวนที่เท่ากันทุกวันProf.Panda ที่ทำการวิจัยดังกล่าวรู้สึกแปลกใจกับผลการทดลองมาก จึงให้นักศึกษาทำการทดลองดังกล่าวโดยอิสระอีก 2 ครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง แต่ผลก็ยังออกมาเหมือนเดิม
ดังนั้นในปี 2015 จึงได้ทำการทดลองอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้แบ่งอาหารออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.ไขมันสูง 2.น้ำตาลสูง 3.ทั้งไขมันสูงและน้ำตาลสูง 4.อาหารปกติ และแบ่งเวลากินออกเป็น 4 ประเภทคือ กินเมื่อใดก็ได้, กินในช่วง 9 ชม., กินในช่วง 12 ชม. และกินในช่วง 15 ชม.ต่อวัน ทั้งนี้ทุกกลุ่มจะกินอาหารที่มีจำนวนแคลอรี (พลังงาน) เท่ากัน และอาหารทั้ง 4 ประเภทก็จำกัดให้มีแคลอรีเท่ากันในช่วง 38 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าหนูที่กินอาหารได้ทุกเวลาเป็นโรคอ้วน (Obese) ทุกตัว แต่หนูที่กินอาหารช่วง 9 และ 12 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ได้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและยังสุขภาพดี แม้ว่าผู้วิจัยจะยอมให้หนูกลุ่มดังกล่าวสามารถกินได้ไม่จำกัด ในบางครั้งบางคราว (เพื่อจะให้เสมือนกับมนุษย์ที่กินอาหารอย่างระมัดระวัง 9 ชม.ต่อวัน ตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ และมา “ฉลองไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง” ตอนสุดสัปดาห์) นอกจากนั้นหนูที่ถูกปรับพฤติกรรมให้หันมาจำกัดการกินเป็น 9 หรือ 12 ชั่วโมง กลางคันในระหว่างการทดลอง ก็สามารถลดน้ำหนักลงได้ ทำให้ผู้วิจัยสรุปว่า “Time-restricted feeding-TRF” did not just prevent but also reverse obesity” แล้วการจำกัดเวลากินอาหารตามระบบนาฬิกาชีวภาพจะมีผลดีต่อมนุษย์หรือไม่ คำตอบคือกำลังมีการเร่งทำวิจัยเก็บข้อมูลอยู่และผลที่ได้เบื้องต้นนั้นออกมาในเชิงบวกอย่างชัดเจน เช่น
มหาวิทยาลัย Adelaide ที่ออสเตรเลีย ติดตามผลของ TRF กับผู้ชายน้ำหนักเกิน 16 คน เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน พบว่าน้ำหนักลดลงบ้าง แต่ที่สำคัญคือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (glycemia)ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
มหาวิทยาลัย Alabama ที่สหรัฐ ได้ผลทำนองเดียวกันกับผู้ชาย 8 คน ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หลังจากใช้ TRF นาน 5 สัปดาห์ และกำลังขยายการทดลองออกไปครอบคลุมผู้ชาย 150 คน
มหาวิทยาลัย Illinois สหรัฐ ใช้ TRF แบบกวดขัน (กินได้เพียง 8 ชม.ไม่ใช่ 12 ชม.ต่อวัน) กับคน 50 คนที่เป็นโรคอ้วน ในเวลา 12 สัปดาห์ ผลคือน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 7-8 ปอนด์ (3 กิโลกรัม) ส่วนหนึ่งเพราะแคลอรีที่บริโภคลดลง 300 แคลอรีต่อวัน และน้ำหนักที่ลดลงมาจากการลดลงของไขมันทั้งสิ้น ไม่ใช่การลดลงของกล้ามเนื้อ