วิถีหุ้นเล็กหุ้นใหญ่/วีระพงษ์ ธัม

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

วิถีหุ้นเล็กหุ้นใหญ่/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์ โดย Thai VI Article » จันทร์ พ.ค. 29, 2017 9:18 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    หุ้นขนาดเล็กและขนาดใหญ่แม้จะมีจุดมุ่งหมายในการทำธุรกิจเดียวกันคือการสร้างกำไรสูงสุด แต่วิถีทางและอุปสรรคต่างกันมาก ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาก็พบหุ้นเล็ก “เติบโตเร็ว” สะดุดและราคาลดลงอย่างรุนแรง แม้แต่หุ้นใหญ่ “ที่แข็งแกร่ง” ก็เกิดความยากลำบาก การเปรียบเทียบหุ้นใหญ่หุ้นเล็กที่ต่างกันผมอยากยกกรณีศึกษามาจากเช้าวันที่ 7 ธค. 1941 ฐานทัพเรือของอเมริกัน “เพิร์ล ฮาร์เบอร์” ถูกโจมตีจนเสียหายหนัก ในเชิงธุรกิจจักรวรรดิญี่ปุ่นเปรียบเสมือนหุ้นเล็กที่กำลังท้าทายหุ้นใหญ่อย่างอเมริกาด้วยปฏิบัติการที่ชื่อว่า “Z” เช้าวันนั้นถือเป็นชัยชนะทางการรบที่ยิ่งใหญ่ของประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าหลายเท่าตัว เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง 

    ปฏิบัติการ Z ของญี่ปุ่นนั้น เริ่มต้นโดยที่จักรวรรดิญี่ปุ่นส่งกองทัพเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมเครื่องบินรบ เข้าโจมตีฐานทัพอเมริกาแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งการโจมตีในระลอกแรกได้ผลดีเยี่ยม กองทัพญี่ปุ่นแทบไม่เสียหาย หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงการโจมตีระลอกสองก็เกิดขึ้น แม้ได้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่ก็เจอการต่อต้านที่หนักขึ้นจากอเมริกา อันนี้คือลักษณะเดียวกันกับ Surprise Earning หรือกำไรของบริษัทขนาดเล็กที่เติบโตอย่างหอมหวลในขณะที่ยังไม่มีคู่แข่งตั้งตัว ในเชิงตัวเลขหลังการรบจบที่ความสวยงามของปฏิบัติการ แต่ความผิดพลาดใหญ่ประการแรกของญี่ปุ่น คือ การปฏิเสธการโจมตีระลอกที่สามในวันนั้น เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความเสียหายมากขึ้นอีก ในยามที่ธุรกิจหุ้นเล็กได้เปรียบ บริษัทควรฉวยความได้เปรียบอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว โดยไม่ควรคำนึงถึง “ต้นทุน” ที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น

    ความผิดพลาดที่สองที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของปฏิบัติการ Z คือ ความโชคร้ายที่ไม่สามารถโจมตี “ยุทธศาสตร์สำคัญ” ของการรบได้ นั่นคือการโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งส่งผลร้ายในสมรภูมิ Midway ในภายหลัง เช่นเดียวกัน ถ้าหุ้นเล็กไม่สามารถยึดหัวหาดและโจมตียุทธศาสตร์สำคัญได้ การโต้กลับจากคู่แข่งย่อมเร็วขึ้นและรุนแรงเป็นเงาตามตัว

    ประการที่สาม หุ้นเล็กควรเริ่มสร้าง “ฐาน” หรือ “ความสามารถในการแข่งขัน” ที่ชัดเจนของตัวเอง เพราะไม่ช้าก็เร็ว จะเกิดการแข่งขันเมื่อขนาดธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น และบริษัทใหญ่เริ่ม “พร้อมรบ” ในสมรภูมิเรา

    และผมสังเกตเห็นประวัติศาสตร์หุ้นเล็กที่เติบโตขึ้นมาขนาดใหญ่ มักจะผ่านสมรภูมิระหว่างทางที่ไม่รุนแรงนัก เรียกได้ว่าเป็นสงครามระหว่าง “มวยรุ่นเดียวกัน” และมี “ช่องว่างให้เติบโต” หรือในภาษาธุรกิจคืออยู่ใน Blue Ocean มาระยะหนึ่ง ให้แข็งแรงพอที่จะเจอ Red Ocean ได้ ถ้าบริษัทเล็ก ๆ เจอบริษัทใหญ่ ๆ มาแข่งอย่างรวดเร็ว มักจะยากลำบาก ดังนั้นมวยคนละรุ่นในโลกยุคทุนนิยม รุ่นเล็กย่อมแข่งขันยาก หากอยู่ใน “สนามเดียวกัน” ในระยะยาว

    สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือกำไรที่หุ้นเล็กได้ในยามที่คู่แข่ง “ยังไม่เตรียมพร้อม” ย่อมหายไปอย่างรวดเร็ว ซ้ำร้ายกว่านั้น ในตลาดหุ้น นักลงทุนที่จินตนาการว่ากำไรหุ้นเล็กที่ได้นั้น “ยั่งยืน” และ “เติบโต” อย่างต่อเนื่อง และยอมซื้อหุ้นในราคาอย่างสูง จะเสียหายอย่างหนักเมื่อความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

    ส่วนหุ้นเล็กที่ “รอด” และ “ชนะ” จน “เติบโต” ขึ้นมาได้จะเข้าเป็นสมาชิก “หุ้นใหญ่” ในที่สุด พัฒนาการสำคัญระหว่างการเปลี่ยนผ่าน คือ เราไม่ควรดู Earning หรือ กำไร อย่างเดียว สิ่งสำคัญกว่า คือ Earnings Power หรือ “ความสามารถในการทำกำไร” เพราะบางครั้ง หุ้นอาจจะกำไรน้อยลงชั่วคราว เพื่อเอาทรัพยากรไปสร้างความสามารถในการทำกำไรซึ่งยั่งยืนกว่า เช่นการสร้างแบรนด์ การลงทุนในทรัพยากรการผลิตให้เข้มแข็ง นี่คือวิถีของหุ้นเล็กไปสู่หุ้นใหญ่เสมอ

    ส่วนวิถีหุ้นใหญ่นั้น ถ้าไม่จำเป็นพวกเขาก็ไม่อยากลงไปแข่งในธุรกิจขนาดเล็กมากนัก สาเหตุคือ ความเสียเปรียบเรื่องความคล่องตัว การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ความไม่คุ้มค่าด้านตลาดที่มีขนาดเล็กเกินไป รวมไปถึงการแข่งขันเรื่อง “ราคา” ธุรกิจใหญ่ถ้าปรับลดราคาลง 5% จะกระทบฐานรายได้ที่ใหญ่มาก ในขณะเดียวกัน ในหุ้นเล็กการยอมลดราคา 10% นั้นย่อมมีผลน้อยกว่า สาเหตุนี้ทำให้ หุ้นเล็กจิ๋ว หรืออย่าง Startup จึงมีช่องแทรกตัวขึ้นมาได้ ระยะหนึ่งก่อนที่ “ตลาด” จะ “ใหญ่” จนหุ้นใหญ่เข้ามาสนใจ

    เมื่อหุ้นใหญ่คล่องตัวน้อยกว่า จึงมีเหตุการณ์ลักษณะเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เกิดขึ้นได้ คือเป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง จนรายได้อาจจะหายไป และส่งผลต่อกำไรอย่างมาก เนื่องจากมีต้นทุนคงจำนวนมากซึ่งปรับตัวได้ช้ากว่าหุ้นเล็กมาก หรือแย่กว่านั้น คือ “ความประมาท” จนเสียหายหนักในที่สุด

    ข้อสรุปของผมคือหุ้นทั้งสองแบบไม่ว่าหุ้นใหญ่หุ้นเล็ก การมองเพียง “กำไรรายไตรมาส” นั้น ไม่ใช่การลงทุนที่ดี เพราะเหตุผลที่กำไรจะดีและแย่อย่างมากมีโอกาสเกิดขึ้นได้ชั่วคราวเสมอ ๆ วิถีที่ต่างกันนั้นเอง ทำให้เราต้องปรับความคิดให้ตรงกับลักษณะของหุ้น ยอมรับความแตกต่าง เข้าใจจุดอ่อน จุดแข็ง ปรับความเสี่ยงให้สมดุลในพอร์ตโฟลิโอ จะช่วยให้ผลตอบแทนรวมเราไปได้ดีโดยที่กินอิ่มนอนหลับสบายครับ
[/size]



ตอบกลับโพส