โค้ด: เลือกทั้งหมด
ขณะที่เขียนบทความนี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ก็เป็นวันครบรอบ 20 ปี ของการ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ในปี 2540 ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ก่อให้เกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและต่อมาลามไปทั่วเอเซีย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การเปลี่ยนระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศจากระบบคงที่เป็นระบบ “ยืดหยุ่นที่มีการจัดการ” ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐปรับตัวจาก 25 บาทเป็น 56 บาทและยืนอยู่ในระดับประมาณ 40 บาทในระยะเวลาอันสั้น ค่าเงินของประเทศในเอเชียอื่น ๆ ก็อ่อนค่าลงตาม ๆ กันและก่อให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและต้องอาศัยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เข้ามาช่วยกู้สถานะมิให้ประเทศต้อง “ล้มละลาย” เพราะไม่มีเงินตราสำรองเพียงพอที่จะจ่ายเป็นค่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ผมคงไม่พูดถึงสาเหตุและผลกระทบที่ตามของวิกฤติที่มีคนพูดถึงมากพอแล้วแต่จะพยายามเล่าถึงความทรงจำของตนเองในฐานะที่ได้เผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้ายในฐานะที่เป็นผู้บริหารสถาบันการเงินที่เรียกว่า “บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์” ที่ถูกกระทบมากที่สุดในยามนั้น
ในปี 2536 หลังจากที่ประเทศไทย “เปิดเสรีทางการเงิน” บริษัทเงินทุนก็สามารถที่จะนำเงินต่างประเทศเข้ามาและปล่อยกู้ให้กับกิจการต่าง ๆ ที่ในขณะนั้นต่างก็ต้องการขยายการลงทุนเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระดับ 10% ต่อปีขึ้นไป ผมเองยังจำได้ว่าบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทเงินทุนนั้น ต่างก็ต้องการเงินกู้ที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ที่เป็นเงินบาทมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทเงินทุนเองนั้นก็มีวงเงินไม่พอที่จะให้ได้ทั้งหมด ดังนั้น ก็จะมีการจัดสรรให้เฉพาะกับบริษัทที่ “มีขนาดใหญ่และแข็งแกร่งและเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัท” โดยที่เราจะไม่สนใจหรือพิจารณาถึงความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นมีรายได้เป็นเงินบาทแต่กลับมีรายจ่ายค่าดอกเบี้ยและการคืนเงินต้นเป็นสกุลดอลลาร์ เหตุผลก็เพราะว่าแบ็งค์ชาติได้ให้ความมั่นใจว่าระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราของเรานั้นใช้อัตรา “คงที่” ไม่เปลี่ยนแปลง
การเติบโตของการปล่อยสินเชื่อในขณะนั้นสูงมาก การโตปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่ “ไม่ยาก” และทุกบริษัทก็ทำ แต่ผมเองนั้น ในฐานะที่ทำงานทางด้านวาณิชธนกิจแต่ต้องนั่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อด้วยก็มักจะรู้สึกไม่สบายใจบ่อยครั้งที่มีการประชุมอนุมัติสินเชื่อ เพราะผมเองรู้สึกว่าบริษัทที่มากู้นั้นมักจะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่และแข็งแกร่งจริง ข้อมูลผลการดำเนินงานในอดีตนั้นมักจะกระจัดกระจายภายใต้หลายชื่อหรือหลายบริษัท พวกเขาส่วนใหญ่มี “อนาคต” ที่ใหญ่มาก เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับผู้บริหารทางด้านการปล่อยสินเชื่อ ผลก็คือ โครงการได้รับการอนุมัติพร้อม ๆ กับวงเงินกู้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล ครั้งหนึ่งผมยังจำได้ว่ามีโครงการเงินกู้ร่วมให้กับโรงงานเหล็กที่ใหญ่โต แต่เมื่อมีสมาชิกผู้ให้กู้บางบริษัทถามว่ากำลังการผลิตที่จะเกิดขึ้นจากโรงงานเหล็กหลาย ๆ แห่งของหลาย ๆ บริษัทที่กำลังสร้างโรงงานนั้นจะสูงเกินกว่าความต้องการในประเทศมากจะทำให้ยอดขายไม่ได้ตามประมาณการ ผู้จัดการกลุ่มปล่อยเงินกู้ก็ไม่สามารถตอบได้ อย่างไรก็ตาม โครงการก็ได้รับการอนุมัติ บริษัทที่ปล่อยกู้ต่างก็มีความสุขที่ได้ปล่อยเงินกู้ก้อนโต ในยามที่เศรษฐกิจดีมากทุกอย่างก็มีแต่ความสดใส ไม่มีใครคิดถึงความเสี่ยงที่หนี้จะเสีย การเงินในระบบคล่องมาก คุณสามารถขอเงินกู้ได้เสมอโดยเฉพาะถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารสถาบันการเงิน
พอเริ่มต้นปี 2540 ความผิดพลาดทั้งหมดก็แสดงตัวออกมาพร้อม ๆ กัน สถาบันการเงินที่อ่อนแอเนื่องจากมีการขยายตัวสูงโดยที่ไม่มีคุณภาพก็เริ่มล้มเหลว ประชาชนเริ่มทยอยถอนเงินออกจากบริษัทเงินทุนและแบ็งค์ที่มีการบริหารงานผิดพลาดและ/หรือส่อทุจริต หลาย ๆ บริษัทถูกแบ็งค์ชาติสั่งเพิ่มทุน บริษัทและกิจการต่าง ๆ ที่มีการขยายงานเกินตัวและไม่เหมาะสมเริ่มมีปัญหา การส่งออกของประเทศชะลอตัวลงเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งเกินความเป็นจริงส่งผลให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นมาก ทั้งหมดนี้ได้ลามไปถึงสถาบันการเงินที่ใหญ่และแข็งแกร่งอย่างเช่นธนาคารทั้งหลายรวมถึงธนาคารขนาดใหญ่ที่เคยเป็นสถาบันที่ “ค้ำยัน” เศรษฐกิจและการเงินของประเทศที่ต้องพยายามต่อสู้เอาตัวรอดเช่นเดียวกันโดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศลดค่าเงินในวันที่ 2 กรกฎาคม
หลังจากการประกาศลดค่าเงินบาทอย่างมโหฬาร บริษัทเงินทุนที่ไม่ได้เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างก็ทยอยถูกสั่งปิดกิจการ ผมเองในฐานะที่อยู่ในบริษัทเงินทุนที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารนั้น ยังสามารถเปิดทำการอยู่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันก็คือมีคนมาไถ่ถอนเงินฝากที่เรียกว่า PN ทุกวันโดยที่ไม่มีใครมาฝากเพิ่ม ทุกเย็นผมต้องคอยรอลงนามร่วมกับกรรมการผู้จัดการที่จะขอเงินกู้จากแบ็งค์ชาติเพื่อที่จะทำให้มีเงินพอชำระหนี้เฉลี่ยวันละหลายร้อยล้านบาท นี่คืออาการที่ “เลือดไหลไม่หยุด” ทรัพย์สินทั้งหลายของบริษัทถูกเอาไปจำนำกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในอีกด้านหนึ่ง เราไม่มีธุรกิจอะไรให้ทำ ไม่มีการปล่อยกู้อีกต่อไป สิ่งที่ต้องทำทุกวันกลายเป็นการกำหนดกลยุทธ์ในการเอาตัวรอด วิธีหนึ่งก็คือ การเพิ่มทุนซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์แบบนั้น อีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการก็คือ การควบรวมกิจการกับบริษัทเงินทุนอื่น ๆ ซึ่งถ้าสำเร็จก็อาจจะต้องเพิ่มทุนตามมา ดังนั้น งานหลัก ๆ ของผมก็คือการคุยและประชุมกับกลุ่มบริษัทเงินทุนที่อยู่ในเครือข่ายทำแผนควบรวมกิจการ ทั้งหมดนั้นไม่สำเร็จ จนในที่สุดแบ็งค์ชาติเข้ามาควบคุมบริษัทและผมต้องออกจากงาน
ช่วงปี 2540 นั้นผมมีเวลาว่างมาก ตอนเที่ยงผมก็มักจะเดินไปกินอาหารกลางวันที่ห้างดังย่านสยามสแควร์ ผมยังจำได้ว่ามันค่อนข้างเงียบอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับวันนี้ที่มันคึกคักและมีคนเต็มไปหมดโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ร้านค้าในห้างนี้ก็ไม่เต็ม มีร้านว่าง ๆ พอสมควร ในตอนนั้นผมคิดว่าอสังหาริมทรัพย์แบบนี้คงหมดอนาคต พูดถึงเรื่องอาคารสำนักงาน ผมเองยังจำได้ว่าช่วงที่ทุกอย่างยังบูมสำหรับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และคนบอกว่าพวกพนักงานเป็น “มนุษย์ทองคำ” เพราะมีรายได้ดีมาก เราก็เคยไปดูอาคารสำนักงานใหม่ที่ใหญ่และดูดีที่เราอยากจะมี นั่นคือประมาณปี 2539 แต่สุดท้ายไม่ได้ซื้อ เพราะเราเริ่มตระหนักว่ามรสุมลูกใหญ่กำลังมา และนี่ก็เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อบริษัทเริ่มย้ายสำนักงานใหม่ที่ดูหรูหรามาก นั่นอาจจะเป็นช่วงท้ายของความเฟื่องฟูของธุรกิจ
ผมคงอดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น ปี 2540 โดยเฉพาะหลังจากที่ผมออกจากงานและไปนั่งทำงานในฐานะที่ปรึกษาบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ผมก็เริ่มตั้งใจศึกษาและลงทุนตามแนว Value Investments อย่างเข้มข้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่ค่อยจะมีอะไรทำ แต่ส่วนสำคัญยิ่งกว่าก็คือ การที่จะต้องใช้ชีวิตโดยอาศัยเงินที่เก็บสะสมมาเลี้ยงชีวิตที่ไม่มั่นคงหลังจากต้องออกจากงานในวัย 40 กลาง ๆ และยังไม่รู้ว่าจะสามารถหางานที่เหมาะสมและทำเงินได้มากน้อยแค่ไหน หนังสือเล่มแรกแนว Value Investment ชื่อ “ตีแตก” ของผมออกวางขายในตลาดด้วยความเงียบเหงาเช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายเพียงวันละ 3- 4,000 ล้านบาท และนั่นเป็นการเริ่มชีวิตใหม่ของผมในฐานะนักลงทุน VI และน่าจะเป็นการเริ่มต้นกระแสการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทยด้วย