โค้ด: เลือกทั้งหมด
เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ดิฉันขอเขียนถึงการสอนเรื่องเงินๆทองๆกับเด็กเป็นของขวัญสำหรับคุณแม่นะคะ
จากการวิจัยของ CreditCards.com ของสหรัฐอเมริกาในปี 2011 พบว่าเยาวชนอเมริกันประมาณครึ่งหนึ่งมอง “แม่” เป็นต้นแบบของการจัดการด้านการเงิน และจากการศึกษาที่ได้ทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อสนับสนุนการให้ความรู้ด้านการเงิน ของสหรัฐ พบว่า การสอนเรื่องการเงินจากผู้ปกครองจะมีผลต่อพฤติกรรมทางการเงินของเยาวชน มากกว่า การเรียนรู้จากการทำงาน หรือจากการเรียนบทเรียนเรื่องการเงินจากโรงเรียน
ดังนั้น ผู้ปกครอง โดยเฉพาะคุณแม่ จึงเป็นต้นแบบที่สำคัญ พฤติกรรมการเงินของผู้ปกครอง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวัง
ประเด็นแรก คือ จะสอนอะไรให้เด็กๆ
ถ้าปฏิบัติตามชุดแบบเรียน “เงินทองของมีค่า” ที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ควรเริ่มสอนดังนี้
วัยก่อนเข้าเรียน (คำแนะนำจากดิฉัน) ควรจะสอนเรื่องตัวเลข เรื่องเวลา การดูนาฬิกาแบบดั้งเดิมให้เป็น ให้รู้จักนับ รู้จักเงินทั้งรูปแบบของเหรียญ ธนบัตร และแบบดิจิตอล เช่นบัตรเงินสด บัตรเติมเงิน เงินในบัญชี ในมือถือ ฯลฯ รู้จักการแลกเงิน ทอนเงิน
วัยประถม 6 ถึง 8 ขวบ ให้เรียนรู้และบอกความแตกต่างของเงินเหรียญและธนบัตร ฝึกรวมตัวเลข รู้จักความหมายของสินค้าและบริการ
วัยประถม 9 ถึง 11 ขวบ รู้เรื่องบัตรเครดิต บัตรเดบิต เช็ค คูปองส่วนลด อาชีพและการหารายได้ การเป็นผู้ประกอบการ โฆษณา และความรับผิดชอบต่อสังคม
ระดับมัธยมศึกษา 12 ถึง 14 ปี เข้าใจเรื่องอัตราเงินเฟ้อ อำนาจซื้อ การจัดการงบประมาณ เน้นให้รู้หา รู้ออม รู้ใช้ โดยเรียนรู้การวางแผนชีวิตตามความถนัด ตามความสามารถของแต่ละคน รุ็เรื่องการรับค่าตอบแทนในฐานะลูกจ้าง การประกอบธุรกิจ การบริหารเงินอย่างคุ้มค่า ให้แง่คิดเรื่องการกู้ยืมเงิน บทบาทหน้าที่ของสถาบันการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน
และระดับมัธยมปลาย 15 ถึง 17 ปี ให้รู้จักการหาเงิน การออมเงิน และการใช้เงิน แบบลึกมากขึ้น เข้าใจเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ การแข่งขันทางการค้า
ถ้าท่านไม่ทราบว่าจะสอนอย่างไร แนะนำให้ซื้อหนังสือชุด “เงินทองของมีค่า” ของตลาดหลักทรัพย์ ไปอ่านค่ะ มีทั้งแบบกระดาษและแบบดิจิตัลให้ดาวน์โหลด ราคาไม่แพงค่ะ
นอกจากจะสอนให้ความรู้แล้ว ประเด็นที่สองคือ ผู้ปกครองต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง
พฤติกรรมที่ควรประพฤติเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน มีดังนี้
1. ออมก่อนใช้ ผู้ปกครองต้องสอนเด็กให้รู้จักการออม และอาจจะถือโอกาสสอนให้ออมเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน คือ เพื่อใช้จ่าย เพื่อสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน และเพื่อแบ่งปัน (ให้กับผู้ที่ขาดแคลน)
2. ลงทุน เพื่อให้เงินงอกเงย การสอนให้เด็กทราบว่า เงินที่เก็บออมไว้ หากยังไม่ใช้ สามารถทำให้เกิดดอกผลได้ เป็นการเรียนรู้เรื่องการเงินที่มีคุณค่า และเด็กอาจจะติดใจ และการติดใจในผลตอบแทนจากการลงทุนนี่แหละค่ะที่ทำให้ดิฉันกลายเป็นนักบริหารเงิน
3. พยายามไม่กู้ยืมมาใช้จ่าย อย่าให้ลูกรู้สึกว่า การกู้ยืมเงินเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ เด็กต้องรู้สึกว่า การกู้ยืมเป็นเรื่องใหญ่ และหากไม่จำเป็นเราไม่ควรจะกู้ ทั้งนี้ เงินกู้ยืม ควรจะเอาไว้ซื้อของชิ้นใหญ่ ที่หากใช้เวลาเก็บออมให้ครบก่อนซื้อ อาจจะทำให้ไม่มีโอกาสซื้อ
4. จัดการงบประมาณให้ดี ฝึกการแบ่งหมวดหมู่การใช้จ่าย และจัดสรรงบประมาณไว้ หากจะเกินงบประมาณ ต้องมีเหตุผล และสอนเยาวชนให้รู้จักคิด และจัดสรรเงินในงวดต่อไปมาชดเชยงบประมาณที่เกินไปในงวดก่อนด้วย ที่สำคัญคือ อย่าลืม แบ่งหมวดเงินออมให้เป็นหนึ่งในงบประมาณนะคะ
นอกจากนี้ ยังมี พฤติกรรมที่ควรจะหลีกเลี่ยงระมัดระวัง มีดังนี้
1. การก่อหนี้ของผู้ปกครอง การมีหนี้เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์ เป็นของจำเป็น แต่ผู้ปกครองควรจะสอนให้ลูกทราบว่า จะก่อหนี้ได้ ต้องมีการวางแผนว่าจะนำเงินรายได้จากส่วนไหนมาชำระคืน และไม่ควรก่อหนี้เกินตัว
2. การใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ต้องสอนให้ลูกรู้ว่า บัตรเครดิตอำนวยความสะดวก แต่เราต้องแน่ใจว่า ก่อนที่จะรูดบัตรซื้อสินค้าหรือบริการนั้น เรามีเงินในกระเป๋าเพียงพอที่จะชำระ ไม่ควรสอนเด็กให้ “ใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง”
3. การใช้เงินอย่าฟุ่มเฟือย ไม่ว่าท่านจะรวย มีฐานะดีเพียงใดก็ตาม ท่านต้องสอนให้เด็กทราบถึงความยากลำบากในการหาเงิน หารายได้ และให้เด็กใช้เงินอย่างรู้คุณค่า การสอนให้ลูกฟุ่มเฟือยตั้งแต่เด็ก เท่ากับการเอาขนมเคลือบยาพิษให้ลูกกิน เมื่อกินไปนานๆ ก็อาจจะตายได้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ รวมถึงคุณพ่อ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย บ้างนะคะ
สุขสันต์วันแม่ค่ะ