รถไฟฟ้าไร้คนขับ (EV, AV) ตอน 1/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

รถไฟฟ้าไร้คนขับ (EV, AV) ตอน 1/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ โดย Thai VI Article » จันทร์ พ.ค. 29, 2017 9:08 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมสัญญาว่าจะเขียนเรื่องวิกฤติ ที่ทรัมป์สร้างขึ้นให้กับตัวเองต่อเป็นตอนที่ 2 แต่ผมขอเลื่อนไปเป็นสัปดาห์ข้างหน้า เพราะมีข้อมูลใหม่ออกมาอยู่เรื่อยๆ และเป็นเรื่องที่น่าจะยืดเยื้อต่อไปได้อีกเป็นปี จึงเป็นเรื่องที่เขียนถึงในโอกาสหลังก็ได้ และที่มีการกล่าวกันอย่างแพร่หลาย เกี่ยวกับกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะไม่เกิดขึ้นก่อนปลายปีหน้า จึงพอจะมีเวลาเหลืออีกมากที่จะเขียนถึงเรื่องนี้ในรายละเอียดในอนาคต

ผมเห็นว่าเรื่องรถไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) และรถไร้คนขับ (AV, Autonomous Vehicle หรือ Self-driving cars) เป็นเรื่องที่มีพัฒนาการสำคัญเกิดขึ้น จึงขอนำมาเขียนถึงในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ประธานของบริษัทฟอร์ด คือนาย Bill Ford ประกาศปลดประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นาย Mark Fields ซึ่งเพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งได้เพียง 3 ปี (2014) ทั้งนี้นาย Fields เป็นลูกหม้อของบริษัทฟอร์ด โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ปี 1989 และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับผู้ที่มารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัทฟอร์ด ต่อจากนาย Fields คือ Jim Hackett ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ประธานบริษัท Ford Smart Mobility ที่ได้ตั้งขึ้นมาใหม่ในปี 2016 นี้เอง ประธานบริษัทฟอร์ด คือนาย Bill Ford อธิบายว่า ต้องการให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน EV, AV มารีบตัดสินใจในเชิงนโยบายและดำเนินการขับเคลื่อนบริษัทฟอร์ด ไปในทิศทาง EV, AV อย่างเร่งรีบที่สุด

ตรงนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นบริษัทฟอร์ดร้อนใจว่า บริษัทกำลังไล่ตามบริษัทอื่นๆ ในด้าน AV, EV ไม่ทัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทฟอร์ด ปรับตัวลดลง 37% ตั้งแต่วันที่นาย Fields เข้ารับตำแหน่ง ซีอีโอ ในส่วนนี้ผมได้นำเอาข้อมูลหุ้นบริษัทฟอร์ด จีเอ็ม และเทสล่า มาเปรียบเทียบให้เห็นในตารางข้างต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมผู้ถือหุ้นของ ฟอร์ดจึงไม่พอใจ และทำไมจึงต้องการปรับเปลี่ยนทิศทางของฟอร์ดให้สามารถไล่ตามบริษัทเทสล่าให้ทันในด้านการผลิต EV, AV

คู่แข่งที่เป็นพี่ใหญ่คือจีเอ็มซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ก็จะเห็นว่ามีความสูสีกันในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ยอดขายและมูลค่าหุ้นไม่ได้แตกต่างกันมากนักและพีอีของฟอร์ดสูงกว่าพีอีของจีเอ็มกว่าเท่าตัว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในเชิงที่ตลาดมองว่าน่าจะมีอัตราการโตของกำไรในอนาคตสูงกว่าจีเอ็ม (และพีอีสูงแปลว่าสามารถขายหุ้นได้ในราคาแพง เมื่อเทียบกับกำไรหนึ่งหน่วย) แต่ราคาหุ้นฟอร์ดปรับตัวลงมาโดยตลอดเมื่อเปรียบเทียบกับจีเอ็มและในปีนี้ที่ลดลงไปอีกถึง 8.22% เมื่อเทียบกับจีเอ็มที่ลดลงเพียง 4.97%

ที่สำคัญคือผู้ถือหุ้นฟอร์ดอยากให้หุ้นของตนมีลักษณะคล้ายคลึงกับหุ้นเทสล่ามากกว่าปัจจุบัน เพราะเทสล่านั้นแม้มียอดขายคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5.5% ของยอดขายของฟอร์ด แต่กลับมีมูลค่าหุ้นสูงกว่ามูลค่าหุ้นของฟอร์ดอย่างมากคือ 44,200 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับหุ้นของเทสล่าที่ 50,800 ล้านเหรียญ ทั้งๆ ที่เทสล่านั้นขาดทุนต่อหุ้นเท่ากับ 4.77 เหรียญ แปลว่าแม้ว่าอาจต้องเพิ่มทุนอีกในอนาคต แต่นักลงทุนคงจะมั่นใจอย่างยิ่งว่าเทสล่าจะทำกำไรได้อย่างมหาศาลในอนาคต จึงกล้าดันราคาหุ้นขึ้งไปที่ 309.23 เหรียญ เพิ่มขึ้น 44.04% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับราคาหุ้นฟอร์ดที่ 11.10 เหรียญ และลดลง 8.22% ในปีนี้ กล่าวโดยสรุปคือ ผู้ถือหุ้นฟอร์ด หวังว่า นาย Hackett จะสามารถเข้ามาขับเคลื่อนฟอร์ดไปสู่ยุค EV, AV ไม่แพ้เทสล่านั่นเอง

อันที่จริงฟอร์ดก็มิได้ชักช้าในการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่รถ AV กล่าวคือ นาย Fields ได้ประกาศไว้ว่า ฟอร์ด จะสร้างรถไร้คนขับอย่างเต็มรูปแบบ (ไม่มีพวงมาลัย คันเร่ง และแป้นเหยียบเบรคของคนขับ) ภายในปี 2021 เพื่อนำมาให้บริการประชาชนในลักษณะ ride sharing เช่น Uber ผมจึงมองว่ายุคของรถ EV, AV นั้น อาจจะมาถึงรวดเร็วกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้เดิมว่า EV, AV แพร่หลายตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป ซึ่งผมจะขอนำเสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในครั้งหน้าครับ
[/size]



ตอบกลับโพส