โค้ด: เลือกทั้งหมด
เรื่องของกลยุทธ์การลงทุนนั้น คำพูดที่มักถูกอ้างอิงเสมอก็คือ “จงขายหุ้นเมื่อทุกคนโลภ (กล้า) และซื้อหุ้นเมื่อทุกคนกลัว” หรือบางทีก็ใช้คำพูดโด่งดังของเบน เกรแฮม ที่เปรียบเปรยตลาดหุ้นเหมือนกับ “นายตลาด” ที่เป็น “หุ้นส่วน” กับเรา ทุกวันเขาก็จะมาเสนอซื้อหรือขายหุ้นในส่วนของเขาให้กับเรา ซึ่งเราจะรับข้อเสนอของเขาหรือไม่เขาก็ไม่สนใจและไม่โกรธ อย่างไรก็ตาม เขาเป็นคนที่มี “อารมณ์แปรปรวน ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ในบางช่วงเวลาที่มีอารมณ์ดี เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นของเราในราคาที่สูงลิ่วเกินความจริงไปมาก แต่เวลาที่เศร้าหมองหดหู่ เขาก็เสนอขายหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ เราอย่าไปตามเขา แต่ถือโอกาสทำกำไรจากการกระทำของเขา
ปัญหาก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขากำลังอารมณ์ดีหรือหดหู่? ราคาหุ้นที่สูงขึ้นอาจจะมาจากผลประกอบการที่ดีก็ได้เช่นเดียวกับหุ้นที่ตกลงมาอาจจะมาจากผลประกอบการที่กำลังจะแย่ลงก็ได้ มีอะไรเป็นสัญญาณที่บอกว่าอารมณ์เขากำลังดีหรือร้าย?
วิธีที่จะดูว่าอารมณ์ของคนหรือตลาดหุ้นโดยรวมซึ่งก็คือนักลงทุนจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์กำลังมีอารมณ์ประมาณไหนนั้น ผมชอบโมเดลความคิดของ Peter Atwater ผู้เขียนหนังสือชื่อ “Moods and Markets” ที่ว่าเวลาที่คนกำลังมีอารมณ์ที่ดีกับการลงทุนหรือธุรกิจอะไรก็ตามนั้น พวกเขาก็จะมีความมั่นใจสูงกว่าปกติเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เขามักจะมองเห็นแต่ความแน่นอนในอนาคต และดังนั้นเขาก็จะ “กล้า” และปฏิบัติในสิ่งที่เขาคาดว่าจะทำให้เขาได้รับประโยชน์เต็มที่ ตรงกันข้าม ถ้าเขาอารมณ์แย่ เขาก็จะเห็นแต่ความไม่แน่นอนในอนาคต เขาจะ “กลัว” และจะคิดและปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลและของตลาดโดยรวมด้วย เพราะตลาดก็คือบุคคลจำนวนมากที่เข้ามาอยู่รวมกัน ปีเตอร์บอกว่า อารมณ์นี่แหละที่เป็นตัวขับดันให้ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดเคลื่อนไหวขึ้นลง ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องอารมณ์ของคนและตลาด เราก็จะสามารถคาดการณ์เรื่องของราคาและสามารถจับจังหวะการลงทุนได้อย่างถูกต้อง
ปีเตอร์บอกว่า เมื่อคนกำลังขาดความมั่นใจและ “กลัว” สิ่งที่เขาจะคิดถึงก่อนเลยก็คือ “ตัวฉัน ที่นี่ เดี๋ยวนี้” แต่ในยามที่มีความมั่นใจสูงเขามักจะ “กล้า” และคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นไปตามที่เขาคาดไว้อย่างแน่นอน ดังนั้น ความคิดของเขาก็จะเปลี่ยนไปเป็น “พวกเรา ทุกแห่งหน ตลอดไป” และนี่ก็คือโมเดลง่าย ๆ ที่เขาใช้ในการดูหรือประเมินระดับของความกล้าหรือกลัวหรืออารมณ์ของตลาด
ตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เรามักจะเห็นในช่วงที่นักลงทุนอยู่ใน “อารมณ์ไม่ดี” ก็เช่น พอเห็นหุ้นขึ้นมา 2-3 ช่วงเขาก็รีบขายแล้ว เขากลัวว่าถือไว้ต่อไปเดี๋ยวหุ้นจะตกลงมากลายเป็นขาดทุน แต่ในยามที่นักลงทุนกำลัง “อารมณ์ดี” พวกเขาก็มักจะ “กล้า” ถือยาว เขามีความมั่นใจกับตลาดหุ้นมากว่ามันจะวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ เขามักคิดว่าต่อให้หุ้นตกลงมาเดี๋ยวก็วิ่งขึ้นไปใหม่ ดังนั้น เขาจึงมักชอบที่จะ “Let Profit Run” คือถือหุ้นยาวต่อไปเพื่อทำกำไรมากขึ้น
ในยามที่ Mood หรืออารมณ์ของคนหรือตลาดกำลังดีนั้น คนมักจะคิดถึงการ “ร่วมมือ” เป็นหุ้นส่วนหรือมีความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือบริษัทอื่น เป็นความคิด “พวกเรา” ถ้าเป็นนักลงทุนก็อาจจะเป็นการเข้าไปเล่นหุ้นตัวเดียวกัน ซื้อหุ้นตามกัน บริษัทเองก็คิดถึงการขยายงานมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซื้อหรือควบรวมกิจการต่าง ๆ จำนวนมาก สถาบันการเงินก็มักจะอยากปล่อยกู้มากขึ้น พวกเขาไม่กลัวความเสี่ยงเพราะพวกเขา “มั่นใจ” กับอนาคตที่เขามองดูแล้ว “แน่นอน” นี่ก็คือแนวคิด “ทุกแห่งหน” เช่นเดียวกับเรื่องมุมมองของกรอบระยะเวลาที่พวกเขามักจะ “รอได้” บางทียิ่งยาวยิ่งดี โครงการอาจจะใช้เวลาทำงานนานกว่าจะส่งผลถึงกำไรหรือผลประกอบการของบริษัท บ่อยครั้ง ขอให้มี Story หรือเรื่องราวดี ๆ ก็พอแล้วสำหรับบริษัท สำหรับนักลงทุนเองนั้น ในยามที่พวกเขาอารมณ์ดีกับการลงทุน ความคิดของเขาก็คือ เขามีความมั่นใจที่จะถือหุ้นยาว ไม่อยาก “ขายหมู” นี่คือแนวคิด “ตลอดไป”
ในภาวะที่อารมณ์ของตลาดดี ความเสี่ยงดูเหมือนว่าจะมีน้อย เขามีความมั่นใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างที่คาดอย่างแน่นอน ดังนั้น เขาไม่กลัว ถ้าเป็นบริษัทผู้ประกอบการเขาก็จะกล้าลงทุนในสิ่งที่บางทีเขาไม่เคยทำ ถ้าเป็นสถาบันการเงินหรือนักลงทุนเขาก็กล้าที่จะลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่นแม้กระทั่งการซื้อตั๋ว BE ของบริษัทที่มีหนี้จำนวนมากและกิจการมีความผันผวน พวกเขาคิดว่า “ไม่เสี่ยง”
ในยามที่อารมณ์ของคนและตลาดเลวร้ายนั้น ทุกอย่างก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม บริษัทก็อาจจะคิดถึงแต่ตัวเอง พวกเขาคิดว่า “ต้องเอาตัวรอด” นักลงทุนเล่นหุ้นที่เคยเล่นกันเป็นกลุ่มซื้อหุ้นตัวเดียวกันนั้นเวลานี้อาจจะมีคน “แอบขาย” เอาตัวรอด นี่ก็คือเน้นที่ “ตัวฉัน” บริษัทที่เคยขยายงานซื้อกิจการทั่วไปหมดก็จะเริ่ม “ขาย” หรือเลิกทำธุรกิจที่ “มีแต่ขาดทุน” คนที่เคยไป “ลุยต่างประเทศ” อาจจะเริ่มกลับบ้านเพราะธุรกิจไปไม่ไหวเพราะ “สภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน” ข้ออ้างต่าง ๆ เพื่อที่จะลดภาระและความเสียหายและกลับมาเน้นในสิ่งที่ตนเองถนัดที่บ้าน “ที่นี้” นอกจากนั้น กรอบเวลาที่อาจจะเคยยาวหรือ “ยาวตลอดไป” ในยามที่อารมณ์ยังดีอยู่นั้นเปลี่ยนมาเป็น “เดี๋ยวนี้” บริษัทของเราไม่ต้องการทำอะไรหรือลงทุนอะไรที่ใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลหรือเห็นกำไร นักลงทุนที่เคยถือหุ้นได้ยาวนานในยามที่อารมณ์ยังดีก็ถือหุ้นสั้นลง เขาคิดว่าใครจะเห็นอนาคตที่ยาวไกลได้ ถ้าได้กำไรก็ต้องเอาไว้ก่อน เงินสดก็ต้องมีมากขึ้น
ยามที่อารมณ์ตลาดแย่นั้น ความเสี่ยงดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โครงการอะไรที่ยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะทางด้านของการตลาดก็จะไม่ได้รับการอนุมัติ นักลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้นก็ระมัดระวังไม่ยอมซื้อหุ้นที่ยังไม่ได้แสดงผลประกอบการที่ดีให้เป็นที่ประจักษ์ แม้แต่หุ้น IPO เองที่เคยเป็นหุ้นที่ทุกคนอยากได้โดยไม่สนใจถึงคุณค่าและความถูกความแพงก็จะถูกปฏิเสธ หุ้นเข้าใหม่จึงมีน้อยลงไปมาก หุ้นที่มี PE สูงลิ่วโดยที่ไม่ได้มีความโดดเด่นพิเศษจะถูกหลีกเลี่ยง ค่า PE โดยรวมของตลาดลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว หุ้นที่มี PE สูงลิ่วแบบ 30 เท่าขึ้นไปแทบจะไม่มี หุ้นที่ PE จากกำไรปกติสูงถึง 50 เท่าขึ้นไปนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะคนกำลังกลัวความเสี่ยง
โมเดล “ตัวฉัน ที่นี่ เดี๋ยวนี้” กับ “พวกเรา ทุกแห่งหน ตลอดไป” เป็นการมองอารมณ์ในแง่ร้ายสุดไปจนถึงดีสุด แน่นอน น้อยครั้งที่ตลาดหรือตัวหุ้นแต่ละตัวจะเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ระหว่างสองขั้ว อย่างไรก็ตาม โดยการสังเกตพฤติกรรมของตลาดโดยรวมหรือตัวหุ้นที่เราสนใจว่ามีอาการอย่างไร เราก็จะรู้ว่าในขณะนั้นอารมณ์ของคนหรือนักลงทุนในตลาดหรือหุ้นตัวนั้นน่าจะเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น มีบริษัทจำนวนมากขยายงานกันมาก หรือคนลงทุนยอมซื้อหุ้นที่มี PE สูงจำนวนมาก นั่นก็แสดงว่าอารมณ์ของตลาดค่อนข้างดี ถ้าเป็นแบบนี้เราเองอาจจะต้องระวัง เพราะเราไม่ต้องการซื้อหุ้นในยามที่คน “กล้า” หรือโลภ เป็นต้น เช่นเดียวกัน เวลาเราเจอหุ้นบางตัวที่มีอาการว่าคนเข้าไปซื้อด้วยอารมณ์ที่ดีมากเกินไปจนหุ้นมีราคาแพงมาก PE สูง 50-100 เท่า เราก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยง เพราะส่วนใหญ่แล้ว หุ้นนั้นมักจะไม่ค่อยดีจริง อารมณ์ของคนที่เข้าไปเล่นต่างหากที่ดีเกินไป