โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อประมาณห้าปีที่แล้วดิฉันไปดูงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และได้พบปะกับบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง รวมถึงได้พูดคุยกับนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง
ระหว่างคุยเรื่องธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือ ดิฉันก็เหลือบไปเห็นรูปโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนรูปร่างและสีสันสวยงามน่าใช้ จึงถามว่า เครื่องพวกนี้ยี่ห้ออะไร และบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่
จำชื่อได้แม่นยำเพราะชื่อแปลก คำตอบคือยี่ห้อ “เสี่ยวมี่” (Xiaomi) ราคาถูกด้วย สวยด้วย เป็นสมาร์ทโฟนที่นิยมมากในประเทศจีน ตอนนั้นยังไม่ได้นำเข้ามาขายในประเทศไทยค่ะ และบริษัทผู้ผลิตยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ใดๆ ผู้ลงทุนทั่วไปจึงยังไม่สามารถลงทุนได้
ผ่านไปห้าปี เสี่ยวมี่มียอดขายในปีที่แล้ว 18,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 576,000 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 15,000 คน และมีกำไรจากการดำเนินงาน 1,900 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 60,800 ล้านบาท
มีข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เสี่ยวมี่กำลังจะขายหุ้นไอพีโอ ในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยคาดว่าบริษัทจะมีมูลค่า 70,000 ถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.56 ล้านล้านบาท
ราคาที่คาดว่าจะขายก็คิดเป็น 42 เท่าของกำไร (P/E) ถือว่าไม่ถูก แต่ว่าเป็นบริษัทที่มีการเติบโตสูง ปีที่แล้วคือปี 2560 ปีเดียว ยอดขายมีอัตราการเติบโตถึง 68% ในขณะที่หุ้นแอปเปิล ในปัจจุบันซื้อขายกันที่ P/E 18.2 เท่า
ผู้ก่อตั้งเสี่ยวมี่ คือคุณ เล่ย จุน (Lei Jun) เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เคยทำงานอยู่บริษัทซอฟท์แวร์ชื่อคิงซอฟท์ (หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง รหัสย่อ 3888: HK) นานถึง 16 ปี หลังจากคิงซอฟท์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงแล้ว คุณเล่ยก็ออกมาตั้งบริษัทเสี่ยวมี่ ปัจจุบัน เขายังถือหุ้นของ คิงซอฟท์ อยู่ 27% และกลับเข้าไปเป็นประธานของบริษัท หลังจากผู้ก่อตั้งและเป็นเสมือนพี่เลี้ยงของเขาเกษียณอายุงาน
คุณเล่ยเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงทุนในธุรกิจไอที ในฐานะผู้ลงทุนแบบแองเจิล คือลงทุนตอนบริษัทยังเล็ก ไม่มั่นคงและต้องการเงินทุน มีข่าวซุบซิบในวงการไอทีจีนว่า เขาเคยปฏิเสธโอกาสที่จะซื้อหุ้นของ messaging software ที่ชื่อ คิวคิว (QQ) และซื้อหุ้นบนิษัทอีคอมเมิร์ซที่ชื่อ อาลีบาบา แต่เจ้าตัวเองไม่เคยออกมาตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใดค่ะ ถ้าเคยปฏิเสธจริง ก็เท่ากับเขาทิ้งโอกาสที่จะทำเงินจำนวนมหาศาลทีเดียว
คุณเล่ย ก่อตั้งบริษัทเสี่ยวมี่ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553 เดิมอยากจะตั้งชื่อว่า “ดาวแดง” แต่ดาวแดงเป็นเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มอัลโกฮอลล์ยี่ห้อหนึ่งไปแล้ว จึงมาถึงชื่อ “เสี่ยวมี่” ซึ่งมีความหมายว่า “ข้าวเม็ดเล็ก” หรือ “ข้าวฟ่าง” เพื่อให้เห็นถึงการเป็นบริษัทที่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใส่ใจในรายละเอียด บริษัทเป็นผู้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน โดยสินค้ารุ่นแรกออกมาในเดือนสิงหาคม ปี 2554
คุณเล่ย ใช้ “มี่” หรือ Mi เป็นยี่ห้อของโทรศัพท์ โดยให้แทนคำว่า “อินเตอร์เน็ตมือถือ” หรือ “Mobile Internet” หรือคำว่า “Mission Impossible” โดยในช่วงแรก ขายเฉพาะทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีวางขายตามร้านต่างๆ
นักวิจารณ์กล่าวว่า เสี่ยวมี่ เลียนแบบแอปเปิล โดยชอบผลิตสินค้าสีขาว และเวลาเปิดตัวสินค้า คุณเล่ยก็ออกมาเปิดตัว และโชว์สินค้า คล้ายกับที่ สตีฟ จ็อปส์ ออกมาเปิดตัวสินค้าแต่ละเวอร์ชั่น
อย่างไรก็ดี สินค้าของเสี่ยวมี่ มีราคาแตกต่างจาก แอปเปิลมากค่ะ คุณเล่ยเคยบอกว่าเป็นสินค้าที่ขายโดยมีกำไรต่ำ แต่ไปได้กำไรเวลาลูกค้าซื้ออุปกรณ์เสริม และบริษัทต้องการขายบริการอินเตอร์เน็ตและซอฟท์แวร์ แต่ขายสินค้าเพื่อเป็นการปูทางก่อน
เนื่องจากขายสินค้าราคาต่ำ จึงต้องมีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เรื่องการสั่งซื้อชิ้นส่วนต่างๆ ไปจนถึงการควบคุมสต็อคสินค้าให้ดี ทั้งยังสังเกตการใช้งานของลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้บริษัทยังจดสิทธิบัตรการค้าไว้มากมาย
จริงๆแล้วเสี่ยวมี่ผลิต แท้ปเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค นาฬิกาแบบสมาร์ท โดรน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านแบบดิจิตัล เช่น หม้อหุงข้าว เครื่องฟอกอากาศ โถส้วมแบบอัจฉริยะ ฯลฯ ด้วย แต่ยอดขายก็ยังมาจากสินค้าสมาร์ทโฟนในสัดส่วนที่สูงถึง 94%
สมาร์ทโฟนของเสี่ยวมี่ มีขายในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง ประเทศในกลุ่มสหภาพนุโรป และในรัสเซีย และขายเฉพาะอุปกรณ์เสริมในสหรัฐอเมริกา รวมถึง เป็นสมาร์ทโฟนที่มียอดขายสูงที่สุดในอินเดีย ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว
คุณเล่ย เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า อยากเป็น เสี่ยวมี่ของจีน ที่มีชื่อเสียงเสมือน โซนี่ของญี่ปุ่น และ ซัมซุงของเกาหลีใต้
คาดว่าหลังจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในครั้งแรก คุณเล่ยจะมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเหลือเพียง 25% แต่ยังจะมีสิทธิ์ในการออกเสียงมากกว่า 50%อยู่ ก็ต้องติดตามต่อไปค่ะ
หมายเหตุ : ข้อมูลของบริษัทนี้ยกมาเป็นกรณีศึกษา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะชักชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวแต่อย่างใด