โค้ด: เลือกทั้งหมด
ปี 2560 ผ่านไปเกือบแปดเดือนแล้ว ผู้ลงทุนที่เริ่มต้นปีมาด้วยความกังวลว่าตลาดทุนต่างๆจะไม่สดใส ต่างก็มีความยินดี เพราะตลาดทุนส่วนใหญ่ในปีนี้ทำได้ดีเกินกว่าความคาดหมาย และค่าความผันผวนก็ไม่สูงมาก
ในครึ่งแรกของปีนี้ การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด คือ 17.23% ในขณะที่การลงทุนในหุ้นของโลก วัดโดย MSCI World ให้ผลตอบแทน 9.43% ทองคำให้ผลตอบแทน 8.2% และดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ให้ผลตอบแทน 8.03% หุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทน 4.8% และหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 2.06% ในครึ่งแรกของปี
การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแย่ในครึ่งแรกของปีนี้คือ น้ำมัน ให้ผลขาดทุน 14.3% และโภคภัณฑ์ให้ผลขาดทุน 10.24%
ส่วนค่าความผันผวนก็ไม่ได้สูง โดยค่าความผันผวนของตลาดเกิดใหม่วัดโดยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation (S.D.) เท่ากับ 7.43% ของทองคำเท่ากับ 9.03% ของดัชนีดาวโจนส์ 4.9% หุ้นญี่ปุ่นจะมีค่าความผันผวนสูงเล็กน้อยคือ 13.47% และหุ้นไทยมีค่าความผันผวน 7.43% ในครึ่งแรกของปี 2560
ส่วนกลุ่มที่ให้ผลขาดทุนในครึ่งปีแรก มีค่าความผันผวนสูงกว่าค่ะ คือ น้ำมันมีค่าความผันผวน 30.79% และโภคภัณฑ์มีค่าความผันผวน 17.48%
ในสองเดือนที่ผ่านมาของครึ่งหลังของปี จึงเห็นการปรับตัวของสินทรัพย์ต่างๆ และเห็นถึงความผันผวน และเปราะบางของอารมณ์ของผู้ลงทุน
อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยของเศรษฐกิจส่วนใหญ่เกือบทั่วโลก ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนี้ ทำให้ผู้ลงทุนมองว่าต้นทุนในการลงทุนต่ำ (ค่าเสียโอกาสต่ำ) จึงพร้อมที่จะเสี่ยง กล้าเสี่ยงมากขึ้น ประกอบกับหาสินทรัพย์ลงทุนได้ยากมากขึ้น จึงยังคงถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆอยู่ แม้ว่าจะทราบว่ามีความเสี่ยงต่อการปรับลง (ราคาตก) นอกจากนี้ กำไรที่ได้อยู่ในมือ ก็เพียงพอต่อการทนทานต่อความผันผวนของราคา สัก 2-3%
ดิฉันมองว่า ณ ปัจจุบัน ตลาดทุนทั่วโลกมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น และรอโอกาสที่จะปรับฐาน แต่การปรับฐานนั้นจะมีช่วงเวลาไม่ยาว เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงมากๆรออยู่ เว้นแต่จะมีสงครามเกิดขึ้น
ณ ปัจจุบัน ตลาดที่มีความเปราะบางมากที่สุด คือ ตลาดพันธบัตรของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะราคาพร้อมจะปรับตัวลงได้ตลอดเวลา ส่วนของประเทศในตลาดเกิดใหม่ ยังมีความน่าสนใจของการลงทุนในสกุลเงินตราของประเทศนั้นๆ จึงทำให้อ่อนไหวน้อยกว่า เนื่องจากส่วนหนึ่งของเงินที่ลงทุนในพันธบัตรของประเทศพัฒนาแล้ว ทยอยไหลมาลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสในพันธบัตรของประเทศในตลาดเกิดใหม่ค่ะ
การดูแนวโน้มส่วนหนึ่งอาจจะดูได้จากเงินลงทุนที่ไหลเข้าหรือออกผ่านกองทุนรวมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยสมาคมบลจ. ของอเมริกา หรือ Investment Company Institute (ICI) โดยพบว่าตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นของสหรัฐ และไหลออกชัดเจนขึ้นในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม โดยไหลออกรวม 17,926 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้สัปดาห์ 10-16 สิงหาคมสัปดาห์เดียวไหลออกถึง 11,272 ล้านเหรียญ
สำหรับกองทุนรวมพันธบัตรของสหรัฐ แม้ว่าจะยังไม่มีเงินไหลออก แต่ปริมาณเงินไหลเข้าลดลงชัดเจน จากสัปดาห์ละ 13,800 ล้านเหรียญ เหลือเพียงสัปดาห์ละ 4,778 ล้านเหรียญในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในส่วนของทองคำนั้น หากสังเกตจากขนาดของกองทุนทองคำ Gold SPDR จะพบว่า ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2547 ขนาดของกองทุนวัดจากปริมาณทองคำที่ถือครอง (ไม่นำมูลค่าเข้ามาเกี่ยวข้อง) ได้เพิ่มจาก 8.09 ตัน เป็น 1,351.54 ตัน ในช่วงความนิยมลงทุนในทองคำพุ่งขึ้นสูงสุดในเดือนธันวาคม 2555 และลดลงต่ำสุดในช่วงหลังที่ 630 ตัน ในเดือนธันวาคม 2558 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 970 ตันในเดือนตุลาคม 2559 และลดลงในช่วงสิ้นปี เหลือ 822 ตัน ไต่ขึ้นใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีจนอยู่ที่ระดับ 854 ตันในเดือนมิถุนายน และ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 799.286 ตันค่ะ
แม้ว่าปริมาณทองคำจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ราคาทองคำก็ค่อยๆแอบขยับขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้ลงทุนมีความกังวลเรื่องสงครามและความไม่สงบค่ะ โดยราคาเมื่อต้นปีอยู่ที่ 1,158.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขึ้นไปแตะราคาสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ 1,300 ดอลลาร์ ก่อนที่จะปรับลงมาอยู่ที่ 1,287 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยระหว่างทางมีความผันผวนพอสมควร
สัปดาห์นี้เขียนเพื่อเตือนใจผู้ลงทุนว่า ครึ่งหลังของปีนี้ ความผันผวนจะเพิ่มมากขึ้น อย่าลิงโลดใจในผลตอบแทนที่ได้มาในช่วงก่อน จนละเลยที่จะมองภาพรวมและปรับพอร์ตให้เหมาะสมนะคะ