โค้ด: เลือกทั้งหมด
อ๊อกซเฟม องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำเรื่องการดูแลผู้ด้อยโอกาสในโลก ได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำการเมืองและผู้นำธุรกิจที่กำลังประชุมกันอยู่ที่เมืองดาวอส ในสวิสเซอร์แลนด์ ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในโลกนี้ โดยยกตัวเลขสถิติที่ใครๆได้อ่าน ได้ยินก็ต้องอึ้งไป
อ๊อกซเฟม พบว่า 82 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในโลกในปีที่แล้ว เป็นเงินประมาณ 762,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23.7 ล้านล้านบาท ตกไปอยู่ในกระเป๋าของคนที่รวยที่สุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์ข้างบน ดิฉันคำนวณได้ประมาณ 74,000 คน ส่วนอีก 18 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น หรือประมาณ 167,270 ล้านเหรียญ ตกอยู่ในกลุ่มคน 3,626 ล้านคน และคนที่เหลืออีก 3,700 ล้านคน ในโลกนี้ ไม่ได้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเลย ในปีที่แล้ว
อ๊อกซเฟมบอกว่า ผู้บริหารองค์กรเกือบทุกคน พูดและแสดงความเป็นห่วงในเรื่องความไม่เท่าเทียม หรือ Inequality แต่ไม่มีใครทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้สักเท่าไร
อ๊อกเฟม ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมี อภิมหาเศรษฐี (มีความมั่งคั่งเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 31,200 ล้านบาท) จำนวน 2,043 คน และ 90 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ เป็นผู้ชาย (แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับเพศสภาพได้อย่างหนึ่งว่า ผู้ชายมีโอกาสรวยมากกว่าผู้หญิง) เพราะผู้หญิงทำงานที่มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจโลก โดยไม่ได้รับค่าจ้าง
รายงานของอ๊อกซเฟมยังบอกว่า ปีก่อนหน้านี้ คนรวยสูงสุด 61 คน มีความมั่งคั่งรวมกันเท่ากับคน 50 เปอร์เซ็นต์ข้างล่าง (ประมาณ 3,700 ล้านคน) มาในปี 2560 คนรวยสูงสุดเพียง 42 คน มีความมั่งคั่งรวมกันเท่ากับประชากรอีกครึ่งโลก
ในอินโดนีเซีย คนรวยที่สุด 4 คนแรกของประเทศ มีความมั่งคั่งมากกว่า คน 100 ล้านคน ที่อยู่ระดับล่าง
และ เพื่อให้น่าตกใจเข้าไปอีก อภิมหาเศรษฐีอเมริกัน 3 คนที่รวยที่สุด มีความมั่งคั่งเท่ากับคนอเมริกันอีกครึ่งประเทศ (ประมาณ 160 ล้านคน)
หนึ่งในสามของความมั่งคั่ง มาจากการรับมรดก อ๊อกซเฟมคาดว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า คนที่มั่งคั่งที่สุด 500 คนของโลก จะส่งต่อความมั่งคั่งประมาณ 2.4 ล้านล้านเหรียญ (ประมาณ 75 ล้านล้านบาท) ไปให้ทายาท ซึ่งความมั่งคั่งที่จะถูกส่งต่อนี้ มีขนาดใหญ่กว่า จีดีพีของ อินเดีย ประเทศที่มีประชากร 1,300 ล้านคนเสียอีก
แม้โอกาสในการลงทุนมีอยู่มากมาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงโอกาสนั้น ข้อสำคัญคือต้องมี “ทุน” ไปลง และสิ่งที่คนจนไม่มี ก็คือ “ทุน” นี่แหละค่ะ
“ที่ทำกิน” ถือเป็นทุนที่มีค่าที่สุด แต่คนจำนวนมากได้ขายที่ทำกินไป และใช้ “แรงงาน” ในการหาทุน
แล้วจะทำอย่างไร?
อ๊อกซเฟมเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ดิฉันเห็นว่า ภาษีจะใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เมื่อไม่มีการสูญหายระหว่างทางก่อนถึงที่จะทำโครงการลดความเหลื่อมล้ำสำเร็จ
แต่โครงการลดความเหลื่อมล้ำใช้เวลานาน นานประมาณหนึ่งถึงสองชั่วอายุคนเป็นอย่างน้อย ซึ่งทำให้นักการเมืองโดยทั่วไปไม่สนใจดำเนินการ เพราะ “ทำชาตินี้ เห็นผลชาติหน้า”
รัฐมีหน้าที่พื้นฐานที่จะต้องให้ความช่วยเหลือให้อยู่รอดได้ ให้ความรู้ ให้โอกาส และชี้ให้เขาเห็นถึงช่องทางที่จะไปได้ดีในโลกอนาคต ซึ่งสิ่งที่เป็นพื้นฐานนี้สามารถให้โดยไม่ต้องคัดกรองได้
แต่การให้รางวัล ให้เงินช่วยเหลือ นอกเหนือจากการให้เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ นั้น ต้องเลือกให้ เพราะหากให้แบบปูพรม เราจะมีคนขี้เกียจเกิดขึ้นมากมาย หนักไม่เอา เบาไม่สู้
ผู้มีความมั่งคั่งสูงจำนวนมาก เห็นความไม่มีประสิทธิภาพของการดูแลลดความเหลื่อมล้ำของภาครัฐ ในทุกประเทศในโลกนี้ จึงสร้างโครงการของตนเอง เพื่อจัดการการให้ให้มีกลยุทธ์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ยั่งยืน
หลายท่านทำธุรกิจ และหลายท่านอยู่ในฐานะที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนรวยเท่ากัน แต่เขาควรจะได้โอกาสเท่ากัน เริ่มได้จากคนใกล้ๆตัว และในแวดวงใกล้ๆค่ะ ส่วนเขาจะมีความสามารถในการใช้โอกาสนั้น หรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องวางใจอุเบกขาค่ะ
หากท่านอ่านแล้วอยาก “ให้” บ้าง แต่ไม่ทราบจะเริ่มอย่างไร ขอแนะนำให้เข้าไปดูโครงการที่มีผู้ทำอยู่แล้ว และเข้าไปเสริมเพิ่มให้ตามกำลังของท่าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการให้ทุนค่ากินอยู่แก่เด็กเพื่อเรียนต่อในระดับมัธยม 1-3 โดยไม่ต้องออกจากโรงเรียนไปทำอาชีพใช้แรงงาน หรือมีโอกาสถูกล่อลวงไปทำอาชีพไม่พึงประสงค์ ในโครงการ Life Hero ของมูลนิธิยุวพัฒน์ การสนับสนุนชนเผ่าให้ได้รับการอบรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุ หรือโครงการ บัดดี้โฮมแคร์ ของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ หรือหากท่านนึกอะไรไม่ออก ลองเข้าไปในเว็ปไซต์ taejai.com ดูนะคะ มีหลายโครงการให้เลือกค่ะ