นัยแห่งสงคราม / คนขายของ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
ภาพประจำตัวสมาชิก
คนขายของ
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 698
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. ม.ค. 15, 2004 9:48 am

นัยแห่งสงคราม / คนขายของ

โพสต์ โดย คนขายของ » จันทร์ พ.ค. 22, 2017 3:06 pm

นัยแห่งสงคราม / โดย คนขายของ

สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นตั้งแต่นาซีเยอรมันบุกเข้าโปแลนด์ในปี 1939 และกินระยะเวลายาวนานถึง 6 ปี ในระหว่างนั้นมีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 50 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 3% ของประชากรของโลกทั้งหมดในยุคนั้น แต่หลังจากนั้นโลกก็ยังคงไม่ว่างเว้นจากภาวะสงคราม เช่น 1950-1953 เกิดสงครามเกาหลี 1960-1975 มีสงครามเวียดนาม ปี 1990 เกิดสงครามระหว่างอิรักกับคูเวต และตามมาด้วย Gulf War ระหว่างสหรัฐกับอิรัก ตลาดหุ้นสำคัญของโลกล้วนผ่านภาวะสงครามมาแล้วหลายครั้ง การศึกษาเรื่องราวในอดีตอาจทำให้นักลงทุนเข้าใจ และเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในหลายๆภูมิภาคของโลกได้ดียิ่งขึ้น เกิดสงครามแล้วตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤตไหม? ตลาดหุ้นมีการตอบสนองอย่างไรกับสภาวะสงครามในอดีต? เราจะมาดูกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงกัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองดัชนี Dow Jones ตกหนักๆสองรอบด้วยกัน คือตอนที่นาซียึดกรุงปารีสได้ ทำให้ดัชนีลดลงถึง 23% ในสองสัปดาห์ และในวันที่ญี่ปุ่นทิ้งระเบิดที่ Pearl Habour ทำให้ดัชนีลดลง 3.5% เมื่อตลาดเปิดทำการวันแรก แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งทีสองอย่างเป็นทางการ ดัชนีตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงต่อเป็นเวลาอีก 4 เดือน ก่อนจะกลายมาเป็นขาขึ้นต่อเนื่องถึง 3 ปีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ต่อมาในช่วงสงครามเกาหลี ซึ่งกินระยะเวลาร่วม 3 ปีแต่ตลาดหุ้นสหรัฐก็ปรับตัวได้ดี โดยขึ้นมาราว 58% แม้แต่ในช่วงต้นของ 1960 ที่สงครามเวียดนามได้เริ่มขึ้น ดัชนีก็ยังคงเป็นขาขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้ดัชนี Dow Jones ลดความร้อนแรง และกลับมาเป็นขาลงในช่วง 1970-1980 คือ วิกฤตราคาน้ำมันในปี 1973 ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

ลองหันมาดูสงครามซึ่งเพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้ดูบ้างว่าตลาดหุ้นมีการตอบรับอย่างไร? เมื่อเร็วๆนี้นิตยสาร Barron’s ได้ทำการรวบรวมข้อมูลว่าดัชนี Dow Jones ตอบสนองอย่างไรกับ 7 ปฎิบัติการทางทหารของสหรัฐในช่วงปี 1983 – 2011 เช่น สงครามอ่าวครั้งแรกในปี 1991 และ การบุกอัฟกานิสถานในปี 2001พบว่า เมื่อมีข่าวว่าจะเริ่มปฏิบัติการทางทหารดัชนีจะปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ย 0.6% แต่หลังจากปฏิบัติการทางทหารได้เริ่มดำเนินการได้หนึ่งเดือน ดัชนีกลับมาเป็นขาขึ้นซี่งโดยเฉลี่ยปรับขึ้นได้ถึง 4%

อ่านมาถึงตรงนี้นักลงทุนที่ผ่านเหตุการณ์ซัดดัมบุกคูเวตในปี 1990 อาจจะมองในมุมตรงกันข้าม เพราะในช่วงเวลานั้น ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างมาก ตอนปลายเดือนกรกฎาคมปีนั้น ดัชนีหุ้นไทยยังโชว์ฟอร์มสวยหรูยืนอยู่ที่ราว 1140 จุด ขึ้นมามากกว่า 60% ตั้งแต่ต้นปี แต่พอซัดดัมประกาศบุกคูเวต ในวันที่ 2 สิงหา ทำให้ดัชนีร่วงลงมาทำจุดต่ำสุดของปีที่ 544 จุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ภาพของสงครามในครั้งนั้นสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่นักลงทุนไทย

เมื่อมาดูผลกระทบต่อดัชนี Dow Jonesของสหรัฐในช่วงเดียวกันพบว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าไทยมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าในปี 1990 ดัชนีหุ้นไทย ถูกถ่วงน้ำหนักโดยแบงค์และสถาบันการเงินจำนวนมาก ซึ่งหากภาวะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขึ้นสูงอย่างเฉียบพลันอาจทำให้หนี้เสียขยายตัวเกินการควบคุม และในตอนนั้นหุ้นพลังงานขนาดใหญ่ของไทย อย่าง PTTEP และ PTT ก็ยังไม่ได้เข้ามาจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ไม่มีหุ้นคอยถ่วงดุลดัชนี ในขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างเฉียบพลัน และแล้ว เหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อสหรัฐเริ่มปฎิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านอิรักในเดือนมกราคม ปี 1991 และสามารถได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว ทำให้ดัชนีหุ้นไทยดีดขึ้นอย่างรุนแรงถึง 50% ภายใน 3 เดือน

ภาพของสงครามมักเต็มไปด้วยความโหดร้ายและรุนแรง จึงเป็นธรรมดาที่นักลงทุนมักจะขายหุ้นออกไปก่อนเพื่อถือครองเงินสดเพราะเชื่อว่าปลอดภัยกว่า แต่หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่า กิจการบางอย่างจะปลอดภัยกว่าการถือเงินสด เพราะในภาวะสงครามมีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อจะสูงกว่าปกติ เพราะการใช้จ่ายทางทหารของรัฐและการกักตุนของจำเป็นของประชาชน อย่างในช่วงสองปีแรกของการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐ เงินเฟ้อสูงถึงปีละ 9% และจากกรณีศึกษาที่ได้ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าสงครามจะนำมาซึ่งวิกฤตในตลาดหุ้นนั้นคงไม่แน่เสมอไป

นอกจากกรณีซัดดัมบุกคูเวตซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดไทยในปี 1990 แล้วปฎิบัติการทางทหารของมหาอำนาจในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แต่กระนั้น ก็ตาม นักลงทุนก็ไม่ควรประมาท ถ้ามีสงครามเกิดขึ้นจริงก็ควรศึกษาผลกระทบของสงครามนั้นๆอย่างถ่องแท้ เพราะกิจการที่จะได้ประโยชน์จากสงครามทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้นมีอยู่ แท้จริงแล้วสื่งที่น่ากลัวที่สุดของนักลงทุนอาจจะไม่ใช่สงคราม แต่เป็นการปล่อยจิตใจให้ครอบงำโดยความโลภและความกลัวอย่างสุดโต่ง ตามการชี้นำของสิ่งต่างๆต่างหาก

อดทนไว้ กำไรยั่งยืน


ตอบกลับโพส