โค้ด: เลือกทั้งหมด
ครั้งก่อนผมกล่าวถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย ซึ่งหลายคนรู้สึกว่ายังไม่กระจายตัวมากนัก แต่ก็ยังมีแนวคิดว่าการฟื้นตัวของการส่งออกและแรงขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวตลอดจนการเร่งลงทุนของภาครัฐนั้น ย่อมจะต้องนำมาซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด ขอให้รออีกไม่นานวันนั้นก็คงจะมาถึง แต่ก็มีการแสดงความเป็นห่วงว่าอาจมีวงจรอุบาทว์ที่ทำให้การลงทุน (ของภาคเอกชน) ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งในความเห็นของผมนั้น การที่ภาคเอกชนจะแสวงหาผลตอนแทนจากการลงทุนที่สูงคุ้มค่ากับความเสี่ยงนั้น ไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องได้ เพราะการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงก็คือการสร้างกำลงการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งย่อมจะต้องทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้สูงพร้อมกันไปด้วย
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ การลงทุนของภาคเอกชนไทยนั้น ไม่กระเตื้องขึ้นเลยมาหลายปีแล้ว ซึ่งจะต้องหาคำอธิบายว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งในขั้นนั้นก็อาจอ้างได้ว่า กำลังการผลิตของไทยโดยรวมนั้น ยังมีส่วนเหลือใช้อยู่เป็นจำนวนมากกว่าปัจจุบัน มีการใช้กำลังการผลิตเพียง 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในอดีตนั้นการใช้กำลังการผลิตจะต้องเพิ่มขึ้นถึง 75% จึงจะเกิดการเร่งการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เข้าใจว่าทางการกำลังจะปรับปรุงตัวเลขข้อมูล เพื่อสะท้อนความเป็นจริงว่ากำลังการผลิตเหลือใช้บางส่วนอาจใช้ไม่ได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลังเกินไป แต่โดยรวมผมก็ยังเชื่อว่ามีกำลังการผลิตเหลือใช้อยู่ระดับหนึ่งในขณะนี้
ในมุมมองของผมนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความผิดปกติในบางด้าน เช่น เราบอกกันว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ปรากฏว่าหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในระบบเริ่มปรับตัวเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งมีหนี้เสียในระบบประมาณ 2.2% ของสินเชื่อทั้งหมด แต่ปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้ 3% ในไตรมาสสองของปีนี้และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก จนกระทั่งปลายปีนี้ เป็นอย่างน้อย ซึ่งภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัว หนี้เสียควรจะลดลงไม่ควรเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นตัวคูณของเงิน (money multiplier) ก็เริ่มปรับตัวลดลงอีกด้วย แปลว่าการขยายสินเชื่อของระบบกำลังชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ซึ่งมักจะไม่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยไม่มีเงินเฟ้อเลยมานานกว่า 3 ปีแล้ว กล่าวคือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2014 ถึงเดือนส.ค. 2017 ซึ่งเดิมทีก็ได้มีการอธิบายว่าเป็นเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง และต่อมาเมื่อราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้นมาสู่ภาวะปกติ แต่เงินเฟ้อยังต่ำอยู่ดี จึงอธิบายว่ามาจากการที่ราคาอาหารบางชนิด (เช่น ผัก ผลไม้) ราคาลดลงอย่างมาก ซึ่งก็จะเป็นปัญหาชั่วคราวจากด้านอุปทาน เช่นเดียวกับกรณีของราคาน้ำมันมิใช่ปัญหาจากด้านอุปสงค์ (คือกำลังซื้อไม่มีราคาสินค้าจึงปรับขึ้นไม่ได้) ตรงนี้ผมมีข้อสังเกต 2 ประการคือ
หากพิจารณาเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ซึ่งไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารสดก็จะเห็นว่าเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2014 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.8% ในช่วงดังกล่าวมาเหลือเพียง 0.5% ในปัจจุบัน การไหลลงอย่างต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐานนานติดต่อกันกว่า 3 ปี ยังไม่มีใครออกมาอธิบายได้ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร
พูดกันมากว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 7-8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในปีนี้และแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.5% เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลักที่ประเทศไทยค้า-ขายด้วย หรือแข่งขันด้วย (ที่เรียกกันว่า NEER) ตรงนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าไม่เป็นปัญหามากนักสำหรับผู้ส่งออก เพราะเมื่อนำเอาเงินเฟ้อของไทย ซึ่งต่ำกว่าไปเปรียบเทียบกับเงินเฟ้อของประเทศคู่แข่ง-คู่ค้า แล้วก็จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกไม่เสียเปรียบมากนัก แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็อาจแปลได้ว่า ผู้ส่งออกจะต้องมีส่วนในการกดราคาภายในประเทศให้ลดลงไปอีกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนเอาไว้ นอกจากนั้นในโลกที่ตอนนี้เสียงส่วนใหญ่กลัวว่าเงินเฟ้อจะต่ำเกินไป การที่เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าของประเทศอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ และอย่างยาวนานนั้น อาจหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นได้ในประเทศไทย
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ในการประชุมครั้งล่าสุด (วันที่ 16 ส.ค. 2017) “แสดงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ฟื้นตัวช้า แต่ยังเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้น และเห็นว่าการคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนในระดับปัจจุบันต่อไปจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น…” นอกจากนี้ “กรรมการส่วนหนึ่งเสริมว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดอยู่ในระดับต่ำ…” และสรุปว่า “การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย (1-4%) ได้เร็วขึ้น จะมีผลจำกัด” แปลว่า กนง. ไม่คิดจะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องขอนำมาคุยกันอีกครั้ง ว่ามีความเสี่ยงอะไร และจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างไรในโอกาสหน้าครับ