โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ของ CU Innovation Hub ได้จัดงานนัดพบของนวัตกรต่างๆ โดยในช่วงเช้า มีการเสวนา เรื่องการเพิ่มศักยภาพนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีศาสตรจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยีกรุ๊ป เป็นผู้ร่วมเสวนา ดิฉันเห็นว่ามีประโยชน์จึงขอนำมาเล่าสู่กันอ่านในวันนี้
เริ่มกันตั้งแต่การอบรมเยาวชนให้สนใจที่จะพัฒนาคิดค้นและมีนวัตกรรม อธิการบดีจุฬาฯ มีความเห็นว่า การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยน ต้องจัดการศึกษาให้เข้ากับความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคน ผู้เรียนมีนิยามกว้างขึ้น ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่เข้าศึกษาในสถาบันเท่านั้น แต่เป็นคนทั่วโลกที่ต้องการศึกษาหาความรู้มนเรื่องที่เราจัดสอน
สำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มทำนวัตกรรม หากจะตั้งต้น ควรจะเป็นเรื่องที่มีคุณสมบัติสามประการคือ 1. เรามีความรู้ 2. โลกให้ความสนใจ และ 3. เมืองไทยเก่งในเรื่องนั้น และย้ำเน้นว่า อยากให้คิดและมองในสเกลที่ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น เพราะมีผู้วิจารณ์ว่า “คนไทยคิดเล็กเกินไป” และเตือนว่า กลยุทธ์ก็สำคัญ แต่การนำไปปฏิบัติให้เกิดผล มีความสำคัญมากกว่า
ซึ่งเรื่องการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลมีความสำคัญกว่ากลยุทธ์นั้น คุณฐาปนะ ก็เห็นด้วย โดยกล่าวถึงการสร้างและนำนวัตกรรมไปใช้ในองค์กรว่า องค์กรต่างกับบุคคลในแง่ที่ว่า บุคคลมีองค์ความรู้ที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆตลอดเวลาอยู่แล้ว การปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่องค์กรประกอบด้วยคนหลายคน จึงต้องมีการหารือกัน ตกลงร่วมกัน ก่อนการปรับเปลี่ยน
ธุรกิจต้องสร้างแรงกดดันให้กับตัวเอง เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และต้องวางแผนองค์ประกอบต่างๆเพื่อดำเนินการ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือเวลาจะมีนวัตกรรม ควรต้องคำนึงถึงนวัตกรรมในกระบวนการทำงานด้วย และภาคเอกชนควรคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ไทยเบฟ มองหานวัตกรรม ใน 5 กลยุทธ์หลักที่ใช้ คือ 1. ในการเติบโต หรือในการเพิ่มพื้นที่จำหน่าย (Growth) 2. ในการกระจายความหลากหลายของสินค้า (Diversity) 3. ในการสร้างและเพิ่มแบรนด์ (Brand) 4. ในการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย (Reach) และ 5. ในการเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
คุณฐาปนะ ทิ้งท้ายว่า “โลกใบนี้ มีโอกาสอยู่มากมายที่จะรอให้ตกผลึกในรูปแบบใหม่” และในโลกปัจจุบัน การให้บริการหรือ service คือหัวใจของการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงต้องตอบสนองลูกค้าด้วยความรวดเร็ว โดยมองว่า เทคโนโลยี สามารถเปิดโอกาสให้คนได้มากขึ้น
คุณสมคิด มองว่า สิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างองค์กรต่างๆคือ การดำเนินการ หรือ Execution เพราะสามารถสร้างความแตกต่างได้ แม้กลยุทธ์จะเหมือน หรือคล้ายๆกัน
เมื่อมองไปในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์ หรือ artificial intelligence จะเป็นของธรรมดาสามัญ เสมือนไฟฟ้าของโลกในอดีต เพราะหลังจากค้นพบไฟฟ้า ก็มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบันแทบจะขาดไปไม่ได้ และให้ข้อคิดว่า เทคโนโลยีสามารถใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม ให้คำนึงถึงคนที่ด้อยโอกาสด้วย
ต่อการมองเรื่องการสร้างนวัตกรระดับโลกนั้น คุณสมคิดมีความเห็นว่า ผู้จะเป็นนวัตกรระดับโลกได้ต้องมีคุณสมบัติ 8 ข้อดังนี้
1. FUN ต้องสนุกกับการทำเรื่องนั้นๆ 2. Fight ต้องฝ่าฟันอุปสรรคจึงจะประสบผลสำเร็จ 3. Friends ต้องมีเพื่อน มีการแบ่งปันความรู้ 4. Futurist ต้องมองไกล มองคนอื่น มองเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ 5. Fire ต้องมีไฟ มีพลัง มีกำลัง 6. Furious ต้องบ้างาน 7. Fast ต้องเร็ว ไม่รีรอ และ 8. Fortune ต้องมีโชคด้วยค่ะ
ทั้งนี้ทุกท่านเน้นเรื่องของการคิดถึงส่วนรวม หรือที่เราเรียกว่า inclusive คือ ต้องไม่ทำให้เทคโนโลยีที่ล้ำยุค หรือนวัตกรรมที่ทันสมัย ทิ้งคนที่ด้อยโอกาสไว้เบื้องหลัง และดิฉันขอเสริมว่า จะเป็นการดีมากๆ หากนวัตกร สามารถคิดถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆมาช่วยให้เขาเข้าถึงโอกาสอื่นๆในชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน ความเป็นอยู่และสุขภาพ รวมถึงสังคม เพื่อให้โลกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
คนไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว แต่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่กดดัน เราจึงอาจจะยังไม่ได้ใช้ศักยภาพของเราให้เต็มที่ ต่างกับโลกตะวันตก ที่สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติกดดันให้ต้องวางแผนเพื่อความอยู่รอดในฤดูกาลต่างๆ หรือประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง เช่น จีน หรือ อินเดีย ที่ผู้คนต้องขวนขวายหาความรู้ หาสิ่งประดิษฐ์ หาแนวคิดในการทำธุรกิจใหม่ๆ หากจะต้องการให้ตัวเองเด่นขึ้นมาท่ามกลางผู้คนมากมายหลายพันล้านคน
สำหรับบุคคลหรือธุรกิจที่มีนวัตกรรม และต้องการเพิ่มศักยภาพ ด้วยการหาที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง สมัครเข้าร่วมโครงการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศของไทย หรือ Chulalongkorn University for Thailand Excellence (CUTE) ได้ที่ [email protected]
สำหรับดิฉัน ตอนนี้อยากได้หุ่นยนต์ช่วยทำงานบ้านอย่างที่สุดเลยค่ะ รบกวนช่วยประดิษฐ์ให้สักตัวนะคะ จะเป็นลูกค้ารายแรกเลยค่ะ