โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมานั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลงตามการปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐอย่างรุนแรงและรวดเร็วทำให้มูลค่าหุ้นในสหรัฐ ด้อยค่าลงไปประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ และพอจะคำนวณได้ว่า มูลค่าหุ้นทั่วโลกลดลงไปประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10% ของ จีดีพีโลก
การลดของราคาสินทรัพย์ทุนดังกล่าวนั้น อาจมีผลอย่างมีนัยสำคัญกับแนวโน้มเศรษฐกิจของโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลงไปอีก เพราะเมื่อราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงอย่างกว้างขวางก็ย่อมจะทำให้รู้สึก “จนลง”
กล่าวคือ มี negative wealth effect ทำให้การใช้จ่ายทั้งการบริโภคและการลงทุนลดลงได้ทั่วโลก ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบได้ในวงกว้าง รวมทั้งปริมาณการค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว ที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ที่สำคัญคือ ผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้น และนักวิเคราะห์หลายร้อยหลายพันคนทั่วโลก แทบจะไม่มีใครเลยที่ออกมาตักเตือนตอนต้นปีว่า ราคาหุ้นมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงอย่างฉับพลันถึง 10%
ตรงกันข้ามมีการประสานเสียงกันว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้อีกในปี 2018 เพราะมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนมากมาย
ทาง แบงค์ ออฟ อเมริกา พันธมิตรของภัทรฯ เองก็มองในแง่ดีว่าปี 2018 เป็นช่วงน่าลงทุนต่อไป เพราะสภาวการณ์ต่างๆ เอื้ออำนวย โดยบอกว่าเป็น Goldilocks กล่าวคือ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นนั้นไม่ร้อนแรงเกินไป และไม่ฝืดเคืองเกินไป ซึ่งต้องยอมรับว่าการปรับตัวลงของหุ้นในช่วงต้นเดือนก.พ. น่าจะทำให้นักลงทุนหลายคน เริ่มมีข้อกังวลบ้างไม่มากก็น้อย
แต่จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารกองทุนต่างๆ นั้น สรุปได้ว่า เกือบทุกคนยังใจดีสู้เสือ คือ ยืนยันว่าการปรับลดลงของราคาหุ้น คือการปรับฐานเพื่อขึ้นต่อไป ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นจังหวะดีที่จะเข้ามาซื้อหุ้นที่ราคาลดลง (opportunity to buy)
นักลงทุนบางคนที่ติดตามข่าวการประชุม World Economic Forum เมือง Davos อาจจะจำได้ว่า นาย Ray Dalio เจ้าของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Bridge water ซึ่ง Forbes ประเมินว่าเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวย มีสินทรัพย์มูลค่ารวม 17,000 ล้านดอลลาร์ (ในขณะที่กองทุน Bridge water มีมูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์) ให้สัมภาษณ์ ว่า
“We are in this Goldilocks period right now. Inflation is good, growth is good, everything is pretty good with a big jolt of stimulation coming from changes in tax laws… If you are holding cash, you’re going feel pretty stupid” (CNBC 23 ม.ค.2018)
หลังจากนั้น อีก 3 วัน ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวถึงจุดสูงสุดของปีที่ 26,616 ในวันที่ 26 ม.ค. และจากนั้นก็ปรับตัวลงมาที่ 23,860 ในวันที่ 8 ก.พ. กล่าวคือ คนที่หลงเชื่อ นาย Dalio นำเอาเงินสดไปลงทุน คงจะขาดทุนกว่า 10 % ภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ เท่านั้น
หัวข้อของบทความนี้ “Stocks are Headed for a Fall” เป็นหัวข้อบทความของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสหรัฐ คือ ศ. Martin Feldstein แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ซึ่งอายุ 79 ปี แล้ว และเคยเป็นประธานที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ ของประธานาธิบดีเรแกนเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว
ศ. Feldstein เขียนบทความดังกล่าวลงใน หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ตั้งแต่ 16 ม.ค. 2018 โดยที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจบทความนี้มากนัก แม้ว่าจะได้วิเคราะห์อย่างชัดเจนและฟันธงว่า หุ้นแพงเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ กดดอกเบี้ยลงต่ำผิดปกติมายาวนานในอดีต
ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยจำเป็นต้องปรับขึ้นสู่สภาวะปกติ ราคาหุ้นก็ควรจะต้องปรับตัวลงไปสู่สภาวะปกติเช่นกัน
คำถามคือราคาหุ้นสหรัฐปัจจุบันแพงมาก หรือแพงน้อยเพียงใด ซึ่งผมขอนำเสนอข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบดังตาราง
ต้องขออธิบาย Shiller พี อี ว่า เป็นการนำเอากำไรของบริษัท เฉลี่ยย้อนหลังไป 10 ปี เพื่อให้ครอบคลุม ช่วงที่เศรษฐกิจเป็นทั้งขาขึ้นและขาลง จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น Cyclically-Adjusted PE หรือ CAPE
แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือข้อสรุปของ ศ. Feldstein ว่า ปัจจุบันหุ้นราคาแพง ดังนั้น จึงต้องHeaded for a Fall อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่สำคัญที่นักลงทุนกำลังกังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือการปรับขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาวหรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ซึ่งปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2% ในเดือนก.ย. 2017 มาเป็น 2.8% ในเดือนก.พ. 2018
แต่ดอกเบี้ยระยะยาวนั้น ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มาก เพราะในอดีตนั้น ดอกเบี้ยระยะยาวจะอยู่ที่ 5% แต่หากมองในแง่ดีว่าเงินเฟ้อจะต่ำที่ประมาณ 2% (ตามเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐ) และดอกเบี้ยระยะยาวจริงน่าจะอยู่ที่ 2% ตามที่ ศ. Feldstein กล่าวถึง ดอกเบี้ยระยะยาวก็จะอยู่ที่ประมาณ 4% แปลว่าดอกเบี้ยยังจะปรับขึ้นไปได้อีกกว่า 1% ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดคงจะให้ความสำคัญอย่างมาก
เพราะผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนต่างมองกันว่าหากดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวขึ้นเกินกว่า 3%ก็อาจจะกระทบราคาหุ้นอย่างมากครับ