โค้ด: เลือกทั้งหมด
การลงทุนระยะยาวหรือ “ระยะกลาง” นั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เราจะต้องมองหา Trend หรือแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วและจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยในระยะเวลาหนึ่งที่เราสามารถเชื่อมั่นได้ จากนั้นเราก็ควรจะสร้างเรื่องราวและแนวความคิดในการลงทุนหลัก หรือบางทีเรียกว่าเป็น “Theme” ของการลงทุน ว่าเราจะลงทุนในหุ้นกลุ่มไหนและตัวไหนและด้วยวิธีใดที่จะทำให้หุ้นและพอร์ตลงทุนของเราได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว การลงทุนแบบนี้ถ้าเราทำได้ถูกต้อง ผลตอบแทนของเราก็จะดีเลิศ แต่ถ้าผิดพลาดเราก็อาจจะแย่ได้เหมือนกันเพราะหุ้นจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ของเราอยู่ในกลุ่มของหุ้นที่มีคุณสมบัติและพฤติกรรมคล้าย ๆ กัน ดังนั้น การวิเคราะห์จะต้องละเอียดรอบคอบ ประเด็นสำคัญก็คือ เทรนด์นั้นจะต้องไม่พลาด ในส่วนของหุ้นรายตัวที่เราเลือกนั้น ถ้าทำได้ถูกต้องก็จะได้ผลตอบแทนยอดเยี่ยม แต่ถ้าผิดก็คงต้องดูต่อไปว่าบริษัทนั้นเกิด “หายนะ” หรือไม่ เพราะในบางอุตสาหกรรมเช่นไฮเท็คนั้น “ผู้แพ้” มัก “ตาย” แต่ในบางธุรกิจผู้ “ไม่ชนะ” ก็ยังอาจจะอยู่รอดได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องวิเคราะห์เช่นกัน
Theme ของการลงทุนนั้น อาจจะมีได้มากมายและไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องของอุตสาหกรรม มันอาจจะเป็นแนวความคิดในการเลือกหุ้นลงทุนตามสไตล์ในช่วงเวลาหนึ่งก็ได้ที่เราเห็นว่ามันน่าจะให้ผลดีอย่างน้อยก็ในระยะเวลาช่วงหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ถ้าเราคิดว่าเศรษฐกิจกำลังจะเติบโตขึ้นเร็วกว่าปกติหลังจากซบเซามานาน เราก็อาจจะเน้นเลือกหุ้นที่โตเร็วเป็นต้น ตัวอย่างเช่น การลงทุนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองของคนที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเฟื่องฟู พวกเขาก็เน้นลงทุนในหุ้น ส่วนพวกที่คิดว่าหลังสงครามเศรษฐกิจจะแย่เพราะทหารจะตกงานกันมากก็อาจจะมี Theme อีกแบบหนึ่งที่จะถอนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นต้น แน่นอน อย่างที่เรารู้ในภายหลัง คนที่เล่น Theme ความเฟื่องฟูหลังสงครามก็รวยไปเพราะเขาคิดถูก ส่วนคนที่คิดว่าเศรษฐกิจจะแย่ก็พลาดผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมไป
Theme ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและมีคนใช้กันในช่วงเวลานี้ในตลาดหุ้นไทยนั้นมีจำนวนมาก มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
Theme แรกก็คือเรื่องของสังคมผู้สูงวัยหรือ Ageing Economy เหตุผลก็เพราะว่าโครงสร้างประชากรของไทยเปลี่ยนแปลงไป เวลานี้เราเป็นประเทศที่อายุของประชากรเฉลี่ยสูงที่สุดหรือเกือบที่สุดในอาเซียน ดังนั้น คนบางคนก็เชื่อว่านับจากนี้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่จะเติบโตดีในระยะกลางหรือยาวก็น่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ ดังนั้น เขาก็จะเน้นลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลมากกว่าปกติ บางทีเขาอาจจะไม่สนใจบริษัทยาซักเท่าไรเพราะเขาอาจจะคิดว่าในประเทศไทย บริษัทยาไม่ได้มีอำนาจทางการตลาดเท่าไรและก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก เป็นต้น
ต่อจากเรื่องความแก่ก็คือการท่องเที่ยวที่มีการนำมาใช้เป็น Theme ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นเกี่ยวข้องกับกิจการหลายอย่างรวมถึงโรงแรม สายการบิน สนามบิน สินค้าที่ระลึกและอื่น ๆ ซึ่งบางอย่างก็เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ดังนั้น ราคาหุ้นของกิจการเหล่านั้นก็ผสมผสานมีทั้งที่ดีเยี่ยมเนื่องจากเป็นกิจการที่ผูกขาดไปถึงที่ย่ำแย่เพราะมีการแข่งขันและมีความผันผวนของต้นทุนสูงเช่นการบิน เป็นต้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีคนเล่น Theme ที่ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาทางด้านของสาธารณูปโภคพื้นฐานมาก พวกเขาก็เข้าไปเล่นหุ้นรับเหมาก่อสร้าง บางคนก็ไปเล่นหุ้นที่รับสัมปทานหรือรับอนุญาตให้บริการสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับการสื่อสารเดินทาง ผลการลงทุนที่เกิดขึ้นนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ชัดเท่าไร เพราะโครงการมีความล่าช้า บางทีบริษัทมีรายได้เพิ่มแต่กำไรก็ไม่เกิดขึ้น อาจจะพูดได้ในระดับหนึ่งว่า Theme นี้ใช้ไม่ได้ผลเท่าไรนัก
นักลงทุน VI โดยเฉพาะที่ยังเป็นหนุ่มสาวนั้น บางคนก็มี Theme ที่เกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีและ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้น เขาก็ไปลงทุนในตลาดหุ้นของอเมริกาที่เต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกไล่ไปตั้งแต่กูเกิล เฟซบุค อเมซอน เทสลา รวมถึงบริษัทที่ทำเกี่ยวกับ AI อีกหลาย ๆ บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาก็น่าจะประสบความสำเร็จพอสมควรทีเดียว เหตุเพราะว่าบริษัทเหล่านั้นมีราคาเพิ่มขึ้นมากทั้ง ๆ ที่ราคาตอนเข้าไปซื้อนั้นหลายคนก็บอกว่าแพงมาก ๆ หลายบริษัทยังไม่มีกำไรหรือมีน้อยมาก แต่ก็อย่างที่คนพูดกัน ใน “ธุรกิจแห่งอนาคต” นั้น PE ไม่มีความหมายต่อความถูกหรือแพงของหุ้น
สำหรับ VI ที่ยังยึดแนวหุ้นถูกอยู่ซึ่งรวมไปถึง VI สูงอายุและ VI หนุ่มสาวที่อาจจะ “พลาดยุคทองของ VI” ในตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเริ่มสนใจ Theme ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาที่เริ่มโตเร็วและเร็วกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทย พวกเขาเริ่มไปลงทุนในประเทศอย่างเวียตนามและอินเดีย บางคนที่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าไปศึกษาก็เริ่มลงทุนกับกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดหุ้นเหล่านั้น พวกเขาหวังว่าจะทำให้เขามีโอกาส “รวย” แบบเดียวกับคนที่เคยรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไปเมื่อหลายปีก่อน
โดยส่วนตัวผมเองนั้น ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี ผมก็ลงทุนตาม Theme ของการเติบโตของ Modern Trade เพราะผมเชื่อว่าคนไทยเริ่มมีรายได้ถึงจุดที่ต้องการซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกสมัยใหม่แทนที่ห้างค้าปลีกดั้งเดิม ผมซื้อหุ้นค้าปลีกหลายตัวที่ประสบความสำเร็จหรือเป็น “ผู้ชนะ” แล้วในราคาที่ไม่แพงและถือยาวมานับสิบปี บางตัวผมก็ยังถืออยู่ ผมคิดถูกและได้ผลตอบแทนที่ดีมาก ในช่วงเวลาอันยาวนานนั้น ผมแทบไม่ได้เล่น Theme อย่างอื่นเลย ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่มีเงินสดเหลือที่จะลงทุน จนกระทั่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ผมเริ่มขายหุ้นและมีเงินสดเพิ่มขึ้นมากและจำเป็นที่จะต้องหาหนทางลงทุนใหม่ที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก
เงินก้อนแรก ประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของพอร์ตโดยรวม ถูกนำไปลงทุนที่เวียตนามโดยที่ Theme ของผมก็คือการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเวียตนามนอกเหนือจากการ “กระจายความเสี่ยง” ของเงินลงทุนไปยังต่างประเทศ ผมเองยังไม่สามารถพูดได้ว่าประสบความสำเร็จจาก Theme นี้เนื่องจากผลตอบแทนที่ผ่านมา 2-3 ปี นั้นอยู่ในระดับกลาง ๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตามความคิดที่ว่าเศรษฐกิจเวียตนามจะโตเร็วและตลาดหุ้นเวียตนามจะให้ผลตอบแทนสูงนั้นถูกต้อง เพียงแต่กลยุทธ์ที่ผมใช้นั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ ผมคงต้องรอต่อไป ว่าที่จริงผมตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าการลงทุนที่เวียตนามของผมนั้น อย่างน้อยต้องอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 ปีก่อนที่จะคิดขาย
เงินสดก้อนที่สอง ประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของพอร์ตโดยรวมอีกเช่นกัน เพิ่งถูกนำกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ Theme ของผมสำหรับการลงทุนครั้งนี้ก็คือ การลงทุนในหุ้นถูกแบบ เบน เกรแฮม ซึ่งก็เป็นการลงทุนแนว VI ที่ผมเคยใช้ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีก่อน เหตุผลของผมก็คือ เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก หุ้นเติบโตนับวันจะมีน้อยลงและถ้ามีก็มักจะมีราคาที่แพงเกินไปเพราะนักลงทุนในเวลานี้ต่างก็เน้นการเก็งกำไรและเล่นหุ้น Growth เป็นหลัก การลงทุนที่หวังผลตอบแทนสูงในตลาดหุ้นไทยนั้นผมคิดว่าทำได้ยากขึ้นมาก ดังนั้น ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนโดยเฉพาะที่ให้ปันผลตอบแทนสูงนั้นน่าจะปลอดภัยกว่า
ผมเองยังไม่รู้ว่า Theme การลงทุนสองครั้งหลังนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่จนกว่าเวลาจะผ่านไปพอสมควร บางทีอาจจะอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่การมี Theme ของการลงทุนนั้น มันช่วยให้เรามีกรอบคิดที่ชัดเจนและมันทำให้เรารู้ว่าเรา “ชนะ” หรือ “แพ้” แต่ละครั้งด้วยเหตุใด เพื่อที่ว่ามันจะเป็นประสบการณ์ที่จะสะสมและช่วยให้เราเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้นได้ในระยะยาว