อายุยืนอย่างมีคุณภาพ (4)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ตอบกลับโพส
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
กระทู้: 1243
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ ก.ค. 11, 2012 10:42 pm

อายุยืนอย่างมีคุณภาพ (4)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ โดย Thai VI Article » อังคาร ต.ค. 24, 2017 8:42 pm

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ครั้งที่แล้วผมสรุปว่า นักวิจัย 2 คน คือ Dr. Leonard Guarente แห่ง มหาวิทยาลัย MIT และ Dr. David Sinclair แห่งมหาวิทยาลัย Harvard มีความเชื่อ เขาได้ค้นพบกระบวนการ ควบคุมการแก่ตัวในระดับเซลแล้ว โดยชี้ไปที่ยีน Sirtuins (ซึ่งมีทั้งหมด 7 ตัว) ว่าเป็นตัวกลางสำคัญในการควบคุมการทำงานและการประสานงานระหว่าง nucleus ของเซล กับ Mitochondria ทำให้ร่างกายแข็งแรงและหนุ่มสาวได้อย่างมหัศจรรย์ โดย Dr. Sinclair ได้ประสบความสำเร็จในการทดลองนำเอา NMN (nicotinamide mono nucleotide) ลงไปผสมกับน้ำให้หนูดื่ม ซึ่งมีผลในการเพิ่มปริมาณ NAD+ (nicotinamide adenine dinucleotide) ให้สูงขึ้นเท่ากับปริมาณที่มีอยู่ในหนูวัยหนุ่ม-สาว

    ทั้งนี้ NAD+ ในปริมาณสูงจะไปสั่งการให้ Sirtuin ทำงานเป็นปกติ ในการควบคุมให้ nucleus ของเซล และ Mitochondria ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในการบำรุงและซ่อมแซมเซลทุกเซลของร่างกายให้แข็งแรง หนุ่มแน่น และปกป้องจากโรคภัยร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง

    เมื่อพัฒนามาถึงจุดนี้แล้ว Dr. Sinclair จึงมีความคาดหวังว่าในช่วง 5-10 ปี ข้างหน้าจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ที่จะต้องติดตามดูว่าจะสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า การเพิ่มปริมาณ NAD+ (โดยการบริโภค NMN) นั้น จะสามารถชะลอความแก่และฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนป้องกันโรคภัยแรงต่างๆ ได้หรือไม่ ซึ่งหากยืนยันได้ ก็จะสามารถพัฒนาเป็นตัวยาขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลในการชะลอความแก่หรือหมุนเวลากลับสำหรับร่างกายมนุษย์ให้มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีตลอดชีวิตได้

    หลายคนอาจข้องใจว่า หากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ทำไมจึงไม่มีข้อมูลที่แพร่หลายต่อสาธารณชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คำตอบส่วนหนึ่งคือ พัฒนาการดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนในระดับหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น บทความที่พยายามอธิบายผลการวิจัยด้านนี้อย่างครบถ้วนบทความหนึ่งคือ “critical steps found in DNA repair, cellular aging” ตีพิมพ์ในนิตยสาร Harvard Gazette เมื่อ 23 มี.ค. 2017 ซึ่งแม้จะเขียนเรียบเรียงสรุปเพื่อให้ประชาชนทั่วไปอ่าน แต่ก็ยังมีความสลับซับซ้อนอยู่ไม่น้อยเลย

    นอกจากนั้น ผมคิดว่าแนวทางแสวงหายาวิเศษ (magic pill) นี้น่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันหลักๆ ด้านสาธารณสุขมากนัก ก็เพราะว่าแนวทางเช่นนี้อาจจะมองได้ว่าเป็น disruptive technology กล่าวคือ

    - คำนิยามของ “โรค” ที่ต้องแสวงหาตัวยามาให้สำนักงานอาหารและยาอนุญาตให้ทำการทดลองกับมนุษย์นั้น ต้องหมายถึง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มน้อย แต่การแก่ตัวลงนั้นเป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคน จึงจะนิยามว่าเป็น “โรค” ไม่ได้
    - หากสามารถค้นพบยาวิเศษ (magic pill) ได้จริงซึ่งรักษาโรคหลักๆ (โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบตัน เบาหวาน สมองเสื่อม และมะเร็ง) ได้ทั้งหมด ก็จะทำให้บริษัทยาต่างๆ ซึ่งพัฒนาและขายยารักษาโรคเฉพาะทางในราคาแพงๆ ก็จะสูญเสียลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก แม้แต่โรงพยาบาลและแพทย์เองก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาว่าจำนวนคนไข้ลดลงอย่างมาก

    ดังนั้น Dr. Sinclair หนึ่งในนักวิจัยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ (คนที่พบว่า Resveratrol ในไวน์แดง ช่วยกระตุ้นการทำงานของ Sirtuins เมื่อปี 2003 (ทำให้ปลุกกระแสการนิยมดื่ม ไวน์แดง) และเป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัทยา Glaxo Smith Kline (GSK) จึงได้เคยเอ่ยว่า GSK กำลังพัฒนายารักษาโรคเบาหวาน (ซึ่ง WHO ประเมินว่า ในปี 2016 โลกมีคนที่เป็นโรคเบาหวานถึง 422 ล้านคน) ทั้งนี้ Dr. Sinclair กล่าวว่า ยารักษาโรคเบาหวานที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ อาจมีผลข้างเคียงคือช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย

    ที่สำคัญคือ หากสามารถพัฒนายาที่ป้องกันโรคภัยแรงหลายโรคได้พร้อมกันและทำให้ร่างกายมนุษย์มีสุขภาพดี และอายุยืนได้ถึง 110-120 ปี จริง ก็จะเป็น game changerอย่างที่จะหาตัวเปรียบเทียบได้ยาก ตรงนี้ หากลองจินตนาการผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ก็จะเห็นว่าจะเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางเช่น

    - คนส่วนใหญ่คงจะต้องทำงานจนกระทั่งอายุอย่างน้อย 100 ปี การเกษียณอายุตอนอายุ 60 ปี คงจะเป็นไปได้ยาก
    - อาจต้องแบ่งการทำงานเป็น 2 ช่วง กล่าวคือ ทำงานจากอายุ 25-60 ปี แล้วไปเรียนใหม่อีก 2-3 ปี จึงจะกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีก 30 ปี จนอายุ 100 ปี
    - การมีบุตร คงจะลดลงไปอีก แต่หากอายุยืนยาว และร่างกายแข็งแรงก็อาจมีลูกตอนอายุ 25-30 ปี คนหนึ่ง และมีลูกอีกคนหนึ่งตอนอายุ 55-60 ปี ก็อาจเป็นได้
    - จำนวนหมอและพยาบาลคงจะต้องลดลงอย่างมาก เพราะนอกจากการเกิดโรคภัยไข้เจ็บจะลดลงอย่างมากแล้ว มนุษย์น่าจะมีสุขภาพดี จนกระทั่ง 1-2 เดือนสุดท้ายของอายุขัย ดังนั้นบริษัทยาก็คงจะมีขนาดและจำนวนลดลงตามไปด้วย
    - พฤติกรรม อุปนิสัย และรสนิยมของผู้สูงอายุ จะมีน้ำหนักทางการเมือง และเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจะทำให้แนวนโยบายมีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้นเพราะ คนอายุมากจะให้ความสำคัญสูงสุดกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในทรัพย์สิน ความสงบเรียบร้อย และเงินเฟ้อต่ำ ตลอดจนจะไปเลือกตั้งกันอย่างพร้อมเพรียงกันมากกว่าคนหนุ่มสาว
    - การมีประชากรในวัยสูงอายุ จำนวนมากจะกลายเป็นจุดแข็งไม่ใช่จุดอ่อน ดังที่คิดกันในปัจจุบัน กลายเป็นว่าประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และไทย จะกลายเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ เพราะจะมีแรงงานที่ “มีประสบการณ์สูง” และมีกำลังซื้อที่มีเสถียรภาพ
[/size]



ตอบกลับโพส